ยุคใหม่แฟลตดินแดง ชุมชนเมืองแห่งอนาคตของผู้มีรายได้น้อย
  • 11 October 2018 at 11:17
  • 1976
  • 0

“คนจนเมือง”  เป็นทั้งปัญหาและโอกาสของการบริหารจัดการเมืองใหญ่  เรื่องทั้งสองด้านนั้นรวมอยู่ด้วยกันในประเด็นที่อยู่อาศัย งานและรายได้ของ “คนจนเมือง” รวมทั้งเชื่อมโยงไปสู่งานอาชีพอีกหลายๆ  อย่างที่ยังต้องมี บุคลากรทำงาน  กล่าวเป็นสำนวนคือ  คนทำงานนั่งโต๊ะบริหารจัดการ  ก็ต้องมีคนทำงานเช็คโต๊ะทำความสะอาดสำนักงาน  พนักงานรักษาความปลอดภัย  เป็นต้น  คนทำงานที่มีรายได้ไม่สูงเหล่านี้ สมควรมีที่อยู่อาศัยในเมือง  มิใช่ต้องอยู่ห่างไกลออกไป  ใช้ชีวิตอย่างทุกข์ยากจากการเดินทางไปกลับวันละ 4-5 ชั่วโมงมาทำงานที่รายได้น้อย  ที่อยู่อาศัยในตัวเมือง หรือที่อยู่อาศัยใกล้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน(พร้อมด้วยระบบตั๋วพิเศษราคาประหยัด) สำหรับ “คนจนเมือง” นั้นมีความจำเป็น

ทั้งนี้จุดประสงค์หลักคือให้ “คนจนเมือง” เหล่านี้ มีโอกาสในการยกระดับพัฒนาตนเองให้หลุดพ้นจากสถานะคนจนเมือง (ไม่ต้องติดกับดักการเสียเวลาในการเดินทางมากกว่าวันละ 5 ชั่วโมง จนไม่มีเวลายกระดับพัฒนาตนเอง  เพิ่มรายได้)

ยุคใหม่แฟลตดินแดงก้าวไปถึงจุดประสงค์นี้หรือไม่  ยังมีความเป็นไปได้

งบประมาณหมื่นล้านบาทกับการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง

ความคืบหน้าล่าสุดของการพัฒนาชุมชนเมืองแฟลตดินแดงคือ มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 10 ตุลาคม 2561 เรื่อง  ขออนุมัติดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบ ดังนี้

1. อนุมัติในหลักการการดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ โดยอนุมัติวงเงินลงทุนรวมของโครงการรวม 9,872.119 ล้านบาท และรัฐบาลสนับสนุนการชดเชยดอกเบี้ยตามที่จ่ายจริงไม่เกินร้อยละ 2.15 ต่อปี ในระหว่างการก่อสร้างและเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จ เห็นควรนำรายได้จากค่าเช่ามาชำระคืนเงินต้นและค่าดอกเบี้ยต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สำหรับแหล่งเงินทุนของโครงการ ให้เป็นไปตามความเห็นของกระทรวงการคลัง ที่ให้การเคหะแห่งชาติ (กคช.) กู้เงินภายในประเทศ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายของโครงการฯ โดย กค.เป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ และให้ กคช. พิจารณาใช้เงินรายได้ของ กคช.

สำหรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดินและค่าจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับการยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันเงินกู้ ให้เป็นไปตามกฎกระทรวงกำหนดอัตราและเงื่อนไขการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการค้ำประกันของ กค. พ.ศ. 2551

ทั้งนี้ ในการดำเนินโครงการในแต่ละระยะ ให้ดำเนินการได้ต่อเมื่อรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแล้ว

2. เห็นชอบในหลักการเพิ่มหมวดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับที่ดิน โดยปรับเกลี่ยจากกรอบงบประมาณ จำนวน 35,754.25 ล้านบาท ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) รวมถึงการบริหารจัดการคนเข้าอยู่อาศัยในโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 1 - 4 ในกรณีที่มีหน่วยพักอาศัยคงเหลือจากการบรรจุผู้อยู่อาศัยเดิมในแต่ละระยะของโครงการฯ ตามที่ พม. เสนอ ดังนี้

2.1 กรณีที่มีหน่วยพักอาศัยคงเหลือจากการรื้อย้ายตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) ในแต่ละระยะ ให้ผู้อยู่อาศัยเดิมที่มีสิทธิในระยะถัดไป สามารถยื่นคำร้องขอรับสิทธิเช่าอาคารพักอาศัยได้ ตามเกณฑ์ที่ กคช. กำหนด

2.2 กรณีที่มีผู้ขอรับค่าชดเชยสิทธิ เกินกว่ากรอบงบประมาณที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ [ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567)] ให้ กคช. สามารถปรับเกลี่ยระหว่างรายการ ภายใต้กรอบลงทุน 35,754.25 ล้านบาท ตามที่ได้รับอนุมัติไว้

2.3 การเข้าอยู่อาศัยโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง ระยะที่ 1-4 หากมีกรณีต้องดำเนินการตามข้อ 2.1 หรือ 2.2 หรือมีกรณีจำเป็นเร่งด่วนอื่น ๆ ที่ไม่กระทบสาระสำคัญตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) ตามมติคณะรัฐมนตรี (17 สิงหาคม 2559) ให้คณะกรรมการ กคช. เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาดำเนินการ

 

3. ให้ พม. (การเคหะแห่งชาติ) รับความเห็นของ กค. กระทรวงมหาดไทย และคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

พม. รายงานว่า

1. ความคืบหน้าอาคารพักอาศัยแปลง G ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 28 ชั้น จำนวน 334 หน่วย มีขนาดห้องพักอาศัย 33 ตารางเมตร รองรับผู้อยู่อาศัยเดิมจากอาคารแฟลต 18 – 22 ปัจจุบันก่อสร้างแล้วเสร็จตามแผนทุกประการ และจะเริ่มรื้อย้ายชาวชุมชนที่ได้รับสิทธิเข้าอยู่อาศัยได้ระหว่างเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม 2561 ปัจจุบันผู้อยู่อาศัยได้ย้ายเข้าอาคารพักอาศัยแปลง G เรียบร้อยแล้ว

2. การดำเนินงานตามแผนรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม กคช. ได้พิจารณาและจัดทำรายละเอียดโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 จำนวน 6,212 หน่วย เสนอต่อคณะกรรมการ กคช. ซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้วในการประชุม กคช. ครั้งที่ 10/2560 เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560

3. โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 จำนวน 6,212 หน่วย เป็นไปตามกรอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567) พัฒนาบนพื้นที่ราชพัสดุของ กค. โดย กคช. เป็นผู้ใช้ที่ดินเพื่อจัดทำโครงการรวม 40.57 ไร่ โดยจะเริ่มภายหลังการย้ายผู้อยู่อาศัยเดิมจากอาคารแฟลต 18 – 22 ซึ่งเป็นพื้นที่สำหรับก่อสร้างโครงการ ระยะที่ 2 เข้าอยู่อาศัยในอาคารแปลง G ในทุกระยะได้วางแผนให้แต่ละอาคารเดิมมีการรื้อย้ายเพียงครั้งเดียว คือสร้างอาคารใหม่แล้วเสร็จ จึงทำการย้ายผู้อยู่อาศัยขึ้นตึก เพื่อให้ชาวชุมชนดินแดงไม่ต้องย้ายออกไปหาที่อยู่อาศัยชั่วคราวระหว่างดำเนินการก่อสร้าง สำหรับโครงการฯ รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 จะพัฒนาเป็นอาคารสูง 26 – 35 ชั้น จำนวน 10 อาคาร รวมจำนวนหน่วยพักอาศัย 6,212 หน่วย โดยทุกระยะมีขนาดห้องพัก 33 ตารางเมตร

 

กคช. “เจ้าภาพ” ดำเนินงาน

ข้อมูลจากการเคหะแห่งชาติ (กคช.) เปิดเผยว่า กคช. ดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับชาวชุมชนดินแดงตามนโยบายของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลปัจจุบันมีมติให้ความเห็นชอบแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (2559 - 2567) ให้ดำเนินการพัฒนาที่อยู่อาศัยทั้งโครงการ รวม 36 อาคาร 20,292 ยูนิต โดยการพัฒนาแบ่งเป็นรองรับผู้อยู่อาศัยเดิม 6,546 ยูนิต และรองรับผู้อยู่อาศัยใหม่ 13,746 ยูนิต ระยะเวลาดำเนินการรวม 8 ปี

ปัจจุบันได้มีการอนุมัติดำเนินโครงการระยะที่ 1 อาคารพักอาศัยแปลง G (รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม อาคารแฟลตที่ 18 - 22) จำนวน 334 ยูนิต โดยการเคหะแห่งชาติได้จัดสร้างขึ้นบริเวณหัวมุมถนนวิภาวดีรังสิตตัดกับถนนดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ มีกำหนดระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยเดิมย้ายเข้าอาศัย และกำหนดขั้นต้นให้สามารถเข้าอยู่อาศัยได้ตั้งแต่วันที่ 15 กรกฎาคม ถึง 22 สิงหาคม 2561 โดยการจ่ายค่าเช่าเดิม รวมกับค่าบริหารจัดการ 825 บาทต่อเดือน และค่าภาษีโรงเรือน 12.5% ทำให้ค่าเช่าใหม่อยู่ระหว่าง 1,286 - 4,371 บาทต่อเดือน

ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้พิจารณาให้สิทธิการเช่าผู้อยู่อาศัยเดิมแฟลตที่ 18 – 22 เข้าอยู่อาศัยในอาคารพักอาศัยแปลง G แล้ว มีจำนวน 238 ราย และมีผู้ไม่ประสงค์เข้าอยู่อาศัยในอาคารแปลง G จำนวน 45 ราย พร้อมรับค่าชดเชยสิทธิจำนวน 400,000 บาท

การขับเคลื่อนโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 2, 3 และ 4 (รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม) จำนวน 6,212 ยูนิต กคช.ได้ออกแบบโครงการและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) พร้อมทั้งนำเสนอให้สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) พิจารณาครบทุกแปลงแล้ว

การดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงจนเป็นผลสำเร็จในระยะที่ 1 จัดสร้างเป็นอาคารพักอาศัยสูง 28 ชั้น จำนวน 334 ยูนิต ขนาดพื้นที่ห้อง 33 ตารางเมตร พร้อมด้วยระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบครัน มีการบริหารจัดการการอยู่อาศัยที่มีประสิทธิภาพ ถือเป็นโครงการนำร่องแห่งแรกที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจพัฒนาให้เป็นชุมชนคุณภาพ และรัฐบาลจะสนับสนุนให้โครงการระยะ 2, 3 และ 4 ได้ดำเนินการตามแผนงานอย่างต่อเนื่อง

 

งานที่ทำไปแล้ว

การเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้นำเสนอแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงต่อคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543   คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากถูกต่อต้านจากกลุ่มที่อ้างเป็นแกนนำผู้คัดค้าน กินเวลากว่า 16 ปี ผ่านมาแล้ว 5 รัฐบาล ยังไม่ประสบความสำเร็จ

จนถึงรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบนโยบายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดำเนินการแก้ไขปัญหาภายใต้แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัย 10 ปี การเคหะแห่งชาติได้จัดทำแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง พ.ศ 2559 - พ.ศ. 2567 โดยผ่านการกำกับดูแลของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ที่มีพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน และพลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี จนในที่สุด ได้ผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม  2559

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ประชุมติดตามงาน เร่งรัดการดำเนินงาน ทั้งในเรื่องสำรวจความคิดเห็นโครงการ ขนาดพื้นที่ห้อง อัตราค่าเช่าใหม่จากผู้เช่าอาศัยเดิมทุกห้อง ตลอดจนมอบนโยบายเน้นการบริหารจัดการ โดยยึดหลักธรรมาภิบาล เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวชุมชน สร้างการรับรู้ รับทราบทุกขั้นตอนการดำเนินงาน ทำให้เกิดการยอมรับและพร้อมที่จะเดินหน้าพัฒนาโครงการร่วมกัน

จนวันที่  6 กุมภาพันธ์ 2560  มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารพักอาศัยแปลง G โครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงระยะที่ 1 เป็นอาคารสูงทันสมัย 28 ชั้น ขนาดพื้นที่ห้อง 33 ตร.ม. จำนวน 334 หน่วย วงเงินลงทุน 460 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือน พร้อมนี้ได้เตรียมดำเนินการระยะที่ 2 3 และ 4 ในการพัฒนารองรับผู้อยู่อาศัยเดิม เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีภายในเดือนสิงหาคม 2560 ซึ่งภาพรวมในการดำเนินโครงการรวมระยะเวลา 8 ปี รวมหน่วยพักอาศัย 20,292 หน่วย

 

จากพื้นที่กองขยะ  เพื่อเอาชนะชะตาชีวิต

พื้นที่ชุมชนการเคหะดินแดง อยู่ในพื้นที่เขตดินแดง เริ่มต้นด้วยสถานะเป็นพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานคร จากนั้นมีผู้เข้ามาตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งกลุ่มที่หารายได้จากการแยกสิ่งของมีราคาจากขยะ และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ  ในที่สุดการอยู่อาศัยหนาแน่นมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนแออัด

ต่อมากรุงเทพมหานครจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากพื้นที่ดังกล่าว  การบริหารจัดการเวลานั้นแก้ปัญหาชุมชนแออัดด้วยการพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นที่อยู่อาศัยเป็นที่พึ่งพิงของผู้มีรายได้น้อย  เริ่มต้นจากพ.ศ. 2503 ภาครัฐมีมติเห็นชอบให้กรมประชาสงเคราะห์ จัดสร้างอาคารสงเคราะห์แบบแฟลต ให้เช่าสำหรับผู้มีรายได้น้อย ในชื่อ “โครงการอาคารสงเคราะห์ดินแดง” ประมาณ 5,000 หน่วย ก่อสร้างระหว่างปี พ.ศ. 2506-2517 ใช้ต้นแบบหน่วยพักอาศัยคล้ายมาตรฐานอาคารสงเคราะห์ของประเทศสิงค์โปร์ สร้างเป็น อาคารสงเคราะห์  หรือ”แฟลตดินแดง” ในปัจจุบันซึ่งกระจายกลุ่มอาคารออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

กลุ่มที่ 1 อยู่ใกล้กับถนนมิตรไมตรี ถนนคู่ขนานกับถนนวิภาวดี กลุ่มอาคารแฟลตดินแดงกลุ่มนี้อยู่ใกล้กับสถานที่ราชการต่างๆ เช่น กระทรวงแรงงาน ศูนย์กีฬาเยาวชนไทย-ญี่ปุ่น

กลุ่มที่ 2 อยู่ใกล้กับถนนประชาสงเคราะห์ กลุ่มนี้มีจำนวนอาคารมากที่สุด

กลุ่มที่ 3 อยู่ใกล้กับถนนดินแดง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับ 2 กลุ่มแรก เรียงตัวยาวตามเส้นทางถนนจนถึงแยกโบสถ์แม่พระ

รูปลักษณ์อาคารเป็นแบบเดียวกันคือ อาคารแฟลตสูง 5 ชั้น อยู่อาศัย 4 ชั้น ชั้นล่างสุดเป็นใต้ถุนโล่ง มีบันไดสองข้างอาคาร มีทางเดินร่วม จัดห้องพักอาศัยอยู่ด้านเดียว (Single Loaded Corridor) ห้องพักอาศัยแต่ละห้องมีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 40 ตารางเมตร (3.5 x 12 m.) ออกแบบพื้นที่ภายในห้องให้มีส่วนอเนกประสงค์ ครัว ห้องน้ำ และระเบียง มีช่องเปิดสำหรับทิ้งขยะลงปล่องโดยมีปล่องขยะ 1 ปล่องต่อ 2 หน่วย แฟลตดังกล่าวรองรับผู้มีรายได้ครัวเรือน ไม่เกิน 1,500 บาท/เดือน จ่ายค่าเช่าเพียง 100-125 บาท/เดือน เพื่อรองรับการอพยพของผู้อยู่อาศัยในชุมชนแออัดเดิมบนพื้นที่ทิ้งขยะของกรุงเทพมหานครและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการที่พักอาศัยในช่วงเวลานั้น

หลังจากนั้นจึงเป็นสถาปัตยกรรมอาคารแฟลตดินแดง เป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาอาคารอยู่อาศัยรวมของผู้มีรายได้น้อยของประเทศไทย ต่อมาในปี พ.ศ.2516 การเคหะแห่งชาติเข้ามาดูแล และรับโอนแฟลตดินแดงจากกรมประชาสงเคราะห์ จำนวน 64 อาคาร 4,144 หน่วย  หลังจากนั้นการเคหะแห่งชาติได้สร้างที่พักอาศัย เพิ่มขึ้นอีก 30 อาคาร จำนวน 5,098 หน่วย ในปีพ.ศ. 2519-2535 รวมเป็นที่พักอาศัยในชุมชนดินแดงทั้งสิ้น 94 อาคาร มีผู้อยู่อาศัยมากกว่า 36,000 คน

ปัจจุบันแฟลตดินแดงรุ่นแรกมีอายุการใช้งานมากกว่า  53 ปี แม้ดูจากภายนอกเห็นว่าอาคารมีคนอยู่อาศัยอย่างปกติ สีอาคารภายนอกใหม่อยู่เสมอ  แต่จากการตรวจสอบเชิงลึกกลับพบว่าอาคารทั้งหมด มีสภาพเก่า ทรุดโทรม และมีความชำรุดค่อนข้างมาก มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยในการอยู่อาศัย การเคหะแห่งชาติได้ว่าจ้าง สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (เอไอที) ศึกษาตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของอาคารในเคหะชุมชนดินแดงทั้งหมด ในปีพ.ศ. 2546 และปี พ.ศ. 2550

การตรวจสอบพบว่า ร้อยละ 60 ของอาคารทั้งหมด มีสภาพเก่าทรุดโทรม และชำรุดเสียหายอย่างรุนแรง อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของโครงสร้างอาคารโดยตรง และอาจเกิดผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยได้ หากทำการปรับปรุงซ่อมแซมก็ทำได้เพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะมีความเสียหายมากเกินกว่าการปรับปรุง และไม่คุ้มค่า ทางที่ดีคือการรื้อถอนและสร้างใหม่จะเป็นแนวทางที่ดีกว่า อีกทั้งสภาพแวดล้อมโดยรอบตัวอาคารแฟลตดินแดงเอง ปัจจุบันก็มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ขาดการจัดการเรื่องความเป็นระเบียบและความสะอาด สิ่งเหล่านี้เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่ควรได้รับการปรับปรุงแก้ไขโดยด่วนเช่นกัน จากการสำรวจสภาพความแข็งแรงของอาคารในแฟลตดินแดง สามารถแบ่งสภาพอาคารออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่หนึ่ง สภาพอาคารเสียหายรุนแรงมาก เป็นพื้นที่สีแดง คือ แฟลต 1-8 และแฟลต 21-32 จำนวน 20 อาคาร

กลุ่มที่สอง เสียหายมาก คือ แฟลต 9-20 และ 33-56 จำนวน 36 อาคาร

กลุ่มที่สาม เสียหายปานกลาง คือ แฟลต 57064 , พ.1-พ.10 และ ช.1-ช.11 จำนวน 29 อาคาร

กลุ่มที่ สภาพดี คือ แฟลตดินแดง 4 (6007 และ 6008) จำนวน 2 อาคาร

แนวทางการแก้ปัญหาคือการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ได้นำเสนอแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดงต่อคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2543 นับเวลาถึงปี 2561 ล่วงเลยมากว่า 18  ปี  แผนแม่บทยังไม่ได้เดินหน้าเท่าที่ควร ความเสี่ยงภัยต่างๆ  ยังดำรงอยู่  ดังนั้นมติครม. วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ที่  อนุมัติดำเนินโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง รองรับผู้อยู่อาศัยเดิม ระยะที่ 2, 3 และ 4 ตามแผนแม่บทโครงการฟื้นฟูเมืองชุมชนดินแดง (พ.ศ. 2559 – 2567)  จึงเป็นเรื่องดีที่ควรติดตามผลลัพธ์จากการดำเนินงานต่อไป

#