33 รัฐวิสาหกิจป่วนหลัง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่มีผลบังคับใช้ ส่งผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทลูกชะงัก เตรียมร่อนหนังสือถึงคลังขอยกเว้นบังคับใช้กฎหมาย กฟผ.ชี้ กระทบทั้งเชิงพาณิชย์-นวัตกรรม การรถไฟฯ หวั่นงาน 2 บริษัทลูกไม่คล่องตัว

 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2560 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมสัมมนาผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง หรือ SOE CEO Forum ซึ่งจัดขึ้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยได้เน้นย้ำให้รัฐวิสาหกิจเร่งรัดการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2561 และขับเคลื่อนผลักดันนโยบายสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนท้องถิ่น สร้างความมั่นคงยั่งยืนในระยะยาว

 

โดยรัฐวิสาหกิจขานรับนโยบาย สนับสนุนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก แต่หลายหน่วยงานแสดงความกังวลและสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง ตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบต่อรัฐวิสาหกิจในเชิงพาณิชย์ที่ต้องการความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจ

 

เข็นแบงก์รัฐลงท้องถิ่นชุมชน

นายสมคิดกล่าวว่า รัฐวิสาหกิจสามารถสนับสนุนยุทธศาสตร์ชาติได้มากกว่าการเร่งรัดเบิกจ่าย ซึ่งปีที่ผ่านมาทำได้ดีมาก อยากให้ช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวชุมชน ทั้งนี้ ปี 2561 จะผลักดันธนาคารของรัฐเข้าไปสร้างความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่น รวมถึงเอสเอ็มอีในท้องถิ่น ซึ่งจะเชื่อมโยงข้อมูลลูกค้ากัน และจะยกระดับจัดตั้งสำนักงานกลางขึ้นมาเชื่อมโยงการปฏิบัติ โดยหน่วยงานที่ตั้งขึ้นจะดูข้อมูลว่าเอสเอ็มอีกลุ่มนี้ ต้องส่งไปธนาคารออมสิน กลุ่มนี้ต้องส่งไปเอสเอ็มอีแบงก์ หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร เป็นต้น

 

ดึง รสก.จับคู่จังหวัดช่วยคนจน

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวว่า ไม่อยากให้รัฐวิสาหกิจมองว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่เป็นอุปสรรค เนื่องจากออกมาเป็นเกราะป้องกันรัฐวิสาหกิจ เวลาที่ถูกการเมืองสั่งให้จัดซื้อจัดจ้างแบบไม่ถูกต้อง จะได้มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนไว้ยึด ทุกรัฐวิสาหกิจจึงต้องเร่งปรับปรุงกฎระเบียบของตัวเองให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

 

กฎระเบียบที่ทำไว้จะได้ป้องกันท่านมีบางคนบอกว่าทำให้ทำงานลำบาก แต่ผมว่าถ้าไม่มีกฎเกณฑ์พวกนี้ ต่อไปท่านจะลำบากกว่านี้”

 

เร่งงบฯลงทุน 5 แสนล้าน

ขณะที่นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า วันที่ 29 พฤศจิกายนนี้ นายสมคิดจะประชุมเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุนรัฐวิสาหกิจ 55 แห่ง ประจำปี 2561 วงเงินทั้งสิ้น 500,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีวงเงิน 344,000 ล้านบาท

 

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายสมคิดได้เร่งรัดเบิกจ่าย งบฯลงทุนตั้งแต่ต้นปี โดยจะกำหนดเป้าหมายเบิกจ่ายไม่ต่ำกว่า 95% และจะกำชับให้รัฐวิสาหกิจด้านคมนาคมเร่งเบิกจ่ายโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน

 

แจงปม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ

นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการ สคร. ในฐานะโฆษก สคร. กล่าวว่า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ที่บังคับใช้ ครอบคลุมถึงบริษัทลูกของรัฐวิสาหกิจ กรณีจัดซื้อจัดจ้างในทางธุรกิจมีข้อยกเว้นให้แต่ละหน่วยงานกำหนดวิธีจัดซื้อจัดจ้างของตัวเอง

 

ส่วนนายสุธารักษ์ ธีร์จันทึก ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและแผนรัฐวิสาหกิจ สคร. ชี้แจงว่า การยกร่าง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯฉบับใหม่ เพื่อสร้างความโปร่งใส ซึ่งรัฐวิสาหกิจแต่ละแห่งต้องไปปรับปรุงกฎระเบียบให้สอดคล้อง จริง ๆ แล้วกระบวนการตาม พ.ร.บ.ไม่ได้เป็นอุปสรรค เพียงแต่ช่วงแรกแต่ละหน่วยงานอาจต้องใช้เวลาปรับตัว ทำให้การจัดซื้อจัดจ้างชะงักไปบ้าง ตอนนี้เรื่องที่ว่าบริษัทลูกรัฐวิสาหกิจจะขอยกเว้น ไม่เข้า พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ยังไม่มีส่งมาแต่ตามหลักการแล้วไม่มีเหตุผล เพราะกฎหมายออกมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใสให้แก่หน่วยงาน

 

ทั้งนี้ สคร.ประเมินว่า ในไตรมาสสุดท้ายปี 2560 หรือไตรมาสแรกปีงบประมาณ 2561 นี้ รัฐวิสาหกิจจะมีการเบิกจ่ายงบฯลงทุนเข้าระบบราว 80,000 ล้านบาท

 

บริษัทลูก 30 รสก.ขอยกเว้น

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการจัดซื้อจัดจ้างที่ผ่านมา ได้มีการหารือในประเด็น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯใหม่ ที่ส่งผลกระทบการดำเนินธุรกิจของรัฐวิสาหกิจและบริษัทในเครือ เนื่องจากความคล่องตัวในการทำธุรกิจ ที่สำคัญไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ คณะกรรมการจึงได้แยกหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจออกเป็น 2 กลุ่มคือ

 

1) รัฐวิสาหกิจที่ปฏิบัติภายใต้พระราชบัญญัตินี้ รวม 29 หน่วยงาน ให้ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดซื้อฯทันที

 

2) รัฐวิสาหกิจที่มีธุรกิจหรือกิจการที่เกี่ยวกับการพาณิชย์โดยตรง กลุ่มนี้ได้แสดงเจตจำนงขอ “ไม่อยู่” ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว

 

โดยเฉพาะบริษัทด้านพลังงาน คือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กฟผ. และบริษัทในเครือ กฟผ. และให้จัดทำกรอบปฏิบัติของตนเอง และเสนอมายังคณะกรรมการภายใน 180 วันเพื่อพิจารณาอนุมัติ

 

กรอบระเบียบดังกล่าวต้องสอดคล้องกับหลักการมาตรา 8 พระราชบัญญัติจัดซื้อจัดจ้างฯ ใน 4 ประเด็นหลัก

1) ความคุ้มค่า ต้องมีคุณภาพหรือคุณลักษณะที่ตอบสนองวัตถุประสงค์การใช้งาน มีราคาที่เหมาะสม และมีแผนการบริหารพัสดุที่เหมาะสมและชัดเจน

2) โปร่งใส คือ กระทำโดยเปิดเผย เปิดโอกาสให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ฯลฯ

3) มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คือ มีการวางแผนจัดซื้อ จัดจ้างและการบริหารพัสดุล่วงหน้า และเพื่อให้มีการบริหารพัสดุเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม และมีการประเมินและเปิดเผยผลสัมฤทธิ์ของการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุ

4) ตรวจสอบได้

 

ขณะนี้เริ่มมีรัฐวิสาหกิจทยอยยื่นรายละเอียดกรอบจัดซื้อจัดจ้างของแต่ละหน่วยงานเข้ามาแล้ว เช่น บริษัท ปตท.”

 

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่ไม่ขออยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีทั้งหมด 33 ราย นอกเหนือจากบริษัทด้านพลังงาน มี บมจ.อสมท. บจ.ไทยสมายล์แอร์เวย์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เป็นต้น

 

กคช.-ธอส.ชี้กระทบแค่ช่วงแรก

ส่วนนายธัชพล กาญจนกูล ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ (กคช.) กล่าวว่า พ ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างใหม่ อาจกระทบกับการจัดซื้อจัดจ้างของ กคช.บ้างในระยะแรก ทั้งในส่วนบัญชีรายชื่อผู้รับเหมา ที่ต้องได้รับการรับรองจากกรมบัญชีกลางใหม่ ขณะที่วิธีปฏิบัติระหว่างระบบอีออกชั่นเดิม กับอีบิดดิ้งที่ใช้ใหม่ ก็แตกต่างกัน

 

บริษัทลูก กฟผ.-รถไฟขอยกเว้น

ด้านนายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ ผู้ว่าการกฟผ. กล่าวว่า บริษัทในเครือ กฟผ. 2 แห่ง คือ บริษัท EGAT International และบริษัท DCAP จะทำหนังสือถึงกระทรวงการคลัง ขอยกเว้นการจัดซื้อจัดจ้างตาม พ.ร.บ.ใหม่ รวมถึงตัว กฟผ.ด้วย ขณะนี้กำลังรวบรวมรายละเอียดเพื่อเสนอว่าจะขอยกเว้นในกรณีใดบ้าง

 

ตอนนี้ได้รับผ่อนผันให้จัดซื้อจัดจ้างแบบเดิมไปก่อน แต่ กฟผ.ต้องขอยกเว้น ไม่ได้มีแต่เรื่องเชิงพาณิชย์ มีเรื่องนวัตกรรม และอื่น ๆ ด้วย และคิดว่าอีกหลายรัฐวิสาหกิจจะขอยกเว้นเช่นเดียวกัน”

 

นายอานนท์ เหลืองบริบูรณ์ รองอธิบดีกรมทางหลวง รักษาการผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ในส่วนการจัดซื้อจัดจ้างของ ร.ฟ.ท.เอง ไม่มีปัญหาแล้ว แต่กำลังพิจารณาว่า ที่จะตั้งบริษัทลูก 2 บริษัทหลังจากนี้ คือบริษัทบริหารสินทรัพย์ ร.ฟ.ท. และบริษัทเดินรถสายสีแดง อาจต้องขอยกเว้นเพื่อให้เกิดความคล่องตัว

#

 

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ   https://www.prachachat.net/finance/news-78153