แรงกระตุ้นจาก “ทีมวิจัยธนาคารโลก” ความยาก-ง่ายการลงทุน
  • 15 พฤษภาคม 2018 at 11:37
  • 932
  • 0

เดือนเมษายน –พฤษภาคม ของแต่ละปี ทีมวิจัยจากธนาคารโลกมีกำหนดมาสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ในประเทศไทย การทำงานดังกล่าวมีกำหนดเวลาแน่นอน (จำนวนประเทศที่สำรวจล่าสุด 190 ประเทศ) มีหัวข้อการสำรวจที่ชัดเจน รู้กันทั้งทีมวิจัยและประเทศที่ทีมวิจัยเดินทางไปเก็บข้อมูลตามเวลานัดหมาย  การประกาศรายงาน Doing Business : Measuring Quality and Efficiency   ออกมาประมาณเดือนตุลาคมของปีที่สำรวจ   การสำรวจในลักษณะนี้หมายถึงว่าปีที่ผ่านมา หรือนับจากกำหนดเวลาสำรวจ เดือนเมษายน-พฤษภาคม ย้อนหลังไปชนช่วงเดียวกันปีก่อน  ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นแล้วส่งผลให้ความยาก-ง่ายในการลงทุนอยู่อันดับที่เท่าไหร่

กรณีคิดช่วงเวลาอ้างอิงเพื่อปรับปรุงการทำงานสามารถใช้เดือนตุลาคมของรายงาน Doing Business ย้อนหลังไปชนเดือนตุลาคมปีก่อนหน้า คือเป็นผลงานผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น  เป็นผลงานปีที่ผ่านมาที่กำลังส่งผล ณ ปีของรายงาน Doing Business นั่นหมายถึงการใช้อ้างอิง  ส่วนผลปฏิบัติจริงต้องพิจารณาศักยภาพของรัฐบาลแต่ละประเทศประกอบ นักลงทุน-ทุนนิยมข้ามชาติมีประสิทธิภาพสูงในการจัดหาข้อมูลและช่วงทางใช้ประโยชน์ “ศักยภาพหน่วยงานของรัฐ-ศักยภาพรัฐบาล”

 

งาน “มอนิเตอร์” กระตุ้นเพื่อคุณภาพ

สาระสำคัญที่ทีมวิจัยธนาคารโลกสำรวจมี 10 ด้าน ประกอบด้วย

1. ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ

2.ด้านการได้รับสินเชื่อ ในประเด็นการจดทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ 

3. ด้านการขออนุญาตก่อสร้าง 

4. ด้านการบังคับให้เป็นไปตามข้อตกลง

5. ด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ

6. ด้านการขอใช้ไฟฟ้า

7. ด้านการชำระภาษี

8. ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สินที่ดิน

9. ด้านการค้าระหว่างประเทศ และ

10. ด้านการแก้ปัญหาการล้มละลาย

รายงาน Doing Business : Measuring Quality and Efficiency   ที่เผยแพร่ประมาณเดือนตุลาคมของทุกปี ประเทศไทยมีอันดับในช่วง 10   ปี มีดังนี้  (อันดับที่สูงหมายถึงความยากในการทำธุรกิจมีมาก  อันดับที่อยู่ระหว่าง 1-20  มีความง่าย  เป็นมิตร  สะดวกในการทำธุรกิจ  ตัวเลขปีที่ต่อจากรายงาน Doing Business เป็นปีของรายงานฉบับนั้น)

Doing Business 2009  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12

Doing Business 2010  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 12

Doing Business 2011  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 16

Doing Business 2012  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 17

Doing Business 2013  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 18

Doing Business 2014  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 18

Doing Business 2015  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 46

Doing Business 2016  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 46

Doing Business 2017  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 46

Doing Business 2018  ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 26

ดูเพิ่มเติมที่ http://www.doingbusiness.org/

และที่  https://tradingeconomics.com/thailand/ease-of-doing-business

 

ธนาคารโลก : การมาเยี่ยมเยือนพร้อมทีมวิจัย

การจัดทำรายงาน Doing Business : Measuring Quality and Efficiency   ของธนาคารโลกนั้นค่อนข้างเอิกเกริก  กรณี ประเทศไทยเช่น

วันที่ 21 เมษายน  2559 (ค.ศ.2016)   นายคอนสแตนติน ชิโคซี (Constantine Chikosi) รักษาการผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย นำคณะทีมวิจัยจากธนาคารโลกเข้าพบ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)  วาระหลักคือ คณะทีมวิจัยจากธนาคารโลกศึกษาข้อมูลและนำมาจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจของประเทศต่าง ๆ (Ease of Doing Business)

วันที่ 15 พฤษภาคม  2560  (ค.ศ.20017)  นายอูลริค ซาเกา (Mr. Ulrich Zachau) ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และคณะทีมวิจัยจากธนาคารโลก เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผู้แทนจากธนาคารโลกที่ดูแลรับผิดชอบการจัดอันดับความยาก ง่ายในการประกอบธุรกิจของ 190 ประเทศ ซึ่งมาจากธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี

ในปี 2561  (2018) วันที่  15 – 18 พฤษภาคม ทีมงานวิจัยจากธนาคารโลกมาประเทศไทย กำหนดเดินทางเข้ามาเก็บคะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของไทย เพื่อนำข้อมูลกลับไปจัดทำรายงานจัดอันดับประเทศที่มีความยากง่ายในการประกอบธุรกิจ  (กำหนดเข้าพบนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานภาครัฐวันที่ 17 พฤษภาคม-พบภาคเอกชนวันที่ 18 เดือนเดียวกัน)

ประเทศไทยย่อมมีการเตรียมตัว ผ่านการทำงานรูปธรรมหน่วยงานรัฐต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยแต่ละหน่วยงานรู้ภารกิจของตนเองชัดเจน เมื่อพิจารณาจากการสำรวจ 10  ด้าน

 

การเตรียม “เลื่อนอันดับ” อย่างเอิกเกริก

เมื่อทีมงานวิจัยธนาคารโลกมาอย่างเอิกเกริก  ย่อมต้องมี “ข่าวใหญ่”  ต้อนรับ

เช่น  “ชง ม.44 ปลดล็อกก่อสร้าง! เสนอลดเวลาขอใบอนุญาตเหลือ 30 วัน – ยกอันดับขีดแข่งขัน”

ดู  http://www.thansettakij.com/content/280782

สาระสำคัญที่นำมาสู่การพาพหัวข่าวมีดังนี้

“นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การลดเวลาการอนุมัติก่อสร้างจาก 110 วัน ให้เหลือ 30 วัน จะช่วยให้คะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยดีขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งจะพิจารณาว่าจะสามารถทำทันภายในเดือนนี้หรือไม่ และจะมีบางเรื่องอาจใช้มาตรา 44 ได้ ตนจะลองนำเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ดูว่าสามารถออก ม.44 เพื่อลดเวลาขออนุญาตก่อสร้างจาก 110 วัน เหลือ 30 วัน ได้หรือไม่ เพราะถ้าเราเร่งทำตรงนี้ได้ ก็จะได้ประโยชน์กับคะแนนความยาก-ง่าย ในการประกอบธุรกิจของประเทศไทยด้วย”  จาก  http://www.thansettakij.com/content/280782

ตัดประเด็นเรื่อง “เอิกเกริก” ออกไป ข้อมูลการทำงานเพื่อมุ่งหวังการเลื่อนอันดับให้ดีขึ้นมีหลายประการเช่น

ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ -- กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจ การพัฒนาระบบให้สามารถจองชื่อนิติบุคคล พร้อมจดทะเบียนนิติบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ได้ในขั้นตอนเดียวผ่าน Smart Device ที่เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 28 เมษายน . 2561 นอกจากนี้ ยังได้ลดขั้นตอนการดำเนินการลง 5 ขั้น จากเดิมในปี 2560 ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ 25.5 วัน เหลือ 4.5 วัน ในปีนี้ เช่น การจองชื่อบริษัทใช้เวลา 0.5 วัน การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทใช้เวลา 1 วัน เป็นต้น ต่อไปในปี 2562 กำหนดลดขั้นตอนการดำเนินงานบริการให้กับผู้ประกอบการเหลือ 3 ขั้นตอน ใช้เวลาในการดำเนินงาน 2 วัน ด้วยการนำระบบอีรีจิสเตอร์เข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการ  ตั้งเป้าใช้เวลาเพียงครึ่งวันเท่านั้น

ด้านการค้าระหว่างประเทศ -- กรมศุลกากร มีความพร้อมในหลายเรื่อง เช่น กระบวนศุลกากรล่วงหน้าก่อนสินค้ามาถึงท่าเรือ หรือ ท่าอากาศยาน (Pre-Arrival) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้นำของเข้าได้มีทางเลือกในการผ่านพิธีการศุลกากร หากสินค้าที่ไม่มีความเสี่ยงสามารถส่งมอบสินค้าได้ทันทีเมื่อสินค้ามาถึง เป็นการลดระยะเวลา ค่าใช้จ่าย โดยเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561  สำหรับท่าเรือและสนามบินที่เป็นด่านศุลกากรทั่วประเทศ ส่วนท่าเรือแหลมฉบังได้เริ่มใช้เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561

นอกจากนั้น ยังได้พัฒนาร่วมกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการพัฒนาระบบ E-Matching ผ่าน National Single Window โดยนำมาใช้กับท่าเรือขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ท่าเรือแหลมฉบังและท่าเรือกรุงเทพฯ ลดระยะเวลาจากเดิม 3 นาที เหลือ 20 วินาที รวมทั้งยังได้ลงนามกับการท่าเรือแห่งประเทศไทยในการตรวจปล่อยของจากท่าเรือแหลมฉบังได้เลย รวมทั้งมีการเปิดให้สอบถามพิกัดล่วงหน้า เพื่อลดขั้นตอนการทำงาน

นอกจากนี้ได้ปรับปรุงในเรื่องสินค้าถ่ายลำ จากเดิมจะต้องมายื่นเอกสาร 19 ชนิด แต่ปัจจุบัน สามารถดำเนินการทางออนไลน์ได้เลย และในวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 กำหนดเปิดระบบการใช้ E-Matching อย่างเป็นทางการ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง หากเป็นไปได้ อยากให้เจ้าหน้าที่ธนาคารโลกไปดูด้วยตัวเองว่า ได้ลดขั้นตอนการตรวจปล่อยของจาก 3 นาที เหลือ 20 วินาทีเท่านั้น

เรื่องที่กำลังเร่งรัดให้ประสิทธิภาพสูงขึ้นอีกคือ การออกใบอนุญาตรวมศูนย์ที่กรมศุลกากรที่เดียว หรือ Single Form ซึ่งเป็นระบบเชื่อมโยงข้อมูลหน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ เพื่อให้ใช้บริการทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจสามารถติดตามผลในทุก ๆ ขั้นตอนของการดำเนินงานนำเข้า ส่งออก และการอนุมัติผ่านทางอินเตอร์เน็ต (E-Tracking) ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง

ด้านการขอใช้ไฟฟ้า นายวีระพล จิรประดิษฐกุล กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และโฆษก กกพ. กล่าวว่า เมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ได้ดำเนินการในเรื่องค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) โดยประกาศให้เร็วขึ้น 1 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถวางแผนต้นทุนการผลิตได้ล่วงหน้า ส่วนปี 2561 นี้ ทางการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กำหนดปรับลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าลง ซึ่งก่อนหน้านี้ ประชาชนร้องเรียนว่าเป็นอัตราที่แพงเกินไป   ดังนั้น กกพ. จึงมีมติปรับลดค่าบริการ โดยตัดค่าต่อไฟฟ้าและค่าสมทบออกไป เหลือเพียงค่าตรวจไฟฟ้าเท่านั้น ส่งผลให้อัตราค่าบริการใหม่ เป็นดังนี้ มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก (ต่ำกว่า 30 แอมป์) จากเดิมอัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 2,080-11,800 บาท ลดเหลือ 700 บาท มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดกลาง (30-100 แอมป์) จากเดิมอัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 26,900-41,650 บาท ลดลงเหลือ 1,500 บาท มิเตอร์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ (100-400 แอมป์) จากเดิมอยู่ที่อัตราค่าบริการไฟฟ้าอยู่ที่ 77,050-131,650 บาท ลดลงเหลือ 2,500 บาท

หากเปรียบเทียบการสำรวจเก็บข้อมูลเพื่อประกอบการจัดอันดับความยาก-ง่ายในการประกอบธุรกิจ (Doing Business) ในประเทศไทย เป็นการสอบโดยธนาคารโลก  การตรวจรับข้อสอบคือเดือน พฤษภาคม  ผลสอบคือเดือนตุลาคม  แต่อย่างไรก็ตาม ในการส่งข้อมูลให้การตรวจรับข้อสอบ (เดือนพฤษภาคม) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องย่อมรู้แล้วว่า  ต้องดำเนินการอะไรเพิ่มเติมอีก  และเมื่อผลสอบ (รายงาน Doing Business) ออกมา  อันดับความยาก-ง่ายออกมาแล้ว  ยิ่งมีความชัดเจนว่า  ต้องแก้ไขเรื่องใด  เพราะมีรายละเอียดคะแนนแต่ละด้านอยู่ในรายงานฉบับเต็ม

หาอ่านได้ที่  http://www.doingbusiness.org/reports/global-reports/doing-business-2018

หรือที่ http://www.doingbusiness.org/~/media/WBG/DoingBusiness/Documents/Annual-Reports/English/DB2018-Full-Report.pdf

เรื่องที่ควร “ตีปี๊บ”  ทำให้ “เอิกเกริก” คือประกาศให้รู้ทั่วกันว่า มีแผนปฏิบัติการ “เพิ่มคะแนน” อย่างไร ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน หลังจากได้รับรายงาน Doing Business ในเดือนตุลาคมแล้ว  และ “แถลงข่าว”  หรือเผยแพร่ผลงานในวงกว้างในเดือนเมษายนก่อนส่งข้อมูล   ทำเช่นนี้ควรเป็นผลดี

แม้ว่า “ข้อมูล”  ที่เกี่ยวข้องกับประเด็น “ตีปี๊บ”  และ ทำให้ “เอิกเกริก” หาอ่านได้จากรายงาน Doing Business  แต่การใช้ข้อมูล การเผยแพร่ให้มีประโยชน์ กระตุ้น และเปิดโอกาสให้ “การเข้าถึงข้อมูล”  ง่ายขึ้น นั้นสมควรดำเนินการ

#