ข้อมูลการพัฒนาพื้นที่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร จอุทัยธานี
  • 14 มิถุนายน 2018 at 14:00
  • 1373
  • 0

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 12  มิถุนายน  2561 (ครม.สัญจรไปจังหวัดนครสวรรค์)  มีเรื่องน่าสนใจ โดยเฉพาะนำโครงการต่าง ๆ มาร้อยเรียงเข้าด้วยกัน เพื่อเร่งรัดการดำเนินการ โดยออกมาเป็นมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง แนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2   ซึ่งครอบคลุมโครงการต่าง ๆ มากมาย

 

รวมแผนยุทธศาสตร์ในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการกระตุ้นตลาดการท่องเที่ยวสร้างและกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและเมืองรองในกลุ่มพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 อันจะเป็นการช่วยลดความ  เหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายรัฐบาล รวมทั้งเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นกรอบแนวทางในการเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่ต่อไป

กก. ได้รวบรวมแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพื้นที่ มาตรการสำคัญ และแผนงาน ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2561-2562 เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ โดยมีเป้าหมายเพื่อการส่งเสริมพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถของการท่องเที่ยวในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ให้เต็มตามศักยภาพและความพร้อมของพื้นที่ และการต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่จะเกิดขึ้นจากโครงการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจากภาครัฐในอนาคต เพื่อให้การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่สร้างและกระจายรายได้สู่ชุมชนและเมืองรอง เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 และขยายโอกาสไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ตามนโยบายของรัฐบาล โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. นโยบาย ยุทธศาสตร์และมาตรการที่สำคัญเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง 2 ในระยะที่ผ่านมา หน่วยงานส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ได้มีการจัดทำแผนและยุทธศาสตร์เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวระยะ 5  ปี ในเขตพื้นที่ดังนี้

1.1 ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาค เมืองและพื้นที่เศรษฐกิจ ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ยุทธศาสตร์การพัฒนาภาคเหนือ มีเป้าหมาย พัฒนาเป็นฐานเศรษฐกิจสร้างสรรค์มูลค่าสูง เชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่สินค้าและบริการ เพื่อเชื่อมโยงห่วงโซ่มูลค่าของระบบเศรษฐกิจภาคเข้ากับระบบเศรษฐกิจของประเทศและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อดูแลช่วยเหลือคนจน และผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พึ่งพาตนเอง และพึ่งพากันในชุมชนได้ เพื่อแก้ไขปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ ป่าต้นน้ำและปัญหาหมอกควัน

ตัวชี้วัดที่สำคัญ ได้แก่ รายได้การท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนเพิ่มขึ้น อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ต่ำกว่าระดับประเทศ สัดส่วนคนจนลดลง สัดส่วนผู้สูงอายุที่เข้าถึงระบบสวัสดิการเพิ่มขึ้น พื้นที่ป่าต้นน้ำเพิ่มขึ้น จำนวนวันที่มีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กเกินมาตรฐานลดลง

ยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 พัฒนาการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการต่อเนื่องให้มีคุณภาพ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มอย่างยั่งยืน และกระจายประโยชน์อย่างทั่วถึง รวมทั้งต่อยอดการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพสูงด้วยภูมิปัญญาและนวัตกรรม

1.2 แผนพัฒนาการท่องเที่ยวในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม  (พ.ศ. 2560-2564) คณะกรรมการพัฒนาการท่องเที่ยว ประจำเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรมได้จัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาการท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกโลกด้านวัฒนธรรม พ.ศ. 2560-2564 (จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดตาก และจังหวัดกำแพงเพชร)

กำหนดวิสัยทัศน์  แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก เชื่อมโยงท่องเที่ยวอาเซียนมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาเส้นทางมรดกวัฒนธรรม ท่อปู่พญาร่วงซึ่งเป็นภูมิปัญญาโบราณเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและวิถีไทย เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวมรดกวัฒนธรรมร่วมกับการท่องเที่ยวที่เน้นกิจกรรมกลางแจ้งและนันทนาการ ยกระดับการท่องเที่ยวที่มุ่งเน้นจุดหมายปลายทาง (Tourism Destination) เน้นการกระจาย (Distributor) เพื่อเชื่อมโยงการท่องเที่ยวกับกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน CLMV พัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวเพื่อเพิ่มรายได้โดยการเพิ่มค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของนักท่องเที่ยวและจำนวนวันพำนักในพื้นที่ สนับสนุนการผสานกำลัง (Synergy) ของภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อพัฒนาโครงสร้างการบริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงบูรณาการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาไว้ 3 ยุทธศาสตร์ ได้แก่

ยุทธศาสตร์ที่ 1 ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกวัฒนธรรมและธรรมชาติสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยการพัฒนาเส้นทางมรดกวัฒนธรรม ถนนพระร่วง ท่อปู่พญาร่วงพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนและเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษ กระจายการท่องเที่ยวสู่พื้นที่ใกล้เคียงทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน 

ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มการกระจายตัวของนักท่องเที่ยวภายในเขตพัฒนาการท่องเที่ยว โดยการต่อยอด เพิ่มคุณค่า และพัฒนาผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยว โดยการพัฒนาสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้มีมาตรฐาน พัฒนาทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพ และส่งเสริมการตลาดให้เกิดการกระจายตัวของนักท่องเที่ยว

ยุทธศาสตร์ที่ 3 บริหารการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาข้อมูลการท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยให้แก่นักท่องเที่ยว ตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงาน ตามแผนการดำเนินงานที่เกี่ยวข้อง

 

การระบุพื้นที่รูปธรรม

1.3 แผนกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 (พ.ศ. 2561-2564) ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดกำแพงเพชร  จังหวัดพิจิตร จังหวัดอุทัยธานี ได้จัดทำแผนพัฒนากลุ่มจังหวัดที่สอดคล้องเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ เป็นศูนย์กลางธุรกิจข้าว สินค้าเกษตรปลอดภัยการท่องเที่ยวธรรมชาติและวัฒนธรรมล้ำค่าระดับประเทศ

เป้าประสงค์คือให้ผลผลิตข้าวและสินค้าเกษตรที่ปลอดภัย มีคุณภาพตามมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าวและสินค้าเกษตรที่เกิดจากการใช้นวัตกรรมผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐานและมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้น การเชื่อมโยงการท่องเที่ยวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม การท่องเที่ยวเชิงเกษตร เป็นที่รู้จักและยอมรับของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ  ประกอบด้วย 3 ยุทธศาสตร์ซึ่งยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวตามมาตรฐานเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ตัวชี้วัดที่สำคัญ คือ จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับมาตรฐานเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปีและรายได้จากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปี  โดยมีแนวทางการพัฒนาและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวตามมาตรฐานการท่องเที่ยว พัฒนาสินค้าและบริการ และปัจจัยสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ได้มาตรฐาน พัฒนาตลาดการท่องเที่ยว

โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการปรับปรุงซ่อมแซมและถนนสายทางเข้าน้ำตกไซเบอร์ ต. ทองหลาง อ. ห้วยคต จ. อุทัยธานี

โครงการปรับปรุงและก่อสร้างภายในวัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์

โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวกลุ่มจังหวัด (พัฒนาพิพิธภัณฑ์เมืองพิจิตรเชื่อมโยงกับภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้แก่ชุมชน)

โครงการท่องเที่ยวตามรอยเสด็จประพาสต้น เป็นต้น

 

ยุทธศาสตร์ 20 ปีด้านวัฒนธรรม

1.4 แผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ด้านวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดทำยุทธศาสตร์กระทรวงวัฒนธรรมเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ตามกรอบทิศทางนโยบายการพัฒนาสู่ประเทศไทย 4.0 กรอบทิศทางตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564)  

ดังนั้นกำหนดวิสัยทัศน์ วัฒนธรรมสร้างคนดี สังคมสันติสุข ทุนทางวัฒนธรรมเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ ไทยเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในระดับนานาชาติ

เป้าประสงค์ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว ได้แก่ ประเทศไทยมีรายได้จากอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น และยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ยุทธศาสตร์ที่ 3 ส่งเสริมอุตสาหกรรมวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ โดยมีแนวทางในการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม โครงการที่สำคัญ เช่น โครงการสร้างรายได้จากการต่อยอดทุนและมรดกด้านวัฒนธรรม โครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ โครงการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมภาพยนตร์และวีดีทัศน์ เป็นต้น

1.5 แผนแม่บทอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร กรมศิลปากรเป็นหน่วยงานหลักในการดูแลพื้นที่ดังกล่าว โดยอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และกำแพงเพชร สถานที่ดังกล่าวมีข้อมูลด้านคุณค่าและความสำคัญทางด้านประวัติศาสตร์โบราณคดี รวมถึงร่องรอยต่าง ๆ ในพื้นที่โดยรอบเส้นทางเชื่อมโยงกัน

ทั้งนี้มติที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการและควบคุมการดำเนินงานโครงการอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติกำแพงเพชร เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2560 ได้กำหนดกรอบแนวคิดแผนแม่บทในการจัดทำแผนแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนาอุทยานดังกล่าวฉบับใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปี โดยเน้นการบูรณาการเป็นหลัก เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติในแนวทางเดียวกัน โดยได้กำหนดแผนงานหลักไว้ 8 แผนงาน โดยแผนงานที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวคือ แผนงานที่ 6 แผนการบริการวิชาการ การท่องเที่ยวและการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริการทางด้านวิชาการ และการท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานประวัติศาสตร์ทั้ง 3 แห่ง รวมถึงการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ความรู้แก่นักท่องเที่ยว ประชาชน และสถาบันการศึกษา ทั้งนี้คาดว่าจะมีการนำแผนแม่บทฉบับใหม่เสนอคณะรัฐมนตรีภายใน 6 เดือน

 

เพิ่มความร่วมมือระหว่างกระทรวง

1.6 ความร่วมมือระหว่างกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและกระทรวงวัฒนธรรม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2   กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 มีแหล่งท่องเที่ยวที่มีความโดดเด่นทางด้านประวัติศาสตร์ ด้านวัฒนธรรม และด้านศาสนาที่สำคัญ เช่น มรดกโลกเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง อุทยานประวัติศาสตร์กําแพงเพชร วัดคีรีวงศ์ วัดพระปรางค์เหลือง (เขากบ) วัดสว่างอารมณ์ วัดบรมธาตุนครชุม อุทยานเมืองเก่าพิจิตร พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อเงิน (วัดท้ายน้ำ) วัดคุณพุ่ม วัดโพธิ์ประทับช้าง วัดจันทาราม (วัดท่าซุง) วัดสังกัสรัตนคีรี เมืองโบราณบ้านการุ้ง เป็นต้น

ขณะเดียวกันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงศาสนา โดยได้ดำเนินการจัดทำหนังสือการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธในเอเชีย (Story Book of Buddhist Tourism in Asia) และขอความร่วมมือให้ประเทศที่นับถือศาสนาพุทธในภูมิภาคเอเชียและเอเชียใต้ รวบรวมข้อมูล รูปภาพ เพื่อจัดทำรูปเล่ม ในหัวข้อ 3Ps 9Items” ซึ่งประกอบด้วย

(1) Pieces สิ่งของแทนความศรัทธาทางพุทธศาสนา ประเทศละ 9 ชิ้น

(2) Places สถานที่สำคัญทางพุทธศาสนา ประเทศละ 9 ชิ้น

(3) People บุคคลที่มีอิทธิพลทางจิตใจหรือมีบทบาทสำคัญทางพุทธศาสนา ประเทศละ 9 คน

เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2561 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มีการประชุมร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมและสำนักงานพระพุทธศาสนา เพื่อหารือแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยมีข้อสรุปในการจัดทำข้อมูลการท่องเที่ยวเชิงศาสนาพุทธ  นำร่องในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เป็นพื้นที่ลำดับแรก การจัดทำข้อมูลดังกล่าวกำหนดจัดทำในรูปแบบ Digital content ผ่าน Platform Thailand tourism Directory และขอให้กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานพระพุทธศาสนาประสานเจ้าของข้อมูลเพื่อจัดทำข้อมูลที่สำคัญ ได้แก่

(1) แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ เช่น วัด พิพิธภัณฑ์ โบราณสถาน เป็นต้น

(2) กิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น ประเพณี วัฒนธรรม เป็นต้น

(3) เส้นทางท่องเที่ยว เช่น เส้นทางจาริก แสวงบุญศาสนสถาน เส้นทางตามรอยเกจิอาจารย์ดัง เป็นต้น และเชื่อมโยงฐานข้อมูลดังกล่าวไปยังภาคเอกชน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมที่สำคัญ ซึ่งคาดว่าจะมีการลงทุนของภาคเอกชนในกลุ่มจังหวัดดังกล่าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นตามมาด้วย สอดคล้องกับการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองและการท่องเที่ยวชุมชนตามนโยบายของรัฐบาล

การท่องเที่ยวเชิงอาหารและชุมชน

1.7 การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ASEAN Gastronomy Conference เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 25611 มิถุนายน 2561 เพื่อสร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารระหว่างประเทศอาเซียน+3 และการจัดแสดงอาหารเด่นจากแต่ละประเทศ รวมไปถึงอาหารไทยในรูปแบบต่าง ๆ  เช่น Royal Thai Cuisine อาหารพื้นถิ่น 5 ภาค เป็นต้น

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร มีความเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม (Cultural Tourism) การท่องเที่ยวแบบท้องถิ่น (Local Tourism) และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา  จึงได้จัดทำโครงการเชฟชุมชน เพื่อท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร โดยยกระดับมาตรฐานอาหารไทยจากระดับชุมชน สร้างเครือข่ายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร และกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับชุมชนอย่างยั่งยืน การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมให้แก่ชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 อย่างยั่งยืน

1.8 การส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community - Based Tourism : CBT)คณะอนุกรรมการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน ดังนี้

1) แนวทางการหนุนเสริมการพัฒนาชุมชนเป้าหมาย ปี พ.ศ. 2561 ตามศักยภาพของชุมชน (Capacity-based) เพื่อยกระดับเป็นต้นแบบแต่ละจังหวัดในการมุ่งเน้นการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เป็นประโยชน์กับชุมชนและเกิดความยั่งยืน โดยใช้เครื่องมือเกณฑ์การพัฒนาการท่องเที่ยว โดยชุมชนของประเทศไทย  ซึ่งสอดคล้องกับมาตรฐานสากล Global Sustainable Tourism Criteria (GSTC) เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนา ทั้งนี้ มีชุมชนในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 จำนวน 3  ชุมชน เป็นชุมชนจังหวัดกำแพงเพชร ประกอบด้วย ชุมชนเริงกะพง ชุมชนบ้านกระเหรี่ยงน้ำตก ชุมชนบ้านวุ้งกะสัง (จังหวัดในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 ที่ได้รับการส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน คือ จังหวัดกำแพงเพชร)

2) ส่งเสริมรูปแบบการจับคู่ธุรกิจระหว่างชุมชนกับบริษัทนำเที่ยวเพื่อยกระดับเป็นกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) โดยมีการจัดตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการพัฒนาการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เชิญผู้ประกอบการธุรกิจนำเที่ยว 30 บริษัท และชุมชนท่องเที่ยว 30 ชุมชน ซึ่งเป็นต้นแบบในการจับคู่ธุรกิจ เข้าร่วมงาน มหกรรมท่องเที่ยวโดยชุมชนเมื่อปี พ.ศ. 2560 และจัดแสดงกิจกรรมการท่องเที่ยวโดยชุมชนของชุมชนเป้าหมาย รวมทั้งมีการจัดทำโมเดลการจับคู่ธุรกิจเพื่อหนุนเสริมการพัฒนาความเชื่อมโยงชุมชนท้องถิ่นและผู้ประกอบการการท่องเที่ยว ให้มีการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและทั่วถึงเพื่อยกระดับศักยภาพชุมชนให้สามารถดำเนินการในรูปแบบ Social Enterprise

นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยกรมการท่องเที่ยวได้ดำเนินการประกาศเขตพื้นที่ท่องเที่ยวในท้องถิ่นหรือชุมชน ตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรในท้องถิ่นหรือชุมชน สามารถเป็นมัคคุเทศก์นำเที่ยวในพื้นที่ของตนเองโดยได้รับการยกเว้นหรือลดค่าธรรมเนียม และการใช้ใบอนุญาตมัคคุเทศก์ กรมการท่องเที่ยวมีกำหนดลงพื้นที่เพื่อจัดอบรมการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวชุมชม ระหว่างเดือน มิถุนายน สิงหาคม 2561

1.9 มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรองเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวและจัดอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้รับให้มีการอบรมสัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง สำหรับเงินได้ร้อยละ 100 ของรายจ่ายที่ได้จ่ายเป็นค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่ง หรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการสัมมนาที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคลได้จัดขึ้นให้แก่ลูกจ้าง หรือรายจ่ายที่ได้จ่ายให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม  2561  ถึง 31 ธันวาคม 2561 และยกเว้นภาษีเงินได้บุคลธรรมดาให้กับผู้เสียภาษีที่เป็นบุคคลธรรมดาเฉพาะค่าบริการหรือค่าที่พักที่ได้จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ถึง 31 ธันวาคม 2561 ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2  ทั้ง 4 จังหวัดได้รับการประกาศให้เป็นจังหวัดท่องเที่ยวรองแล้ว

ร้อยเรียงงานโครงสร้างพื้นฐาน

1.10 แผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 รัฐบาลได้กำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ในระยะ 20 ปี ซึ่งครอบคลุมการพัฒนาระบบคมนาคมทั้งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และทางราง

กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 เป็นศูนย์กลางโครงข่ายคมนาคมที่สำคัญของประเทศ เป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางไปสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเชื่อมโยงสู่ภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ แนวระเบียงเศรษฐกิจ แนวเหนือ-ใต้ (NSEC) และแนวระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันตก-ตะวันออก (EWEC)

กระทรวงคมนาคมมีแผนงานและโครงการสำคัญที่สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น 

(1) ขอย้ายและขยายพื้นที่โครงการพัฒนาสถานีรับมอบและส่งตู้บรรทุกสินค้า (Container Yard) และโครงการสร้างสถานีขนส่งสินค้า (Truck Terminal)

(2) ขอย้ายและขยายพื้นที่โครงการสร้างศูนย์บริการจุดพักรถบรรทุก (Truck Rest Area)

(3) โครงการก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ด้านตะวันออกช่วงแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3004 และช่วงแยกทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225บรรจบทางหลวงแผนดินหมายเลข 3004  โครงการขยายช่องทางจราจร จาก 2 ช่องทางเป็น 4 ช่องทาง ถนนทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 225 ตลอดเส้นทางซึ่งเป็นเส้นทางเชื่อมโยงภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและเร่งดำเนินการจุดที่มีความสำคัญเร่งด่วนตอนเกรียงไกรกลาง-เกยไชย-ศรีมงคล ระหว่าง กม.10+000กม.93+190 ระยะทาง 83.190 กม.

(4) โครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 11 และเร่งดำเนินการจุดที่มีความสำคัญเร่งด่วน เช่น แยกอินทร์บุรี-อำเภอสากเหล็ก ตอนอำเภอหนองบัว-อำเภอทับคล้อ ระยะทาง 14.750 กม. แยกอินทร์บุรี-อำเภอสากเหล็ก ตอนอำเภอทับคล้อ อำเภอหนองบัว ระยะทาง 38.800 กม. ตอนช่องแค-ตากฟ้า-ไดตาล-น้ำสาดเหนือ-หนองกลับระหว่าง กม.14+600 - กม.116+345 ระยะทาง 101.745 กม.

(5) โครงการก่อสร้างขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 115  และเร่งดำเนินการจุดที่มีความสำคัญเร่งด่วน เช่น กำแพงเพชร-พิจิตร ตอนอำเภอไทรงาม-แยกปลวกสูง ระยะทาง 22.00 ม. ตอนพิจิตร อำเภอสากเหล็ก-อำเภอเนินมะปราง จ.พิษณุโลก ระยะทาง 26.00 กม.

(6) ขยายทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 333 ตอนการุ้ง-อุทัยธานี กม.147+032กม.165+000 ระยะทาง 17.698 กม. เป็น 4 ช่องจราจร

(7) โครงการรถไฟทางคู่เส้นทางนครสวรรค์-กำแพงเพชร-ตาก-แม่สอด

(8) โครงการก่อสร้างเขื่อนยกระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน่าน

 

ขีดเส้นใต้แผนการในอนาคต

2. ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการส่งเสริมเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภาคเหนือตอนล่าง 2 ในระยะต่อไป

2.1 ส่งเสริมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัดและภายในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ภายใต้กรอบแนวคิดการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก การท่องเที่ยวเชิงศาสนา การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และวิถีชีวิตเกษตรกรรม เพื่อเพิ่มความถี่ในการเดินทางและเพิ่มระยะเวลาพำนักเฉลี่ยให้มากขึ้น โดยอาศัยความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว ทั้งธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตเกษตรกรรมและประเพณีท้องถิ่น

2.2 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในพื้นที่ เช่น กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ กิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น รวมทั้งบูรณาการความร่วมมือในการจัดทำข้อมูลด้านการท่องเที่ยวเข้าสู่เว็บไซต์ www.thailand tourismdirectory.go.th

2.3 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง โดยมีมาตรการต่างๆ สนับสนุน เช่น มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวและการจัดอบรมสัมมนาในเมืองจังหวัดท่องเที่ยวเมืองรอง และการประชาสัมพันธ์และส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองผ่านโครงการ Amazing Go Local เป็นต้น

2.4 ส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน เช่น การจัดทำและรับรองมาตรฐานการท่องเที่ยวโดยชุมชน การอบรมการเป็นเจ้าบ้านที่ดี การประกาศเขตมัคคุเทศก์ภายใต้มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 และการดำเนินโครงการเชฟชุมชน เป็นต้น

2.5 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างโอกาสในการเข้าถึงด้านการท่องเที่ยว เช่น การขยายและปรับปรุงเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวมรดกโลก (ห้วยขาแข้ง-อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร) พัฒนาเส้นทางเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยว ทั้งระหว่างจังหวัดและภายในกลุ่มจังหวัด และพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางเข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว (ป้ายบอกทางแหล่งท่องเที่ยว Free-wifi  และไฟส่องสว่าง) เป็นต้น

2.6 พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง 2 ดังนี้

- จังหวัดอุทัยธานี เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง แหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงมรดกโลกทางธรรมชาติห้วยขาแข้ง แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น

เป็นต้น

- จังหวัดนครสวรรค์ เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวบริเวณบึงบอระเพ็ด แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น

- จังหวัดกำแพงเพชร เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชื่อมโยงอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น

- จังหวัดพิจิตร เช่น พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ (อุทยานเมืองเก่าพิจิตร) สถานีรถไฟเก่า บึงสีไฟ แหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่น เป็นต้น

 

ข้อมูลเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง

นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการ ในฐานะรักษาการผู้ว่าการ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 4/2561 (ครมสัญจร)ที่จังหวัดนครสวรรค์ วันที่12 มิถุนายน 2561 มีมติรับทราบการดำเนินโครงการก่อสร้างทางรถไฟทางคู่ สายนครสวรรค์ - กำแพงเพชร -ตาก- แม่สอด เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อรถไฟฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ และเร่งรัดศึกษาการเชื่อเส้นทางจากจังหวัดนครสวรรค์- อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น อีกด้วย

ทั้งนี้ ร.ฟ.ท. ได้ดำเนินการศึกษา ออกแบบ รถไฟทางคู่ เส้นทางเชื่อม ตะวันตก-ตะวันออก (E-W Upper ) จาก แม่สอด-นครสวรรค- บ้านไผ่-นครพนม ระยะทาง รวม 902 กม. โดยแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงบ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. กรอบวงเงิน 60,352 ล้านบาท ขณะนี้ ศึกษาความเป็นไปได้ และออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้ว อยู่ระหว่างเสนอ รายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)

ช่วง นครสวรรค์ - กำแพงเพชร -ตาก- แม่สอด ระยะทาง 256 กม. กรอบวงเงิน 96,785 ล้านบาท ศึกษาความเหมาะสม (FS) เสร็จแล้ว จากนั้นจะเป็นการศึกษาออกแบบรายละเอียด. และช่วง นครสวรรค์- อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระยะทาง291 กม.กรอบวงเงิน 47,712 ล้านบาท เตรียมศึกษาความเหมาะสม ในปีงบประมาณ2562

ทั้งนี้ โครงสร้างพื้นฐาน กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ถือเป็นศูนย์กลางคมนาคม จุดเชื่อมโยงระหว่างภาคกลางไปสู่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอาเซียน แนวระเบียงเศรษฐกิจ เหนือ-ใต้ (NSEC) แนวระเบียงเศรษฐกิจ ตะวันตก -ตะวันออก (EWEC) เพื่อพัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

(หมายเหตุ  ประโยชน์ของมติครม.เช่นนี้คือ มีข้อมูลที่ชัดเจนในการติดตามเรื่อง  ส่วนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็ชัดเจนว่า  ผู้บังคับบัญชา-หน่วยเหนือนั้นมีความมุ่งมั่นในเรื่องใด)

#