ควรสิ้นยุดเรื่องสยองขวัญ นั่งร้าน – ค้ำยัน พัง คนทำงานเสียชีวิต
  • 21 November 2018 at 11:20
  • 1425
  • 0

เรื่องเล่าสยองขวัญบางเรื่องเกี่ยวพันกับที่อยู่อาศัย  เช่น  ยุคบ้านไม้ บ้านที่มี “เสาตกน้ำมัน” อาจมี ผีหรือวิญญาณเร่ร่อนมาอยู่อาศัย  ตึกก่อสร้างสมัยใหม่ที่มีคนทำงานเสียชีวิตในไซต์งานระหว่างการก่อสร้างมีการผูกเป็นเรื่องสั้น  ภาพยนตร์เขย่าประสาท   เรื่องราวเช่นนี้สะท้อนถึงความปลอดภัยและอันตรายร้ายแรงถึงแก่ชีวิตในงานก่อสร้าง ไม่ว่ายุคใดสมัยใด

กลไกแห่งฝ่ายปกครองบริหารจัดการบ้านเมืองมีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้ และส่งต่อมาจนถึงระดับสูงสุดของกลไกรัฐ : คณะรัฐมนตรี

ข้อมูลล่าสุดที่แสดงถึงการพยายามบริหารจัดการให้มีความปลอดภัยในงานก่อสร้างเพิ่มขึ้นคือ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 20 พฤศจิกายน  2561มีมติเรื่อง  ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้าน และค้ำยัน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้าน และค้ำยัน พ.ศ. .... และร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. .... รวม 2 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

ความปลอดภัยของนั่งร้าน

1. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย  อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับนั่งร้าน และค้ำยัน พ.ศ. .... 

1.1 กำหนดบทนิยาม “นั่งร้าน” หมายความว่า โครงสร้างชั่วคราวซึ่งสูงจากพื้นหรือพื้นของอาคารหรือส่วนของสิ่งก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับผู้ทำงาน วัสดุ หรือเครื่องมือและอุปกรณ์ และ“ค้ำยัน” หมายความว่า โครงชั่วคราวที่รองรับ ยึดโยง หรือเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างสิ่งก่อสร้าง นั่งร้าน แบบหล่อคอนกรีตในระหว่างการก่อสร้าง หรือเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่อยู่ระหว่างการติดตั้งการปรับปรุงหรือการซ่อมบำรุง

1.2 กำหนดให้นายจ้างต้องจัดและดูแลให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล จัดให้มีข้อบังคับ ขั้นตอนการปฏิบัติงาน มีป้ายแสดงเขตอันตราย หรือตั้งป้ายสัญลักษณ์เตือนอันตรายและเครื่องหมายป้ายบังคับเกี่ยวกับความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน 

1.3 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีนั่งร้านที่มีความมั่นคงแข็งแรง และจัดให้มีการตรวจสอบนั่งร้านเป็นประจำทุกวันก่อนการใช้งาน 

1.4 กำหนดให้นายจ้างปฏิบัติตามรายละเอียดคุณลักษณะและคู่มือการใช้นั่งร้าน และ ค้ำยันที่ผู้ผลิตกำหนด

1.5 กำหนดให้นายจ้างจัดเก็บเอกสารหลักฐานไว้ให้พนักงานตรวจความปลอดภัยตรวจสอบ และทำการตรวจสอบส่วนประกอบของค้ำยันและที่รองรับค้ำยันก่อนการใช้งาน และระหว่างใช้งาน รวมทั้งจัดให้มีมาตรการหรือวิธีการอื่นใดที่เหมาะสมสำหรับป้องกันการชน หรือการเคลื่อนตัวของฐานรองรับค้ำยัน

1.6 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างทำงานกับนั่งร้านลื่นหรือนั่งร้านชำรุด อันอาจเป็นอันตราย     ในขณะที่มีพายุ ลมแรง ฝนตก หรือฟ้าคะนอง

 

ความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมงานก่อสร้าง

2. ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. .... 

2.1 กำหนดบทนิยาม “งานก่อสร้าง” หมายความว่า การก่อสร้างสิ่งก่อสร้างทุกชนิด เช่น อาคาร สนามบิน ทางรถไฟ ทางรถราง ถนน อุโมงค์ ท่าเรือ อู่เรือ คานเรือ สะพานเทียบเรือ สะพาน ทางน้ำ ท่อระบายน้ำ ประปา รั้ว กำแพง ประตู ป้ายหรือสิ่งที่สร้างขึ้นสำหรับติดหรือตั้งป้ายพื้นที่หรือสิ่งก่อสร้างเพื่อจอดรถ กลับรถ และทางเข้าออกของรถ และหมายความรวมถึงงานต่อเติมซ่อมแซม ปรับปรุง ดัดแปลง เคลื่อนย้าย  การรื้อถอน หรือทำลายสิ่งก่อสร้างนั้นด้วย

2.2 กำหนดให้นายจ้างจัดทำแผนงานด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานก่อนเริ่มดำเนินการสำหรับงานก่อสร้าง งานเจาะ และงานขุด

2.3 ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างลงไปทำงานในรูเจาะ รูขุด หลุม บ่อ คูหรือพื้นที่อื่นที่มีลักษณะเดียวกันที่มีขนาดกว้างน้อยกว่า 75 เซนติเมตร และมีความลึกตั้งแต่ 2 เมตรขึ้นไป

2.4 กำหนดให้นายจ้างต้องจัดให้มีวิศวกรตรวจสอบการติดตั้งเครื่องตอกเสาเข็ม ส่วนประกอบและอุปกรณ์ของลิฟต์ขนส่งวัสดุชั่วคราว ลิฟต์โดยสารชั่วคราว หรือลิฟต์ที่ใช้ทั้งขนส่งวัสดุและโดยสารชั่วคราวฯ

2.5 กำหนดให้นายจ้างต้องควบคุมดูแลให้มีการใช้เชือกหรือลวดสลิงที่มีขนาดเหมาะสมกับร่องรอก ควบคุมให้ลูกจ้างสวมใส่ชูชีพตลอดเวลาทำงาน ถ้ามีการทำงานในเวลากลางคืน ชูชีพต้องติดพรายน้ำหรือวัสดุเรืองแสงด้วย

2.6 กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีวิศวกรกำหนดขั้นตอนและวิธีการรื้อถอนทำลายให้เหมาะสมกับลักษณะงาน และจัดการอบรมหรือชี้แจงลูกจ้างเกี่ยวกับขั้นตอนวิธีการรื้อถอนทำลายก่อนที่จะเริ่มปฏิบัติงาน รวมทั้งจัดและดูแลให้ลูกจ้างใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตลอดเวลาที่ทำงาน ตามลักษณะและสภาพของงานตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบันกฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องราวข้างต้นคือ “กฎกระทรวง กำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับงานก่อสร้าง พ.ศ. 2551“

นั่งร้าน และคำยัน ภาษากฎหมายกำหนดไว้คือ

“นั่งร้าน” หมายความว่า ที่ทำงานซึ่งจัดไว้สูงจากพื้นดินหรือจากพื้นของอาคารหรือส่วนของงานก่อสร้าง สำหรับเป็นที่รองรับผู้ทำงานหรือวัสดุในงานก่อสร้างเป็นการชั่วคราว

“ค้ำยัน” หมายความว่า โครงชั่วคราวที่รองรับ ยึดโยง หรือเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างนั่งร้าน หรือแบบหล่อคอนกรีต ในระหว่างการก่อสร้าง

ในส่วนของความปลอดภัยที่เกี่ยวกับนั่งร้าน และค้ำยันมีประเด็นหลักๆ เช่น

อันตรายทางกายภาพ หมายความถึง การพังของนั่งร้าน – ค้ำยัน ที่ทำให้คนทำงานเกิดอันตราย สาเหตุอาจมาจาก รับน้ำหนักบรรทุกมากเกินไปทั้งจาดคนทำงานหรือการกองวัสดุก่อสร้าง  วัสดุที่ทำนั่งร้านไม่สมบูรณ์ กรณีใช้ไม้อาจเป็นไม้ผุ  กรณีเหล็กอาจคดงอ  เป็นสนิม  สาเหตุจากการประกอบหรือติดตั้งนั่งร้านไม่ถูกต้อง  ถูกวิธี  ฐานรับน้ำหนักทั้งหมดของนั่งร้านไม่แข็งแรง เช่นเป็นดินอ่อน

นั่งร้าน – ค้ำยันพังจากการทำงาน  ตัวอย่างเช่น  การเทคอนกรีตแล้วไม่ดูแลการไหลของคอนกรีตให้ดี จนเกิดการสุมเป็นกองน้ำหนักล้นเกิน ค้ำยันอาจพังได้

นอกจากนี้แม้ว่านั่งร้าน – ค้ำยัน ไม่ได้พัง แต่ก็ยังอาจเกิดอันตรายระหว่างการทำงานระวังระวังไม่เพียงพอ ไม่มีสายรัดหรือสลิงยึดตัวคนทำงาน เมื่อเดินสะดุด หรือจังหวะทำงานต้องขยับถอยหลังจากเลยที่ยืนบนนั่งร้านและหล่นลงมา  ระหว่างทำงานการเกิดลมพัดแรงกะทันหัน  ฝนตกฉับพลัน จนมีแรงผลักแรงกระชากคนทำงานหล่นลงมาได้  หรือแม้กระทั่งการเร่งทำงานจนคนงานพักผ่อนไม่เพียงพอ อาจเกิดอาการหน้ามืด  เป็นลม จนตกลงมา

นั่งร้าน – ค้ำยัน  ยังเกิดอันตรายต่อบุคคลที่สามได้   หมายถึงอันตรายต่อคนที่ไม่ได้ทำงานโดยอาศัยนั่งร้าน – ค้ำยันเป็นองค์ประกอบ   เช่น  นั่งร้านพังลงมาสร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินที่อยู่ติดกับอาคารที่กำลังก่อสร้าง   หรือเมื่อนั่งร้าน – ค้ำยันพังแล้วเกิดอันตรายกับบุคคลที่เดินผ่าน  บุคคลที่อยู่ใกล้เคียงในเวลาเกิดเหตุ

แต่เรื่องอันตรายจากนั่งร้าน – ค้ำยันนั้นป้องกันได้ ทั้งการทำงานตามหลักวิศวกรรมที่เกี่ยวข้อง และการทำตามข้อบังคับตามกฎหมาย

#