มาตรการทางกฎหมายเพื่อความปลอดภัยอาชีวอนามัย/การทำงานที่อับอากาศ

ความปลอดภัยในการทำงานมีความสำคัญทั้งต่องานที่ทำ และคนทำงาน  เรื่องเช่นนี้เป็นทั้งความจำเป็นของการทำงาน และความเคร่งครัดด้านกฎหมาย

ป้องกันอันตรายจากการทำงานในที่อับอากาศ

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  15  พฤศจิกายน  2559 เรื่อง ร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีว อนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. …..... ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหาร จัดการ และดำเนินการด้านความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับที่อับอากาศ พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1.กำหนดให้นายจ้างมีมาตรการควบคุมเพื่อความปลอดภัยในที่อับอากาศ ห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหรือบุคคลใดเข้าไปในที่อับอากาศ เว้นแต่นายจ้างได้ดำเนินการให้มีความปลอดภัยตามกฎหมายห้ามนายจ้างให้ลูกจ้างหรือบุคคลที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคหัวใจ หรือโรคอื่นตามความเห็นของแพทย์เข้า(ไป)ในที่อับอากาศอาจเป็นอันตรายต่อบุคคลดังกล่าว

2.กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการประเมินสภาพอันตรายในที่อับอากาศตรวจวัด บันทึกผลการตรวจวัด และประเมินสภาพอากาศในที่อับอากาศก่อนให้ลูกจ้างเข้าไปทำงานและในระหว่างที่ลูกจ้างทำงาน จัดให้มีอุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคล อุปกรณ์ช่วยเหลือและช่วยชีวิตที่เหมาะสมกับลักษณะงาน ควบคุมดูแลให้ลูกจ้างและผู้ช่วยเหลือสวมใส่ หรือใช้อุปกรณ์ดังกล่าว  จัดให้มีสิ่งปิดกั้น มิให้บุคคลตกลงไปในที่อับอากาศ หรือป้องกันมิให้พลังงาน สารที่เป็นอันตรายเข้าสู่ที่อับอากาศ จัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิงที่เหมาะสม รวมทั้งห้ามลูกจ้างสูบบุหรี่ ห้ามให้ลูกจ้างทำงานที่ก่อให้เกิดความร้อนประกายไฟ สารพิษ หรือสารไวไฟในที่อับอากาศ

3.กำหนดให้นายจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศหรือจะมอบหมายเป็นหนังสือให้ลูกจ้างซึ่งได้รับการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศเป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการอนุญาตแทนก็ได้ รวมทั้งจัดให้มีหนังสืออนุญาตให้ลูกจ้างทำงานในที่อับอากาศโดยมีรายการตามที่กฎหมายกำหนด

4.กำหนดให้นายจ้างจัดให้มีการอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศแก่ลูกจ้าง รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีความรู้ วิธีการและขั้นตอนในการปฏิบัติงานในที่อับอากาศและเก็บหลักฐานการฝึกอบรมให้พนักงานตรวจความปลอดภัยดำเนินการตรวจสอบ

5.กำหนดบทเฉพาะกาล ให้หน่วยงานฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศที่ได้ขึ้นทะเบียนตามประกาศกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เรื่อง หลักเกณฑ์วิธีการ และหลักสูตรการฝึกอบรมความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ พ.ศ. 2549 สามารถดำเนินการจัดฝึกอบรมต่อไป จนกว่าการขึ้นทะเบียนนั้นจะสิ้นอายุ ในกรณีที่หน่วยงานดังกล่าวสิ้นอายุแล้ว แต่ยังไม่มีการประกาศใช้กฎกระทรวงตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติความปลอดภัยอาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ให้หน่วยงานดังกล่าวดำเนินการไปพลางก่อน จนกว่าจะมีประกาศใช้กฎกระทรวงตามมาตรา 11

ขยายความรายละเอียดในเรื่องการป้องกันอันตราย และมีมาตรการความปลอดภัยในการทำงานในที่อับอากาศ เป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเคร่งครัด  และมีการฝึกอบรมอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่อง เพื่อความปลอดภัยและประสิทธิภาพการทำงาน

#

บัญชีสยาม