พ.ร.บ.อีอีซี.ผ่านสนช. วาระ 3 แล้ว  รัฐบาลเร่งงานโครงสร้างพื้นฐานลงนามแผนเร่งด่วนให้ได้ในปี 2561  มั่นใจอำนาจบอร์ดอีอีซี.  ดันแผนงานแล้วเสร็จตามเวลา

เมื่อวันที่ 8  กุมภาพันธ์  2561 ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก พ.ศ. …. หรือกฎหมายอีอีซี ผ่านการเห็นชอบจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระ 2 และ 3 ด้วยมติ 170 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง  ทั้งนี้ก่อนผ่านคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ที่มี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็นประธานผ่านการประชุมยาวนานถึง 17 ครั้ง ตั้งแต่ 28 กันยายน  2560 ถึง 7 กุมภาพันธ์. 2561 พิจารณาทั้งหมด 71 มาตรา แก้ไข 49 มาตรา ตัดออก 2 มาตรา และเพิ่มขึ้นใหม่ 5 มาตรา

สาระ สำคัญของร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ พ.ศ. …. เช่น  มาตรา 6 กำหนดให้พื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง และพื้นที่อื่นใดที่อยู่ในภาคตะวันออกที่กำหนดเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกเพื่อวัตถุประสงค์ อาทิ

1.พัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทันสมัยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

2.จัดให้มีการบริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ลดอุปสรรคและต้นทุนในการประกอบกิจการ

3.พัฒนาเมืองให้ทันสมัยระดับนานาชาติ สะดวก ปลอดภัย ฯลฯ

ทั้งนี้กรรมาธิการได้เพิ่มวรรคท้ายมาตรา 6 ว่า กรณีมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่มีประสิทธิภาพ มีความต่อเนื่อง และเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบโดยสมบูรณ์สามารถตราพระราชกฤษฎีกาให้พื้นที่บางส่วนในเขตจังหวัดอื่นที่ติดต่อหรือ เกี่ยวข้อง เฉพาะเท่าที่จำเป็น

กำหนดอำนาจบอร์ดEEC

มาตรา 10 เกี่ยวกับบอร์ด EEC กำหนดให้ “คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” มีนายกฯเป็นประธาน รองนายกฯ เป็นรองประธาน นอกนั้นมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นกรรมการ กับ ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ผู้ทรงคุณวุฒิไม่เกิน 5 คน เป็นต้น

มาตรา 11 บอร์ด EEC มีอำนาจ อาทิ กำหนดนโยบายเพื่อพัฒนา EEC, ให้ความเห็นชอบแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน, โครงสร้างพื้นฐาน, กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการร่วมลงทุนกับเอกชน หรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน, อนุมัติ อนุญาตให้สิทธิ หรือให้สัมปทาน, กำหนดพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ อุตสาหกรรมเป้าหมายและสิทธิประโยชน์

มาตรา 14 ให้มีสำนักงาน EEC มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่เป็นหน่วยงานของรัฐ แต่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ และเป็นหน่วยเลขานุการของบอร์ด โดยมีเลขาธิการ 1 คน รับผิดชอบการดำเนินงานของสำนักงาน ขึ้นตรงต่อบอร์ด EEC

มาตรา 34 กรณีที่มีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์อื่นเพื่อ ประโยชน์ในการพัฒนา EEC ให้สำนักงานจัดซื้อ เช่า เช่าซื้อ เวนคืน เป็นต้น โดยทาง กมธ.ได้ถอนเรื่องการ “ถมทะเล” ออกไป เพราะยังไม่จำเป็น

ส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 หมวด

มาตรา 39 อยู่ในหมวด 5 เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ มีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายพิเศษ ซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วย 1.ยานยนต์สมัยใหม่ 2.อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 3.การท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ 4.การเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ 5.การแปรรูปอาหาร 6.หุ่นยนต์ 7.การบินและโลจิสติกส์ 8.เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ 9.ดิจิทัล และ 10 การแพทย์และสุขภาพครบวงจร

มาตรา 49 ให้ผู้ประกอบการในกิจการส่งเสริม ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดิน มีสิทธิ ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน  ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุดโดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดผู้ประกอบกิจการซึ่งจะมีสิทธิและจำนวนที่ดินหรือห้องชุดตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่บอร์ด EEC กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

เร่งเซ็นสัญญาโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี.

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในสัมมนาวิชาการ“ปรับบ้าน ปรุงเมือง”จัดโดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ว่า การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของอีอีซี.จะเร่งดำเนินการในปี 2561 นี้ (แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วน) คาดว่าสามารถเซ็นสัญญาได้ทั้งหมด ทั้งรถไฟความเร็วสูง ท่าเรือแหล่มฉบัง มาบตาพุด สนามบินอู่ตะเภา นอกจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแล้ว ยังมีนักลงทุนที่ได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากบีโอไอที่รอเข้ามาลงทุนในพื้นที่

ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กศน.) กำหนดแผนปฏิบัติการโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี. รวมรวมทั้งสิ้น 168 โครงการ วงเงินลงทุน 988,948.1 ล้านบาท โดยมีหลักการมุ่งพัฒนาโลจิสติกส์แบบไร้รอยต่อ (One Seamless Transport) เชื่อมโยงทั้งทางบก น้ำ อากาศ ในพื้นที่ EEC และพื้นที่ใกล้เคียงโดยกำหนดแผนปฏิบัติการเป็น 3 ระยะดังนี้

แผนปฏิบัติการระยะเร่งด่วนตั้งแต่ปี 2560-2561 จำนวน 99 โครงการ วงเงิน 292,882.63 ล้านบาท ได้แก่ โครงการอู่ตะเภาระยะที่ 1 โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการอาคารผู้โดยสารหลังที่ 3 โครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 โครงการมอเตอร์เวย์ พัทยา-มาบตาพุด โครงการอาคารผู้โดยสาร ท่าเรือจุกเสม็ด โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง

แผนปฏิบัติการระยะกลางตั้งแต่ปี 2562-2564 จำนวน 62 โครงการ วงเงิน 414,360.59 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟทางคู่ (แหลงฉบัง-มาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด) โครงการก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 1 โครงการ Free Trade Zone ท่าอากาศยานอู่ตะเภา โครงการมอเตอร์เวย์ แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี โครงการปรับปรุงโครงข่ายถนนสายรอง โครงการเพิ่มโครงข่ายทางเลี่ยงเมือง

แผนปฏิบัติการระยะต่อไปตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 252,879.5 ล้านบาท ได้แก่ โครงการรถไฟเชื่อมอีอีซี-ทวาย-กัมพูชา โครงการ ICD ฉะเชิงเทรา โครงการ Air Cargo อู่ตะเภา ระยะที่ 2 โครงการมอเตอร์เวย์ ชลบุรี-อำเภอแกลง และโครงการเพิ่มโครงข่ายถนนรองรับเมืองใหม่

พิจารณาวงเงินลงทุนตามประเภทงานก่อสร้าง

เมื่อหากแบ่งแผนงานตามประเภทของคมนาคมขนส่ง (เกี่ยวพันถึงความชำนาญงานของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง) ได้ดังนี้

โครงการขนส่งทางถนน 90 โครงการ วงเงินคิดเป็น 21.7% ของวงเงินรวม

โครงการขนส่งทางราง 9 โครงการ วงเงินคิดเป็น 40.32%

โครงการขนส่งทางน้ำ 19 โครงการ วงเงินคิดเป็น 16.24%, โครงการขนส่งทางอากาศ 20 โครงการ วงเงินคิดเป็น 17.56%, โครงการระบบไฟฟ้า 12 โครงการ วงเงินคิดเป็น 4.9% และโครงการระบบประปา 18 โครงการ วงเงินคิดเป็น 0.08% ขณะที่แหล่งเงินส่วนใหญ่จะมาจากการร่วมลงทุนกับเอกชน 59%, งบประมาณภาครัฐ 30% เงินของรัฐวิสาหกิจ 10% และกองทุนหมุนเวียน 1%

ประเมินผลลัพธ์ ผลที่คาดว่าจะได้รับจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานอีอีซี. ได้แก่ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ 2% ของจีดีพี หรือปีละ 200,000 ล้านบาท,  ลดต้นทุนระยะเวลา อุบัติเหตุ ฯลฯ คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 2.1 - 3 ล้านล้านบาท ช่วยลดความอัดแอของกรุงเทพฯ ในอนาคตประชาชนสามารถเดินทางระหว่างกรุงเทพฯ และ EEC เข้าสู่กรุงเทพฯ ใน 1 ชั่วโมงด้วยรถไฟความเร็วสูง และมีสนามบินอู่ตะเภาเป็นเสมือนสนามบินหลักแห่งที่ 3 ของกรุงเทพฯ ช่วยผ่อนคลายความคับคั่งของสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ

 

#