ECF-QTC-VTE ผนึกกำลังลงทุนโรงไฟฟ้าในเมียนมา 220 MW คาดเริ่มจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ปี′61-ระยะเวลาขายไฟฟ้านาน 30 ปี

ECF-QTC-VTE บริษัทจดทะเบียนไทยผงาดลงทุนในเมียนมาร์ แบ่งเค้กโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 220 เมกะวัตต์ ของบริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด หรือ GEP ที่เมืองมินบู รัฐมาเกวย ประเทศเมียนมาร์ โดย ECF ถือหุ้นร้อยละ 20 QTC ถือหุ้นร้อยละ 15 ส่วน VTE ถือหุ้นร้อยละ 12 และได้เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งโครงการ คาดเริ่มการจ่ายไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ได้ปี 61 ชี้ส่งผลดีต่อบริษัทและผู้ถือหุ้น เหตุจะสร้างส่วนแบ่งกำไรที่มั่นคงในระยะยาวจากสัญญาขายไฟฟ้านานถึง 30 ปี อีกทั้งเปิดประตูสู่การต่อยอดธุรกิจในอนาคต โดยเฉพาะโครงการด้านพลังงานในเมียนมาร์ และประเทศอื่น ๆ ต่อไป

บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) มีบริษัทย่อย 1 แห่ง ถือหุ้น 100% คือ บริษัท จีอีพี (เมียนมาร์) จำกัด (GEP-Myanmar) เป็นบริษัทสัญชาติเมียนมาร์ ซึ่งได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement :PPA) กับ Electric Power Generation Enterprise (EPGE) ซึ่งเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้ Ministry of Electricity and Energy ของเมียนมาร์ โดย EPGE จะรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 220 เมกะวัตต์ หรือโครงการมินบูคิดเป็นอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสูงสุดที่ 170 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 30 ปี นับตั้งแต่วันเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date : COD) ในอัตราการรับซื้อไฟฟ้าคงที่ที่ 0.1275 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อหน่วยไฟฟ้า ตลอดอายุสัญญาของ PPA  โครงการผลิตไฟฟ้าได้แบ่งออกเป็น 4 เฟส มีระยะเวลาห่างกันทุก ๆ 1 ปี รวมกำลังผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 220 เมกะวัตต์ อัตราการรับซื้อสูงสุด 170 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่ม COD เฟส 1 ได้ตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป

ทั้งนี้ บริษัท พลังงานเพื่อโลกสีเขียว (ประเทศไทย) จำกัด (GEP) มีบริษัทจดทะเบียนจากประเทศไทยเข้าร่วมถือหุ้นด้วยกันสามบริษัทคือ บริษัท อีซีเอฟ พาวเวอร์ จำกัด (ECF-Power) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ  บมจ.อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค  หรือ ECF ถือหุ้นร้อยละ 20 บริษัท คิวทีซีโกลบอลพาวเวอร์ จํากัด (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.คิวทีซี เอนเนอร์ยี หรือ QTC ถือหุ้นร้อยละ 15 และ บมจ.วินเทจ วิศวกรรม ถือหุ้นร้อยละ 12 สำหรับผู้ถือหุ้นที่เหลือคือ Noble Planet Pte. Ltd.(สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 5 และ Planet Energy Holdings Pte. Ltd. (สัญชาติสิงคโปร์) ถือหุ้นร้อยละ 48

นายอารักษ์ สุขสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีสต์โคสท์เฟอร์นิเทค จำกัด (มหาชน) (ECF) ในฐานะบริษัทแม่ของ ECF-Power ซึ่งเข้าถือหุ้นใน GEP ร้อยละ 20 กล่าวว่า บริษัทมีนโยบายขยายการลงทุนสู่ธุรกิจด้านพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหลังจากที่บริษัทเริ่มรับรู้ส่วนแบ่งการลงทุนจากการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์สำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล 7.5 เมกะวัตต์ ของ บริษัท ไพร์ซ ออฟ วู้ด กรีน เอนเนอร์จี จำกัด (PWGE) จังหวัดนราธิวาส นับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมาแล้ว ครั้งนี้ยังถือเป็นโอกาสสำคัญที่ได้ขยายธุรกิจการลงทุนสู่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งคาดว่า จะสามารถสร้างส่วนแบ่งกำไรให้กับ ECF ได้อย่างต่อเนื่องและเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว ซึ่งโครงการนี้จากการศึกษาข้อมูล ECF จะได้รับอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนสำหรับระยะเวลา 30 ปี ไม่ต่ำกว่า 8% และยังถือเป็นโอกาสที่จะช่วยต่อยอดขยายการลงทุนไปสู่ในพลังงานทดแทนอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในประเทศเมียนมาร์ต่อไป

นายพูลพิพัฒน์ ตันธนสิน ประเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คิวทีซี เอนเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ QTC ผู้ผลิตและจำหน่ายหม้อแปลงไฟฟ้า เปิดเผยว่า บริษัทฯได้มอบหมายให้บริษัท คิวทีซี โกลบอลเพาเวอร์ จำกัด  (QTCGP) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้น 99.99% เข้าไปซื้อหุ้นของ GEP Thailand จำนวน 15% คิดเป็นเม็ดเงินมูลค่าประมาณ 267.09 ล้านบาท การลงทุนครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคง และสร้างโอกาสในการลงทุนในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ซึ่งเป็นโครงการแรกที่คาดว่าจะรับรู้รายได้จากโครงการลงทุนในธุรกิจพลังงานประเภทโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ส่วนโครงการที่ 2 คือการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของ L Solar ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 3/60 นี้ หนุนผลงานปี 60 มีผลประกอบการดีขึ้นในอนาคต

นายศุภศิษฏ์ โภคินจารุรัศมิ์ กรรมการและกรรมการบริหาร บริษัท วินเทจ วิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (VTE) เปิดเผยว่า สำหรับ VTE นอกจากการเป็นผู้ถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 12 แล้ว ยังเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและพัฒนาโครงการทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ชื่อเสียงของบริษัทเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในวงกว้างยิ่งขึ้น อันจะเป็นการเปิดประตูแห่งโอกาสทางธุรกิจของ VTE ทั้งส่วนที่เป็นงานรับเหมาก่อสร้างและพลังงานทดแทนให้ขยายตัวต่อไปในอนาคตได้มากกว่าเดิม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลดีกับทั้งบริษัทและผู้ถือหุ้น คือนอกเหนือจากสามารถขยายธุรกิจเพื่อให้การเติบโตอย่างมั่นคงแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความมั่นคงของรายได้อีกด้วย เพราะจะมีรายได้แบบต่อเนื่อง (Recurring income) จากการจำหน่ายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 30 ปี และเพิ่มมูลค่าให้แก่บริษัทโดยการลงทุนในธุรกิจที่คาดว่าจะมีอัตราการเติบโตของรายได้และกำไรที่มั่นคง

 

 

 

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์