สร้างความพร้อมทางกฎหมายผังเมืองรองรับ EEC

ภาครัฐทุมเทสรรพกำลังมหาศาลเพื่อผลักดันโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor Development) หรือ EEC   เรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง  สร้างความพร้อมทางกฎหมายให้รองรับการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างสอดคล้องกับโครงการ EEC  กฎหมายหลักคือ กฎหมายที่เกี่ยวกับผังเมืองในระดับต่างๆ  ในพื้นที่โครงการ EEC  และพื้นที่เชื่อมโยงต่อเนื่อง

ภารกิจด่วนกรมโยธาธิการและผังเมือง

การผลักดันกฎหมายผังเมืองเพื่อสนับสนุนโครงการอีอีซี. นั้น กรมโยธาธิการมีแผนดำเนินการให้สอดคล้องกับการประกาศใช้ร่างพ.ร.บ. เขตพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ซี่งร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปเมื่อวันที่  8 กุมภาพันธ์  2561 ขั้นตอนต่อไปคือ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา

นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้กล่าวในการเสวนา เรื่องเมืองใหม่ อุตสาหกรรมใหม่ประชาชนได้อะไร ภายในงานสัมมนาหัวข้อ "Go Thailand : ลงทุนเพื่ออนาคต" จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ว่าหลังจากพ.ร.บ.อีอีซี. มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายนั้นกำหนดให้มีการจัดทำผังเมืองอีอีซีให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี  ในเรื่องนี้กรมโยธาธิการฯ คาดว่าผังเมืองอีอีซีจะแล้วเสร็จไม่เกินเดือนพฤษภาคม พ.ศ.  2562 ในระหว่างนี้ในพื้นที่อีอีซียังคงบังคับใช้กฎหมายตามผังเมืองย่อย 15 ผังที่บังคับใช้อยู่  ผังเมืองเหล่านี้จะเลิกใช้เมื่อมีการประกาศผังเมืองใหม่ของอีอีซี

ขณะนี้สำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกอยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูลเพื่อรองรับการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น  นอกจากพื้นที่อุตสาหกรรมที่ขยายเพิ่มจากเดิมซึ่งมีอยู่ประมาณ 3.5 แสนไร่ ตามอุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะมีการลงทุนเพิ่มขึ้น ยังต้องเตรียมพื้นที่รองรับการเกิดขึ้น ของเมืองใหม่  พื้นที่บางเมืองจะเกิดขึ้นหลังจากนโยบายของภาครัฐ เช่น เมืองการบิน (aviation city) เกิดขึ้นจากการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาพื้นที่ด้านนอกของบริเวณ ท่าเรือจุกเสม็ด เพื่อรองรับการท่องเที่ยวที่เติบโตมากขึ้น การเกิดขึ้นของเมืองใหม่ต้องคำนึงถึงการจัดรูปที่ดิน การพัฒนาเมือง ในลักษณะสมาร์ทซิตี้ ซึ่งต้องนำข้อมูลทั้งหมดมาประมวลผลเพื่อให้ผังเมือง อีอีซีมีความสมบูรณ์ที่สุด

“รัฐบาลและสำนักงานเพื่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก มอบกรมเร่งจัดทำผังเมือง 3 จังหวัดอีอีซี เร่งด่วนก่อน ให้สอดรับในเขตส่งเสริมการอุตสาหกรรมใหม่ ขณะเดียวกัน รอบสถานีรถไฟความเร็วสูง หากอยู่ในเขตเมืองก็ทำอะไรไม่ได้มาก แต่หากสถานีไหนยังไม่มีพื้นที่ว่างและมีศักยภาพ ก็สามารถกำหนดการใช้ประโยชน์รองรับ อาทิ เชิงพาณิชย์ เพื่อให้สอดรับกัน”   นายอนวัช สุวรรณเดช รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า

ผังเมืองกรุงเทพฯเตรียมปรับตัว

ความเคลื่อนไปที่สอดคล้องในเรื่องผังเมือคือ ข้อมูลจากสำนักผังเมืองกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กทม. ได้เตรียมปรับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 4 เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูง เชื่อมโยงอีอีซี โดยเฉพาะที่ดินมักกะสัน ปัจจุบันกำหนดให้เป็นศูนย์พาณิชยกรรมรอง หรือ พ.4 รองจากซีบีดีหลัก อาทิ สุขุมวิท สีลม สาทร หรือ พ.5 ไว้ก่อนหน้านี้  แนวโน้มคือ พิจารณาปรับสัดส่วนพื้นที่อาคารต่อพื้นที่ดิน หรือ เอฟเออาร์ เพิ่มจากปัจจุบัน เอฟเออาร์ 8 ต่อ 1 หรือ 8 เท่าของขนาดที่ดิน  นอกจากนี้ได้ศึกษาเพื่อยังนำมาตรการแพลนยูนิตดีเวลอปเมนต์ (พียูดี) มาใช้กับพื้นที่มักกะสัน เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น พัฒนาได้หลากหลาย ด้านหน้าเป็นตึกสูงมากขึ้น อาทิ โรงแรม ด้านหลังเป็นแนวราบ หากจัดทำสาธารณูปโภค-บริการสาธารณะเพียงพอ โดยไม่จำเป็นต้องทำตึกสูงเพียงอย่างเดียวหรือแนวราบเพียงอย่างเดียว

ส่วนสนามบินสุวรรณภูมิ เนื่องจากติดกฎหมายควบคุมความสูงเครื่องบินของการบินพลเรือน ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยในการบินจึงไม่สามารสร้างอาคารสูงได้  แต่ปรับบางโซน เช่น ปากทางเข้าสนามบินอาจปรับศูนย์ชุมชนชานเมืองลาดกระบังให้พัฒนาเชิงพาณิชย์และอาคารสูงได้ หรือพื้นที่สีแดงและสีส้ม รวมทั้งปรับพื้นที่เขียวลายให้แคบลง

การพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต้องมีความสมดุลสนับสนุนระหว่างภาคเศรษฐกิจหลักทั้งหมดคือ ภาคอุตสาหกรรม  ภาคเกษตรกรรมที่เป็นภาคเศรษฐกิจจริง Real Sector และภาคพาณิชย์-บริการต่างๆ   ความสมดุลและสนับสนุนซึ่งกันไม่พร่ากำลังขัดขวางกันและกันต้องมีแผนรวมที่มีลักษณะบังคับในเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน  นั่นคือผังเมือง ไล่เรียงตั้งแต่ผังระดับประเทศ  ผังภาค  ผังจังหวัด  ผังเมืองรวม  ผังชุมชน  เป็นต้น

ความจำเป็นในเรื่องนี้ต้องดำเนินการทั่วประเทศ ต้องทำความเข้าใจรวมกันอย่างต่อเนื่อง  จัดสรรผลประโยชน์ต่าง ๆ ให้สมดุลลงตัว  แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ต้องดำเนินการ   กล่าวในเชิงเปรียบเทียบ  บ้านหลังหนึ่ง ชุมชนหนึ่ง  เมืองหนึ่ง  ประเทศหนึ่ง  ล้วนต้องกำหนดพื้นที่ประโยชน์ใช้สอยที่แน่นอน  เพื่อให้การอยู่ร่วมกันเป็นไปด้วยดีมีพัฒนาการ

#