กรมทางหลวงชนบทสร้างเส้นทางเพิ่มความเจริญและโอกาสให้ท้องถิ่น
  • 21 พฤษภาคม 2018 at 10:09
  • 3642
  • 0

งานก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบทช่วยเชื่อมโยงโครงข่ายถนนของกรมทางหลวง และการคมนาคมขนส่งระบบรางให้เข้าถึงพื้นที่ชุมชนให้ทั่วถึงมากขึ้น  ส่วนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นระหว่างการกระจายความเจริญให้เข้าถึงพื้นที่อันหลากหลายมากขึ้น หรือเป็นทางตรงกันข้ามคือ ดูดรั้งทรัพยากรจากพื้นที่ต่างๆ  มาสู่ศูนย์กลางความเจริญหรือตัวเมืองของจังหวัดและรวมมาที่หัวเมืองแต่ละภูมิภาค และในที่สุดเมืองหลวงของประเทศนั้น  ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านอื่นๆ ทั้งจากภาครัฐ  ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาชนให้สอดคล้องสมดุลกัน

อย่างไรก็ตามเมื่อให้น้ำหนัก งานก่อสร้างถนนของกรมทางหลวงชนบทมีความสำคัญต่อการกระจายความเจริญสู่ท้องถิ่นต่างๆ เป็นด้านหลักเสมอ  ในโอกาสนี้รวบรวมการก่อสร้างบางเส้นทางที่น่าสนใจในช่วงไตรมาสที่หนึ่งและไตรมาสที่สอง พ.ศ. 2561

 

เร่งเวนคืนขยายถนน 4 เลน จ.ระยอง 2 สายรองรับโครงการ EEC

กรมทางหลวงชนบทดำเนินโครงการก่อสร้างถนนในจังหวัดระยองสองเส้นทางเพื่อเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพอันเป็นการตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจฝั่งตะวันออกหรือโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor ; EEC)  ที่มีเป้าหมายในการพัฒนาให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ดีที่สุด และทันสมัยที่สุดในภูมิภาคอาเซียน อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางในระดับโลกด้านการลงทุนและเป็นฐานอุตสาหกรรมด้านพลังงาน

ในปีงบประมาณ 2561 กรมทางหลวงชนบทดำเนินการก่อสร้างถนนเพื่อสนับสนุน EEC จำนวน 2 โครงการ ดังนี้

1.โครงการก่อสร้างขยายถนนทางหลวงชนบทสาย รย.3013 แยกทางหลวงหมายเลข 331 – ทางหลวงหมายเลข 3191 อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง ระยะทาง 17.324 กิโลเมตร ปัจจุบันผู้รับจ้างได้เริ่มเข้าพื้นที่ดำเนินงานเมื่อเดือนมีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างการสำรวจแนวการก่อสร้างและแนวเวนคืน

2.โครงการก่อสร้างถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 แยกทางหลวงหมายเลข 3138 – ทางหลวงหมายเลข 344 อำเภอบ้านค่าย, วังจันทร์ จังหวัดระยอง ระยะทาง 32.807 กิโลเมตร ปัจจุบันผลการก่อสร้างก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 5 ขณะนี้อยู่ระหว่างก่อสร้างชั้นรองพื้นทางลูกรัง ได้ระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร

ทั้ง 2 โครงการดังกล่าว มีกำหนดการก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2563

จุดประสงค์ในการสร้างถนนสองสายนี้เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในบริเวณดังกล่าว โดยถนนทั้ง 2 สาย ผ่านนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ นิคมอุตสาหกรรมสยามอินดัสเทรียลพาร์ค นิคมอุตสาหกรรม IRPC สวนอุตสาหกรรมโรจนะ

ประโยชน์อีกด้านหนึ่งคือ เป็นเส้นทางในการขนส่งสินค้าการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา กล่าวคือถนนทางหลวงชนบทสาย รย.4058 เป็นเส้นทางที่สามารถขนส่งจากอำเภอบ้านค่าย ไปยังตลาดกลางยางพาราตะวันออก อำเภอวังจันทร์ จังหวัดระยอง เป็นการเชื่อมห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมใน EEC ได้มากขึ้น จากต้นน้ำถึงปลายน้ำด้วยการขนส่งในรูปแบบต่าง ๆ ที่ประสานกัน ตลอดจนเชื่อมต่อกับกรุงเทพมหานครที่เป็นศูนย์กลางการบริโภคและศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศ

เร่งสร้างถนน 20 กม. 4 เส้นทาง เข้าสู่แปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน จ.บุรีรัมย์

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนเข้าสู่แปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทางรวม 20.267 กิโลเมตร

โครงการแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี เป็นโครงการฯที่ยกระดับรายได้ของประชาชนในพื้นที่ให้สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายในท้องตลาดทั่วไป เนื่องจากพันธุ์ข้าวดังกล่าวเป็นพันธุ์ที่เหมาะสมในการเพาะปลูกบริเวณจังหวัดบุรีรัมย์และจังหวัดสุรินทร์ ในอดีตถนนสายดังกล่าวเป็นถนนดิน กว้าง 4 เมตร ประชาชนเดินทางยากลำบากเป็นอย่างมาก   โครงการนี้มุ่งหวัง

การสร้างถนนเข้าสู่แปลงปลูกเมล็ดพันธ์ข้าวพระราชทานนี้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สนับสนุนการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และลดต้นทุนในการผลิต ทช.จึงได้ดำเนินการสำรวจและออกแบบ พร้อมทั้งดำเนินการก่อสร้างถนนสายเข้าโครงการแปลงปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวพระราชทาน ตำบลหนองโดน อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์

การก่อสร้างมีถนน 4 สาย ระยะทางรวม 20.267 คือ

สายที่ 1 จุดเริ่มต้นโครงการฯ (แยกทางหลวงหมายเลข 2073 กม.ที่ 28+900 ด้านซ้ายทาง) จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 7+512 ระยะทาง 7.512 กิโลเมตร

สายที่ 2 จุดเริ่มต้นโครงการฯ (แยกจากสายที่ 1 กม.ที่ 2+581 ด้านซ้ายทาง) จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 2+397 ระยะทาง 2.397 กิโลเมตร

สายที่ 3 จุดเริ่มต้นโครงการฯ (ต่อเชื่อมจาก ถนนคอนกรีตของ อบต.หนองโดน) จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 6+979 ระยะทาง 6.979 กิโลเมตร

สายที่ 4 จุดเริ่มต้นโครงการฯ (แยกจากสายที่ 1 กม.ที่ 0+778 ด้านขวาทาง) จาก กม.ที่ 0+000 ถึง กม.ที่ 3+379 ระยะทาง 3.379 กิโลเมตร

ปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 93.30 เร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน 2561 โดยใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 100 ล้านบาท

ตัดถนนใหม่เชื่อมเทพารักษ์-เทพรัตน

สภาพการจราจรในปัจจุบันบนถนนเทพารักษ์ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ ติดขัดมาก เส้นทางเชื่อมต่อไปยังถนนเทพรัตน (บางนา-ตราด) มีเพีบง 2 ทางคือ ใช้บริการทางหลวงพิเศษหมายเลข 9 ซึ่งเก็บค่าผ่านทาง หรือใช้ทางหลวงหมายเลข 3256 (ถนนกิ่งแก้ว) ทั้ง 2 เส้นทางมีระยะห่างประมาณ 5 กิโลเมตร กรมทางหลวงชนบท(ทช.) เห็นว่าควรมีเส้นทางที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการคมนาคมขนส่งระหว่างถนนเทพารักษ์ทสู่ถนนเทพรัตน และใช้เป็นเส้นทางเพื่อรองรับการจราจรจากโครงข่ายทางสนับสนุนการเชื่อมต่อระบบขนส่งหลักของประเทศ ช่วง จ.สมุทรสาคร ถึง จ.สมุทรปราการ ที่มาสิ้นสุดที่ถนนเทพารักษ์ ให้มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้นด้วย

ทช. ได้สำรวจออกแบบถนนเชื่อมต่อทางหลวงหมายเลข 3268 (ถนนเทพารักษ์) กับทางหลวงหมายเลข 34 (ถนนเทพรัตน หรือถนนบางนา-ตราด) อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ รวมระยะทางของแนวเส้นทางประมาณ 5.07 กิโลเมตร ปัจจุบัน ทช.ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบเสร็จแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการออกพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินบริเวณที่จะเวนคืน เพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงการต่อไป

แนวเส้นทางโครงการดังกล่าวมีจุดเริ่มต้นที่บริเวณปากซอยขจรวิทย์ กม.ที่ 9+700 ของถนนเทพารักษ์ แนวเส้นทางไปทิศตะวันออกซ้อนทับกับแนวถนนเทพารักษ์เดิม ประมาณ 725 เมตร  เลี้ยวซ้ายที่ กม.10+425 ของถนนเทพารักษ์ มุ่งหน้าทิศเหนือข้ามคลองสำโรง ตัดผ่านถนนทางหลวงชนบทสาย สป.4002 (หนามแดง-บางพลี) ระยะทางประมาณ 1,500 เมตร จากนั้นแนวเส้นทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ลอดผ่านใต้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่เกษตรกรรมระหว่างหมู่บ้านพฤกษาวิลเลจ 19 และหมู่บ้านบางพลีนิเวศน์ ตัดผ่านถนนซอยมหาชัย แยก 1 พาดผ่านข้ามคลองสวน ข้ามคลองวัดสลุด และเข้าบรรจบถนนบางนา-ตราด กม.ที่ 10+616 รวมความยาวของแนวเส้นทาง ประมาณ 5.07 กิโลเมตร

 

เปิดใช้ถนน 4 เลน เชื่อมด่านบ้านคลองลึก บูมเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนสระแก้ว

กรมทางหลวงชนบท (ทช.) กระทรวงคมนาคม ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33 – ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว ระยะทาง 15.425 กิโลเมตร ปัจจุบันการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้สัญจรแล้ว เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จ.สระแก้ว สนับสนุนการเดินทางและการขนส่ง แก้ไขปัญหาจราจร และส่งเสริมการท่องเที่ยว

ทช.ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างถนนสายแยกทางหลวงหมายเลข 33 – ด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว มีจุดเริ่มต้นโครงการที่ กม.0+000 โดยแยกจากถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กม.293+500) สิ้นสุดโครงการที่ กม.15+425 ซึ่งบรรจบกับถนนทางหลวงหมายเลข 33 (กม.304+019) บริเวณด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก รวมระยะทาง 15.425 กิโลเมตร

โครงการก่อสร้างเป็นถนนผิวจราจรแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กยกระดับข้ามทางรถไฟและสะพานข้ามคลอง รวม 3 แห่ง ติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณสะพานจุดกลับรถและทางแยก เครื่องหมายจราจร และสิ่งอำนวยความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้เส้นทาง ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้ประชาชนสัญจร

รถที่มาจาก อ.วัฒนานคร สามารถใช้เส้นทางเข้าสู่ อ.อรัญประเทศ เพื่อเดินทางไปด่านผ่านแดนบ้านคลองลึก

รถจากด่านผ่านแดนฯ สามารถกระจายสินค้าไปสู่ภูมิภาคโดยใช้เส้นทางเป็นทางเลี่ยงชุมชนที่มีการจราจรคับคั่ง สามารถลดต้นทุนการขนส่ง สนับสนุนการท่องเที่ยวให้สามารถเดินทางได้สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และส่งเสริมการจ้างงานให้กับประชาชนในพื้นที่

ส้นทางใหม่ๆ  ถนนเส้นใหม่ๆ ที่สร้างขึ้น หรือการปรับปรุงขยายเส้นทางเดิมให้มีช่องทางจราจรเพิ่มขึ้นของกรมทางหลวงชนบท  เท่ากับเป็นการเพิ่มโอกาสของท้องถิ่นต่างๆ ให้มากขึ้น  สามารถขยายความเจริญด้านต่างๆ  เชื่อมโยงความเจริญของท้องถิ่นเข้ากับตัวเมือง  และหัวเมืองอันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในภูมิภาคหรือเขตพื้นที่เชื่อมโยงกัน

#