เพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่ง ขยายพื้นที่เศรษฐกิจร่วมไทย-ลาว
  • 10 June 2019 at 09:19
  • 1321
  • 0

สะพานข้ามแม่น้ำโขงไทย-ลาวแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-บอลิคำไซ)  เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่ส่งเสริมการขยายพื้นที่ทางเศรษฐกิจร่วมกันระหว่างไทย-ลาว และสามารถขยายผลไปยังจีน  เวียดนามและกัมพูชา   ในช่วงการก่อสร้างเป็นผลดีต่อธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง  เมื่อเปิดใช้งานธุรกิจค้าขายและบริการชายแดน  การค้าและบริการระหว่างประเทศย่อมขึ้นตามความสะดวกของการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ที่รองรับ

เตรียมนับหนึ่งงานก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5   (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)

สัญญาณเตรียมนับหนึ่งมาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  4 มิถุนายน 2562 เรื่อง ขออนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5   (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการจัดทำและลงนามร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ว่าด้วยการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ)

2. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ จัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้แก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม หรือผู้แทน สำหรับการลงนามดังกล่าว

ทั้งนี้ เรื่องนี้กระทรวงคมนาคมยังไม่มีกำหนดเวลาที่จะลงนามในร่างความตกลงฯ

โครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) เป็นการดำเนินการตามที่ได้หารือกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ในระหว่างการเยือน สปป.ลาว อย่างเป็นทางการของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) ระหว่างวันที่ 23 – 25 พฤษภาคม 2560 และคณะรัฐมนตรีมีมติ (30 พฤษภาคม 2560) รับทราบแล้ว ซึ่งการจัดทำร่างความตกลงฉบับนี้ เป็นการดำเนินการตามผลการหารือดังกล่าว  โดยร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญ เช่น กำหนดพื้นที่ตั้งของโครงการ สิทธิและกรรมสิทธิ์ในโครงการของแต่ละประเทศ การรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง การรักษาความปลอดภัย และการจัดการจราจร เป็นต้น

กรมทางหลวง-เจ้าภาพ

ความคืบหน้าและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูเพิ่มเติมได้จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  4 มิถุนายน 2562 เรื่อง ขออนุมัติดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการให้กรมทางหลวงดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ - บอลิคำไซ) ภายในกรอบวงเงิน 2,630 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในโครงการดังกล่าว ให้กรมทางหลวงจัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ โดยคำนึงถึงภาระผูกพันงบประมาณในแต่ละปีงบประมาณให้เป็นไปตามสัดส่วนของรายจ่ายลงทุนที่กำหนด ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 พร้อมทั้งเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติก่อนที่จะมีการยื่นคำขอตั้งงบประมาณรายจ่าย ตามนัยมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง  คค. รายงานว่า

1. ภายหลังจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ (30 พฤษภาคม 2560) กรมทางหลวงได้จ้างกลุ่มบริษัทวิศวกรที่ปรึกษา  ดำเนินการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ  วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมสำรวจออกแบบรายละเอียด  สะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 เชื่อมระหว่างจังหวัดบึงกาฬ และแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว แล้วเสร็จเมื่อปี 2557

2. ในการประชุมคณะทำงานประสานงานร่วมไทย - สปป.ลาว เพื่อเตรียมความพร้อมโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2561 จังหวัดหนองคาย ที่ประชุมรับทราบแนวทางการดำเนินการโครงการ การบริหารโครงการและการบริหารสัญญา  รวมทั้งกรอบระยะเวลาการดำเนินการโครงการ  ในกรณีที่ทั้งสองฝ่ายสามารถได้ข้อสรุปเรื่องวงเงินค่าก่อสร้างและแหล่งเงินดำเนินการแล้ว  สามารถดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเริ่มงานก่อสร้างได้ภายใน 8 เดือน มีระยะเวลาก่อสร้างทั้งสิ้น 36 เดือน โดยทั้งสองฝ่ายจะนำเสนอรัฐบาลของตนพิจารณาแหล่งเงินเพื่อดำเนินโครงการดังกล่าวตามวงเงินที่แต่ละฝ่ายรับผิดชอบต่อไป

3. กรมทางหลวงได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณประจําปี พ.ศ.  2562 สำหรับดำเนินการก่อสร้างโครงการ  แต่ยังไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ  อย่างไรก็ตาม  สำหรับค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในฝั่งไทยจำนวน 400 ล้านบาท กรมทางหลวงได้รับการจัดสรรงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2560 - 2561 แล้ว จำนวน 250 ล้านบาท และอยู่ระหว่างขอรับการจัดสรรเงินงบประมาณในส่วนที่เหลือ  ในส่วนของ สปป.ลาว ได้มีหนังสือแจ้งความประสงค์ขอกู้เงินไปยังสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน)  (สพพ.) แล้ว โดย สพพ. จะดำเนินการเจรจาต่อรองเงื่อนไขการให้กู้เงินกับ สปป.ลาว ตามระเบียบต่อไป

4. โดยที่กระทรวงการคลัง (กค.) และสำนักงบประมาณ (สงป.) มีความเห็นแตกต่างกันเกี่ยวกับแหล่งเงินงบประมาณสำหรับดำเนินโครงการฯ (กค. เห็นควรให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีเนื่องจากโครงการฯ ไม่มีผลตอบแทนทางการเงินโดยตรงจากการลงทุน  ในขณะที่ สงป.  เห็นควรให้ กค. กู้เงินเพื่อดำเนินโครงการ) คค. จึงได้จัดการประชุมหารือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2562 โดยมีผู้แทนจาก กค. และ สงป. ร่วมประชุม ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี วงเงิน 2,630 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่ฝ่ายไทยต้องรับผิดชอบ ได้แก่ ค่าก่อสร้าง จำนวน 2,553 ล้านบาท  และค่าควบคุมงานก่อสร้าง จำนวน 77 ล้านบาท ทั้งนี้ สรุปค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ทั้งในส่วนของประเทศไทยและ สปป.ลาว ได้ดังนี้

1.งานถนนและด่านพรมแดนฝั่งไทย   ค่าก่อสร้าง  1,766 ล้านบาท ค่าควบคุมงาน 53 ล้านบาท รวม 1,819 ล้านบาท

2.งานสะพานข้ามแม่น้ำโขงฝั่งไทย (รวมงานปรับปรุงสี่แยก ทล. 212 และลานเอนกประสงค์ใต้สะพาน) 787 ล้านบาท 24 ล้านบาท 811 ล้านบาท

 3.งานสะพานข้ามแม่น้ำโขง ฝั่ง สปป. ลาว 476 ล้านบาท 14ล้านบาท 490 ล้านบาท

4.งานถนนและด่านพรมแดน ฝั่ง สปป.ลาว 780 ล้านบาท 30 ล้านบาท 810 ล้านบาท

รวมทั้งสิ้นค่างานก่อสร้าง 3,809 ล้านบาท  ค่าควบคุมงนา 121 ล้านบาท รวม 3,930 ล้านบาท

งานก่อสร้างดังกล่าวเป็นนั้นรวมค่างานฝั่งไทยเท่ากับ 2,630 ล้านบาท ซึ่งเป็นวงเงินค่าก่อสร้าง 2,533 ล้านบาท และค่าควบคุมงาน 77 ล้านบาท (ไม่รวมวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ 400 ล้านบาท) รวมค่างานฝั่ง สปป.ลาว เท่ากับ 1,300 ล้านบาท

ข้อมูลเพิ่มเติม

แนวเส้นทางสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5   (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) สร้างอยู่บนพื้นที่ตำบลวิศิษฐ์ ตำบลไคสี และตำบลบึงกาฬ อำเภอเมืองบึงกาฬ อยู่ตรงข้ามกับเมืองปากซัน แขวงบอลิคำไซ ประเทศลาว รูปแบบการก่อสร้างมีสะพานข้ามแม่น้ำโขง 1 แห่ง ความยาว 1.35 กม. ขนาด 2 ช่องจราจร เชื่อมโยงระหว่างฝั่งไทยกับลาว พร้อมถนนตัดใหม่เป็นลักษณะถนนเลี่ยงเมือง ขนาด 4 ช่องจราจร ในฝั่งไทย เพื่อเชื่อมต่อกับทางหลวงสาย 222 (บึงกาฬ-พังโคน) จาก จ.หนองคาย ไปยัง จ.นครพนม และ จ.สกลนคร ส่วนฝั่งสปป.ลาวเป็นถนนขนาด 2 ช่องจราจร ระยะทาง 2.86 กม.[ต้องการอ้างอิง]

ทั้งโครงการมีระยะทางรวม 16.18 กม. แยกเป็น งานก่อสร้างฝั่งไทย 12.13 กม. และฝั่งลาว 3.18 กม. โดยแนวเส้นทางมีจุดเริ่มต้นที่ฝั่งไทย อยู่ที่จุดตัดทางหลวงสาย 222 กม.ที่ 123+430 ใกล้กับที่ดินกรมทางหลวง จากนั้นแนวเส้นทางมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตก ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม เลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตัดกับทางหลวงชนบทสาย 3217 ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของบ้านหนองนาแซง แล้วมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม ตัดทางหลวงชนบทสาย 3013 ที่บ้านห้วยดอกไม้ ใกล้โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านห้วยดอกไม้ แล้วมุ่งหน้าไปยังทิศทางเดิม ผ่านพื้นที่เกษตรกรรม และเลี้ยวขวาไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านด่านพรมแดนฝั่งไทย บริเวณทิศตะวันออกของหนองกุดจับ ก่อนยกระดับข้ามทางหลวงสาย 212 กม.ที่ 125+925 ที่บ้านดอนยม อยู่ห่างจากริมฝั่งแม่น้ำโขง ประมาณ 200 เมตร จุดที่ข้ามแม่น้ำโขงจะผ่าน ต.บึงกาฬ ต.วิศิษฐ์ และ ต.ไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ  โครงการนี้กำหนดเวนคืนที่ดิน 620 ไร่ บริเวณฝั่งไทย เพื่อตัดถนนใหม่ผ่านจุดสลับทิศทางจราจร ข้ามด่านพรมแดนฝั่งลาว ทางฝั่งตะวันตกของหนองง้า และสิ้นสุดที่ทางหลวงสาย 13 กม.ที่ 136+677

อันดับต่อไปคือการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) เชื่อมโยงระหว่างจังหวัดอุบลราชธานีกับแขวงสาละวัน สปป.ลาว   พื้นที่ศึกษาที่จังหวัดอุบลราชธานี ใน 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอนาตาล อำเภอเขมราฐ แนวเส้นทางที่ได้รับการคัดเลือกและเหมาะสมของโครงการ มีจุดเริ่มต้นที่ กม.23+350 (บ้านโนนตาล ต.นาตาล อ.นาตาล) จุดสิ้นสุดที่ กม.546+800 (เมืองละคอนเพ็ง แขวงสาละวัน) รวมความยาวโดยประมาณ 25.8 กิโลเมตร รูปแบบของสะพานออกแบบเป็นสะพานโค้ง ARCH ซึ่งเป็นระบบ Tied Arch คานสะพานเป็นคอนกรีตหรือผสมระหว่างเหล็กกับคอนกรีต ทำให้โครงสร้างสะพานมีความแข็งแรง โครงการนี้ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม

ปัจจุบัน(2562) มีสะพานมิตรไทยไทย-ลาว ที่เปิดใช้งานแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินงาน และอยู่ระหว่างการเตรียมการรวม 8 สะพานดังนี้

1.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 1 (หนองคาย–เวียงจันทน์)  ความยาวรวม: 1,170 ม. เปิดใช้งาน: 4 เมษายน 2537

2.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 2 (มุกดาหาร–สะหวันนะเขต)  ความยาวรวม: 1,600 ม. เปิดใช้งานร: 20 ธันวาคม 2549

3.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 3 (นครพนม–คำม่วน) ความยาวรวม: 1,423 ม. เปิดใช้งาน: 11 พฤศจิกายน 2554

4.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 4 (เชียงของ–ห้วยทราย)  ความยาวรวม: 480 ม. เปิดใช้งาน: 11 ธันวาคม 2556

5.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 5 (บึงกาฬ–บอลิคำไซ)  เตรียมประมูลก่อสร้าง

6.สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 6 (อุบลราชธานี-สาละวัน) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

7.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 7 (เลย–เวียงจันทน์) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ

8.สะพานมิตรภาพไทย–ลาว 8 (อุบลราชธานี–จำปาศักดิ์) อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการ