แก้กฎหมายเปิดทางสร้างไฟฟ้าสายสีทอง/ฟ้าใส “ไอคอนสยาม”
  • 8 March 2017 at 11:10
  • 2004
  • 0

ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนควรเป็นแบบใต้ดิน-บนดินนั้น มีเงื่อนไขปัจจัยหลายประการ  ทั้งความสวยงามของเมือง ความเหมาะสมในการลงทุนและผลตอบแทนรวม  ดังนั้นจึงมีข้อกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าแต่ละพื้นที่ของกรุงเทพมหานครนั้นควรเป็น ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนใต้ดินหรือรถไฟฟ้าบนดิน 

มติครม.ที่เกี่ยวข้อง

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม  2537  (นายชวน  หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรี) มีมติเรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน    สรุปสาระสำคัญดังนี้

ให้โครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต้องสร้างเป็นระบบใต้ดิน ในบริเวณพื้นที่ส่วนกลางภายในบริเวณ 25 ตารางกิโลเมตร   และควรเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ 87 ตารางกิโลเมตร ภายในขอบเขตถนนวงแหวนรอบใน  (ถนนรัชดาภิเษก)  และให้โครงการ ระบบขนส่งมวลชนที่กำลังดำเนินการ   สร้างเป็นระบบใต้ดินในพื้นที่ส่วนกลาง   โดยโครงการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของกรุงเทพมหานคร    (สายสุขุมวิท  จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิถึง อโศก ประมาณ 5.4 กิโลเมตร) โครงการรถไฟฟ้ามหานครขององค์การรถไฟฟ้ามหานคร  ช่วงถนนพระรามที่ 4 (หัวลำโพง - รัชดาภิเษก) ประมาณ 5.4 กิโลเมตร ช่วงถนนอโศก (พระรามที่ 4  - พระรามที่ 9) ประมาณ  4.6  กิโลเมตร   และโครงการทางรถไฟและถนนระดับในเขตกรุงเทพมหานคร ช่วงต่อออกไปทางตะวันตกของระบบขนส่งมวลชน ประมาณ 4.5  กิโลเมตร  และช่วงต่อออกไปทางใต้ของระบบขนส่งมวลชน ประมาณ 2.7 กิโลเมตร  ทั้งนี้  ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการรับไปดำเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานหรือบริษัท ฯ   ที่ได้รับคัดเลือก แล้วนำผลการเจรจาหรือปัญหาอุปสรรคเสนอคระรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 1 เดือน

ต่อมาเมื่อวันที่  6 กันยายน  2559 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเรื่อง ขอความเห็นชอบดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี-สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง  (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงมหาดไทย รายงานว่าการดำเนินการโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้า  กรุงธนบุรี–สำนักงานเขตคลองสาน-ประชาธิปก) มีวัตถุประสงค์ ในการรองรับการเดินทางจากการพัฒนาพื้นที่ฝั่งธนบุรี และส่งเสริมการใช้บริการระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ ได้มีการกำหนดแนวเส้นทาง ตำแหน่งสถานที่ โรงจอดและศูนย์ซ่อมบำรุงของระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทองให้มีความสอดคล้องกับการเดินทางและการเชื่อมต่อระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งที่มีอยู่ในปัจจุบันและในแผนการพัฒนาต่อไปในอนาคต

โดยความยาวของแนวเส้นทาง แบ่งออกเป็น 2 ระยะ รวมระยะทั้งสิ้น 2.68 กิโลเมตร ดังนี้

ระยะที่  1 ช่วงถนนกรุงธนบุรี แยกคลองสาน (BTS กรุงธนบุรี-โรงพยาบาลตากสิน  รวมระยะทาง 1.72กิโลเมตร (3 สถานี) เริ่มต้นจากสถานีรถไฟฟ้า BTS  สถานีกรุงธนบุรี โดยแนวเส้นทางวิ่งมาตามถนนกรุงธนบุรีมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออกแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่ถนนเจริญนคร  ผ่านวัดสุวรรณารามมุ่งหน้าไปทางทิศเหนือไปตามถนนเจริญนคร ผ่านถนนเจริญรัถผ่านแยกคลองสาน และสิ้นสุดระยะที่ 1 หน้าโรงพยาบาลตากสิน (คาดว่าจะเปิดให้บริการประมาณปี 2561)

ระยะที่  2 ช่วงถนนสมเด็จเจ้าพระยา ถนนประชาธิปก (โรงพยาบาลตากสิน–วัดอนงคารามวรวิหาร) รวมระยะทาง 0.96 กิโลเมตร 1สถานี) เริ่มจากหน้าโรงพยาบาลตากสินถนนสมเด็จเจ้าพระยา โดยแนวเส้นทางจะวิ่งคู่ขนานไปกับคลองสมเด็จเจ้าพระยาผ่านสถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยาข้ามถนนท่าดินแดง มุ่งหน้าสู่ถนนประชาธิปกและสิ้นสุดระยะที่ 2 ก่อนถึงบริเวณหน้าวัดอนงคารามวรวิหาร (จะเปิดให้บริการตามการพัฒนาของรถไฟฟ้าสายสีม่วงคาดว่าจะเป็นช่วงปลายปี  2565)

ดังนั้นเมื่อต้องการขับเคลื่อนการสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี - สำนักงานเขตคลองสาน - ประชาธิปก)  ซึ่งอยู่ในภายในพื้นที่  87 87 ตารางกิโลเมตร ภายในขอบเขตถนนวงแหวนรอบใน  (ถนนรัชดาภิเษก) ที่กำหนดให้ต้องเป็นระบบรถไฟฟ้าใต้ดินจึงต้องแก้ไขมติครม.นี้  (ติดขัดจากมติครม. ก็ใช้มติครม.แก้ไข)

ติดขัดข้อกฎหมายแก้ไขด้วยข้อกฎหมาย

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 มีนาคม  2560 เรื่อง ขอความเห็นชอบยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี - สำนักงานเขตคลองสาน - ประชาธิปก)

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้กระทรวงมหาดไทย (กรุงเทพมหานคร) ได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 [เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน] ในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง (สถานีรถไฟฟ้ากรุงธนบุรี – สำนักงาน เขตคลองสาน - ประชาธิปก) ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ

ทั้งนี้ ให้กรุงเทพมหานครเร่งรัดการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับสมบูรณ์เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อีกทั้งให้กรุงเทพมหานครบูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคม สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วนในการดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนทางรางทั้งขนาดใหญ่และขนาดรองให้สามารถเชื่อมโยงกันได้ โดยคำนึงถึงเส้นทางและระยะทางที่จะพัฒนาให้เหมาะสมเพื่อให้การลงทุนเกิดความประหยัดต่อขนาด (Economics of Scale) รวมทั้งการพิจารณาใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารร่วมกันได้

รูปแบบการก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนขนาดรองสายสีทอง ได้ออกแบบให้เชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าสายสีแดง (ช่วงหัวลำโพง – มหาชัย) บริเวณสถานีคลองสาน ระยะทาง 2.72 กิโลเมตร จำนวน 4 สถานี เปิดบริการ พ.ศ. 2561 ปริมาณผู้โดยสาร 47,300 คนต่อวัน ระบบรถไฟฟ้า Automatic Guideway Transit (AGT) (ล้อยาง) การออกแบบโครงสร้างให้ใช้ผิวการจราจรน้อยที่สุด เพื่อลดปัญหาการจราจรบริเวณถนนเจริญนครและถนนกรุงธนบุรี มีการออกแบบรูปลักษณ์สถานีให้สอดคล้องกับกายภาพของถนนเจริญนคร โดยได้ทำการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบการก่อสร้างระหว่างระบบขนส่งใต้ดินกับรูปแบบการยกระดับ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาขอยกเว้นการปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2537 เรื่อง พื้นที่ที่ควรกำหนดให้ระบบขนส่งมวลชน (รถไฟฟ้า) เป็นระบบใต้ดิน

ข้อมูลจำเพาะ

รถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีทอง ออกแบบเป็นรถไฟฟ้ายกระดับแบบรางเดี่ยว ระบบรถไฟฟ้าโมโนเรลระยะทาง 2.7 กิโลเมตร  เตรียมสร้างเป็นทางเส้นทางยกระดับความสูง 14 เมตรจากระดับดิน  โครงการรถไฟฟ้าสายสีทองมี 4  สถานีดังนี้

สถานี G1 สถานีกรุงธนบุรี  จุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีลม: สถานีกรุงธนบุรี

สถานี G2 สถานีเจริญนคร  จุดเชื่อมต่อกับโครงการไอคอนสยาม

สถานี G3 สถานีคลองสาน จุดเชื่อมต่อกับ(โครงการ)รถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงเข้ม: สถานีคลองสาน

สถานี G4 สถานีประชาธิปก จุดเชื่อมต่อกับ (โครงการ) รถไฟฟ้ามหานคร สายสีม่วง(ใต้): สถานีสะพานพุทธ

โครงการนี้ประเมินค่าใช้จ่ายการก่อสร้างประเมินเบื้องต้นราว 3.84 พันล้านบาท แบ่งออกเป็น วงเงินในระยะที่ 1 มูลค่า 2.51 พันล้านบาท และวงเงินในระยะที่ 2 มูลค่า 1.33 พันล้านบาท โดยคาดว่าในช่วงเปิดให้บริการปี 2561 จะมีปริมาณใช้บริการเฉลี่ยอยู่ที่ 4.73 หมื่นคนต่อวัน และเพิ่มขึ้นในช่วงเปิดให้บริการปี 2566 เป็น 8.18 หมื่นคนต่อวัน

โครงการ ไอคอนสยาม เป็นโครงการพัฒนาพื้นที่ 50 ไร่ ถนนเจริญถนน ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร ตั้งอยู่ระหว่างโรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพ และโรงแรมมิลเลเนียม ฮิลตัน กรุงเทพ ไอคอนสยาม มีมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการ 50,000 ล้านบาท  โครงการนี้กำหนดเปิดบริการปลายปี 2561 พื้นที่ใช้สอยโครงการทั้งโครงการ750,000 ตารางเมตร แบ่งเป็นไอคอนสยามเมนรีเทล  500,000  ตารางเมตร และ ไอคอนลักซ์ 25,000 ตารางเมตร ความสูงอาคาร 10 ชั้น  เตรียมที่จอดรถ 5,000 คัน บริหารงานโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์, บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และบริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด

#

 

บัญชีสยาม