วันจันทร์ที่ 04 มีนาคม 2562

            ในการประมูลทรัพย์สิน สมบัติของแผ่นดิน มีการนำที่ดินไปพัฒนาหลายต่อหลายรายการ ควรมีการประเมินค่าให้ถ้วนถี่ เพื่อประโยชน์ของทุกฝ่าย

            ที่ผ่านมา มีการลงทุนทำโครงการหลากหลาย ซึ่งหากให้เกิดความเป็นธรรม หรือให้เกิดความสง่างามแก่ทุกฝ่าย ควรมีการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถ้วนถี่ เช่น

            1. โรงแรมดุสิตธานี หลังจากที่กลุ่มดุสิตธานีเช่าไปยาวนานราว 40 ปีเศษ เมื่อจะพัฒนาใหม่ ควรมีการประเมินค่าให้ชัดเจน

            2. โครงการ One Bangkok ที่เป็นที่ดินโรงเรียนเตรียมทหารเดิม ก็ควรมีการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถูกต้อง เพื่อดูความเหมาะสมต่อการคืนทุนต่อส่วนรวม

            3. โรงแรมไฮแอทเอราวัณ ก็ควรมีการประเมินค่าทรัพย์สินให้ถ้วนถี่เพื่อการต่อสัญญาอีก 20 ปี จากปี 2564-2584  

            4. สถานีตำรวจน้ำ บริเวณข้าง Icon Siam ก็ควรมีการประเมินค่าที่ดินว่าที่ตาบอดแปลงนี้เป็นเงินเท่าไหร่ ควรให้เอกชนดำเนินการโดยจ่ายเงินเท่าไหร่

            5. โรงภาษีร้อยชักสาม ที่ครั้งหนึ่ง บมจ.เนเชอรัลพาร์ค เคยประมูลได้ แต่อาจมีการประมูลใหม่ ก็ควรมีการประเมินค่าทรัพย์สิน เป็นต้น

            ถ้าถามแต่ละราย ก็คงบอกว่าได้ว่าจ้างบริษัทประเมินค่าทรัพย์สินที่น่าเชื่อถือประเมินไปเรียบร้อยแล้ว  แต่อันที่จริง ควรดำเนินการเพิ่มเติมคือ

            1. ในการเลือกบริษัทประเมิน ไม่ควรเลือกกันเองตามแต่ว่าได้ติดต่อกับบริษัทใด แม้แต่จะว่าจ้างใคร ก็ควรมีการประมูลเสนองานเช่นกัน โดยเลือกบริษัทที่น่าเชื่อถือที่สุด โดยมีการแจกแจงเหตุผลในการเลือกให้ชัดเจนต่อส่วนรวมเพื่อความโปร่งใส

            2. ในการว่าจ้าง อาจใช้วิธีจับสลากจากรายชื่อบริษัทประเมินของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) เพราะถือว่าแต่ละบริษัทก็ได้รับการรับรองเช่นกัน ควรมีศักดิ์และสิทธิ์เช่นเดียวกัน หากจับได้ใครแล้วไม่สามารถหรือไม่พร้อมดำเนินการก็สามารถสละสิทธิ์

            3. บริษัทประเมินที่ได้รับจ้าง ต้องทำการประกันทางวิชาชีพ (Indemnity Insurance) เพื่อหากเกิดความผิดพลาดต้องมีส่วนรับผิดชอบไม่มากก็น้อย

            4. ควรว่าจ้างบริษัทประเมินมากกว่า 2 บริษัท เช่น 3-4 แห่งเพื่อให้เกิดการเปรียบเทียบ ทำให้เกิดความโปร่งใสยิ่งขึ้น

            5. ในกรณีที่ราคาที่ประเมินออกมาไม่ตรงกันให้ทุกบริษัทประชุมร่วมกันและคัดเลือกข้อมูลเปรียบเทียบและแนวทางการประเมินที่ยอมรับได้ร่วมกัน และทบทวนผลการประเมินใหม่ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถได้ราคาที่ใกล้เคียงกันเพราะใช้ฐานข้อมูลเดียวกัน

            6. ผลการประเมินค่าทรัพย์สิน ควรเปิดเผยต่อสาธารณชนในฐานะเจ้าของประเทศ เพื่อให้ทุกคนสามารถตรวจสอบได้ เป็นระยะเวลาหนึ่งก่อนที่จะใช้ทำสัญญาผูกพัน

            7. ผู้มาทำสัญญากับทางราชการต้องยึดถือราคาตลาดที่ได้ผ่านการประเมินอย่างถ้วนถี่แล้ว  จะปฏิเสธ หรือใช้ตัวเลขอื่นไม่ได้

            8. อย่างไรก็ตามหากมีข้อพิสูจน์ได้ว่าราคาที่ประเมินไว้ผิดพลาด บริษัทประเมินนั้นต้องรับผิดชอบ เช่น จ่ายค่าทดแทนจากการประกันวิชาชีพ หรืออาจถูกร้องให้ กลต. ถอดถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อบริษัทประเมิน หรือในกรณีผิดพลาดร้ายแรงเพราะการทุจริต ก็คงต้องส่งฟ้องศาลต่อไป       

            การประเมินอย่างโปร่งใสเพื่อประโยชน์ของทางราชการนี้ ควรดำเนินการในกรณีอื่นๆ ด้วย เช่น

            1. การจัดซื้อ ขาย ให้เช่า เช่าที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น วัดหลวง ฯลฯ โดยให้สำนักงานประเมินราคาทรัพย์สิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือจัดตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมากำกับการว่าจ้างข้างต้น (ไม่ใช่รับเหมาทำเอง) โดยกรณีนี้เป็นกรณีการรวมศูนย์ให้เกิดความโปร่งใส

            2. การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ควรประเมินค่าให้ชัดเจน และแยกบทบาทการสำรวจที่ดินและการประเมินค่าทรัพย์สินออกจากกัน ที่ผ่านมา มีบริษัทสำรวจเพียงไม่กี่แห่งที่มักรับงานประเมินค่าเพื่อการเวนคืนจากทางราชการ ทำให้เกิดทางเลือกจำกัด และ TOR ของงานก็มักผูกงานสำรวจ และงานประเมินค่าทรัพย์สินไว้ด้วยกัน จึงควรทำให้เกิดความโปร่งใสด้วยการแยกงานประเมินออกมาต่างหาก

            การประเมินค่าทรัพย์สินให้ถ้วนถี่นี้ จะทำให้บริษัทที่มาซื้อ ประมูลทรัพย์หรือรับสัมปทานกับทางรากชารมีความสง่างามอย่างแท้จริงว่าไม่ได้โกงชาติ ส่วนราชการต่างๆ จะได้ดำเนินงานด้วยความโปร่งใสเป็นบรรทัดฐานต่อไป และผลประโยชน์ของประชาชนจะได้รับการคุ้มครอง รวมทั้งเป็นการพัฒนาวิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมต่อไป

            เราต้องใช้วิชาชีพประเมินค่าทรัพย์สินให้เกิดความโปร่งใส ความเป็นธรรมและรักษาผลประโยชน์ของชาติและประชาชน อย่าให้ใครโกงชาติได้

 

ที่มาภาพ : http://bit.ly/2VsYtDI

ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน