ข้อมูลภาครัฐ : ความคืบหน้าโครงการถไฟฟ้าขนส่งมวลชน
  • 22 May 2019 at 08:37
  • 1037
  • 0

กรุงเทพมหานครที่หมายความรวมกรุงเทพฯและจังหวัดปริมณฑลโดยรอบนั้นจำเป็นต้องมีโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนรองรับในทิศทางการเดินทางต่างๆ  เชื่อมโยงจากชานเมือง และจังหวัดโดยรวมผ่านกลางเมือง และเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าที่เป็นสายวงกลมเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าเกือบทุกสาย  เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง  ประเด็นสำคัญคือ คำนวณระยะเวลาเดินทางที่แม่นย้ำ  ลดต้นทุนเวลาในการเดินทางไป-กลับต่อวันให้เหลือน้อยที่สุด  หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ ประชาชนมีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น สามารถหลีกหนีการจราจรที่คับคั่งติดขัดในถนนเส้นทางต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชั่วโมงเร่งด่วนเช้า-เย็น

ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเส้นทางต่างๆ  นั้นน่าสนใจ และต้องย้ำว่าข้อมูลภาครัฐควรน่าเชื่อถือมากที่สุด

 

ผลการดำเนินงานของ รฟม.

ข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน มี่มาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  21  พฤษภาคม  2562  เรื่อง  ผลการดำเนินการของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในปีงบประมาณ 2561 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยในอนาคต (คค.)

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอผลการดำเนินงานของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในปีงบประมาณ 2561 นโยบายของคณะกรรมการ และโครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต สรุปได้ ดังนี้

1.ผลการดำเนินงานของ รฟม. ในปีงบประมาณ 2561

1.1ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

1.1.1โครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 5 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ : งานก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม 2561 งานออกแบบ ผลิต และติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 61.03 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.55 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการช่วงหัวลำโพง – บางแค ในเดือนตุลาคม 2562 และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ ในเดือนเมษายน 2563

 

(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต : งานก่อสร้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 78.79 เร็วกว่าแผนร้อยละ 2.26 งานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถจะดำเนินการโดยกรุงเทพมหานคร ซึ่งได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงว่าด้วยการจำหน่ายสินทรัพย์และโอนภาระทางการเงินให้กรุงเทพมหานครแล้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2561 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกรกฎาคม 2563

 

(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี   (สุวินทวงศ์) : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 93.72 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 0.26 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 18.33 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.48 รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556  มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกุมภาพันธ์ 2566

 

(4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 90.57 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 1.58 เนื่องจากผู้รับเงินค่าตอบแทนมาตกลงทำสัญญาน้อยกว่าที่ประมาณการไว้ และมีการปรับแนวเขตทางโครงการช่วงดังกล่าวเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากการเวนคืน งานก่อสร้างโยธา ผลิตและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 6.51 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.01    โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564

 

(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 94.34 เร็วกว่าแผนร้อยละ 1.12 งานก่อสร้างงานโยธา ผลิดและติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและเดินรถมีความก้าวหน้าร้อยละ 7.48 เร็วกว่าแผนร้อยละ 5.98 โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนตุลาคม 2564

 

1.1.2โครงการที่อยู่ระหว่างการประกวดราคา จำนวน 1 โครงการ ได้แก่

โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) : งานจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินมีความก้าวหน้าร้อยละ 14.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 11.00 เนื่องจากผู้สนใจเห็นว่าข้อกำหนดขอบเขตของงานที่กำหนดไม่สามารถปฏิบัติงานได้ ทำให้ไม่มีผู้ยื่นข้อเสนองานคัดเลือกที่ปรึกษา งานโยธาและจัดหาผู้รับจ้างงานโยธามีความก้าวหน้าร้อยละ 14.80 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 12.70 เนื่องจากยังไม่ได้ข้อยุติในการขอใช้พื้นที่ก่อสร้างและการจัดทำราคากลาง รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 โดยอยู่ระหว่างปรับปรุงรายงานการศึกษาฯ ตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีที่ให้ รฟม. เร่งเจรจากับเอกชนผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม ในรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับการใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงร่วมกัน และให้ระบุรายละเอียดดังกล่าวในรายงานการศึกษาฯ ด้วย โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายน 2567

 

1.1.3 โครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและวิเคราะห์โครงการ จำนวน 4 โครงการ ได้แก่

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย : งานขออนุมัติโครงการและศึกษาวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556 มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.00 ตามแผนงานคัดเลือกเอกชนผลิต ติดตั้งงานระบบรถไฟฟ้าและทดลองเดินรถยังไม่ดำเนินการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการเสนอขออนุมัติรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ จากคณะรัฐมนตรีโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2568

 

(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดภูเก็ตแล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) มีความก้าวหน้าร้อยละ 93.33 ตามแผน รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 50.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 25.00 เนื่องจาก รฟม. ใช้ระยะเวลาจัดจ้างที่ปรึกษามากกว่าแผนที่กำหนดโดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2566

 

(3) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่ : คณะรัฐมนตรีมีมติ (11 กันยายน 2561) อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่แล้ว โดยอยู่ระหว่างการพิจารณาของ สคก. มีความก้าวหน้าร้อยละ 90.00 ตามแผนงานว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ มีความก้าวหน้าร้อยละ 40.00 ตามแผน โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการทางวิ่งระดับพื้นดินในเดือนกรกฎาคม 2567 และเปิดให้บริการทางวิ่งระดับทั้งพื้นดินและใต้ดินในเดือนมกราคม 2570

 

(4) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา : รฟม. ได้จัดรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องต่อร่างพระราชกฤษฎีกาให้อำนาจให้ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดนครราชสีมา มีความก้าวหน้าร้อยละ 80.00 ล่าช้ากว่าแผนร้อยละ 10.00 เนื่องจากใช้ระยะเวลาในการจัดเตรียมเอกสารประกอบร่างพระราชกฤษฎีกามากกว่าแผนที่กำหนด โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการในเดือนมิถุนายน 2567

 

นอกจากนี้ได้มีการศึกษาออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางบริเวณสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้าแล้วเสร็จ ปัจจุบันอยู่ระหว่างจัดหาผู้รับจ้างและคาดว่าจะเริ่มงานก่อสร้างได้ในปี 2562 รวมทั้งได้มีการวิเคราะห์และประเมินความเหมาะสมของเทคโนโลยีตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV (Europay, Mastercard และ Visa) ได้นำบัตรแมงมุมและบัตรสวัสดิการแห่งรัฐมาใช้เดินทางในระบบรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคลและสายฉลองรัชธรรม ปัจจุบันอยู่ระหว่างการว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมและคาดว่าจะจัดจ้างผู้ดำเนินการพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จภายในปี 2562

1.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน : ได้เปิดให้บริการรถไฟฟ้าแล้ว 2 เส้นทาง  โดยมีผลการดำเนินงาน ดังนี้

1.2.1 รถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล มีผู้โดยสารเฉลี่ย 307,312 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 5.56 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00)

1.2.2 รถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม มีผู้โดยสารเฉลี่ย 46,540 คน-เที่ยว/วัน เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560 ร้อยละ 78.50 (เป้าหมายเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00)

1.3 ด้านการเงิน

รฟม. มีผลประกอบการกำไรสุทธิ 2,304.39 ล้านบาท (กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 710.76 ล้านบาท) โดยมีรายได้ 14,006.69 ล้านบาท (เงินอุดหนุน 8,844.01 ล้านบาท) และค่าใช้จ่ายรวม 11,702.30            ล้านบาท และสามารถเบิกจ่ายงบลงทุนได้ร้อยละ 99.99 ซึ่งมีรายได้จากธุรกิจต่อเนื่องรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล 142.79 ล้านบาท น้อยกว่าเป้าหมายร้อยละ 10.90 (เป้าหมาย 160.26 ล้านบาท) และสายฉลองรัชธรรม 33.31 ล้านบาท มากกว่าเป้าหมายร้อยละ 78.80 (เป้าหมาย 18.63 ล้านบาท)

 

นโยบาย รฟม.  หลักแห่งคุณภาพบริการ

2.นโยบายของคณะกรรมการ รฟม.

2.1 ให้ดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาล มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมรวมถึงให้ความสำคัญต่อการป้องกันและลดผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงาน

2.2 ให้เร่งรัดดำเนินโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสายต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมายให้แล้วเสร็จและเปิดบริการได้ตามแผน และให้ศึกษาระบบรถไฟฟ้าในเมืองหลักอื่น

2.3 ให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนด้วยความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงเวลา

2.4 ให้บริหารสินทรัพย์ ดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง และให้บริการเสริมต่าง ๆ เพื่อเพิ่มรายได้และลดภาระการสนับสนุนจากภาครัฐ

2.5 ให้พัฒนาทรัพยากรบุคคล และวัฒนธรรมองค์กร โดยให้พนักงงานมีส่วนร่วม

2.6 ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน และนำข้อคิดเห็นของประชาชนมาพัฒนาและปรับปรุงการดำเนินงานขององค์กร

2.7 ให้สื่อสารเชิงรุกในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนละผู้ได้รับผลกระทบรับรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของรถไฟฟ้าฯ

2.8 ให้บริหารจัดการการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งในด้านการบริหารเงินสด การบริหารจัดการหนี้ และการบริหารความเสี่ยง

2.9 ให้พัฒนาและปรับปรุงระบบแรงจูงใจทั้งในรูปตัวเงินและไม่ใช่ตัวเงิน เพื่อสร้างความเป็นธรรมและสร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงาน

 

แผนงานในอนาคต

3. โครงการและแผนงานของ รฟม. ในอนาคต

3.1 ด้านการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

สถานะ อยู่ระหว่างการก่อสร้างประกอบด้วย

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงบางซื่อ – ท่าพระ

(2) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต

(3) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

(4) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

(5) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

ทั้ง 5 เส้นทางดังกล่าวมีระยะทางรวม 132.1 กิโลเมตร

 

สถานะ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างเดือนธันวาคม 2562   เส้นทาง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ระยทาว 23.6  กิโลเมตร

สถานะคาดว่าจะได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเพิ่มเติม

ปี 2562 เส้นทาง

(1) โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนท์ – ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย

(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดภูเก็ต

ปี 2563

(1) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่

(2) โครงการรถไฟฟ้าจังหวัดนครราชสีมา

รวมระยะทางทั้ง 4 โครงการ 114.4  กิโลเมตร

 

3.2 ด้านการให้บริการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน

รฟม. มีเป้าหมายว่าผู้ใช้บริการสายเฉลิมรัชมงคล ร้อยละ 69.35 และสายฉลองรัชธรรม ร้อยละ 63.50 ต้องมีความพึงพอใจในระดับมาก – มากที่สุดต่อบริการรถไฟฟ้าฯ และบริการเสริมอื่น ๆ และมีจำนวนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5

3.3 ด้านการเงิน

รฟม. มีแผนที่จะหารายได้จากธุรกิจต่อเนื่องประมาณ 185 ล้านบาท (สายเฉลิมรัชมงคล 149.93 ล้านบาท และสายฉลองรัชธรรม 34.98 ล้านบาท) และมีผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) ร้อยละ 1.26 นอกจากนี้ยังมีแผนที่จะบริหารจัดการต้นทุนทางการเงิน เพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยต้องควบคุมค่าใช้จ่ายไม่ให้สูงกว่าปีที่ผ่านมา

3.4 ด้านการพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคล

รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาบุคลากร โดยบุคลากรร้อยละ 95.83 ต้องผ่านเกณฑ์การประเมินสมรรถนะ และมีแผนที่จะเปิดศูนย์ฝึกอบรมบุคคลากรในระบบราง พัฒนากระบวนการจัดทำและดำเนินกิจกรรมทางการตลาดเกี่ยวกับผู้โดยสาร บัตรโดยสาร สังคม รวมถึงประชาชน

3.5 ด้านการกำกับดูแลที่ดี

รฟม. มีแผนที่จะพัฒนาส่งเสริมธรรมาภิบาลองค์กรใน 4 มิติ และพัฒนาแนวทางการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานในด้านนี้ โดยมีเป้าหมายให้มีลำดับของผลประเมิน Integrity and Transparency Assessment (ITA) อยู่ในลำดับที่ 1-3 ของรัฐวิสาหกิจสังกัด คค.

 

การกำกับดูแลจากกระทรวงคมนาคม

4. สำหรับผลการดำเนินงานในปี 2561 คค. มอบหมายให้ รฟม. ดำเนินการดังนี้

4.1 เร่งดำเนินการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – วงแหวนกาญจนาภิเษก ให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างได้โดยเร็ว รวมทั้งเร่งนำเสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ (งานระบบรถไฟฟ้าและการเดินรถ) ให้ คค. พิจารณาด้วย

4.2 โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ให้ รฟม. เร่งดำเนินการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างสถานีสะพานพระนั่งเกล้ากับท่าเรือพระนั่งเกล้าให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

4.3 การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วมตามมาตรฐาน EMV ขอให้ดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ด้วย

4.4 เร่งพัฒนาระบบขนส่งมวลชนทางรางในเมืองภูมิภาคในพื้นที่ 3 จังหวัด โดย

4.4.1 จังหวัดภูเก็ต ให้ รฟม.ดำเนินการศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ ให้เป็นไปตามแผน

4.4.2 จังหวัดเชียงใหม่ ให้ รฟม. เร่งดำเนินการจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและวิเคราะห์โครงการฯ

4.4.3 จังหวัดนครราชสีมา ให้ รฟม. เร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้

#