แผนการคลัง 2563- 2565 เป้าหมายเงินเฟ้อ เงื่อนไข / “กติกา” ที่ควรรับรู้
  • 26 December 2018 at 08:23
  • 2479
  • 0

แผนการคลังภาครัฐมีบทบาทเป็นแนวทางการทำงานของหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง  รวมทั้งเป็น “ทิศทาง”  ที่ภาคธุรกิจควรรับรู้ และนำมาประกอบการวางแผนบริหารจัดการธุรกิจ  กระทั่งประชาชนทั่วไปที่มิได้เป็นเจ้าของกิจการก็ควรรับรู้ไว้ ได้ประโยชน์ในการประเมินสถานการณ์บางด้านล่วงหน้า  ได้ประโยชน์ต่อการวางแผนการเงินของตนเองและครอบครัว

ทิศทางการคลังสามปี 2563 - 2565

ทิศทางการคลัง  3  ปีนั้น มาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  25  ธันวาคม  2561 เรื่อง แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565)  ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) เพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทำงบประมาณและ การก่อหนี้ของหน่วยงานรัฐ ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐเสนอ ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

มาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 (พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ) กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ (คณะกรรมการฯ) มีหน้าที่จัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้แล้วเสร็จภายในสามเดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณทุกปี  และให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบตามมาตรา 14 แห่ง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ โดยในการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งที่ 3/2561 เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2561 คณะกรรมการฯ ได้มีมติเห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2563 – 2565) สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ ในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.2 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจโลก  การปรับตัวดีขึ้นของราคาสินค้าในตลาดโลก  การขยายตัวเร่งขึ้นของการลงทุนภาครัฐด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ การฟื้นตัวอย่างชัดเจนของการลงทุนภาคเอกชน  รวมถึงการปรับตัวที่ดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนที่มีความชัดเจนและกระจายตัวมากขึ้น

ส่วนในปี 2562 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวในช่วง ร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ในประเทศที่มีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้และการจ้างงานและปัจจัยสนับสนุนอื่น ๆ จากปีก่อน ประกอบกับภาคการท่องเที่ยวมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนตามทิศทางการดำเนินนโยบายการค้า นโยบายการเงิน และนโยบายด้านต่างประเทศของประเทศสำคัญ ๆ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะปานกลางในปี 2563 – 2565 คาดว่าจะขยายตัวตามศักยภาพในช่วง ร้อยละ 3.5 – 4.5 เช่นเดียวกับปี 2562 โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคอุปสงค์ในประเทศที่ยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีอย่างต่อเนื่อง และการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น ในขณะเดียวกันการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลกจะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มที่จะอยู่ในเกณฑ์ดี โดยคาดว่าการฟื้นตัวอย่างชัดเจนของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นจากช่วง ร้อยละ 1.5-2.5 ในปี 2564 มาอยู่ในช่วง ร้อยละ 2.0 – 3.0 ในปี 2565

 

สถานการณ์คลังของประเทศ และเป้าหมายนโยบาย

2. สถานะและประมาณการการคลัง  มีตัวเลขสำคัญๆ ดังนี้

ข้อแรกประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ตามปีงบประมาณ ได้แก่ ปี 2562 จำนวน 2.55 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ  4.1  ปี 2563 จำนวน 2.75 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.8  ปี 2564 จำนวน 2.773  ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 ปี 2565  จำนวน 2.886  ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.1

ข้อที่สอง กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ได้แก่ ปี 2562 จำนวน 3 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ  3.4  ปี 2563 จำนวน 3.2 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 6.7  ปี 2564 จำนวน 3.3  ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.1 ปี 2565  จำนวน 3.47  ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.2

ข้อที่สาม ดุลการคลัง ปี 2562 ขาดดุลจำนวน  4.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.6 ต่อจีดีพี  ปี 2563 ขาดดุลจำนวน 4.5 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.4 ต่อจีดีพี  ปี 2564  ขาดดุลจำนวน 5.27 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.7 ต่อจีดีพี  ปี 2565 ขาดดุลจำนวน 5.64 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ2.8 ต่อจีดีพี

ข้อที่สี่  หนี้สาธารณะคงค้าง (ข้อมูลจากกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณ) ปี 2562  จำนวน 7,402,143  ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43.3 ต่อจีดีดพี ปี 2563 จำนวน 8,036,764 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 44.4 ต่อจีดีพี ปี 2564 จำนวน 8,775,918 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 45.7 ต่อจีดีพี ปี 2565 จำนวน 9,691,581  คิดเป็นร้อยละ 47.4 ต่อจีดีพี

3. เป้าหมายและนโยบายการคลัง

ในการดำเนินนโยบายการคลังระยะปานกลาง รัฐบาลยังมีความจำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลเพื่อสนับสนุนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องและมีเสถียรภาพ  และหากในระยะต่อไป ภาวะเศรษฐกิจไทยสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีภาคเอกชนเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รัฐบาลก็จะสามารถลดขนาดการขาดดุลลงได้ ดังนั้น เป้าหมายการคลังในระยะยาวจึงควรกำหนดให้รัฐบาลปรับลดขนาดการขาดดุลและมุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในที่สุด เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการคลังในระยะยาวดังกล่าวข้างต้น รัฐบาลจะต้องมุ่งบริหารการจัดเก็บรายได้และการใช้จ่ายให้เป็นไปตามที่กำหนดไว้ในแผนการคลังระยะปานกลาง โดยการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้และการปรับอัตราภาษีที่เหมาะสมเพื่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องควบคุมการขยายตัวของรายจ่ายในภาพรวม  โดยเฉพาะรายจ่ายประจำและเพิ่มสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนให้สูงขึ้น ด้วย

คณะกรรมการฯ ได้เสนอนโยบายและมาตรการระยะปานกลาง สรุปได้ ดังนี้

3.1 กระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งรัดกฎหมายที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลที่อยู่ระหว่างดำเนินการให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว เช่น

การปรับปรุงประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Business) ในต่างประเทศ

การจัดเก็บภาษีเงินได้จากการลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม เป็นต้น

รวมถึงศึกษาแนวทางปฏิรูปการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลทั้งระบบ  ทั้งในส่วนของรายได้ภาษีและรายได้จากทรัพย์สิน  ตลอดจนปรับปรุงระบบอิเล็กทรอนิกส์และพัฒนาฐานข้อมูลที่ใช้ติดตามการจัดเก็บภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ ขยายฐานภาษี และปรับปรุงโครงสร้างภาษีให้มีความเป็นธรรม ความเท่าเทียม และความเหมาะสมกับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป

3.2 สำนักงบประมาณจะต้องควบคุมรายจ่ายของรัฐบาลที่เป็นรายจ่ายประจำ โดยเฉพาะรายจ่ายด้านบุคลากรเพื่อเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนต่อวงเงินงบประมาณรายจ่าย ทั้งนี้ การจัดสรรงบประมาณควรคำนึงถึงความจำเป็น ความเร่งด่วน ความคุ้มค่า ศักยภาพของหน่วยงาน ความพร้อมในการดำเนินงาน และขีดความสามารถในการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อให้สามารถจัดสรรงบประมาณได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุด

3.3 รัฐบาลจะต้องผลักดันให้มีการระดมทุนในรูปแบบใหม่สำหรับการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเพื่อช่วยลดภาระการลงทุนจากงบประมาณ เช่น

การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership : PPP)

การระดมทุนผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund : TFF) เป็นต้น

 

การบริหารเงินเฟ้อ (เป้าหมาย) ปี 2562

ภาวการณ์“เงินเฟ้อ”  ราคาสินค้าและบริการแพงขึ้น  กำลังซื้อของประชาชนและธุรกิจลดลง รายได้จากดอกเบี้ยที่แท้จริงลดลง  เงินเฟ้อมีผลทั้งด้านบวกและด้านลบต่อการตัดสินใจซื้อและการลงทุนเสมอ รัฐบาลจึงต้องบริหารจัดการเรื่องนี้  ดังเช่นมติคณะรัฐมนตรีวันที่  25 ธันวาคม เรื่อง เป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเป้าหมายของนโยบายการเงิน ประจำปี 2562 พร้อมข้อตกลงร่วมกันระหว่างคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 ซึ่งกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินไว้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ร้อยละ 2.5 + 1.5 ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะประธาน กนง. ได้ประชุมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้เห็นชอบร่วมกันในการกำหนดเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. เป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป้าหมายสำหรับปี 2562 กนง. ได้ดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบมีความยืดหยุ่นซึ่งเป็นกรอบที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพราคาระยะปานกลาง ควบคู่กับการดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน โดย กนง. จะพิจารณารักษาความสมดุลของเป้าหมายด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม และมีความพร้อมที่จะใช้เครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินที่มีอยู่สนับสนุนให้ระดับราคามีเสถียรภาพและเป็นไปตามเป้าหมาย และเศรษฐกิจของประเทศเติบโตเต็มศักยภาพและยั่งยืน โดยไม่ก่อให้เกิดความเปราะบางต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. จึงมีข้อตกลงร่วมกันโดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปีที่ ร้อยละ 2.5 + 1.5 เป็นเป้าหมายของนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลาง และเป็นเป้าหมายสำหรับปี 2562 เนื่องจากเป็นระดับที่เอื้อให้การเติบโตทางเศรษฐกิจสอดคล้องกับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจไทย อย่างไรก็ตาม ธปท. จะติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยที่ส่งผลให้พลวัตของอัตราเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลงไป และอาจทำให้ผลของการดำเนินนโยบายการเงินที่มุ่งเน้นการรักษาเสถียรภาพราคาเป็นหลักมีผลกระทบต่อการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน รวมทั้งพัฒนากรอบการประเมินความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินที่ครอบคลุมมิติที่สำคัญ เพื่อให้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินยืดหยุ่นเพียงพอและสามารถนำผลของการชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการการดำเนินนโยบายทางการเงินในแต่ละทางเลือก (Policy Trade – off) มาพิจารณาได้อย่างเหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา

2. การติดตามความเคลื่อนไหวของเป้าหมายของนโยบายการเงิน กค. และ ธปท. จะจัดให้มีการหารือร่วมกันเป็นประจำ และ/หรือ เมื่อมีเหตุจำเป็นอื่นตามที่ทั้งสองหน่วยงานจะเห็นสมควร เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อให้การดำเนินนโยบายการคลังและนโยบายการเงินเป็นไปในทิศทางที่สอดประสานกัน พร้อมทั้งจัดทำรายงานผลการดำเนินนโยบายการเงินทุกครึ่งปี ซึ่งมีรายละเอียดเกี่ยวกับ

(1) การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมา

(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในระยะถัดไป

และ (3) การคาดการณ์สภาวะเศรษฐกิจในอนาคต เพื่อแจ้งให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังทราบ รวมถึงจะเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินทุกไตรมาส เพื่อเพิ่มความรับรู้ถึงแนวทางการตัดสินใจนโยบายการเงินของ กนง. ให้แก่สาธารณะ

3. การเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะต่อไปอาจมีความผันผวนจากความไม่แน่นอนของราคาพลังงานและอาหารสด ความเสี่ยงจากต่างประเทศ โดยเฉพาะนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าต่าง ๆ ดังนั้น หากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. จะมีจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะชี้แจงถึง

(1) สาเหตุของการเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายดังกล่าว

(2) แนวทางการดำเนินนโยบายการเงินในช่วงที่ผ่านมาและในระยะต่อไป เพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม

และ (3) ระยะเวลาที่คาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะกลับเข้าสู่เป้าหมาย โดยจะรายงานความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาเป็นระยะตามสมควร

4. การแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงิน ในกรณีที่มีเหตุอันสมควรหรือจำเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและ กนง. อาจตกลงร่วมกันเพื่อแก้ไขเป้าหมายของนโยบายการเงินได้ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

 

ขยายความ

การวางแผนงบประมาณขาดดุล (วางงบประมาณแผ่นดินในปีงบประมาณว่า งบประมาณรายจ่ายมากกว่างบประมาณรายรับ) รวมทั้งการขาดดุลงบประมาณ (เก็บเงินรายได้ทุกประเภทเข้ารัฐเป็นงบประมาณรายรับได้น้อยกว่าการใช้จ่ายจริงในแต่ละปีงบประมาณ)   ย่อมมีผลลัพธ์ที่คาดเดาได้คือ  เก็บภาษีให้มากขึ้น  อันได้แก่ เพิ่มประสิทธิภาพการเก็บภาษี เพิ่มรายการภาษี  ขึ้นอัตราภาษี  เป็นต้น   ดังนั้นการวางแผนภาษีจึงมีความจำเป็นมากขึ้น  ยกตัวอย่างเช่น  การทำมาหากินกับการซื้อขายสินค้าออนไลน์  เป็นต้น

ในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ แม้ว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ไม่สูงมากนัก ราวร้อยละร้อยละ 2.5 บวกลบร้อยละ 1.5  นั่นคือหากเงินเฟ้ออยู่ในอัตราต่ำสุดก็เท่ากับร้อยละ 1  ถ้าเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นสูงสุดไม่เกินร้อยละ 4   กล่าวง่ายๆ คือสินค้าและบริการแพงขึ้นต่ำสุดร้อยละ 1   และสูงสุดร้อยละ 4  นั่นเอง

#