งานก่อสร้างขยายทางหลวงท้องถิ่น
  • 5 October 2020 at 15:16
  • 2601
  • 0

งานก่อสร้างเพื่อพัฒนายกระดับกายภาพของท้องถิ่นต่างๆ  ย่อมเดินหน้าต่อเนื่อง ประสานกับงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่  “เส้นเลือดฝอยต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับเส้นเลือดใหญ่” 

 

ขยายถนนเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี

ข้อมูลการขยายทางหลวงเส้นทางนี้มาจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 กันยายน 2563  เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี พ.ศ. ….

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้พิจารณาในประเด็นตามข้อสังเกตของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงมหาดไทยรับความเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

3. ให้กระทรวงมหาดไทยรับข้อสังเกตของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการโดยเคร่งครัดต่อไป

ทั้งนี้ มท. เสนอว่า

1. โดยที่การสำรวจเขตที่ดินเพื่อเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี พ.ศ. 2559 เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร นั้น กทม. ยังดำเนินการไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากมีปัญหาและอุปสรรคการจัดกรรมสิทธิ์ทำให้การเข้าสำรวจเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพย์สินอื่นไม่มีความคืบหน้า โดยเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ให้ความร่วมมือ ประกอบกับพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ได้สิ้นสุดระยะเวลาการใช้บังคับแล้ว จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกาในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อเนื่อง

2. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดกรรมสิทธิ์ไม่มีความสืบหน้า สืบเนื่องจากเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนไม่ให้ความร่วมมือเพราะแนวเขตของถนนตามโครงการเดิมมีความกว้าง 10 เมตร จึงมีจำนวนผู้ถูกเวนคืนที่ดิน จำนวน 23 แปลง แต่หากปรับลดแนวเขตถนนเหลือความกว้าง 6 เมตร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ให้ใช้บังคับแผนผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ลงวันที่  2 มีนาคม 2547 จะเหลือผู้ถูกเวนคืน จำนวน 1 ราย

3. สำนักงบประมาณได้พิจารณาการจัดสรรงบประมาณที่ต้องจ่ายตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนและการได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2562 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2562 แล้ว เห็นว่า โครงการนี้ใช้จ่ายเงินจากงบประมาณของ กทม. ทั้งจำนวน ไม่ก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณของประเทศ

จึงได้เสนอร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี พ.ศ. …. มาเพื่อดำเนินการ

 

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

เป็นการกำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืน เพื่อขยายทางหลวงท้องถิ่น สายเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับซอยจินดามณี ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปสำรวจและเพื่อให้ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องได้มาโดยแน่ชัด

 

ข้อมูลเสริม

จุดเริ่มต้นจากวันที่ 23 พฤศจิกายน 2546 เมื่อเกิดเพลิงไหม้ที่อาคารของบริษัทพาหุรัด พลาซ่า จำกัด คือห้างสรรพสินค้าเอ.ที.เอ็ม. คิดเป็นเนื้อที่บริเวณที่ถูกเพลิงไหม้ประมาณ 1 ไร่ 3 งาน 67 ตารางวา ซึ่งเข้าลักษณะเป็นเขตเพลิงไหม้ตามพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ครั้งนั้นคณะกรรมการควบคุมอาคารมีมติกำหนดให้ มีการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้บริเวณดังกล่าวให้อยู่ในสภาพที่ดีและมีเขตทางที่กว้างขึ้น

นอกจากนี้ กรมโยธาธิการได้ออกประกาศกระทรวงมหาดไทยฉบับลงวันที่ 2มีนาคม 2547 เรื่องให้บังคับแผนผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กทม. ตามแผนผังท้ายประกาศนี้

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการนี้ คือเมื่อดำเนินการจัดกรรมสิทธิ์และก่อสร้างทางแล้วเสร็จจะสามารถใช้เป็นเส้นทางลัดเชื่อมทะลุตรอกซอยระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชรช่วยให้การจราจรมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้นนอกจากนี้ยังก่อให้เกิดประโยชน์ความปลอดภัยของประชาชน การเข้าป้องกันและเข้าระงับอัคคีภัยด้วย

กระทั่งวันที่ 12 พฤศจิกายน 2553 สำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดประชาพิจารณ์ ชาวบ้านกรณีโครงการปรับปรุงเขตเพลิงไหม้บริเวณถนนซอยข้างอาคารห้างสรรพสินค้า เอ.ที.เอ็ม.หรือโครงการเชื่อมระหว่างถนนจักรเพชรกับถนนตรีเพชร (ซอยจินดามณี) พร้อมทั้ง อ้างถึงประกาศกรุงเทพมหานครฉบับลงวันที่ 7 มกราคม 2547 เรื่องปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ทั้งหมด บริเวณที่เกิดเพลิงไหม้และบริเวณที่ติดต่อกันภายในระยะ 30 เมตร โดยรอบบริเวณที่เกิดเหตุเพลิงไหม้ และแผนผังท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องให้ใช้บังคับแผนผังปรับปรุงเขตเพลิงไหม้ในท้องที่แขวงวังบูรพาภิรมย์ เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร

สาระสำคัญของโครงการ เพื่อปรับปรุงซอยบริเวณด้านข้างอาคารห้างสรรพสินค้า เอ.ที.เอ็ม. ของบริษัทพาหุรัด พลาซ่า จำกัด ย่านพาหุรัด ให้สามารถสัญจรเชื่อมกับถนนภายนอกได้ จากปัจจุบันที่มีความกว้างเพียง 1.20-2.50 เมตร จากปากซอยติดกับถนนจักรเพชรเชื่อมกับถนนตรีเพชร(ซอยจินดามณี) โดยเตรียมขยายแนวเขตทางกว้างประมาณ 6 เมตร และมีความยาวประมาณ 102 เมตร โดยมีที่ดินที่ถูกกระทบจากการเวนคืนประมาณ 17 แปลง อาคารสิ่งปลูกสร้างประมาณ 23 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาคารพาณิชย์สถานประกอบกิจการการค้า

นอกจากนี้ผู้ที่ได้รับผลกระทบได้แก่ ผู้ค้าขายบริเวณซอยจินดามณี ทางรถยนต์เข้าห้างอินเดียเอ็มโพเรียม ซอยสาธารณะข้างห้างอินเดียเอ็มโพเรียม ที่ต้องขยายเขตทางเพิ่มค่าชดเชยค่อนข้างสูงพอสมควร ตารางวาละหลายแสนบาท

อย่างไรก็ดีจากการเจรจากับชาวบ้าน ส่วนใหญ่ ไม่เห็นด้วยกับโครงการดังกล่าว ซึ่ง กว่า 100 ราย ที่ค้าขายในย่านนั้น ได้รวมตัวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง ขณะที่กทม. ยืนยันว่ามีความจำเป็นต้องขยายเขตทาง และต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อให้เขตทางมีความกว้างขึ้นเพื่อให้รถดับเพลิงและเจ้าหน้าที่สามารถนำรถเข้าไประงับเหตุเพลิงไหม้ได้ โดยไม่ให้ซ้ำรอยกับเหตุการณ์ เพลิงไหม้ในอดีต ที่ถนนแคบและเป็นส่วนบุคคลส่งผลให้เกิดความเสียหายในชีวิตและทรัพย์สินตามมา

ในที่สุดมีการเปลี่ยนแปลงตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 29 กันยายน  2563 ดังนำมาแสดงข้างต้น  อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ยังไม่ยุติ

#