ติดตามศึกษาทำความเข้าใจแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ

การประกอบธุรกิจจำเป็นต้องสนใจสุขภาพของพนักงาน  ดังนั้นการติดตามศึกษาทำความเข้าใจ(ร่าง)แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติจึงจำเป็น

แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ-ยุทธศาสตร์ชาติ

มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 ธันวาคม  2559  เรื่อง ร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและเห็นชอบตามที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564)

2. เห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (เช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ) และภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ ใช้แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) เป็นกรอบแนวทางในการดำเนินงานการพัฒนาด้านสุขภาพของประเทศตามห้วงระยะเวลาของแผนฯ ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง  สธ. รายงานว่า

1. ปัจจุบันประเทศไทยเผชิญกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อระบบสุขภาพหลายประการ เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว รูปแบบของโรคที่เปลี่ยนแปลงไป ปัญหาสุขภาพจากอุบัติเหตุ ภัยพิบัติและภัยสุขภาพ ปัญหาการจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ ปัญหาการบริหารจัดการระบบการเงินการคลังด้านสุขภาพ ปัญหาความรู้ด้านสุขภาพของประชาชนที่ยังไม่เพียงพอในการป้องกันปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ สธ. จึงจำเป็นต้องวางแผนเพื่อเตรียมรับมือกับปัญหาด้านสุขภาพดังกล่าว ประกอบกับแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2555 – 2559) จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2559

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาด้านสุขภาพเป็นไปอย่างต่อเนื่อง สธ. โดยคณะทำงานจัดทำร่างแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) จึงได้จัดทำร่างแผนดังกล่าว

2. แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับนี้เป็นแผนพัฒนาระยะ 5 ปี อยู่ภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ. 2560 – 2564 และสอดรับกับเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี ในข้อ 3 ยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน และข้อ 4 ยุทธศาสตร์การสร้างโอกาสความเสมอภาคและเท่าเทียมกันทางสังคม

แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 12 นี้จะเป็นกลไกเชื่อมต่อเป้าหมายยุทธศาสตร์ดังกล่าวให้สามารถนำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งได้ยึดกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) การปรับโครงสร้างประเทศไทยไปสู่ประเทศไทย 4.0 ประเด็นการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข ธรรมนูญว่าด้วยระบบสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 2 และกรอบแนวทางแผนระยะ 20 ปี ด้านสาธารณสุข

แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 นี้ เป็นช่วงระยะเวลาของการปฏิรูปประเทศในระยะ 5 ปีแรก และจะเป็นการวางรากฐานของระบบสุขภาพให้เข้มแข็ง มีเอกภาพ สามารถต่อยอดให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างต่อเนื่องภายใต้แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับต่อ ๆ ไป จึงกำหนดยุทธศาสตร์ดังนี้

ยุทธศาสตร์ที่ 1 เร่งการเสริมสร้างสุขภาพคนไทยเชิงรุก

ยุทธศาสตร์ที่ 2 สร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในระบบบริการสุขภาพ

ยุทธศาสตร์ที่ 3 พัฒนาและสร้างกลไกเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการกำลังคนด้านสุขภาพ

และยุทธศาสตร์ที่ 4 พัฒนาและสร้างความเข้มแข็งในการอภิบาลระบบสุขภาพ

ขยายความ  อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างมีลักษณะการทำงานของงานช่างบางกลุ่ม  มีงานในหลายสถานที่ และช่วงเวลาการทำงานที่อาจเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้  การวางแผนป้องกัน  การแก้ไขเมื่อเกิดปัญหา  การบรรเทาความเสียหาย  การช่วยเหลือผู้เดือดร้อนประสบปัญหาเป็นความรับผิดชอบต่อเนื่อง  การติดตามศึกษาทำความเข้าใจแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ย่อมช่วยให้การบริหารจัดการด้านนี้และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพมากขึ้น

#

บัญชีสยาม