เตรียมการล่วงหน้าเศรษฐกิจไทย ปี 62 ขยายตัว 4.0 % แม้ปีนี้ขยายตัว 4.5 %
  • 17 October 2018 at 10:28
  • 711
  • 0

การวิเคราะห์การขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศเป็นการชี้แนวโน้มโดยสังเขปถึงโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้นเปิดกว้างมากน้อยเพียงใด “ฟ้าเปิด”  ขณะเดียวกันสถานการณ์ทางการเมืองเปรียบเทียบได้กับภาวะคลื่นลมสงบหรือรุนแรง  สถานการณ์ที่ดีสำหรับภาคธุรกิจหรือฟ้าเปิดและคลื่นลมสงบ แนวโน้มปี 2562 อาจเป็นเช่นนั้น

ผลกระทบจากสงครามการค้าอเมริกา-จีน

ข้อมูลจากอีไอซี (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินเศรษฐกิจไทยปี 2561 ขยายตัวที่ 4.5% ก่อนมีแนวโน้มชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 4.0%  ในปี 2562 เหตุปัจจัยสำคัญมาจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้น ภาวะการเงินโลกตึงตัว และนักท่องชะลอตัวลงจากเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงปี 2561 มาจากอุปสงค์ด้านต่างประเทศอย่างต่อเนื่องทั้งการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยว ปรากฏชัดที่ผลดีต่อรายได้และการจ้างงาน การเติบโตดังกล่าวยังมีแนวโน้มต่อเนื่องถึงสิ้นปี 2561 แม้ชะลอลงบ้างจากปัจจัยฐานสูงในปีก่อนหน้า และการชะลอลงของภาวะการค้าโลก

อนาคตปี 2562 อีไอซีประเมินว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 4.0%YOY ชะลอลงจากปี 2561 แต่ยังเป็นอัตราที่สูงสำหรับเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วง 5 ปีก่อนหน้าที่เติบโตเฉลี่ยต่ำกว่า 3% ต่อปี

ปัจจัยสำคัญมาจากการส่งออกของไทยมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญจากผลกระทบของสงครามการค้าที่มีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้นจากการตอบโต้ของจีน,  ภาวะทางการเงินโลกที่ตึงตัวขึ้น

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยจะเผชิญกับข้อจำกัดจากความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวของสนามบินสำคัญต่าง ๆ ของไทย ที่ความหนาแน่นของสนามบินที่กดดันการขยายตัวของนักท่องเที่ยวในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงผลกระทบจากเหตุการณ์เรือล่มที่ จ.ภูเก็ต ที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวจีนลดลง

ผลดีจากการลงทุนภาครัฐ  การฉุดรั้งของรายได้ครัวเรือนที่เพิ่มน้อย

อีไอซี (Economic Intelligence Center) ธนาคารไทยพาณิชย์ ประเมินว่า การใช้จ่ายด้านการลงทุนในประเทศจะมีการขยายตัวที่เร่งขึ้น  นำโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะสั้น และสนับสนุนการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะยาว

ในอีกด้านหนึ่งพลังขับเคลื่อนมีน้อยหรือถ่วงรั้งก็ว่าได้ นั่นคือรายได้ครัวเรือนไทยที่แม้เริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะก่อนที่การใช้จ่ายจะกระจายตัวและเร่งตัวขึ้น แม้รายได้ครัวเรือนไทยมีการฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 โดยรายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.7% ปีต่อปี (YOY) ขณะที่ค่าจ้างของกลุ่มแรงงานที่เป็นลูกจ้างเพิ่มขึ้น 2.4%YOY อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวดังกล่าวยังไม่สามารถนำไปสู่การเร่งตัวของการใช้จ่ายได้รวดเร็วนัก เพราะรายได้ครัวเรือนเพิ่งเริ่มฟื้นตัว หลังจากรายได้เกษตรกรหดตัวต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2560 ถึงช่วงไตรมาสแรกของปี 2561

ทั้งนี้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ค่าจ้างของกลุ่มลูกจ้างขยายตัวในอัตราต่ำเฉลี่ยน้อยกว่า 2 % ต่อปี จึงทำให้รายได้ที่แท้จริงหลังหักเงินเฟ้อค่อนข้างทรงตัว นอกจากนี้ ภาระหนี้ครัวเรือนของครัวเรือนไทยยังคงอยู่ในระดับสูงซึ่งยังเป็นปัจจัยถ่วงต่อการใช้จ่ายอยู่

สถานการณ์โดยรวมของค่าจ้างแรงงานนั้น อีไอซี.ประเมินว่า การที่ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ แม้อัตราการว่างงานค่อนข้างต่ำนั้น ชี้ว่าอุปทานส่วนเกินในตลาดแรงงาน (slack) ยังมีอยู่ เรื่องนี้ดูจากจำนวนชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยที่ลดลง การทำงานแบบล่วงเวลาที่ลดลง และสัดส่วนของจำนวนคนที่ว่างงานนานกว่า 6 เดือนที่มากขึ้น ซึ่งเป็นผลทั้งจากปัจจัยเชิงวัฏจักรและปัจจัยเชิงโครงสร้าง  ความคลี่คลายจะเกิดขึ้นได้เมื่อเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีและต่อเนื่องไปอีกระยะหนึ่งก่อนที่ slack ในตลาดแรงงานลดลง  ถึงมีแรงผลักดันให้ค่าแรงเร่งตัวขึ้น ทั้งนี้ในระยะยาวต้องยกระดับผลิตภาพของแรงงานไทยผ่านการเพิ่มทักษะที่จำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ของเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนให้รายได้ขยายตัวได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน

 

ประเมินกนง.ชึ้นอัตราดอกเบี้ยปลายปี 2561

แรงกดดันให้ประเทศไทยขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีทั้งปัจจัยภายนอกที่อเมริกาขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง การลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินจากภาวะดอกเบี้ยต่ำต่อเนื่องยาวนาน ทั้งนี้อีไอซีประเมินว่า แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของไทยกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น จากแนวโน้มที่เศรษฐกิจเติบโตได้ต่อเนื่องและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาอยู่ในกรอบเป้าหมายนโยบายการเงิน จะทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ทั้งนี้จังหวะการขึ้นอาจเป็นในช่วงต้นปี 2562 หรืออย่างเร็วในช่วงปลายปี 2561 ขึ้นอยู่กับเงื่อนเวลาที่ กนง. จะมั่นใจว่าค่าเฉลี่ยเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2561 จะอยู่ในกรอบเป้าหมาย

อย่างไรก็ตามวัฏจักรขาขึ้นของดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้จะมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไปแตกต่างจากวัฏจักรขาขึ้นครั้งก่อนๆ สะท้อนระดับหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ที่สูงขึ้นมาก และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่มีแนวโน้มเฉลี่ยต่ำกว่าในอดีต

อีไอซีประเมินว่า กนง. จะปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 2 ครั้งภายในช่วงครึ่งแรกของปี 2562 โดยขึ้นครั้งละ 0.25% และไม่ขึ้นดอกเบี้ยติดต่อกันในทุกการประชุม เพื่อไม่ให้กระทบต่อโมเมนตัมการขยายตัวของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อมากเกินไป แต่จะใช้มาตรการดูแลรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจ (macro-prudential) ในจุดที่มีความเปราะบางเพื่อจัดการกับปัญหาเสถียรภาพระบบการเงินควบคู่ไปด้วย ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยหลังจากนั้นจะขึ้นกับข้อมูลเศรษฐกิจและการสื่อสารของ กนง. ในระยะต่อไป

หนี้ครัวเรือนเรื่องต้องโฟกัส

สถานการณ์วัฏจักรดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้นจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไปกว่าในอดีต โดยมีสาเหตุ ดังนี้

ประการแรก หนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นเท่าตัวในช่วง 1.5 ปี ทำให้การขึ้นดอกเบี้ยมีผลต่อกำลังซื้อมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่คุณภาพสินเชื่อของผู้บริโภคยังคงเสื่อมลง

ประการที่สอง แนวโน้มค่าเฉลี่ยอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลงจากปัจจัยโครงสร้างทางเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น shale oil, automation, E-commerce และ Globalization โดยคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะกลางต่ำลงจาก 3.1% ในปี 2013 เป็น 2.1% ในปัจจุบัน

ประการที่สาม อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงของไทยที่ต่ำจากปัจจัยโครงสร้าง โดยสภาพคล่องในประเทศอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงผลตอบแทนจากการลงทุนที่ลดลง

ประการที่สี่ แนวโน้มค่าเงินบาทในระยะต่อไปผันผวนและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย เนื่องจากเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลัก (ไม่รวมสหรัฐฯ) และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หรือ EM บางกลุ่มมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเทียบกับสหรัฐฯที่ชะลอลงจากผลนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ทยอยหมดไปเพราะผ่านช่วงเติบโตสูงสุดในปีนี้ รวมถึงสงครามการค้าเจาะจงลงไปในรายประเทศมากขึ้น ทำให้ดัชนีเงินดอลลาร์เมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แข็งค่าชะลอตัวตามความกังวลที่ลดลง

ผลกระทบต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง

จากการประเมินของอีไอซี. ดังกล่าว  นำไปสู่สถานการณ์ของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างดังนี้ ข้อที่ชัดเจนคือธุรกิจก่อสร้างที่ทำงานกับภาครัฐ โดยเฉพาะงานโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง ยังมีโอกาสอีกมากจากโครงการขนาดใหญ่ของรัฐ และโครงการประจำปีงบประมาณ แต่ต้องเตรียมรับมือกับปัญหาแรงงานอาจขาดแคลนและกรณีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ  ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เน้นงานภาคเอกชนโดยเฉพาะการสร้างตึกสูงต่างๆ งานโครงการใหม่ยังไม่เพิ่มมากขึ้น  นอกจากการเร่งก่อสร้างโครงการที่มีอยู่ให้แล้วเสร็จตามแผนงานของผู้ว่าจ้าง

จุดสำคัญที่สุดของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 4  ปี 2561 และปี 2562 คือ เรื่องราวทางการเมือง  ข้อแรกมองโลกในแง่ดีคือ การเลือกตั้ง 24 กุมภาพันธ์  2562 ดำเนินไปอย่างราบรื่น มีรัฐบาลจากการเลือกตั้งหลังจากนั้น หากเป็นเช่นนี้ถือได้ว่า “ฟ้าเปิดและคลื่นลมสงบ”  เศรษฐกิจไปได้

ข้อที่สอง  รัฐบาลชุดปัจจุบันเกิดมีความเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหัน แต่ยังยืนหยัดให้มีการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลาเดิมหรือเร็วกว่านั้น  กรณีนี้ “ฟ้าเปิด คลื่นลมแปรปรวนเล็กน้อย” เศรษฐกิจ-ธุรกิจพอเดินหน้าต่อได้

ข้อที่สาม เกิดความเปลี่ยนแปลงกะทันหันกับรัฐบาลปัจจุบัน  และการเลือกตั้งไม่สามารถระบุระยะเวลาที่แน่ชัด หากเป็นเช่นนี้แม้ฟ้าเปิด แต่คลื่นลมรุนแรง  ไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ

อนาคตไม่แน่ชัด  ขณะที่ความเชื่อที่เหมือนจับต้องไม่ได้ เป็นสภาวะนามธรรม แต่เมื่อความเชื่อของผู้คนจำนวนไม่น้อยนำไปสู่การปฏิบัติจริง ทำจริง  ย่อมส่งผลรูปธรรมให้เกิดขึ้น  จากไร้รูปสู่การมีรูป จากไร้สภาวะสู่การมีสภาวะ

พูดสั้นๆ  เศรษฐกิจไทยปี 2562 แนวโน้มดี  แต่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง

#