กฎกระทรวงตาม พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ที่มีผลใช้บังคับ 29 สิงหาคม 2560 (รีบทำ)
  • 9 January 2019 at 08:03
  • 2618
  • 0

ปกติการออกกฎหมายระดับพระราชบัญญัติที่มิใช่การแก้ไขปรับปรุงกฎหมายเดิมที่เกี่ยวข้อง หากมีการยกเลิกพระราชบัญญัติเติมทั้งฉบับ อีกทั้งรับรู้กันว่ากฎหมายดังกล่าวมี กฎกระทรวงที่ใช้บังคับเรื่องรูปธรรมและสะดวกในการแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวงนั้น  ย่อมมีการตระเตรียมล่วงหน้า เพื่อมิให้เกิดช่องว่าง หรือช่วงระยะเวลาที่ “ปลอดกฎหมาย”  เพราะไม่มีกฎกระทรวงเพราะต้องยกเลิกไปตามพระราชบัญญัติหรือกฎหมายแม่อื่นๆ ที่ถูกยกเลิก อันทำให้การบริหารจัดการทั้งภาครัฐ กลไกรัฐที่เกี่ยวข้องและภาคธุรกิจติดขัด

เรื่องเช่นนี้ย่อมมีการเตรียมการ เรื่องกฎหมายลูกต่างๆ ทั้งกฎกระทรวง  ประกาศ และระเบียบต่างๆ งานเหล่านี้ไม่น้อย  บทบาทของข้าราชการที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็น  โดยเฉพาะกฎหมายระดับกฎกระทรวงขึ้นไปที่ต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชมคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการขั้นต่อไป

“เรือเกลือแล่นช้าอย่างไร ก็ต้องไปถึงท่า”  ดังนั้นจึงมีกฎกระทรวงภายใต้ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 อีกฉบับผ่านมติครม.ออกมา

ว่าด้วยหินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม  ดินและทรายอุตสาหกรรม

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  8 มกราคม 2562 เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

กระทรวงอุตสาหกรรม เสนอว่า

1. เนื่องจากพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้มีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ซึ่งมีผลให้พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 ถูกยกเลิกไป และส่งผลให้กฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรมและดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรม หรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. 2550 ถูกยกเลิกไปด้วย อก. จึงได้จัดทำร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. .... ทั้งนี้ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ แร่หมายความรวมไปถึงหินตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทราย ตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม ประกอบมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 กำหนดให้รัฐมนตรี อก. มีอำนาจในการออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้

2. อก. จึงได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. ... ขึ้นใหม่ โดยร่างกฎกระทรวงฉบับนี้มีหลักการลักษณะเดียวกับกฎกระทรวงฉบับเดิมที่ถูกยกเลิกแต่ได้กำหนดหลักการเพิ่มเติม โดยให้ยกเว้นดินมาร์ลที่นำไปผ่านกระบวนการเป็นดินสอพองและใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมพื้นบ้านไม่ถือเป็นดินอุตสาหกรรม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับภูมิปัญญาของชาวบ้าน

3. ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติในการใช้หิน ดิน หรือทรายที่มีคุณลักษณะเฉพาะและการนำไปใช้ในงานอุตสาหกรรมอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด รวมทั้งรัฐสามารถกำกับดูแลมิให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลักเกณฑ์ทางวิชาการวิศวกรรมเหมืองแร่ และก่อให้เกิดรายได้ของภาครัฐจากการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ ซึ่งรายได้ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์โดยรวม จึงได้เสนอร่างกฎกระทรวงกำหนดให้หินเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม พ.ศ. .... มาเพื่อดำเนินการ

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1.กำหนดชนิดของหินประดับ กำหนดให้หินจำนวน 10 ชนิด เป็นหินประดับ ได้แก่ หินกรวดมน (Conglomerate) หินกรวดเหลี่ยม (Breccia) หินแกรนิต (Granite) หินชนวน (Slate) หินทราเวอร์ทีน (Travertine)หินทราย (Sandstone) หินนาคกระสวย (Serpentinite) หินไนส์ (Gneiss) หินบะซอลต์ (Basalt) และหินปูน (Limestone)

2.กำหนดชนิดของหินอุตสาหกรรม กำหนดให้หินอุตสาหกรรม ได้แก่ หินชนิดอื่น นอกเหนือจากหิน 10 ชนิด ดังกล่าวข้างต้น และหิน 10 ชนิดดังกล่าวข้างต้นที่มีปริมาณสำรองเพียงพอ หรือมีคุณภาพไม่เหมาะสมที่จะทำเป็นหินประดับตามที่อธิบดีประกาศกำหนด

3.กำหนดชนิดของดินอุตสาหกรรม กำหนดให้ดินจำนวน 7 ชนิด เป็นดินอุตสาหกรรม ได้แก่ ดินขาว ดินซีเมนต์ ดินทนไฟ (Fire Clay) ดินเบา หรือไดอะทอไมต์ (Diatomite) หรือไดอะตอมเมเชียสเอิร์ท (Diatomaceous earth) ดินมาร์ล ดินเหนียวสี และบอลเคลย์ (Ball Clay)

4.กำหนดชนิดของดินที่ไม่ถือเป็นดินอุตสาหกรรม ได้แก่- ดินมาร์ลที่นำไปผ่านกระบวนการแต่งเป็นดินสอพอง และใช้เพื่อประโยชน์ในอุตสาหกรรมพื้นบ้าน  และ ดินเหนียวสีที่ใช้เพื่อประโยชน์ในงานหัตถกรรม หรืออุตสาหกรรมพื้นบ้าน

5.กำหนดชนิดของทรายอุตสาหกรรม กำหนดให้ทรายอุตสาหกรรม ได้แก่ ทรายแก้ว หรือทรายซิลิกา

6.กำหนดอำนาจของอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่- ให้อธิบดีมีอำนาจประกาศกำหนดคุณสมบัติ คุณลักษณะ และลักษณะการนำไปใช้ประโยชน์ ของดินอุตสาหกรรมและทรายอุตสาหกรรม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

กฎหระทรวงอื่นๆ ตาม พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560    อ่านได้ที่

http://www.dpim.go.th/laws?catid=297

(ข้อมูลที่เข้าถึงวันที่ 9/01/2019)  มีกฎกระทรวงดังนี้

กฎกระทรวงออกตามความในพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ.2560

กฎกระทรวง เรื่อง กำหนดพิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ. 2561

กฎกระทรวง กำหนดค่าธรรมเนียมตามกฎหมายว่าด้วยแร่ พ.ศ. 2561

กฎกระทรวง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแร่จังหวัด พ.ศ. 2561

กฎกระทรวง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการแร่ พ.ศ. 2561

กฎกระทรวง การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ. 2561

กฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการกรมอุตสาหกรรมพื้นฐาน และการเหมืองแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม พ.ศ. 2560

อ่าน หรือดาวน์โหลด พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560    ได้ที่

http://www.dpim.go.th/pr/article?catid=42&articleid=7575

เมื่อนับจากวันที่  2  มีนาคม  2560  ที่  พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560    ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  และมีระยะเวลา  180  วันก่อน พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560     มีผลบังคับใช้นั้น เป็นช่วงเวลาสำหรับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องจัดทำและประกาศกฎกระทรวงต่างๆ ตั้งแต่วันที่  29 สิงหาคม  2560  ที่พระราชบัญญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้

ยิ่งในกรณีที่กฎกระทรวงไม่มีเนื้อหาเปลี่ยนแปลง ยิ่งไม่ควรล่าช้าเป็นเวลากว่า  4  เดือนเช่นกฎกระทรวงที่เพิ่งผ่านที่ประชุมคณะรัฐมนตรีฉบับนี้  เมื่อเกิดเหตุเช่นนี้ ควรเป็นการกระตุ้นเตือนให้เร่งรัดการออกกฎกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจำเป็นออกมาให้ครบถ้วน

ทั้งนี้เพื่อให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่  อุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้อง  บรรดาธุรกิจภาคเอกชน  ประชาชนที่ประกอบอาชีพซึ่งเกี่ยวข้อง และหรือต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวง  ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ  สามารถดำเนินกิจการของตนเองได้  ไม่ติดขัด ข้อกฎหมาย

บทบาทสำคัญของภาครัฐหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นกลไกรัฐประการหนึ่งคือ การอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ  และประชาชน (อันเป็นที่มาของรายได้แห่งรัฐ)  นอกเหนือจากการควบคุมกำกับดูแล

นอกจากนี้ยังมีบทวิเคราะห์เกี่ยวกับ พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560   ที่น่าสนใจ  ติดตามได้ที่

https://thaipublica.org/2018/11/comparative-analysis-mineral-law-2560/

 

#