การบริหารต้นทุน-การบริหารเงินผ่านมือของอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง

อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง-ธุรกิจก่อสร้างทำให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจหรือผลกระทบทวีคูณได้อย่างน้อย  7  เท่าของมูลค่าการจ้างงาน  อันเนื่องมาจากเกิดการจ้างแรงงานภายในประเทศทั้งด้านผู้เชี่ยวชาญเฉพาะ แรงงานฝีมือ จนถึงแรงงานพื้นฐาน (แม้ว่าแรงงานพื้นฐาน-ไร้ฝีมือนำเข้าจากพม่า ลาว กัมพูชา  แต่ก็ทำงาน กิน อยู่ภายในประเทศไทย)   การซื้อ-เช่าเครื่องจักรกลก่อสร้าง  การซื้อน้ำมันเชื้อเพลิง  การซื้อวัสดุก่อสร้างหลัก เหล็กเส้นก่อสร้าง-ปูนซิเมนต์ วัสดุก่อสร้างอื่นๆ  การซื้ออุปกรณ์งานระบบต่างๆ  ระบบไฟฟ้า  ประปา สุขาภิบาล ระบบไอที  จนถึงเฟอร์นิเจอร์

ผู้บริหารธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตระหนักกันดีว่า  ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างนั้นมี “เงินผ่านมือ”  จำนวนมาก  ค่าจ้างรับเหมาก่อสร้างนั้นประมาณร้อยละ 70  ผ่านมือผู้รับเหมาไปสู่ผู้จัดจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง  ไปสู่ผู้จำหน่าย-ให้เช่าเครื่องจักรกลก่อสร้าง  ผู้ค้าน้ำมันเชื้อเพลิง  สู่ธุรกิจอื่นๆ และค่าจ้างแรงงานต่างๆ

นอกจากนี้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมักเผชิญวัฏจักรแห่งปัญหาการบริหารกิจการ  นั่นคือ  ราคาวัสดุก่อสร้างทรงตัวและลงเมื่อไม่ค่อยมีงานก่อสร้างในมือ  แต่ราคาวัสดุก่อสร้างมักจะทรงตัวและขึ้นยามเมื่อประมูลงานได้

วัฏจักรนี้ไม่ใช่เรื่องลี้ลับ  หากเป็นผลแห่งกฎของดีมานด์และซัพพลายที่นักธุรกิจทั้งหลายรับรู้กันอยู่แล้ว  จุดสำคัญจึงอยู่ที่การบริหารจัดการ  ในครั้งนี้พอประมูลข้อมูลต่างๆมาประกอบได้ต่อไปนี้

 

ต้นทุนวัสดุก่อสร้างมีโอกาสเพิ่มสูง

ผลกระทบจากดีมานด์จริงและกระแสดีมานด์มีผลต่อระดับราคา ทั้งนี้เมื่อเดือนมีนาคม 2561 ข้อมูลจากนายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ผู้รับเหมาก่อสร้างเร่งซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมการปรับปรุงพื้นที่และงานก่อสร้างในโครงการลงทุนขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชน ส่งผลให้บางช่วงเวลาอาจมีสินค้าวัสดุก่อสร้างบางชนิด เช่น หิน และทราย มีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการ

กรมการค้าภายในจึงตรวจสอบสถานการณ์สินค้าวัสดุก่อสร้าง ได้แก่ ปูนซีเมนต์ ผลิตภัณฑ์คอนกรีต เหล็กเส้น หิน และทราย พบว่าสถานการณ์การค้าปกติ ปริมาณสินค้ามีเพียงพอต่อความต้องการใช้ ราคาจำหน่ายคงเดิม และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะเกิดการขาดแคลนแต่อย่างใด

ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยตามกลไกตลาด อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันผู้ผลิตสินค้าหินและทรายในพื้นที่ดังกล่าวได้มีการเร่งเพิ่มการผลิตสินค้าเพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้นแล้ว และผู้ใช้สามารถสั่งซื้อสินค้าดังกล่าวจากพื้นที่ใกล้เคียงและพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งมีปริมาณสินค้าจำนวนมากเพียงพอต่อความต้องการใช้และราคาจำหน่ายปกติ

กรมการค้าภายในได้ตรวจสอบสถานการณ์สินค้าวัสดุก่อสร้างทุกชนิดในพื้นที่ดังกล่าว ยังไม่พบว่ามีข้อร้องเรียนจากผู้ใช้ว่ามีปัญหาการขาดแคลนสินค้าหินและทราย หรือมีการฉวยโอกาสปรับราคาเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด และได้กำหนดมาตรการกำกับดูแลสินค้าวัสดุก่อสร้างทุกชนิดให้แสดงราคาจำหน่ายสินค้าและห้ามฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าวัสดุก่อสร้างเพิ่มขึ้นหรือห้ามกักตุนสินค้า ทำให้เกิดความปั่นป่วนด้านราคาสินค้า ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.. 2542

หากประชาชนพบเห็นการกักตุนหรือฉวยโอกาสปรับขึ้นราคา สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งจะได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบทันที หากมีการกระทำความผิดจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้างบนนี้เป็นเรื่องของกรมการค้าภายในที่เป็น “ธรรมเนียมปฏิบัติ”

ส่วนเรื่องที่เกิดขึ้นไม่เพียงในพื้นที่อีอีซี. เมื่อพิจารณาจากความคืบหน้าของโครงการเมกะโปรเจคภาครัฐ  การประมูลและก่อสร้างรถไฟฟ้า  มอเตอร์เวย์  รวมถึงโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ของภาคธุรกิจเอกชน  รวมกันแล้วมีผลต่อการเพิ่มกระแสดีมานด์เหล็ก  ปูนซิเมนต์ และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ  ในตลาด

หมายความว่า ราคาเหล็กปูน และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ มีแนวโน้มปรับขึ้น

 

ผลกระทบสงครามการค้าอเมริกา-จีน

เกมธุรกิจระหว่างมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับหนึ่ง สหรัฐอเมริกากับมหาอำนาจเศรษฐกิจอันดับสอง สาธารณรัฐประชาชนจีน  ย่อมส่งผลกระทบทั่วโลก จากการที่สองประเทศนี้มีขนาดเศรษฐกิจ – จีดีพี.รวมกันเท่ากับ 30-40% ของโลก

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2561 ได้รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ออกมาตรการเรียกเก็บภาษีของผู้นำทรัมป์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐ (USTR) ได้สอบสวนตามมาตรา 301 ต่อพฤติกรรมการทำการค้าที่ไม่เป็นธรรมของจีน ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้สั่งให้ USTR เปิดเผยรายการสินค้าที่จะถูกเรียกเก็บภาษีภายใน 15 วันนับจากนี้ (22 มีนาคม 2561) และภายใน 30 วัน เป็นช่วงเวลาสำหรับการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยล่าสุด USTR เปิดเผยเป็นนัยๆ ว่าขณะนี้รายการสินค้าที่จะตกเป็นเป้าหมายในมาตรการนี้ เป็นสินค้าจำนวน 1,300 รายการ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานลงทุน กล่าวว่าสิ่งที่ไทยต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ซึ่งสหรัฐเพิ่มกำแพงภาษีเพื่อหวังลดการขาดดุลการค้าจากจีนลง 100,000 ล้านดอลลาร์สรอ. จากปัจจุบันขาดดุลอยู่ 370,000 ล้านดอลลาร์สรอ.ผลจากการเพิ่มภาษีสินค้า 1,300 รายการนั้นสามารถลดการขาดดุลได้เพียง 60,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่จีนได้โต้ตอบด้วยการเก็บภาษีสินค้าเกษตรของสหรัฐฯ แต่ตัวเลขรวมไม่มากเพียง 3,000 ล้านดอลลาร์สรอ.ดังนั้นต้องติดตามการเจรจาของ 2 ประเทศว่าจะเดินไปทิศทางใด เพราะไม่ว่าผลการเจรจาจะออกมาอย่างไรก็จะส่งผลต่อประเทศไทยแน่นอน โดยไทยส่งออกไปสหรัฐคิดเป็นสัดส่วน 10-11% ของการส่งออกทั้งหมด ส่วนการส่งออกไปจีนอยู่ที่ 12% นอกจากนี้ อาจเจอปัญหาโดนสินค้าจากจีนแย่งตลาดสำคัญอย่างอาเซียนที่ไทยส่งออกคิดเป็น 25% เพราะถึงที่สุดหากจีนไม่สามารถขายสินค้าให้สหรัฐได้ ก็อาจเลือกขายในตลาดอาเซียนแทน จึงเป็นเรื่องที่ภาครัฐและเอกชนต้องให้ความสำคัญ

ประเด็นที่ร้อนและเกี่ยวข้องกับต้นทุนวัสดุก่อสร้างคือ เรื่องเหล็กซึ่งอยู่ใน 1,300  รายการที่อเมริกาขึ้นภาษี สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยประเมิน คือ เหล็กที่ประเทศต่างๆ ผลิตไม่สามารถส่งออกไปสหรัฐได้ และผู้ผลิตเหล็กเหล่านี้จะต้องหาตลาดใหม่เพื่อทดแทนตลาดสหรัฐ และทำให้เหล็กที่ผลิตในเอเชียหรือภูมิภาคใกล้เคียง มีแนวโน้มที่จะส่งออกมาที่อาเซียนที่มีความต้องการใช้เหล็กมาก รวมทั้งที่ผ่านมาตลาดที่ถูกจีนส่งออกเหล็กมาทุ่มตลาด หลังจากความต้องการใช้เหล็กในจีนลดลง  ผู้ผลิตเหล็กในเอเชียจะใช้ความได้เปรียบด้านโลจิสติกส์มุ่งมาที่ตลาดอาเซียน จึงทำให้อาเซียนเป็นตลาดแรกที่ถูกมองให้มาทดแทนตลาดสหรัฐ

สำหรับการส่งออกเหล็กจากไทยไปอเมริกา ที่ผ่านมาเหล็กของไทยหลายรายการถูกสหรัฐเรียกเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด (เอดี) บางรายการถูกเก็บภาษีเอดีมานาน เช่น ข้อต่อเหล็กที่ถูกไต่สวนมาตั้งแต่ปี 2534 และปัจจุบันยังถูกสหรัฐเก็บภาษีเอดี

การวิเคราะห์ของรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สายงานลงทุน เป็นเรื่องที่ต้องขึ้นกระดานบริหารงานไว้ติดตาม

ทั้งนี้ต้องพิจารณาร่วมกับข้อมูลพื้นฐานที่ว่า โรงงานเหล็กที่เป็นอุตสาหกรรมหนักไม่กี่ประเภทในไทยซึ่งปัจจุบันมีอัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยราว 50% ของกำลังการผลิตติดตั้งเท่า  โรงงานเหล็กในไทยยังไม่เข้มแข็งและรับผลกระทบจากเหล็กนำเข้ามาโดยตลอด   และย่อมได้รับผลกระทบทางอ้อมจากสงครามการค้าอเมริกา-จีนด้วย  ราคาเหล็กหน้าโรงงานอาจลดลง  อย่างไรก็ตามเป็นคนละเรื่องกับราคาเหล็กที่ผู้รับเหมาและผู้ซื้ออื่นๆ  ซื้อได้จากเอเยนต์ ยี่ปั้วและร้านค้าวัสดุก่อสร้าง

ปัจจัยเรื่องผลกระทบจากสงครามการค้าอเมริกา-จีน  ยังไม่แน่นอนว่าจะส่งผลให้ราคาเหล็กเส้นก่อสร้างลดลงจริงหรือไม่  แต่พอหวังได้ว่าราคาไม่ควรเพิ่มขึ้นเร็วนัก  ประเด็นที่ต้องติดตามคือ มาตรการต่างๆ  จากรัฐไทยที่จะคุ้มครอง ส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ

สรุปประเด็นนี้ มีผลให้ระดับราคาเหล็กเส้นก่อสร้างควรทรงตัวในเส้นทางขึ้นราคา

ต้นทุนผลกระทบจริง/จิตวิทยา ปรับขึ้นค่าแรง

อัตราค่าแรงขั้นต่ำปรับขึ้นตั้งแต่วันที่  1 เมษายน  2561  เขตกรุงเทพมหานครเดิมค่าแรงขั้นต่ำวันละ 300 บาท เพิ่มเป็นวันละ 325 บาท ค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ยทั่วประเทศปรับเพิ่มเป็นวันละ 315 บาท

การปรับตัวของภาคธุรกิจดำเนินการมาล่วงหน้าเพราะการปรับอัตราค่าแรงดังกล่าวนั้นรับรู้มาตั้งแต่ต้นปี  2561 บริษัทรับเหมาที่มีงานส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯมีต้นทุนแรงงานพื้นฐานเพิ่มเป็นวันละ 325 บาท ในภาพรวมเท่ากับต้นทุนเพิ่ม 2-3%   ปกติแล้วการรับมือคือบวกเพิ่มตามต้นทุนแท้จริงกรณีทำสัญญาก่อสร้างโครงการใหม่ ส่วนสัญญาที่ทำก่อนหน้านี้ขึ้นอยู่กับรายละเอียดในสัญญาที่มีการกำหนดอัตราการชดเชยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในเรื่องรายละเอียดของต้นทุนไว้อย่างไร

ทั้งนี้แรงงานพื้นฐานหรือแรงงานไร้ฝีมือส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาวและกัมพูชา ลักษณะงานเป็นงานโครงสร้าง เช่น ผูกเหล็ก ขุดดิน ฯลฯซึ่งอยู่ในอัตราค่าแรงงานขั้นต่ำ ส่วนแรงงานคนไทยพัฒนาเป็นแรงงานฝีมือมือได้ค่าแรงวันละ 400-500 บาท เช่น ช่างปูกระเบื้อง ช่างไม้ ช่างทำบันได ฯลฯ

ประเด็นนี้ชัดเจนว่า ต้นทุนค่าแรงธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามการปรับราคาของวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ด้วย

ประมวลภาพรวมทั้งหมดแล้ว ต้นทุนของธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง มีทิศทางที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน  “เงินผ่านมือ” จะไหลไปสู่ “มือ”  อื่นๆ เพิ่มขึ้น

#