ติดตามกฎกระทรวงเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว

เรื่องการทำงานของคนต่างด้าวหรือการจ้างคนต่างด้าวมาทำงานนั้น “ไม่ง่าย”  เพราะมีหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมาก  แต่ก็ใช่จะยากเกินไป  ขอเพียงให้ศึกษาเข้าใจระเบียบข้อปฏิบัติต่าง ๆ ตามกฎหมาย และต้องติดตามอย่างสม่ำเสมอคือ ความเปลี่ยนแปลงด้านตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

กฎกระทรวงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำงานของคนต่างด้าว

มติคณะรัฐมนตรีวันที่  18 ตุลาคม  2559  เรื่อง ร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 รวม 3 ฉบับ ทั้งนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งออกตามความในพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 รวม 3 ฉบับ ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ ดังนี้

1. ร่างกฎกระทรวงยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน โดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้สัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ พ.ศ. ....

2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน โดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้สัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทย ตามกฏหมายว่าด้วยสัญชาติไทย ทำได้

3. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ทำได้ (ฉบับที่ ..)

และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี

1. ร่างกฎกระทรวง ยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าวสำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน โดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้สัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสจน์สัญชาติไทยตามกฏหมายว่าด้วยสัญชาติ พ.ศ. .... มีสาระสำคัญเป็นการยกเว้นค่าธรรมเนียมการทำงานของคนต่างด้าว สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานานโดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้สัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทยตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติ แต่ไม่รวมถึงค่าธรรมเนียมการยื่นคำขอ

2. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 สำหรับคนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน โดยได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ รวมถึงบุตรของคนต่างด้าวดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักรแต่ไม่ได้สัญชาติไทย และคนต่างด้าวซึ่งอยู่ระหว่างการพิสูจน์สัญชาติไทย ตามกฏหมายว่าด้วยสัญชาติไทย ทำได้ มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวดังกล่าว สามารถทำงานได้ทุกงานตามความรู้ความสามารถ

3. ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดประเภทงานให้คนต่างด้าวตามมาตรา 13 (2) แห่งพระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 ทำได้ (ฉบับที่ ..) มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดให้คนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ทำงานในตำแหน่ง "ผู้ประสานงานด้านภาษากัมพูชา ลาว เมียนมา" ได้ โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

3.1 ดำเนินการประกาศรับสมัครและว่าจ้างคนไทยเข้าทำงานก่อนโดยต้องประกาศรับสมัครอย่างน้อย 15 วัน

3.2 ในกรณีที่ไม่มีการว่าจ้างภายหลังจากที่ได้ประกาศ รับสมัครคนไทยตาม 3.1 ให้สามารถจ้างคนต่างด้าวเป็นผู้ประสานงานด้านภาษาได้ในสัดส่วนการจ้างคนต่างด้าว 100 คน ต่อการจ้างคนต่างด้าวทำงานเป็นผู้ประสานงานด้านภาษาได้ 1 คน เว้นแต่เป็นหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ มูลนิธิ หรือองค์กรพัฒนาเอกชน ให้จ้างได้ตามความจำเป็นและเหมาะสม

3.3 ดำเนินการให้คนต่างด้าวที่จะว่าจ้างผ่านการฝึกอบรมจากหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง

ขยายความ รายละเอียดที่กำหนดระยะเวลา  “คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน”  นั้นเป็นเวลากี่ปี ปกติทำงานได้ระยะเวลา2 ปีและไม่เกิน  4 ปี   (พระราชบัญญัติการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. ๒๕๕๑มาตรา  23   วรรคสาม “การต่ออายุใบอนุญาตให้ต่อได้ครั้งละไม่เกินสองปี โดยให้กระทำเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันการตั้งถิ่นฐานของคนต่างด้าวในราชอาณาจักร และกรณีคนต่างด้าวตามมาตรา 13 (1) และ (2) ระยะเวลาที่ได้รับอนุญาตให้ทำงานติดต่อกันรวมแล้วต้องไม่เกินสี่ปี เว้นแต่คณะรัฐมนตรีจะกำหนดเป็นอย่างอื่นเป็นคราว ๆ ไป”  ดังนั้น  “คนต่างด้าวซึ่งเข้ามาอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน”  ในกฎกระทรวงนี้จึงต้องดูรายละเอียดว่าเป็นอย่างไร

#

บัญชีสยาม