พลังความร่วมมือของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง (สจล.) กับ บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบจัดเก็บข้อมูลระดับโลก ผนึกความร่วมมือ เพื่อส่งเสริมศักยภาพของคนรุ่นใหม่ในการพัฒนาประเทศป้อนไทยแลนด์  4.0 ยกระดับวิชาการและเทคโนโลยีสู่สากล ด้วยการสนับสนุนจาก สกว.และมอบทุนการศึกษาระดับปริญญาเอกแก่นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์  พร้อมฝึกงานในองค์กรระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และญี่ปุ่น เพื่อพัฒนาทักษะทางด้านหุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ ผนึกกำลังสร้างงานวิจัยทางด้านหุ่นยนต์ รวมถึงต่อยอดงานวิจัยสู่ระดับสากล  เตรียมเปิด ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ (Robotics Lab) ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.ในปี 2561 

 

            คุณเพียงฤทัย ศิวารัตน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทยและรองประธานฝ่ายปฏิบัติการโรงงานโคราช บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ซีเกท มีฐานการดำเนินงานในนานาประเทศทั่วโลก ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรามุ่งเน้นสร้างสรรค์นวัตกรรม ยึดมั่นความรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน ดังนั้นเราจึงให้ความสำคัญด้านความร่วมมือกับภาคการศึกษาเป็นอย่างมาก เพราะเราสามารถร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไปพร้อมกับการพัฒนาบุคลากรของไทยให้มีความพร้อมกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ซีเกทและคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.เองมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งมาเป็นเวลานาน โดยที่ผ่านมาเราได้ร่วมงานสนับสนุนโครงการวิจัยและโครงการพัฒนาบุคลากรมากมายหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนทุน พวอ. ปริญญาเอก มูลค่ารวมกว่า 20 ล้านบาท หรือจะเป็นทุนวิจัยด้านหุ่นยนต์อัตโนมัติและระบบแม่เหล็ก รวมถึงการฝึกประสบการณ์การทำงานผ่านโครงการสหกิจ และการส่งนักศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ไปร่วมฝึกงานและศึกษาวิจัยที่ประเทศสหรัฐอเมริกาและอังกฤษอีกด้วย

            นอกจากนี้ยังเปิดห้องปฏิบัติการร่วม Recording Subsystem Test and Characterization Research Unit  กับคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. และในปี 2561 นี้ มีแผนงานที่จะเปิด ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์ (Robotics Lab) เนื่องจากเห็นว่าระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ (Automation & Robotics) จะเข้ามาช่วยยกระดับการผลิตและการต่อยอดนวัตกรรมของอุตสาหกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในแข่งขันของไทยกับนานาประเทศได้  นอกจากนี้เราจะร่วมพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ด้วยการผนวกการปฏิบัติงานกับการเรียนรู้ (Work integrated learning)  พร้อมทั้งสนับสนุนเครื่องมือทันสมัยที่ใช้ในห้องปฎิบัติการ (Equipment for hands on lab) เพื่อการศึกษาของนักศึกษาอีกด้ว

 

             คุณสัญชัย  ทองจันทรา ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม บริษัท ซีเกท เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิทัลมีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด การเติบโตของระบบคลาวด์สตอเรจ และอินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ ทำให้มีการเชื่อมต่อและการสร้างข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งเราจำเป็นต้องพึ่งพาและอาศัยข้อมูลเอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยคาดกันว่าในปี ค.ศ.2025 ทั่วโลกจะมีข้อมูลที่สร้างขึ้นมากถึง 163 เซตตะไบต์ (Zettabyte) ซีเกทจึงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นงานวิจัยพัฒนาเพื่อตอบสนองการเติบโตของข้อมูลเหล่านี้  โดยเฉพาะฮาร์ดไดร์ฟประสิทธิภาพและความจุสูงซึ่งปัจจุบันมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เพื่อสนองตอบความต้องการของคลาวด์สตอเรจนี้เอง

          เพื่อให้สามารถก้าวทันการเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยีนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรและนักศึกษาไทย ต้องมีการปรับเปลี่ยนจากคนที่เรียนรู้ทางทฤษฏีอย่างเดียวมาเป็นการสร้างทักษะด้วยการลงมือปฏิบัติจริง สามารถออกแบบแล้วสร้างสิ่งที่ออกแบบได้ สร้างระบบความคิด สร้างต้นแบบขึ้นมาได้ ความร่วมมือระหว่างซีเกท และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ในโครงการพัฒนานักวิจัยและงานวิจัยเพื่ออุตสาหกรรม  มีคุณประโยชน์ต่อการศึกษาและการพัฒนาประเทศ เพราะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชนไทยได้เข้าร่วมทำงานวิจัยกับนักวิจัยในระดับนานาชาติในสนามจริง และนำไปใช้งานจริงๆ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมนักศึกษาเหล่านี้จึงต้องไปทำงานร่วมกับศูนย์ออกแบบต่างประเทศในระดับสากล  เพราะเราต้องการยกระดับความสามารถของคนไทยจากการเรียนรู้การทำวิจัยอย่างสากลในองค์กรที่มีชื่อเสียง  ได้เห็นวิธีการและแนวความคิดที่เปลี่ยนแปลงไป โดยจะมีนักศึกษาเข้าร่วมทำการวิจัยระดับแนวหน้า 30- 40 คนเพื่อทำการวิจัยหัวข้อเดียวกัน เพื่อให้ได้เห็นการพัฒนาขั้นตอนการวิจัย นับเป็นโอกาสของนักศึกษาไทยที่จะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ตรงและนำความรู้เหล่านั้นกลับมาต่อยอด ประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เป็นประโยชน์กับบ้านเราได้

 

             รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล.กล่าวว่า “ความร่วมมือระหว่างซีเกท-คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. นอกจากทุนการศึกษาและฝึกงานกับองค์กรระดับโลกแล้ว ยังมีโครงการวิจัย หุ่นยนต์เคลื่อนที่ Mobile Robot และในเรื่องของ โคบ๊อต ที่กำลังวิจัยกันอยู่ โดยเพิ่มความสามารถของหุ่นยนต์ด้วยเซ็นเซอร์ต่างๆ เพื่อจะสามารถตรวจจับสิ่งที่จะเป็นพยานหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ได้  (Forensic Evidence) ยกตัวอย่างเช่น หุ่นยนต์เคลื่อนที่ที่ใช้เซ็นเซอร์อุณหภูมิจะบอกได้ว่าเคยมีคนเดินผ่านไปหรือเคยมีคนเอามือจับกำแพงตรงนี้ พวกนี้ก็จะเป็นหุ่นยนต์เพื่อความปลอดภัย โดยเรากำลังวางแผนพัฒนากันอยู่ ซึ่งรวมไปถึง AI (Artificial Intelligence) ทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์ด้วย

 

             ความร่วมมือระหว่างซีเกท ซึ่งเป็นบริษัทระดับโลกในอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์และอิเล็กทรอนิกส์ในการพัฒนาการศึกษากับคณะวิศวกรรมศาสตร์ของสจล. จะช่วยส่งเสริมการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีระดับโลกแก่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ให้มีทักษะและประสบการณ์ในเรื่องของการปฏิบัติอย่างแท้จริงกับภาคอุตสาหกรรม นับเป็นหัวใจสำคัญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งเป็นแหล่งรวมนักวิชาการและการบ่มเพาะพัฒนาคนรุ่นใหม่ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับไทยแลนด์ 4.0 โดยสอดคล้องกับแนวโน้มความเป็นจริงในอุตสาหกรรม  ซึ่งในอนาคต ประเทศไทยก็มุ่งเน้นการพัฒนาในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัญญาประดิษฐ์ (AI) และระบบอัตโนมัติ เพื่อยกระดับการผลิตสู่ Smart Machine, Smart Factory และ Smart Manufacturing ตอบรับนโยบายคลัสเตอร์หุ่นยนต์ของรัฐบาล  การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก EEC ตลอดจนการใช้หุ่นยนต์ในภาคบริการและในบ้านที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ซึ่งเปิดการเรียนการสอนครบทุกสาขาด้านวิศวกรรมเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริงที่ว่า ในหุ่นยนต์หนึ่งตัวต้องใช้พหุศาสตร์ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิคส์  ไอที เครื่องกล เมคคาทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์มาสร้างสรรค์ขึ้นมา

          ดังนั้น เมื่อ 2 องค์กรภาครัฐและเอกชนมาบรรจบกันได้แล้ว การพัฒนาต่อไปข้างหน้าก็ไม่ใช่เอาแต่ซื้อเทคโนโลยี  แต่เราต้องเติบโตและขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วยองค์ความรู้ต่อยอดนวัตกรรมตามเป้าหมายไทยแลนด์ 4.0