งานก่อสร้าง “ชุบสร้าง” ภายภาพใหม่รองรับ อีอีซี  (1)

โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี  (Eastern Economic Corridor : EEC) ประกอบด้วย จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง  ในพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวต้องมีความพร้อมทางกายภาพด้านต่าง ๆ อาทิ  โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง  โครงสร้างพื้นฐานด้านสื่อสารโทรคมนาคม  ความพร้อมทางด้านอาคารสำนักงานทั่งภาครัฐและภาคเอกชน  ความพร้อมของอาคารที่อยู่อาศัยรูปแบบต่าง ๆ ความพร้อมของอาคารสิ่งก่อสร้างเพื่ออำนวยความสะดวก ห้างสรรพสินค้า แหล่งจับจ่ายใช้สอย พักผ่อน เป็นต้น

การชุบสร้างทางกายภาพพื้นที่อีอีซี

การเพิ่มศักยภาพจากการใช้ประโยชน์ที่ดิน  ไม่ว่าเป็นพื้นที่หลักร้อยตารางวา  หรือหลายหมื่นหลายพันไร่ มีจุดร่วมกันคือ ต้องเปลี่ยนแปลงสภาพกายภาพใหม่ในระดับ “ชุบสร้าง”  “ชุบ” ของเดิมที่มีอยู่ให้ใหม่สดใส มีประสิทธิภาพมากขึ้น  “สร้าง” ของใหม่ที่จำเป็นต้องมี  เพื่อบรรลุจุดประสงค์ก้าวสู่จุดมุ่งหมายในเวลาที่กำหนด

การชุบสร้างต่าง ๆ จำเป็นต้องเสร็จตามวาระกำหนด เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพเต็มที่จากการสนับสนุนซึ่งกันและกัน  และจักเกิดผลตรงกันข้ามคือถ่วงรั้ง ฉุดดึงให้พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจลดน้อยลง  หากมีโครงการใดโครงการหนึ่งแล้วเสร็จช้ากว่ากำหนด

การชับสร้างทางภายภาพพื้นที่อีอีซี แบ่งออกเป็น  4  เรื่องใหญ่ ๆ ดังนี้

หนึ่ง กำหนดระยะเวลาที่แน่นอนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทั่วด้าน  รถไฟทางคู่  รถไฟความเร็วสูง  มอเตอร์เวย์  ท่าเรือสัตหีบ  ท่าเรือแหลมฉบัง และสนามบินอู่ตะเภา  พัฒนาเครือข่ายอินเตอร์ความเร็วสูงผ่านคลื่นวิทยุโทรทัศน์และใยแก้วนำแสงให้ครอบคลุมพื้นที่เป้าหมาย

สอง พัฒนาพื้นที่และก่อสร้างอาคาร – โรงงาน รองรับจุดประสงค์พัฒนาอุตสาหกรรมไฮเทค  อาทิ อุตสาหกรรมอากาศยาน  อุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นสูง  อุตสาหกรรมชีวภาพ  อุตสาหกรรมยานยนต์อัจฉริยะ  อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์-หุ่นยนต์ และอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป

สาม  พัฒนาสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รองรับอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น ศูนย์การประชุมชั้นนำ  อาคารเพิ่มเป็นศูนย์การแสดงศิลปะวัฒนธรรมไทยและอาเซียน

สี่ พัฒนาสิ่งปลูกสร้างให้รองรับความเป็นเมืองสมัยใหม่ สร้างความพร้อมด้านสาธารณูปโภค สาธารณูปการ  ศูนย์กลางบริการภาครัฐ  ศูนย์กลางบริการธุรกิจนานาชาติ  ศูนย์กลางเจตปลอดภาษี

การชุบสร้าง-การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เป้าหมายของอีอีซีนั้น  ภาครัฐมีบทบาทนำ บาทเอกชนมีบทบาทเสริม  แต่พลังการลงทุนจากภาคเอกชนเป็นจุดสำคัญในการชี้ถึงระดับความสำเร็จ หรือล้มเหลว

ที่ว่าภาครัฐมีบทบาทนำคือ ต้องดำเนินการต่าง ๆ ให้เห็นเป็นจริงเป็นจังเสียก่อน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านต่าง ๆ ให้มีความพร้อม  จุดนี้มีความจำเป็น  มีความสำคัญในอันดับต้น ๆ เป็นปัจจัยที่ภาคเอกชนนำมาประกอบการพิจารณาลงทุนก่อนสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ได้รับจากการส่งเสริมการลงทุน

โครงสร้างพื้นฐานก็ต้องการพลังจากภาคเอกชน

ที่ว่าภาครัฐมีบทบาทนำ มิใช่หมายถึงหรือต้องจำกัดว่า ภาครัฐต้องดำเนินการก่อสร้างเอง  (เรื่องนี้รู้กันอยู่แล้วว่างานก่อสร้างของภาครัฐส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดนั้นเป็นการประมูลก่อสร้าง จนถึงรูปแบบการลงทุนอื่น ๆ ที่ได้สิทธิพิเศษตอบแทนจากภาครัฐ)  บทบาทนำคือ ทำให้โครงการต่าง ๆ นั้นแล้วเสร็จตามกำหนด  ตามแผนงานที่ออกข่าวแก่สาธารณะชนทั่ว  เพื่อให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนสามารถนำไปใช้วางแผนธุรกิจ  วางแผนชีวิตของตนเองได้

ในส่วนอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่อง ยิ่งจำเป็นต้องแน่ใจในความแน่นอนของโครงการแผนการ เพื่อบริหารจัดการธุรกิจให้สอดคล้องรองรับ

ขณะเดียวกันขอบเขตและมูลค่าการลงทุนจำนวนมหาศาลนั้น ยังเป็นโอกาสในการชักชวน ภาคธุรกิจจากประเทศต่าง ๆ เข้ามาลงทุนด้วย  (แม้ว่าติดเหตุปัจจัยที่ประเทศไทย ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไป)  ตัวอย่างเช่น เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม (2560) นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ได้รับทราบแผนการต้อนรับนักลงทุนจีน ฮ่องกง กว่า 60 ราย นำโดยสภาการค้าแห่งฮ่องกง หลังจากนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะเยือนฮ่องกงและจีนสัปดาห์ที่ผ่านมา  ในการนี้พอกล่าวได้ว่า นักลงทุนจีน ฮ่องกง สนใจลงทุนในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC ของไทย ทั้งด้านการบิน ท่าเรือ และโครงการกำจัดขยะ รัฐบาลได้จัดงานเสวนาชี้แจงแผนการลงทุนวันจันทร์ที่ 8 พฤษภาคม (2560) ที่โรงแรมพลาซ่าแอทธินี ถนนวิทยุ เพื่อชี้แจงแผนการลงทุนด้านต่าง ๆ และจัดเวทีหารือแยกเป็นรายกลุ่ม รวมทั้งการลงทุนระหว่างสำนักงานระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกกับสภาการค้าแห่งฮ่องกง (SKTDC) เพื่อแสดงเจตจำนงค์การลงทุนกับไทยและความร่วมมือด้านต่าง ๆ จากนั้นได้นำคณะนักลงทุนจีนเข้าพบนายกรัฐมนตรีในช่วงเย็น

นอกจากนี้อีกจุดประสงค์หนึ่งของการตั้งเป้างานประมูลก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ให้เป็นการประมูลระดับนานาชาติเพื่อให้มีหลักประกันและภาพลักษณ์ที่ดีว่า  ปลอดจากการฮั้วประมูล  การล็อคสเปค  การใช้เล่ห์กลต่าง ๆ เพื่อโกงการประมูลงานก่อสร้าง  ซึ่งเรื่องนี้เป็นภาพลักษณ์ติดลบมาแน่นนานของประเทศไทย

โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการพัฒนาพื้นที่อีอีซี. มีมาก  ในที่นี้กล่าวถึงโครงการที่ “เริ่มใหม่”  ยังไม่กำหนดวันเวลาประมูลเพื่อประโยชน์ในการติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติม และเตรียมตัวเข้าแข่งขัน

รถไฟทางคู่เชื่อมสามท่าเรือ

ข้อมูล(ใหม่)ที่น่าสนใจจากที่ประชุม กรศ.คือเห็นชอบแผนการสร้างรถไฟทางคู่ เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือหลัก 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือสัตหีบ และท่าเรือมาบตาพุด  แผนการสร้างรถไฟทางคู่ดังกล่าวนี้มอบหมายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) การท่าเรือสัตหีบ ไปจัดทำแผนแม่บทโครงการรถไฟทางคู่เชื่อมโยง 3 ท่าเรือหลักและการพัฒนาระบบขนส่งสินค้าอย่างไร้รอยต่อเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบาย EEC โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานในวันที่ 16 มิถุนายน  2560 เพื่อพิจารณา ภารกิจดังกล่าวรวมทั้งให้ รฟท.และ กทท.ร่วมกันศึกษาออกแบบปรับปรุงสถานีขนส่งสินค้าทางรถไฟที่โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะ 3 เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเน้นการใช้ระบบขนถ่ายสินค้าอัตโนมัติ เนื่องจากการขนส่งสินค้าทางระบบรางปัจจุบันมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 2 โดยพึ่งการขนส่งสินค้าทางถนนถึงร้อยละ 80 ขณะที่มาตรฐานโลกพึ่งพาขนส่งสินค้าทางถนนร้อยละ 40 ระบบรางร้อยละ 30 และทางน้ำร้อยละ 30

ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (เพิ่มศักยภาพขนส่งระบบรางกับทางน้ำ) ที่ดำเนินการอยู่คือ  โครงการรถไฟทางคู่ ช่วงฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย (เชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟสายอีสาน)  และโครงการรถไฟทางคู่ ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง

สรุปตรงนี้ก็คือ หลังจากวันที่  16  มิถุนายน  2560  ประเทศอาจมีโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู (ทางขนาด 1 เมตร)  เพิ่มขึ้นอีก 1 โครงการ

(ยังมีต่อ)

 

บัญชีสยาม