ยกเลิกมาตรการภาษีการตั้งสำนักงานบรรษัทข้ามชาติในไทย
  • 28 March 2019 at 12:30
  • 2418
  • 0

การสร้างความพร้อม  สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ  ที่สำคัญคือความพร้อมทางกายภาพของประเทศ  และเมืองสำคัญ เช่น  ระบบการคมนาคมขนส่ง-โลจิสติกส์ ความพร้อมทางด้านการสื่อสารโทรคมนาคม  ความพร้อมทางด้านบุคลากร-ทรัพยากรมนุษย์    นอกจากนี้ยังรวมถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองของการปกครองระบอบประชาธิปไตย  และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ดี เรื่องดังกล่าวเหล่านี้มีความมั่นคงยาวนานกว่ามาตรการจูงใจทางด้านสิทธิประโยชน์จากภาษี

ดังนั้นล่าสุดประเทศไทยจึงได้มีการปรับเปลี่ยนมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่(ของบรรษัทข้ามชาติ)ต่างๆ ที่มีโอกาสเปิดขึ้นในประเทศไทย

 

ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่เพื่อภาพลักษณ์ที่ดี

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 26 มีนาคม 2562 เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาเพื่อยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับสำนักงานใหญ่ [ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ]

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของเรื่อง

ร่างพระราชกฤษฎีกา รวม 3 ฉบับ ที่กระทรวงการคลังเสนอ เป็นการยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับสำนักงานปฏิบัติการภูมิภาค (Regional Operating Headquarters หรือ ROH) สำนักงานใหญ่ ข้ามประเทศ (International Headquarters หรือ IHQ) และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center หรือ ITC) ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติตามโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีและการโยกย้ายกำไร (BEPS) [เช่น การที่ประเทศไทยให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่สำนักงานหรือบริษัทดังกล่าว แต่ในกรณีเช่นเดียวกัน ประเทศอื่นไม่ให้สิทธิประโยชน์ในทางภาษี] ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD)

การดำเนินการในเรื่องนี้สืบเนื่องจากการที่ประเทศไทยเป็นสมาชิกของ Inclusive Framework on Base Erosion and Profit Shifting (Inclusive Framework on BEPS) ที่จัดตั้งโดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development หรือ OECD) ประเทศไทยจึงต้องนำโครงการต่อต้านการกัดกร่อนฐานภาษีดังกล่าวมาปฏิบัติ มิฉะนั้นอาจถูก Forum on Harmful Tax Practices (FHTP) และ Inclusive Framework on BEPS ให้สถานะประเทศไทยเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful รวมทั้งการถูกบรรจุชื่ออยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป ซึ่งจะทำให้มีผลกระทบเกิดแก่การลงทุนในประเทศ

ทั้งนี้ กระทรวงการคลังรายงานว่า การยกเลิกมาตรภารภาษีในเรื่องนี้มิได้ก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้แต่อย่างใด ซึ่งจะทำให้มาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH2 IHQ และ ITC สิ้นสุดลงในวันที่ 1 มิถุนายน 2562 และทำให้ไม่ได้รับสถานะเป็น Potentially Harmful หรือ Actually Harmful จาก FHTP และ Inclusive Framework on BEPS อีก และทำให้ประเทศไทยไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่ไม่ให้ความร่วมมือด้านภาษีของสหภาพยุโรป นอกจากนี้  ยังรักษาภาพลักษณ์ที่ดีของไทยและป้องกันไม่ให้ถูกมาตรการตอบโต้จากนานาประเทศ อันจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในระยะยาว

ร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ มีสาระสำคัญ ดังนี้

มาตรการที่หนึ่ง ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ROH  ประกอบด้วย    1)  ROH1 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561 ) และ    2) ROH2 (ยุติการจดแจ้งรายใหม่ เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2558)

สาระสำคัญ มีดังนี้

- ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562  เป็นต้นไป

- ยกเลิกการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลในส่วนรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ดอกเบี้ยที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือและเงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562

- ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ROH2 ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 63 เป็นต้นไป

- ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ROH2 แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิ.ย. 62 และจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

มาตรการที่สอง  ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ IHQ (ยุติการอนุมัติรายใหม่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2561)

สาระสำคัญประกอบด้วย

- ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยคนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ

- ยกเลิกการลดอัตราและการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับรายได้จากการให้บริการแก่วิสาหกิจในเครือ ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือ รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป

- ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลและดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IHQ แต่ยังคงยกเว้นสำหรับรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562   และจ่ายภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563

มาตรการที่สาม  ยกเลิกมาตรการภาษีเกี่ยวกับ ITC

สาระสำคัญประกอบด้วย

- ยกเลิกการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ITC ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563  เป็นต้นไป

- ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ITC สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศและรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคล ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2562 เป็นต้นไป

- ยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายของต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในไทยสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC แต่ยังคงยกเว้นสำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC ซึ่งจ่ายจากรายได้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่ 1 มิถุนายน 2562   และจ่ายภายในวันที่  31 ธันวาคม 2563

ทั้งนี้ ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้ง 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

เพิ่มเติม

ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้จัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ)  และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ในประเทศไทย มีดังนี้

(มาจาก http://www.rd.go.th/publish/26201.0.html)

 

ความเป็นมา

คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2557 และวันที่ 10 มีนาคม 2558 เห็นชอบมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศและมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ เพื่อจูงใจให้ภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ)  และบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ในประเทศไทย อันจะทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการค้า การเงิน และการลงทุนของภูมิภาค

 

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ

เป็นการให้สิทธิประโยชน์ลดอัตราและยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ (International Headquarters: IHQ) ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำนิยาม

สำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือหรือสาขาของตน ไม่ว่าวิสาหกิจในเครือหรือสาขานั้นจะตั้งอยู่ในประเทศไทยหรือในต่างประเทศ และหมายความรวมถึงบริษัทการค้าระหว่างประเทศซึ่งได้รับอนุมัติให้เป็นสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศด้วย

คุณสมบัติ

มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป

มีการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือการบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

มีรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการของ IHQ ที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 15 ล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็น IHQ จากอธิบดีกรมสรรพากร

ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี   :   15 รอบระยะเวลาบัญชี

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

1. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ IHQ สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

1.1    รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือ   การบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

1.2    ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

1.3    เงินปันผลที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

1.4    รายได้จากการโอนหุ้นของวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะการโอนหุ้นที่ตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุน

1.5    รายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือการถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ

 

2. ลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ IHQ จากร้อยละ 20 ของกำไรสุทธิเหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

2.1    รายได้จากการให้บริการด้านการบริหารหรือด้านเทคนิค การให้บริการสนับสนุน หรือ   การบริหารเงินแก่วิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

2.2    ค่าสิทธิที่ได้รับจากวิสาหกิจในเครือที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย

ทั้งนี้ เฉพาะที่มีจำนวนรวมกันไม่เกินกว่ารายได้ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม 1.1 และ 1.2

3. ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะให้แก่ IHQ สำหรับรายรับจากการให้กู้ยืมแก่วิสาหกิจในเครือ ทั้งนี้ เฉพาะการให้กู้ยืมที่เป็นการบริหารเงิน

4. ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ IHQ เหลือร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมิน

5. ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับรายได้ดังต่อไปนี้

5.1    เงินปันผลที่ได้รับจาก IHQ ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผลที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม 1.1 และ 1.2

5.2    ดอกเบี้ยที่ได้รับจาก IHQ ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยจากเงินกู้ยืมที่ IHQ ได้กู้มาเพื่อให้กู้ยืมต่อแก่วิสาหกิจในเครือที่เป็นการบริหารเงิน

 

หมายเหตุ

1.   ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงคำนิยามต่างๆ ของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง IHQ ได้จากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 586)

2.   ศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง IHQ ได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการลดอัตราภาษีเงินได้ ยกเว้นภาษีเงินได้ และยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะของบริษัทซึ่งประกอบกิจการสำนักงานใหญ่ข้ามประเทศ

 

มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

เป็นการให้สิทธิประโยชน์ลดอัตราและยกเว้นภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้งบริษัทการค้าระหว่างประเทศ (International Trading Center: ITC) ในประเทศไทย โดยมีรายละเอียดดังนี้

คำนิยาม

บริษัทการค้าระหว่างประเทศ หมายความว่า บริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย เพื่อประกอบกิจการจัดซื้อและขายสินค้า วัตถุดิบ และชิ้นส่วน หรือให้บริการเกี่ยวกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ

คุณสมบัติ

มีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่ ๑๐ ล้านบาทขึ้นไป

มีรายจ่ายในการดำเนินงานซึ่งเกี่ยวกับกิจการของ ITC ที่จ่ายให้แก่ผู้รับในประเทศไทยไม่น้อยกว่า ๑๕ ล้านบาทในแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี

ยื่นคำร้องขอและได้รับอนุมัติให้เป็น ITC จากอธิบดีกรมสรรพากร

ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด

ระยะเวลาการได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี  :   15 รอบระยะเวลาบัญชี

 

สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ ITC สำหรับรายได้จากการจัดซื้อและขายสินค้าในต่างประเทศ โดยสินค้าดังกล่าวมิได้ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย หรือเข้ามาในประเทศไทยในลักษณะการผ่านแดนหรือ   การถ่ายลำตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และรายได้จากการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศแก่นิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศที่ได้รับจากหรือในต่างประเทศ

ลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้แก่คนต่างด้าวซึ่งทำงานประจำ ITC เหลือร้อยละ ๑๕ ของเงินได้พึงประเมิน

ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย สำหรับเงินปันผลที่ได้รับจาก ITC ทั้งนี้ เฉพาะเงินปันผล ที่จ่ายจากรายได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลตาม 1.

หมายเหตุ

1.   ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม รวมถึงคำนิยามต่างๆ ของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง ITC ได้จากพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 587)

2.   ศึกษาหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่างๆ ของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการจัดตั้ง ITC  ได้จาก ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 253) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการลดอัตราและยกเว้นภาษีเงินได้ ของบริษัทซึ่งประกอบกิจการบริษัทการค้าระหว่างประเทศ

#