ทำความเข้าใจสถานีกลางบางซื้อ และ รถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน
  • 12 December 2018 at 11:18
  • 1079
  • 0

การบริหารจัดการให้โครงข่ายคมนาคมที่กำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่เกิดประสิทธิภาพอย่าง  “ไร้รอยต่อ”  และสถานีกลางมีความพร้อม เป็นเรื่องที่ท้าทาย ในเรื่องนี้มี 2 โครงการสำคัญที่เกี่ยวข้องคือ การพัฒนาสถานีกลางบางซื้อ และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน  อู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ - ดอนเมือง

พลังสถานีกลางบางซื่อ

สถานีกลางบางซื้อออกแบบให้รองรับและเชื่อมต่อการคมนาคมอย่างหลากหลาย เป็นศูนย์กลางระบบรางอย่างสมบูรณ์แบบและนำหลักการพัฒนาพื้นที่โดยรอบศูนย์กลางคมนาคม (TOD) มาใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนา ข้อมูลความคืบหน้าของการพัฒนาสถานีกลางบางซื้อเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2561  มีดังนี้

ในส่วนพื้นที่รวมสถานีกลางบางซื่อคืบหน้า 60.28 % กำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน  2562 ตัวสถานีมีขนาดพื้นที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สร้างเป็นอาคาร 4 ชั้น ประกอบด้วย

ชั้นใต้ดิน พื้นที่ใช้สอย 72,542 ตารางเมตร เป็นที่จอดรถรองรับได้ 1,700 คัน มีโถงเชื่อมต่อจากพื้นที่จอดรถไปยังชั้น 1

ชั้นที่ 1 พื้นที่ใช้สอย 86,700 ตารางเมตร และชั้นลอย 12,000 ตารางเมตร รวม 98,720 ตารางเมตร เป็นพื้นที่จำหน่ายตั๋ว มีโถงพักคอย รวมถึงพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้า เชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน

ชั้นที่ 2 พื้นที่ใช้สอย 42,000 ตารางเมตร และชั้นลอย 8,800 ตารางเมตร รวม 50,800 ตารางเมตร เป็นส่วนชานชาลารองรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง 4 ชานชาลา และรถไฟทางไกล 8 ชานชาลา

และชั้นที่ 3 พื้นที่ใช้สอย 42,300 ตารางเมตร เป็นชานชาลารถไฟรางมาตรฐาน 1.435 เมตร เชื่อมภูมิภาค 10 ชานชาลา แบ่งเป็นสายใต้ 4 ชานชาลา สายเหนือและอีสาน 6 ชานชาลา และเตรียมรองรับรถไฟความเร็วสูง 3 เส้นทาง และมีทางเชื่อมกับรถไฟฟ้าใต้ดิน สถานีบางซื่อ

การเตรียมความพร้อมสถานีดอนเมือง

บทบาทของสถานีดอนเมืองที่สำคัญประการหนึ่งคือ เป็นสถานีสำคัญรองรับการเชื่อมโยงรถไฟกับท่าอากาศยาน ตัวสถานีตั้งอยู่บริเวณถนนกำแพงเพชร 6 และถนนวิภาวดีรังสิต ตรงข้ามอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมือง ใกล้สถานีรถไฟดอนเมืองในปัจจุบัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเร่งก่อสร้างสกายวอร์กเชื่อมเข้าท่าอากาศยานดอนเมือง

โครงสร้างสถานีแบ่งเป็น 4 ชั้น ได้แก่

ชั้นพื้นดิน (Ground Floor Level) เป็นพื้นที่สำหรับจอดรถรับ-ส่งผู้โดยสาร

ส่วนชั้นที่ 2 (Concourse Level) เป็นชั้นจำหน่ายตั๋วโดยสาร และเป็นพื้นที่รองรับผู้โดยสารที่จะผ่านขึ้นไปยังชานชาลา รวมทั้งเป็นจุดเชื่อมต่อไปยังอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานดอนเมืองได้อีกด้วย

ชั้นที่ 3 (LD Platform Level) รถไฟทางไกล

และ ชั้น 4 (CT Platform Level) รถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยปัจจุบันมีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 98.49%

จัดหาเอกชนบริหารพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ

แผนงานของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ในส่วนการบริหารจัดการสถานีกลางบางซื่อคือ หาผู้เชี่ยวชาญมาบริหารจัดการพื้นที่ เพื่อให้ศักยภาพของพื้นที่ราว 3 แสน ตารางเมตร และมีศักดิ์ศรีเป็นศูนย์กลางเดินทางด้านระบบรางใหญ่สุดในอาเซียนได้เกิดประโยชน์สูงสุด

ข้อมูลโดยสังเขปคือ สถานีกลางบางซื่อ มีพื้นที่ใช้สอย 264,862 ตารางเมตร และจัดทำทีโออาร์เพื่อเปิดประมูลหาเอกชนมาบริหารจัดการพื้นที่ทั้งหมด และแบ่งผลตอบแทนให้ รฟท. เช่น พื้นที่เชิงพาณิชย์ 7,000 ตารางเมตร จะทำเป็นฟู้ดคอร์ต ร้านค้า ห้องน้ำ ที่จอดรถ การรักษาความปลอดภัย เพื่อรองรับผู้มาใช้บริการสถานีกลางบางซื่อที่จะเป็นศูนย์กลางการเดินทางของระบบราง ทั้งรถไฟสายสีแดง รถไฟชานเมือง รถไฟทางไกล และรถไฟความเร็วสูง

แนวทางดำเนินการคือ เปิดให้เอกชนเป็นมืออาชีพรายเดียวบริหารพื้นที่ ไม่ต้องแบ่งประมูลทีละสัญญา และไม่ต้องใช้กฎหมายร่วมทุนด้วย เป็นการจ้างดำเนินการ ส่วน รฟท. เตรียมดำเนินการในส่วนที่เป็นรายได้ เช่น ป้ายโฆษณา

ตั้งบริษัทลูกบริหารการเดินรถ

ในส่วนการบริหารการเดินรถ รฟท. มีแผนงานตั้งบริษัทลูก  ขั้นตอนเวลานี้ รอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ รฟท.ตั้งบริษัทลูกบริหารจัดการ แผนงานคือภายในธันวาคม 2561 ส่งรายงานการจัดตั้งบริษัทให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา จากนั้นส่งไปยังกระทรวงการคลัง โดยคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจหรือ คนร.ตรวจสอบ คาดว่าเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562   แผนงานหลักคือ บริษัทเดินรถที่จัดตั้งขึ้น ในช่วง 2 ปีแรก ทำหน้าที่เดินรถทั้งแอร์พอร์ตเรลลิงก์และสายสีแดงอันเป็นช่วงเวลาระหว่างรอการเปลี่ยนผ่านระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่ให้เอกชนผู้ชนะประมูลรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินรับไปดูแล จากนั้นถึงโอนย้ายพนักงานเดิมมาที่สายสีแดง ขณะนี้มีพนักงานของบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด บริษัทลูกของรถไฟที่ดูระบบแอร์พอร์ตเรลลิงก์อยู่ประมาณ 400 คน ส่วนบริษัทลูกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ต้องการพนักงาน 800 อัตรา

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

ก่อนหน้านี้ รฟท.ได้พิจารณาด้านเทคนิค ของผู้ยื่นข้อเสนอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินไปแล้ว

ทั้ง 2 กลุ่มกิจการมีคุณสมบัติครบถ้วนและได้ผ่านการพิจารณาคุณสมบัติด้านเทคนิค ได้แก่

1. กิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ประกอบด้วย บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC), บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (RATCH)

2. กิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และพันธมิตร ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บมจ. อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บมจ. ช.การช่าง (CK), บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) 

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อวันที่  11 ธันวาคม  2561  การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท. ได้ประเมินซองข้อเสนอเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบินซองที่ 3(ด้านการเงิน) เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยราคาได้ จนกว่าที่ปรึกษาได้รตรวจสอบเอกสารราคาจนครบถ้วนเรียบร้อย โดยคาดว่าสามารถประกาศผลราคาที่แน่นอนได้ภายในวันที่ 14 ธันวาคม 2561 หลังจากนั้นขั้นตอนสุดท้ายก่อนประกาศผู้ชนะต้องผ่านการเจรจาต่อรองกันก่อน และนำร่างสัญญา ส่งให้สำนักงานอัยการสูงสุดตรวจสอบรายละเอียดอีกครั้ง คาดว่าสามารถประกาศผลการประมูลเสร็จได้ภายในเดือนมกราคม 2562

เบื้องต้นข้อเสนอของทั้ง 2 กลุ่ม ในส่วนของการเสนอขอรับการอุดหนุนจากรัฐไม่เกินกรอบวงเงินที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวงเงินที่รัฐร่วมลงทุนกับเอกชนวงเงินไม่เกิน 119,425.75 ล้านบาท

ข้อเสนอ ซองที่ 3 มีรายการของเอกสารที่บรรจุในซองปิดผนึกทั้งหมด 8 ชิ้น ได้แก่

1. บัญชีปริมาณงาน

2. แผนธุรกิจในการดำเนินโครงการ

3. แผนการเงิน

4. การจัดหาแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการดำเนินโครงการ

5. ทรัพย์สินที่ใช้ในการดำเนินโครงการและกรรมสิทธิ์ของทรัพย์สิน

6. แบบฟอร์มผลตอบแทนทางการเงินของโครงการตลอดอายุของสัญญาร่วมลงทุน

7. แบบฟอร์มจำนวนเงินที่ขอรับการสนับสนุนจากรัฐและจำนวนเงินที่ได้รับจากเอกชน

8. อัตราค่าโดยสาร

ความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง ณ  วันที่  11 ธันวาคม 2561  มีเท่านี้

พลังของสถานีกลางบางซื่อและรถไฟความเร็วสูงเชื่อม  3 สนามบินมีผลต่อเนื่องมากมาย  เมื่อบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลดีต่อเศรษฐกิจสังคมไทยย่อมมากตามไปด้วย

#