บุคลากรระบบราง อีกประเด็นความมั่นคงของโลจิสติกส์ระดับประเทศ
  • 3 พฤษภาคม 2018 at 14:36
  • 1453
  • 0

การสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในเขตกรุงเทพฯปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ อาทิ  ขอนแก่น  ภูเก็ต และเชียงใหม่  รวมทั้งการสร้างรถไฟทางคู่ตลอดเส้นทางรถไฟภาคเหนือ อีสานกลาง และภาคใต้ ที่ภาครัฐเร่งดำเนินการอยู่ในเวลานี้นั้น กล่าวได้ว่า กำลังสร้างความพร้อม ยกระดับประสิทธิภาพในการแข่งขันของเมือง และของประเทศให้สูงขึ้น  ในการนี้มีอีกหลายๆ  เรื่องที่ต้องดำเนินการไปควบคู่กัน  เช่น  การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีหรือการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้  การพัฒนาพื้นที่ใกล้เคียงสถานีรถไฟฟ้า  การสร้างเมืองบริเวณสถานีรถไฟทางคู่ตามเมืองต่างๆ   และการสร้างบุคลากรไว้รองรับการคมนาคมขนส่งระบบราง

ในครั้งนี้โฟกัสอยู่ที่การเตรียมพร้อมด้านบุคลากรรองรับระบบราง

สถาบันการศึกษาเปิดหลักสูตรระบบราง

สถาบันการศึกษาที่เปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับระบบรางมีดังนี้

อนุปริญญา  มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช   วิทยาลัยพัฒนาชุมชนเมือง  หลักสูตรอนุปริญญา สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบราง

วิทยาลัยอาชีวะรัฐ  4 แห่งคือ วิทยาลัยการอาชีพบ้านไผ่  วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี  วิทยาลัยเทคนิควาปีปทุม และวิทยาลัยชลบรี ร่วมมือกับวิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่นสาธารณรัฐประชาชนจีน พัฒนาหลักสูตรระบบขนส่งทางรางระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพขั้นสูง (ปวส.) เรียน 3  ปี จบได้ทวิวุฒิบัตรของไทยและจีน

ปริญญาตรี

สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมขนส่งทางราง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) คณะคุรุศาสตร์อุตสาหกรรม สาขาเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จัดโครงการเทคโนโลยีระบบรางและการจัดการการขนส่ง

โครงการพัฒนาบุคลากรการรถไฟแห่งประทศไทยโดยหลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต โครงการพัฒนาหลักสูตรและนำร่องการสร้างกำลังคนระดับล่างเทคนิคด้านระบบขนส่งทางราง

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)   คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมระบบราง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี)  คณะวิศวกรรมศาสตร์ หลักสูตรวิศวกรรมระบบราง

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน (มทร.อีสาน)  หลักสูตรวิชาเอกวิศวกรรมระบบราง สาขาเครื่องกล ไฟฟ้าและโยธา ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมระบบขนส่งทางรางแห่งอาเซียน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย-มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระนครเหนือ (มจพ.) เปิดหลักสูตรร่วมวิศวกรรมระบบราง ปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยรังสิต  คณะวิศวกรรมศาสตร์  หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีระบบราง

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย  คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรมการจัดการธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับระบบราง

ปริญญาโท

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาระบบขนส่งทางราง (หลักสูตรนานาชาติ-ภาคพิเศษ)

มหาวิทยาลัยมหิดล วิศวกรรมศาสตร์มหาบัณฑิต  ระบบขนส่งทางราง(นานาชาติ)

บทบาทกระทรวงอื่น

นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า กระทรวงคมนาคมเตรียมจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบรางสำหรับประเทศไทยและจัดทำแผนการถ่ายทอดเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ภายใต้คณะกรรมการบริหารการพัฒนาโครงการความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย – จีน ซึ่งได้พิจารณา เรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยี ประกอบด้วย งานออกแบบ งานควบคุมการก่อสร้าง โดยมีวิศวกรและสถาปนิกไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินงานควบคุมก่อสร้างร่วมกับฝ่ายจีนจำนวนประมาณ 450 คนเป็นต้น

ทั้งนี้การจัดตั้งสถาบันพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการบริหารจัดการงานวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีตามมติคณะรัฐมนตรีโดยสถาบันฯ จะดำเนินงานประสานงานในด้านต่าง ๆ จำนวน 5 ด้าน ได้แก่ การถ่ายถอดเทคโนโลยี มาตรฐานระบบราง อุตสาหกรรมระบบราง การพัฒนาทรัพยากรบุคคล และการทดสอบและการทดลอง

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์ร่วมมือและผลักดันโครงการกับกระทรวงวิทย์ฯของจีน ทำศูนย์วิจัยร่วมด้านระบบรางระหว่างไทย-จีน ปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้างอาคารสำนักงานหลักที่สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย(วว.) เพื่อใช้ทดสอบและพัฒนาระบบขนส่งทางราง กำหนดแล้วเสร็จและติดตั้งเครื่องมือในปลายปี 2561 ศูนย์วิจัยนี้จะเป็นศูนย์กลางในเรื่องระบบรางของภูมิภาคอาเซียน

เทคโนโลยีจากซีกโลกตะวันตก

เทคโนโลยีเกี่ยวกับระบบรางทางซีกโลกตะวันตกมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  แม้ว่าจากข่าวสารที่เผยแพร่ในประเทศดูเหมือนกว่า  เทคโนโลยีระบบรางจากจีน และญี่ปุ่นดูดีและสนใจมาลงทุนในประเทศไทยมากกว่า แต่การหาพันธมิตรจากซีกโลกตะวันก็เป็นเรื่องที่ควรทำ

ข้อมูลที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนในเรื่องนี้มีให้ติดตามกัน อาทิ เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดหลักสูตรปริญญาโทร่วม สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน

รายละเอียดของข้อตกลงความมือกันมีดังนี้ H.E. Mr. Peter Prügel เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน พร้อมด้วย คุณธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ร่วมเป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กับ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดหลักสูตรปริญญาโทร่วม 2 สถาบัน (joint degree) สาขาวิศวกรรมระบบรางและโครงสร้างพื้นฐาน (Railway Vehicles and Infrastructure Engineering) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยความร่วมมือทางวิชาการร่วมกับมหาวิทยาลัยอาเค่น (RWTH Aachen University) แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

หลักสูตรนี้เป็นการรองรับการเป็นหลักสูตรปริญญาโทร่วม 3 สถาบัน กับมหาวิทยาลัยอาเค่นในอนาคต โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.มณพิไลย นรสิงห์ คณบดีบัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) และ รองศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นผู้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ ดร.วิไล รางสาดทอง รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มจพ. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปมทอง มาลากุล ณ อยุธยา รองอธิการบดี กำกับดูแลวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Prof. Dr. rer. Nat. Rudolf Mathar รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอาเค่น ร่วมเป็นสักขีพยาน

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการผลิต และพัฒนาบุคลากรเพื่อตอบสนองความต้องการทรัพยากรบุคคลรองรับการก้าวกระโดดเรื่องระบบรางของประเทศไทย เนื่องจากการที่รัฐบาลผลักดันการคมนาคมขนส่งทางราง เช่น ระบบรถไฟธรรมดาผ่านการพัฒนารถไฟทางคู่ตลอดสายทุกเส้นทาง รถไฟฟ้าในเมืองหลวงและหัวเมืองใหญ่ และรถไฟความเร็วสูง สถาบันการศึกษาหลายแห่งได้เปิดหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมระบบราง การบริหารจัดการระบบราง จุดประสงค์ร่วมกันคือ ผลิตบุคลากรเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมระบบรางทั้งระบบ จากการศึกษาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพบว่าภายในปี 2563 ประเทศมีความต้องการกำลังคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านระบบรางสูงถึง 31,000 คนเป็นวิศวกร 6 พันคน ช่างเทคนิค 1.2 หมื่นคน และเจ้าหน้าที่ประจำสถานี 1.3 หมื่นคน

ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและพัฒนาบุคลากรกลุ่มนี้  ควรมีการติดตามความคืบหน้าต่างๆ อย่างใกล้ชิดต่อไป  ควบคู่กับความคืบหน้าโครงการ  การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ

#