เตรียมรับผลดีรถไฟทางคู่จรดชายแดนเชียงของ เชื่อมไทย-ลาว-พม่า-จีน
  • 3 August 2018 at 11:10
  • 1333
  • 0

การคมนาคมขนส่งระบบรางผ่านโครงข่ายรถไฟทางคู่มีความสำคัญในการเชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเมืองต่อเมือง  ภาคต่อภาค  มีผลในการสนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองต่างๆ ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่  ตรงนี้แตกต่างกับรถไฟความเร็วสูงที่เชื่อมโยงเศรษฐกิจระหว่างเมืองใหญ่ต่อเมืองใหญ่ อันเป็นข้อดีและข้อจำกัดของรถไฟความเร็วสูงที่ระยะทางระหว่างสถานีหนึ่งไปสูอีกสถานีหนึ่งต้องห่างไกลมากเพียงพอ  แต่รถไฟทางคู่ไม่มีข้อจำกัดเช่นกัน

บทบาทสำคัญของรถไฟทางคู่จึงเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้เมืองทุกขนาดที่มีสถานีรถไฟ ช่วยกระจายความเจริญทางเศรษฐกิจ  สร้างความเข็มแข็งทางเศรษฐกิจรองรับรถไฟความเร็วให้มีผลในการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจระหว่างเมืองหลวงที่เป็นศูนย์กลางกับหัวเมืองใหญ่ที่เป็นกลางทางและปลายทางของรถไฟความเร็วสูง  เพราะหากไม่สร้างความเจริญที่รองรับมากเพียงพอ เส้นทางรถไฟความเร็วสูงจะเป็นเสมือนการ “สูบเข้า” สารพัดทรัพยากรต่างๆ  จากปลายทาง กลางทางสู่เมืองหลวง  การ “ส่งมอบ”  สู่เมืองสถานีกลางทางและปลายทางอาจน้อยกว่าที่ควร

แต่การเร่งรัดสร้างรถไฟทางคู่ให้ตลอดทุกเส้นทางทั่วประเทศ  ย่อมสร้างความเข้มแข็งให้เมืองต่างๆ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างเส้นทางรถไฟทางคู่จนถึงเชียงของที่มีท่าเรือขนส่งทางน้ำใช้ประโยชน์การคมนาคมขนส่งทางน้ำผ่านแม่น้ำโขงได้มากขึ้น เพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งระหว่างสี่ประเทศคือ จีน  พม่า ลาวและไทย  สร้างความครบถ้วนการคมนาคมขนส่งระบบถนน  ระบบราง ทางน้ำ และทางอากาศ

นับปีที่หนึ่งการก่อสร้าง

เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม  2561  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ เรื่อง ขออนุมัติดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ของการรถไฟแห่ง ประเทศไทย

ทั้งนี้เป็นไปตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในวงเงินรวม 85,345 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 7 ปี โดยดำเนินการประกวดราคาจ้างก่อสร้างด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 หรือที่ประกาศใช้ล่าสุด (ในปัจจุบันระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ใช้บังคับแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2560) และให้ รฟท. แบ่งสัญญาในการดำเนินโครงการฯ เป็น 3 สัญญา

2. ให้รัฐบาลรับภาระค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการทั้งสิ้น โดยให้สำนักงบประมาณ (สงป.) จัดสรรงบประมาณรายปี และ/หรือกระทรวงการคลัง (กค.) จัดหาแหล่งเงินกู้และค้ำประกันเงินกู้ภายในประเทศให้ตามความเหมาะสม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินการตามแผนการดำเนินงานและแผนการเบิกจ่ายเงินของโครงการฯ ทั้งนี้ เห็นชอบให้ รฟท. กู้เงินตามพระราชบัญญัติการรถไฟแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 มาตรา 39 (4) ตามความเห็น              ของกระทรวงการคลัง

3. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

เพิ่มศักยภาพระบบรางให้ภาคเหนือ

ปัจจุบันมีเส้นทางรถไฟจากกรุงเทพฯ-ถึงเชียงใหม่ และในแง่ของการเดินทางจากเหนือจรดใต้ของประเทศ  มีบริการรถไฟจากปาดังเบซาร์ถึงเชียงใหม่  โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ทำให้โครงข่ายการขนส่งระบบรางในภาคเหนือตอนบนสมบูรณ์มากขึ้น อันพิจารณาได้จาก

1. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ที่ คค. เสนอ เป็นโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ เพื่อเพิ่มความครอบคลุมพื้นที่ของโครงข่ายทางรถไฟในบริเวณภาคเหนือตอนบน และเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้ากับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีนตอนใต้ อันนำไปสู่การเพิ่มศักยภาพด้านการคมนาคมขนส่ง การค้า และการท่องเที่ยว ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากนี้ โครงการดังกล่าวมีความสอดคล้องกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ  ที่คณะรัฐมนตรีมีมติ (5 มิถุนายน 2561) เห็นชอบแล้ว

2. โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีระยะทางรวมประมาณ 323 กิโลเมตร โดยมีจุดเริ่มต้นที่สถานีเด่นชัย จังหวัดแพร่ แนวเส้นทางมุ่งไปทางทิศเหนือ ผ่านจังหวัดลำปาง จังหวัดพะเยา และจังหวัดเชียงราย ไปสิ้นสุดที่บริเวณด่านพรมแดนเชียงของ จังหวัดเชียงราย และมีวงเงินลงทุน รวม 85,345 ล้านบาท แบ่งออกเป็น ค่าเวนคืนที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ ค่าก่อสร้าง และค่าจ้างที่ปรึกษา

 

พื้นที่เวนคืน พื้นทีเส้นทางและตัวสถานี

เส้นทางสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เป็นเส้นทางใหม่ของรถไฟไทย  นั่นคือ ไม่มีเขตทาง ไม่มีกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้รองรับเหมือนการสร้างรถไฟทางคู่สายอื่นๆ  ที่ส่วนมากแล้วสร้างไปคู่ขนานกับเส้นทางเดิม  ซึ่งมีเขตทางที่เพียงพออยู่แล้ว ดังนั้น โครงการรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียง จึงต้องมี ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนของโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อสร้างทางรถไฟ และสร้างทางและสะพานข้ามทางรถไฟตามโครงการก่อสร้างทางรถไฟ สายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ในท้องที่ดังต่อไปนี้  ซึ่งข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ในการไปหาข้อมูลในท้องถิ่นเพิ่ม เพื่อประกอบการวางแผนธุรกิจได้

จังหวัดแพร่

อำเภอเด่นชัย ตำบลเด่นชัย ตำบลปงป่าหวาย 

อำเภอสูงเม่น ตำบลน้ำชำ ตำบลสูงเม่น ตำบลพระหลวง ตำบลสบสาย ตำบลดอนมูล ตำบลร่องกาศ

อำเภอเมืองแพร่ ตำบลนาจักร ตำบลกาญจนา ตำบลเหมืองหม้อ ตำบลทุ่งกวาว ตำบลทุ่งโฮ้ง ตำบลแม่หล่าย ตำบลแม่คำมี

อำเภอสอง ตำบลหนองม่วงไข่ อำเภอหนองม่วงไข่ ตำบลหัวเมือง ตำบลแดนชุมพล ตำบลทุ่งน้าว ตำบลห้วยหม้าย ตำบลบ้านขนุน ตำบลบ้านกลาง

จังหวัดลำปาง

อำเภองาว ตำบลแม่ตีบ ตำบลหลวงใต้ ตำบลบ้านแหง ตำบลหลวงเหนือ ตำบลนาแก ตำบลปงเตา ตำบลบ้านร้อง

จังหวัดพะเยา

อำเภอเมืองพะเยา  ตำบลแม่กา ตำบลจำป่าหวาย ตำบลแม่ต๋ำ ตำบลท่าวังทอง

อำเภอดอกคำใต้   ตำบลดอกคำใต้ ตำบลห้วยลาน

อำเภอภูกามยาว  ตำบลแม่อิง ตำบลดงเจน ตำบลห้วยแก้ว

จังหวัดเชียงราย

อำเภอป่าแดด ตำบลสันมะค่า ตำบลป่าแดด ตำบลโรงช้าง ตำบลป่าแงะ

อำเภอเทิง  ตำบลเชียงเคียน

อำเภอเมืองเชียงราย ตำบลดอยลาน ตำบลห้วยสัก ตำบลท่าสาย ตำบลรอบเวียง

อำเภอเวียงชัย ตำบลเวียงชัย ตำบลเวียงเหนือ ตำบลเมืองชุม

อำเภอเวียงเชียงรุ้ง  ตำบลทุ่งก่อ ตำบลป่าซาง

อำเภอดอยหลวง ตำบลโชคชัย

อำเภอเชียงของ  ตำบลห้วยซ้อ ตำบลศรีดอนชัย ตำบลสถาน ตำบลเวียง

 

"สัญลักษณ์แห่งเอกราช"

ระยะเวลา  7  ปีที่กำหนดให้โครงสร้างรถไฟทางคู่เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สร้างเสร็จเปิดใช้งาน  หากมองว่านานก็นานไม่น้อย  ทั้งๆ ศักยภาพในการก่อสร้างปัจจุบันสามารถทำได้เร็วกว่านี้ด้วยการ แบ่งช่วงตอนในการสร้าง และเริ่มดำเนินการพร้อมกัน

อย่างไรก็ตาม จุดเริ่มต้นโครงการสร้างรถไฟทางคู่ไปจรดแม่น้ำโขง  ชนชายแดนไทย-ลาวทางด้านเหนือ เป็นเสมือนสัญลักษณ์สำคัญ(อย่างหนึ่ง)ในการเป็นอิสระจากข้อผูกมัดตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5  ที่ฝรั่งเศส(และอังกฤษ)ไม่ยอมให้รัฐสยามในสมัยรวบรวมแผ่นดินเพื่อสร้าง “ประเทศไทย”   สร้างรถไฟไปถึงชายแดน  อันหมายถึงการขนส่งกำลังทหาร อันเป็นประโยชน์ในการรวบรวมหัวเมืองต่างๆ  ทางเหนือเข้ามาเป็น “ประเทศไทย”

อาณาเขตทางการปกครองย่อมมิใช่เรื่องที่ช่วงชิงในยุคสมัยนี้  เหลือแต่อาณาเขตทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรมที่ช่วงชิงกันอย่างเปิดเผย  ในยุคสมัยศตวรรษที่ 21  มิใช่อิทธิพลจากตะวันออกที่มาจากต่างทวีป  หากเป็นอิทธิพลจากทางเหนือของทวีป

มีแต่สร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  สังคมและวัฒนธรรมเท่านั้น  ถึงพอรับมือกับพลังทะลักทลายทั้งทางเศรษฐกิจ  สังคม และวัฒนธรรมจากยักษ์ใหญ่ทางเหนือของทวีปได้

#