อนาคต 10 ปีเศรษฐกิจไทย สดใสถ้วนหน้า? (ตอนที่1)
  • 21 February 2019 at 12:19
  • 717
  • 0

“เหลียวหลังแลหน้า” เมื่อ “แลไปข้างหน้า” มองเศรษฐกิจไทย ก็หวังและฝันว่าใน 10 ปีข้างหน้าควรมีอนาคตสดใส  และย่อมแสวงหาหลักประกันที่ทำให้ฝันเป็นจริง  และควร “เหลียวหลัง” ไปดูภาพรวมที่ผ่านมาด้วย มองมาถึงวันเวลาปัจจุบันเพื่อให้มีทิศทางที่ชัดเจนในการฝ่าฟันสู่ฝันข้างหน้า

ประเทศไทยนั้นดี  ปฐพีมีพลัง

จากอดีตสู่ปัจจุบันไม่มีข้อสงสัยพลังแห่งปฐพีของแผ่นดินนี้ “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เพิ่มเติมด้วย “ในอ่าวมีก๊าซ”  ความรุ่งเรืองมั่งคั่งของลุ่มแม่น้ำต่างๆ ทั้งภาคเหนือ อีสาน กลาง(รวมตะวันออก) และภาคใต้  ที่ส่งเสริมให้เกิดเมืองใหญ่ เมืองน้อยแห่งลุ่มน้ำต่างๆ ตั้งแต่อดีตกาลคือความเป็นจริงที่ชัดเจน

ปฐพีไทยมีพลังจากการผลิตภาคเกษตรกรรมเป็นพลังหลัก (พิจารณาจากสัดส่วนในจีดีพี-ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ)  ขยับสู่การผลิตภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก (หลังพ.ศ. 2524)  และพลังเศรษฐกิจจากพาณิชยกรรมและบริการมีสัดส่วนที่เคียงคู่กับภาคอุตสาหกรรม  พลังเหล่านี้มีรากฐานจากทำเลที่ตั้ง  สภาพทางภูมิศาสตร์  ทรัพยากรธรรม  ความชำนาญงานด้านต่างๆ ของประชาชน  แต่ประสิทธิภาพ-ศักยภาพเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด  ระบอบการเมืองการปกครอง และสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมีบทบาทสำคัญยิ่ง  นั่นคือมีผลทำให้ดีมากขึ้น  (และอาจมีผลตรงกันข้ามคือถ่วงรั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจ สังคมวัฒนธรรม)

แล้ว 10 ปี หรือทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเป็นอย่างไร ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปรียบเทียบเศรษฐกิจไทยปี 2551 กับตัวเลขล่าสุดปี 2560 ภายในเวลา 10 ปี มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือ GDP (มูลค่าที่แท้จริง) ปรับเพิ่มขึ้นจาก 7.7 ล้านล้านบาท เป็น 10.2 ล้านล้านบาท เติบโตขึ้นประมาณร้อยละ 3.25 ต่อปี

รายได้ต่อหัวของประชากรเพิ่มขึ้นสอดคล้องกัน คือเพิ่มจาก 12,197 บาทต่อเดือน มาอยู่ที่ 18,618 บาทต่อเดือน คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 5.26 ต่อปี

กล่าวได้ว่าโดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีและประชาชนในภาพรวมก็มีรายได้ดีขึ้น  ภาพรวมคือภาพรวม มิได้หมายความว่า ไม่มีปัญหาเรื่อง “รวยกระจุก จนกระจาย”

กล่าวให้ชัดเจนแม้ว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา  ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทยยังไม่ยุติ  การปกครองระบอบประชาธิปไตย ไม่ได้ยืนหยัดต่อเนื่องยาวนานเพื่อเป็นวิถีและวิธีในการแก้ไขความขัดแย้งด้านต่างๆ ของสังคม  แต่เศรษฐกิจไทยก็ยังขยายตัวได้

นี่คือพลังของปฐพี  และประชากรไทยทั้งประเทศ

เศรษฐกิจ 2561 ปีก่อนเลือกตั้ง

ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทยเปิดเผยว่า รวมทั้งปี 2561 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 4.1 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 4.0 ในปี 2560 และเป็นการขยายตัวสูงสุดในรอบ 6 ปี มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.6 และร้อยละ 3.8 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 1.1 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 7.4 ของ GDP

เศรษฐกิจไทยปี 2561 โดยภาพรวมสรุปได้ดังนี้

การบริโภคภาคเอกชน รวมทั้งปี 2561 การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.6 สูงสุดในรอบ 6 ปี และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลขยายตัวร้อยละ 1.8

การลงทุนรวม รวมทั้งปี 2561 การลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 3.8 โดยการลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.3 และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.9 สูงสุดในรอบ 6 ปี

การส่งออกสินค้า รวมทั้งปี 2561 การส่งออกมีมูลค่า 253,431 ล้านดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 7.7 ต่อเนื่องจากการขยายตัวร้อยละ 9.8 ในปี 2560 โดยปริมาณ การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 และราคาส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 และเมื่อคิดในรูปของเงินบาท การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7

ภาคเกษตร รวมทั้งปี 2561 การผลิตภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 ปรับตัวดีขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 3.7 ในปี 2560 โดยดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 ในขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 5.7 ส่งผลให้ดัชนีรายได้เกษตรกรโดยรวมลดลงร้อยละ 0.4

สาขาอุตสาหกรรม รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.0 เร่งขึ้นจากการขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 2560 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 68.5

สาขาโรงแรมและภัตตาคาร รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาโรงแรมและภัตตาคารขยายตัวร้อยละ 7.9 ชะลอตัวลงจากการขยายตัวร้อยละ 10.6 ในปี 2560 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีจำนวน 38.28 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 รายรับรวมจากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3,075.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0 รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ 2,007.5 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6 รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย 1,068.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 และอัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 71.40

สาขาการขนส่งและการคมนาคม รวมทั้งปี 2561 การผลิตสาขาการขนส่ง และการคมนาคมขยายตัวร้อยละ 6.3 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 7.3 ในปี 2560 โดยบริการขนส่งขยายตัวร้อยละ 3.2 และบริการโทรคมนาคมขยายตัวร้อยละ 10.2

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2562

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2562 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 - 4.5  การขยายตัวดังกล่าวมีแรงสนับสนุนดังนี้

(1) การใช้จ่ายภาคครัวเรือนยังมีแนวโน้มขยายตัว ในเกณฑ์ดีและสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ของประชาชนและการจ้างงาน

(2) การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของการลงทุนภาคเอกชน ตามการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิต การเพิ่มขึ้นของมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน และความคืบหน้าของโครงการลงทุนที่สำคัญ ๆ

(3) การเร่งตัวขึ้นของการลงทุนภาครัฐ ตามการเพิ่มขึ้นของกรอบงบลงทุนภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปีและงบเหลื่อมปี รวมทั้งการเร่งตัวขึ้นของการเบิกจ่ายจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ

(4) การเพิ่มขึ้นของแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยว ตามการปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติของจำนวนและรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป

และ (5) การเปลี่ยนแปลงทิศทางการค้า การผลิต และการลงทุนระหว่างประเทศ ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ คาดว่ามูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัวร้อยละ 4.1 การบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมขยายตัวร้อยละ 4.2 และร้อยละ 5.1 ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วงร้อยละ 0.5 - 1.5 และบัญชีเดินสะพัดเกินดุลร้อยละ 6.2 ของ GDP

(อ่านรายละเอียด”แรงสนับสนุน 5 ประการ” ตอนต่อไป)

#