ป้องกันการสนับสนุนการก่อการร้าย และการห้ามส่งอาวุธ

วิธีการหนึ่งในการร่วมใจกันป้องกันการก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงคือการควบคุมทางด้านการเงิน  ดังนั้นจึงมีกฎหมายระดับชั้นต่าง ๆ ในเรื่องนี้ออกมาอย่างต่อเนื่อง

ขยายอำนาจการพิจารณาและทบทวนรายชื่อฯ

การควบคุมทางด้านการเงินถือว่าเป็นการตัดกำลังสนับสนุนของการก่อการร้าย มีผลทางด้านการป้องกันที่ดีประการหนึ่ง  ล่าสุดเมื่อวันที่  1 พฤศจิกายน  2559  คณะรัฐมนตรีมีมติ เรื่อง ร่างกฎกระทรวงออกตามความในกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปรามปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง รวม 2 ฉบับ

ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงการพิจารณารายชื่อและการทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม พ.ศ. ....  และร่างกฎกระทรวงการพิจารณารายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดว่ากระทำการอันเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อ พ.ศ. ... รวม 2 ฉบับ ตามที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน แล้วดำเนินการต่อไปได้ เมื่อร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง พ.ศ. .... มีผลใช้บังคับแล้ว

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง 2 ฉบับ มีดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวงการพิจารณารายชื่อและการทบทวนรายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการธุรกรรม พ.ศ. ....

(1) กำหนดให้กรณีที่สำนักงาน ปปง. ได้รับคำร้องขอหรือตรวจสอบพบว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ใดมีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการก่อการร้าย หรือการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายหรือดำเนินการแทนหรือตามคำสั่งหรือภายใต้การควบคุมของบุคคลดังกล่าว ให้เสนอเรื่องดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจาณากำหนดรายชื่อก่อนเสนอต่อคณะกรรมการธุรกรรมเพื่อพิจารณาเห็นชอบให้สำนักงาน ปปง. ส่งรายชื่อผู้นั้นให้พนักงานอัยการพิจารณายื่นคำร้องฝ่ายเดียวขอให้ศาลมีคำสั่งเป็นบุคคลที่ถูกกำหนดโดยไม่ชักช้า

(2) กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจาณากำหนดรายชื่อ ประกอบด้วย เลขาธิการ ปปง. เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกรมองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการ ปปง. แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานเป็นกรรมการและเลขานุการจำนวนหนึ่งคน และผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน

2. ร่างกฎกระทรวงการพิจารณารายชื่อบุคคลที่ถูกกำหนดว่ากระทำการอันเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูงของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อ พ.ศ. ...

(1) กำหนดให้กรณีที่สำนักงาน ปปง. ได้รับคำร้องขอหรือตรวจสอบพบว่ามีบุคคล    คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรใดกระทำการอันเกี่ยวข้องกับการแพร่ขยายอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ให้เสนอคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อพิจารณาเห็นชอบให้สำนักงาน ปปง. ส่งเรื่องดังกล่าวให้กระทรวงการต่างประเทศเพื่อส่งคำร้องไปยังคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องซึ่งจัดตั้งขึ้นตามมติของหรือประกาศภายใต้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ดำเนินการกำหนดรายชื่อบุคคล คณะบุคคล นิติบุคคล หรือองค์กรดังกล่าวโดยไม่ชักช้า

(2) กำหนดองค์ประกอบของคณะกรรมการพิจารณากำหนดรายชื่อ ประกอบด้วย เลขาธิการ ปปง. เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้แทนกรมองค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนกรมการปกครอง ผู้แทนกรมสอบสวนคดีพิเศษ ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนสำนักงานศาลยุติธรรม และผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้แทนสำนักงาน ปปง. และผู้แทนกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นกรรมการ และให้เลขาธิการ ปปง. แต่งตั้งข้าราชการในสำนักงาน  เป็นกรรมการและเลขานุการจำนวนหนึ่ง และผู้ช่วยเลขานุการอีกไม่เกินสองคน

ห้ามส่งออก-นำเข้า-ส่งผ่านอาวุธ

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  1 พฤศจิกายน  2559  เกี่ยวกับการห้ามส่งออก- นำเข้า และนำผ่านอาวุธ มีดังนี้- มติเรื่องร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักรไปยังกลุ่มตอลิบาน (Taliban) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่องกำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์ เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักรไปยังกลุ่มตอลิบาน (Taliban) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติ

ที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างประกาศ

1. กำหนดนิยามคำว่า “กลุ่มตอลิบาน (Taliban)”“อาวุธและยุทโธปกรณ์” และ “คณะกรรมการ”

2. ให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก ห้ามนำเข้า และห้ามนำผ่านราชอาณาจักรไปยังกลุ่มตอลิบาน (Taliban) ตามรายชื่อที่คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นตามข้อมติคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติกำหนด และในกรณีที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติม หรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อดังกล่าว ให้อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศประกาศรายชื่อดังกล่าวให้ทราบเป็นการทั่วไป

มตเรื่อง ร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก และห้ามนำผ่านไปยังสาธารณรัฐแอฟริกากลาง พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าที่ต้องห้ามส่งออก และห้ามนำผ่านไปยังสาธารณรัฐแอฟริกากลาง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เสนอ และให้ส่งคณะกรรมการตรวจสอบร่างกฎหมายและร่างอนุบัญญัติที่เสนอคณะรัฐมนตรีตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

สาระสำคัญของร่างประกาศฯ เป็นการกำหนดให้อาวุธและยุทโธปกรณ์เป็นสินค้าต้องห้ามส่งออกและห้ามนำผ่านไปยังสาธารณรัฐแอฟริกากลาง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อมติที่ 2262 (ค.ศ. 2016) ว่าด้วย การต่ออายุมาตรการค่ำบาตรทางอาวุธ การห้ามเดินทาง และการอายัดทรัพย์สินต่อสาธารณรัฐแอฟริกากลาง รวมทั้งการเพิ่มเติมข้อยกเว้น ข้อ 1 (ซี) อีกหนึ่งข้อ โดยให้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2560

ขยายความ สุจริตชนทั่วไปและองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ควรมีความระมัดระวังในเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ตนเองตกเป็นเหยื่อของกลุ่มผู้ก่อการร้าย  รวมทั้งกลุ่มที่แพร่ขยายอาวุธที่มอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง   อีกทั้งเรื่องเกี่ยวกับการส่งออก นำเข้า และส่งผ่านอาวุธ  เรื่องเช่นนี้นอกจากมีความสุจริตเป็นที่ตั้งแล้ว ควรติดตามกฎหมายข้อบังคับต่าง ๆ ด้วย และเพิ่มเติมความรู้ให้เท่าทันการถูก”ยืมมือ”  ในทุกกรณี

#

บัญชีสยาม