10 เดือน อื้อ !! สมอ. อายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่ากว่า 2 พันล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เหล็ก ล่าสุดเตรียม Transform การตรวจติดตามสู่ สมอ. 4.0 โดยระบบ E-Surveillance มุ่งเน้นการพัฒนาการปฏิบัติราชการและการบริการภาครัฐ ด้วยระบบ iTISI ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายอภิจิณ โชติกเสถียร รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาราชการแทน เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า สมอ. ยังคงผลักดันการ Transform การมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำพาประเทศสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล อีกทั้งเร่งแก้ปัญหาให้แก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานในท้องตลาดตลอดจนถึงยางพารา เดินหน้าเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานเพื่อเพิ่มความสะดวกแก่ผู้ประกอบการยิ่งขึ้น โดยผลการดำเนินงาน 10 เดือน ช่วงเดือนตุลาคม 2560 – กรกฎาคม 2561 สมอ. เพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราสินค้าในท้องตลาด ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญในด้านการคุ้มครองผู้บริโภค สามารถยึดอายัดสินค้าไม่ได้มาตรฐานมูลค่า 2,066.6671 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นผลิตภัณฑ์เหล็กมูลค่า 2,014.7354 ล้านบาท รองลงมาเป็นผลิตภัณฑ์ไฟฟ้ามูลค่า 44.9656 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์อาหาร โภคภัณฑ์ ปิโตรเคมีและโพลิเมอร์ และยางตามลำดับ ในขณะเดียวกัน สมอ. ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการตรวจติดตาม จากเดิมใช้บุคลากรของ สมอ. ออกไปตรวจติดตาม มาเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตส่งหลักฐานข้อมูลผ่านระบบ E-Surveillance ที่ สมอ. พัฒนาขึ้น    บนพื้นฐานการรับรองตนเอง (Self Declaration) ทำให้สามารถติดตามผลผู้ได้รับใบอนุญาตได้ครบ 100 %      อีกทั้ง ได้ยกเลิกบันทึกข้อตกลงการดำเนินงานร่วมกันระหว่าง สมอ. กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ได้รับใบอนุญาต ผู้ประกอบการ และยกระดับการให้บริการเป็น สมอ. 4.0

และภายหลังจากที่ สมอ. ได้เปิดตัวการให้บริการด้วยระบบ iTISI ที่ให้บริการด้วยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในกระบวนการออกใบอนุญาต หรือ digital-license ช่วยอำนวยความสะดวกและลดระยะเวลาการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยระบบ digital-license ผู้ประกอบการสามารถยื่นคำขอ พร้อมแนบเอกสารต่างๆ ผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ไม่เสียเวลาในการเดินทางมาติดต่อที่ สมอ. ด้วยตนเอง หากเอกสารต่างๆ ถูกต้องครบถ้วน สมอ. จะออกใบอนุญาตให้โดยทันที ทั้งนี้ ระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นภายใน 10 วันทำการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนการดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้วจำนวน 153 ฉบับ 80 ราย คลอบคลุม 119 มาตรฐาน โดยจะดำเนินการให้ครอบคลุม 173 มาตรฐาน ภายในเดือนกันยายนนี้

การดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม พ.ศ. 2511 เป็นอีกภารกิจหนึ่งที่จะช่วยให้การดำเนินงานด้านการมาตรฐานของ สมอ. รวดเร็วขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งแก้ไข พ.ร.บ. โดยเฉพาะกรณีการนำเข้าให้มีความชัดเจน รัดกุม และรวดเร็วยิ่งขึ้น ปรับเปลี่ยนวิธีการกำหนดมาตรฐานบังคับ โดยลดขั้นตอนทางกฎหมาย ปรับปรุงอัตราโทษปรับ รวมทั้งการเปรียบเทียบคดีให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ตลอดจนอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ โดยขณะนี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวอยู่ระหว่างรอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี 

การสร้างเครือข่ายกำหนดมาตรฐาน (Standards Developing Organizations : SDOs) ขณะนี้ได้ประกาศแต่งตั้งหน่วยงาน องค์กร และสมาคมวิชาชีพต่าง ๆ จำนวน 34 ราย (สามารถดูรายชื่อได้ที่https://www.tisi.go.th/data/pdf/SDOs/ 07_3-SDOs.pdf) ซึ่งทำให้การกำหนดมาตรฐานของ สมอ. เร็วขึ้น จากเดิม 315 วัน เหลือเพียง 150 วัน/เรื่อง

ด้านการผลักดันกลุ่มอุตสาหกรรมศักยภาพ สมอ. ได้กำหนดมาตรฐานไปแล้ว 42 เรื่อง แบ่งเป็น กลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (S-Curve) 19 เรื่อง และกลุ่มอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) จำนวน 23 เรื่อง คาดว่าสิ้นเดือนกันยายนนี้จะสามารถกำหนดมาตรฐานได้ครบตามแผนการดำเนินงานจำนวน 117 เรื่อง

ด้านการส่งเสริม SMEs สมอ. ได้จัดทำมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส (มอก. S) เพื่อยกระดับขีดความสามารถ SMEs ด้วยมาตรฐานที่เหมาะสมกับตลาดเป้าหมาย โดยการสร้างระบบการมาตรฐานเฉพาะ และได้ประกาศใช้แล้ว จำนวน 20 เรื่อง ครอบคลุมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สปา กีฬา และสิ่งทอ และอยู่ระหว่างการกำหนดมาตรฐานเพิ่มเติมอีกจำนวน 23 เรื่อง ได้แก่ การบริการทำความสะอาด การบริการ Car care การบริการล้างแอร์และซ่อมบำรุง การบริการนวดสปา การบริการซักอบรีด น้ำมันจากไม้กฤษณา ลูกหมากสำหรับยานยนต์ และระบบน้ำหยด เป็นต้น ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ปัจจุบันมีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นขอการรับรองแล้วจำนวน 5 ราย สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณาให้การรับรอง

ด้านการส่งเสริมอุตสาหกรรมยางพารา สมอ. ได้กำหนด มอก. ที่เกี่ยวข้องกับยางพาราและประกาศใช้แล้ว จำนวน 163 มาตรฐาน และได้กำหนดเพิ่มเติมอีกจำนวน 5 มาตรฐาน ครบถ้วนตามข้อเสนอของทุกหน่วยงา

ด้านการกำหนดมาตรฐานยางล้อ ขณะนี้ สมอ. อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายเพื่อประกาศเป็นมาตรฐานบังคับ จำนวน 4 มาตรฐาน ได้แก่ มอก. 2718-2560 ยางล้อแบบสูบลม สำหรับรถยนต์และส่วนพ่วง  มอก. 2719-2560 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถยนต์เชิงพาณิชย์และส่วนพ่วง และ มอก. 2720-2560 ยางล้อแบบสูบลมสำหรับรถจักรยานยนต์และโมเปด คาดว่าจะประกาศใช้ภายในปี 2561 ส่วน มอก. 2721-2560 ยางล้อสูบลม ข้อกำหนดด้านเสียงจากยางล้อสัมผัสผิวถนน การยึดเกาะบนถนนพื้นเปียก และความต้านทานการหมุน คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ภายในพฤษภาคม 2562

สำหรับการก่อสร้างศูนย์ทดสอบทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะแล้วเสร็จได้ตามแผน ดังนี้ สนามทดสอบพร้อมห้องปฏิบัติการทดสอบจะแล้วเสร็จและทดสอบได้ในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2562 สำหรับอาคารสำนักงานและระบบสาธารณูปโภค จะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในเดือนมิถุนายน ปี 2562  ส่วนทดสอบยานยนต์และชิ้นส่วน ประกอบด้วยสนามทดสอบกลางแจ้ง 5 สนาม คาดว่าจะดำเนินการเสร็จสมบูรณ์ทั้งโครงการพร้อมเปิดให้บริการครบวงจรได้ในปี 2564