ทาทา สตีล (ประเทศไทย) มั่นใจปีการเงิน 2562 ยังมีโอกาสพลิกสถานการณ์ทำกำไร จากสถานการณ์ต้นทุนเศษเหล็กลดความผันผวน  ตลาดมีความต้องการสูงขึ้น  ชี้ การร่วมมือระหว่าง Hebsteel Global Holding  และ Tata Steel Global Holding  ตั้งบริษัทร่วมทุนซื้อหุ้นส่วนใหญ่ ทาทา สตีล (ประเทศไทย) เพิ่มโอกาสให้กิจการเติบโต ส่วน ทาทาฯ บริษัทแม่ หันไปเน้นตลาดที่อินเดียที่ความต้องการใช้เหล็กขยายตัวสูงและต่อเนื่อง

ตลาดในประเทศลด ส่งออกยอดเพิ่ม

นายราจีฟ มังกัล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) TSTH เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทสำหรับไตรมาสที่ 3 ของปีการเงิน 2562 (ตุลาคม-ธันวาคม 2561) ดังนี้

ปริมาณการขายรวม 280,000 ตัน เทียบกับไตรมาสก่อนปีการเงินเดียวกัน 287,000 ตันเท่ากับลดลง 7,900 ตันหรือลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 3001,800  ตัน ลดลง 21,800 ตันหรือลดลงร้อยละ 7.2

ปริมาณขายดังกล่าวเป็นการขายในประเทศส่วนของเหล็กเส้นและเหล็กตัดและดัด 156,600  ตันเทียบกับไตรมาสก่อน 164,000 ตันลดลง 7,800 ตันหรือลดลงร้อยละ 4.7  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 175,500 ตันลดลง 18,900 ตันหรือลดลงร้อยละ 10.8

ตลาดในประเทศส่วนของเหล็กลวด 87,200 ตันเทียบกับไตรมาสก่อน 88,100 ตันลดลง 900 ตันหรือลดลงร้อยละ 1.0  เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 93,100  ตันลดลง 5,900 ตันหรือลดลงร้อยละ 6.3

ในส่วนการส่งออกเท่ากับ 25,700  ตันเทียบกับไตรมาสก่อน 25,200  ตันเพิ่มขึ้น 500  ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0  เทียบกับช่องเดียวกันปีก่อน 20,500 ตัน เพิ่มขึ้น 5,200  ตันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.4

นายราจีฟ มังกัลป์  สรุปประมาณการขาย 9 เดือนปีการเงิน 2562 (เมษายน 2561-ธันวาคม 2561) ดังนี้

ปริมาณการขายรวม 849,500  ตันเทียบกับ 9 เดือนปีการเงิน 2561 ที่ทำได้ 901,300 ตันเท่ากับลดลง 51,800 ตันหรือลดลงร้อยละ 5.7

ตลาดในประเทศส่วนของเหล็กเส้นและเหล็กตัดและดัด 460,000 ตันเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 524,400  ตัน  เท่ากับลดลง 81,800 ตัน  หรือลดลงร้อยละ 15.1

ตลาดในประเทศส่วนของเหล็กลวด 257,000  ตันเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 257,700 ตัน ลดลง 700  ตันหรือลดลงร้อยละ 0.3

ตลาดส่งออก 100,000  ตัน เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 69,300  ตันเพิ่มขึ้น 30,700  ตันหรือเท่ากับเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.3

 

ต้นทุนลด สต็อดเอเยนต์ร้านค้าหดตัว  ความต้องการใช้เพิ่ม

กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ฯ กล่าวว่า สถานการณ์ที่ความต้องการใช้เหล็กลดลง มีการแข่งขันด้านราคาสูง  ซึ่งบริษัทไม่ได้ลงไปแข่งขันด้านราคา  อีกทั้งต้นทุนด้านเศษเหล็กที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเหล็กเพิ่มขึ้น ทำให้ผลการดำเนินงาน 9 เดือนแรกปีการเงิน 2562 ของบริษัทฯขาดทุนสุทธิรวม 72  ล้านบาท  อย่างไรก็ตามบริษัทเตรียมเพิ่มยอดการส่งออกให้มากยิ่งขึ้นเพื่อชดเชยกับยอดขายในช่วง 9  เดือนแรกที่น้อยกว่าช่วงเดียวกันปีก่อนราว  50,000  ตัน  ปัจจุบันตลาดส่งออกหลักอยู่ที่ ลาว, กัมพูชา, อินโดนีเซีย, อินเดีย และมาเลเซีย โดยตั้งเป้าให้ยอดการส่งออกไปอยู่ที่ร้อยละ 11-12  ของยอดขายรวมทั้งปี

นอกจากนี้ราคาเหล็กแท่งโลกที่ลดลงอย่างมากตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2561  และราคาเศษเหล็กที่มีแนวโน้มราคาลดลงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2561 และเริ่มคงที่ในเดือนมกราคม  2562 เปิดโอกาสให้บริษัทมีโอกาสทำกำไรเพิ่มขึ้น เพราะต้นทุนหลักลดลง   ขณะเดียวกันคาดการณ์ว่าแนวโน้มการลงทุนทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของไทยดีขึ้นสร้างโอกาสทำให้ความต้องการใช้เหล็กเส้นก่อสร้างเพิ่มขึ้น จากข้อมูลเดือนมกราคม –พฤศจิกายน 2561 การใช้เหล็กทรงยาวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน  (เพิ่มจาก 5.174 ล้านตันในปี 2560  เป็น 5.242  ล้านตันในปี 2561)  แม้ว่าการเพิ่มดังกล่าวไปตกอยู่ที่เหล็กนำเข้าก็ตาม  ปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ตัวแทนจำหน่ายและลูกค้าที่จำหน่ายและใช้งานเหล็กทรงยาวนั้นมีสินค้าคงคลังในมือน้อยลง เพราะช่วงที่ผ่านมามีความผันผวนเรื่องราคา  แต่เมื่อทิศทางราคาค่อนข้างแน่นอน การซื้อเหล็กทรงยาวเพื่อสร้างสมดุลให้กับสินค้าคงคลังในการจำหน่าย และการใช้งานก่อสร้างย่อมเกิดขึ้น

เหตุผลและปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวทำให้ทาทา  สตีลฯ  ยังหวังว่าผลการดำเนินงานทั้งปีการเงิน 2562 (เมษายน 2561- มีนาคม 2562) มีโอกาสกลับมาทำกำไร

อีกสามเดือน Hebsteel ถือหางเสือผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กในไทย

นายราจีฟ มังกัล อธิบายถึงกรณีการขยายหุ้นของบริษัท ทาทา  สตีล (ประเทศไทย) – TSTH  ร้อยละ  67.9  ว่า บริษัทที่รับซื้อหุ้นจำนวนดังกล่าวทั้งหมดเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง Hebsteel Global Holding  ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็ก ของจีน ร้อยละ 70  และบริษัท Tata Steel Global Holding ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กของอินเดีย ร้อยละ 30  บริษัทร่วมทุนดังกล่าวกำหนดจดทะเบียนในสิงคโปร์  เมื่อเรียบร้อยแล้วจะมีสัดส่วนการถือหุ้นใน ทาทา สตีล (ประเทศไทย) ร้อยละ 67.9  ส่วนที่เหลือร้อยละ 32.1 ที่กระจายอยู่ในกลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อยในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เปิดโอกาสให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยขายในราคาเดียวกับที่ซื้อล็อตใหญ่คือราคา 0.79 บาทต่อหุ้น (Mandatory Tender Offer)  นอกจากนี้บริษัทตั้งใหม่ดังกล่าวยังได้ถือหุ้นทั้งหมด (ร้อยเปอร์เซ็นต์) ของบริษัท NatSteel รวมบริษัทในเครือ ทั้งนี้ NatSteel จดทะเบียนในสิงคโปร์ และมีบริษัทในอุตสาหกรรมเหล็กที่เวียดนามและมาเลเซียด้วย ทั้งนี้จุดประสงค์สำคัญของ Hebsteel คือการขยายตลาดในภูมิภาคอาเซียนทั้งหมด นอกเหนือจากความมั่นใจว่าสามารถเป็นผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศไทย

การดำเนินงานในช่วงนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน(ที่สิงคโปร์) และการทำธุรกรรมและการจัดตั้งผู้บริหารของบริษัทร่วมทุนดังกล่าว  ข้อตกลงหลักคือตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) และประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน (CFO) ซึ่งจะมาจากกลุ่ม HBIS ของจีน ส่วนตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานบัญชีและการเงิน มาจากกลุ่ม TSTH กระบวนการดังกล่าวทั้งหมดกำหนดแล้วเสร็จภายใน 2-3 เดือน

นายราจีฟ มังกัลป์ กล่าวว่า ธุรกรรมดังกล่าวเท่ากับเป็นการผนึกกำลังกันระหว่างผู้นำในอุตสาหกรรมเหล็กโลกระหว่างจีนกับอินเดีย ทาทาฯยังมีส่วนสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล็กในไทยอยู่ เช่น หากส่งออกไปอินเดีย ทาทา ฯ ก็ดูแล  ในส่วนของ Tata Steel Global Holding ที่ทำธุรกิจดังกล่าวมีจุดประสงค์ต้องการไปเน้นความสำคัญกับอุตสาหกรรมเหล็กและตลาดเหล็กในประเทศอินเดียให้มากขึ้น  ทั้งนี้เพราะในปัจจุบันและแนวโน้มที่ชัดเจนคือ อินเดียมีความต้องการใช้เหล็กเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะมีการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านคมนาคมขนส่งมากขึ้น รวมทั้งการพัฒนาที่อยู่อาศัย และอสังหาริมทรัพย์รูปแบบต่างๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนที่มีรายได้เพิ่มขึ้น

ปัจจุบันประเทศอินเดียมีประชากรราว 1,300 ล้านคน มีความต้องการใช้เหล็กเฉลี่ย 100 ล้านตันต่อปี  โดยอุตสาหกรรมเหล็กในอินเดียมียอดการผลิตรวม 108 ตันต่อปี (ส่วนเกินเป็นการส่งออก) จากการลงทุนภาครัฐและความต้องการของภาคเอกชนคาดว่า การใช้เหล็กในอินเดียจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนถึงปีละ 300  ตันภายในเวลาราว  10 กว่าปีข้างหน้า

#