โครงการก่อสร้างถนนเลียบทางรถไฟสายใต้//การแก้ปัญหาคอขวดถนนราชดำเนินกลาง-นอก

โครงการก่อสร้างถนนเลียบรถไฟสายใต้เป็นการใช้ที่ข้างเส้นทางรถไฟให้เกิดประโยชน์ตามสมควร

จุดเริ่มต้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้ช่วงเวลาเสด็จฯ ไปโรงพยาบาลศิริราชเพียงไม่นานได้ทรงงานและทรงศึกษาสภาพพื้นที่บริเวณโดยรอบอย่างละเอียดจึงมีพระราชดำริว่า สามารถขยายแนวถนนเลียบทางรถไฟสายธนบุรี จากช่วงปลายถนนอิสรภาพ ถึงถนนจรัญสนิทวงศ์  สภาพเดิมของถนนจากปลายถนนอิสรภาพเข้าไปประมาณ 230 เมตร เป็นถนนคอนกรีต ส่วนที่เหลืออีกประมาณ 380 เมตรเป็นที่ลุ่ม มีบ้านเรือน เพิงพักอาศัย และมีทางเดินตามแนวทางรถไฟ จนถึงถนนจรัญสนิทวงศ์

เมื่อกรุงเทพมหานครรับสนองแนวพระราชดำริแล้ว ได้ขออนุญาตใช้ที่ดินริมทางรถไฟสายธนบุรีในพื้นที่เขตบางกอกน้อย ช่วงปลายถนนอิสรภาพถึงถนนจรัญสนิทวงศ์จากการทางรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อก่อสร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก 2 ช่องจราจร มีระยะทาง 610 เมตร มีเขตทางกว้าง 10  เมตร เริ่มดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 19 ตุลาคม 2536  งบประมาณดำเนินการ 16.5 ล้านบาท และได้เปิดการจราจรอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2537  โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานนามถนนสายนี้ว่า “ถนนสุทธาวาส” ตามชื่อวัดที่ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าว

ถนนสุทธาวาส (Thanon Sutthawat) เป็นถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ (สายธนบุรี) ในเขตทางของการรถไฟแห่งประเทศไทย ใกล้สถานีรถไฟธนบุรี พื้นที่แขวงบ้านช่างหล่อ เขตบางกอกน้อย ฝั่งธนบุรี กรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากปลายถนนอิสรภาพ จุดบรรจบถนนรถไฟ เลียบทางรถไฟสายใต้ด้านขวาทาง ผ่านวัดสุทธาวาส มาสิ้นสุดที่ถนนจรัญสนิทวงศ์ บริเวณป้ายหยุดรถไฟจรัญสนิทวงศ์ ตรงข้ามกับจุดเริ่มต้นของถนนเลียบทางรถไฟสายใต้ใกล้แยกบางขุนนนท์

ถนนสายนี้เป็นหนึ่งในโครงการในพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งช่วยลดปริมาณการจราจรบนถนนจรัญสนิทวงศ์บริเวณสามแยกไฟฉาย และเป็นเส้นทางลัดเชื่อมต่อไปยังย่านสำคัญ ได้แก่สถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช และตลาดพรานนก

ถนนสุทธาวาส ได้ช่วยบรรเทาปริมาณรถยนต์ที่ผ่านถนนจรัญสนิทวงศ์ บรรจบกับถนนพรานนก(สามแยกไฟฉาย) ให้น้อยลง ซึ่งทำให้การจราจรที่ถนนจรัญสนิทวงศ์คล่องตัวขึ้น นอกจากนี้ ถนนสายนี้ยังเป็นเส้นทางอีกเส้นทางหนึ่งที่จะไปสู่จุดชุมชนในย่านสำคัญๆ เช่น สถานีรถไฟสายธนบุรีโรงพยาบาลศิริราช ตลาดพรานนกได้อีกด้วย

การแก้ปัญหาคอขวดถนนราชดำเนินกลาง

สภาพเศรษฐกิจไทยช่วงปี 2531 -2538  ขยายตัวอย่างต่อเนื่องประชาชนมีสถานะทางการเงิน และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงมีการใช้เงินซื้อสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงรถยนต์ ประกอบกับกรุงเทพฯ ในช่วงเวลานั้นยังไม่มีระบบขนส่งมวลชนที่สะดวก และมีประสิทธิภาพเพียงพอเป็นทางเลือกให้ใช้ ประชาชนที่มีรายได้ในระดับดี จึงนิยมใช้รถยนต์กันต่อไป ข้อมูลในช่วงเวลานั้นแสดงให้เห็นจำนวนรถยนต์จดทะเบียนในกรุงเทพฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 1,635,169 คัน นปี 2531  เป็น 3,540,082  คัน ในปี 2538

ปัญหาจราจรได้บั่นทอนคุณภาพชีวิตของชาวกรุงเทพฯ ทั้งสุขภาพกาย และสุขภาพจิต มลพิษ จากท่อไอเสีย ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และยังก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการการจัดระบบการจราจรทางบก (สจร.) ประเมินว่า ในปี 2538  มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจ จากปัญหาจราจรสูงถึงประมาณ 91,000  ล้านบาท แบ่งออกเป็นความสูญเปล่าทางเชื้อเพลิง 13,000  ล้านบาท การซ่อมบำรุงและรักษาเครื่องยนต์ 22,000 ล้านบาท และความสูญเปล่าของเวลา 56,000 ล้านบาท

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงใส่พระราชหฤทัยในการแก้ไขปัญหาจราจร เพื่อผ่อนคลายความทุกข์ร้อนของชาวกรุงเทพฯ โดยทรงรับข้อมูลข่าวสารด้านการจราจรของกรุงเทพฯ จากหลายแห่ง เช่น หนังสือพิมพ์ ข่าวสารจากวิทยุ โทรทัศน์ หรือรูปถ่าย ทางอากาศ อีกทั้งฟังการรายงานสถานการณ์จากหน่วยงานต่าง ๆ และบ่อยครั้งที่พระองค์ได้ประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินเป็นการส่วนพระองค์ ทอดพระเนตรการจราจรในยามดึก รวมทั้งเสด็จพระราชดำเนินโดยทางเฮลิคอปเตอร์ ทอดพระเนตรเส้นทางการจราจร และการจัดระเบียบเส้นทางจากมุมสูง ซึ่งจะช่วยให้พระองค์ มองปัญหาในภาพรวมได้อย่างชัดเจน จากนั้นก็จะทรงมีพระบรมราชวินิจฉัย เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาโดยทรงทดลองความเป็นไปได้ของแนวทางต่าง ๆ ในทุกแง่ทุกมุมที่อาจเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งหาข้อมูลเพิ่มเติมมาประกอบ พระบรมราชวินิจฉัย หรือแม้กระทั่งการเขียนแบบร่างด้วยพระองค์เอง แล้วจึงพระราชทานแนวพระราชดำริแก่กรุงเทพมหานคร เพื่อนำไปดำเนินการในรูปโครงการต่าง ๆ ต่อไป

กรุงเทพมหานคร ได้มีโอกาสน้อมรับโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริมาดำเนินการหลายโครงการ ทั้งโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น และโครงการที่เป็นการแก้ปัญหาเป็นลำดับเป็นขั้นเป็นตอน โครงการที่เป็นการพัฒนาเส้นทางจราจรให้เป็นโครงข่ายต่อเนื่อง และสอดคล้องกัน ทั้งถนนสายหลักสายรองในเมือง ทางด่วน ไปจนถึงถนนอ้อมเมือง หรือถนนวงแหวนรอบนอก ซึ่งเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาจราจรกรุงเทพฯ ทั้งระบบและที่สำคัญโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทุกโครงการเป็นการแก้ปัญหาตามสภาพความเป็นจริง

โครงการหนึ่งคือ โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์  ทั้งนี้ความประสานกลมกลืนระหว่าง "การพัฒนา" และ "การอนุรักษ์" คือปรัชญาสำคัญประการหนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสอน และย้ำเตือนกรุงเทพมหานคร ให้ใช้เป็นแนวทาง ในการปฏิบัติภารกิจเสมอมา

โครงการขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมัฆวานรังสรรค์ สะท้อนแนวปรัชญาข้างต้นนี้ได้อย่างชัดเจน สะพานผ่านฟ้าลีลาศเป็นสะพานข้ามคลองบางลำพู ใกล้ป้อมมหากาฬ และเป็นจุดเชื่อมระหว่างถนนราชดำเนินกลางและราชดำเนินนอก ส่วนสะพานมัฆวานรังสรรค์เป็นสะพานที่สร้างข้าม คลองผดุงกรุงเกษมซึ่งต่างก็เป็นจุดที่การจราจรมีปัญหาอยู่เป็นนิจ

ยิ่งภายหลังจากที่ได้มีการปรับแก้ระบบจารจร และเพิ่มเติมผิวจราจรบริเวณต้นถนนราชดำเนินกลาง ซึ่งทำให้การเดินทางจากสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า เข้าสู่ถนนราชดำเนินคล่องตัวขึ้นด้วยแล้ว สภาพปัญหา "คอขวด" ยิ่งรุนแรงขึ้น เพราะรถที่แล่นได้อย่างคล่องตัวบนถนนราชดำเนินซึ่งก็มีถึง 20 ช่องจราจรเมื่อมาถึงบริเวณนี้ก็จะพบปัญหา เส้นทางที่บีบแคบลงมาก กล่าวคือ เหลือเพียง 9 ช่องจราจรบนสะพานผ่านฟ้าลีลาศ และ 2 ช่องจารจรบนสะพานมัฆวานรังสรรค์

การแก้ปัญหาให้ได้ผล จึงต้องมีการเพิ่มพื้นผิวจราจรบิรเวณทั้งสองสะพานนี้ ให้สอดคล้องกับถนนราชดำเนิน อย่างไรก็ตามความเป็น "พิเศษ" ของโครงการทั้งสองนี้ก็คือ ต่างก็เป็นสะพานที่อายุยาวนานนับร้อยปี สร้างขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเป็นงานศิลปกรรมอันงดงามทรงคุณค่า

สะพานทั้งสองแห่งคือมรดกที่มีคุณค่าทางศิลปกรรม และประวัติศาตร์ของชาวไทย ที่กรมศิลปากรได้ ขึ้นทะเบียนเป็น "โบราณสถานของชาติ" กรุงเทพมหานครจึงต้องพิจารณาวิธีการในการแก้ไขปัญหา อย่างละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ ตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ที่ได้ทรงกำชับให้ ระมัดระวังในเรื่องการอนุรักษ์รูปแบบประติมากรรมให้เหมือนเดิม ด้วยมิใช่มุ่งแต่ขยายผิวการจราจรเพียงอย่างเดียว ท้ายที่สุดกรุงเทพมหานครก็ได้รับพระราชทานแนวคิดในการแก้ไข และแบบแปลนที่จะปรับปรุงและขยายสะพานผ่านฟ้าลีลาศ โดยให้ขยายผิวถนนออกไปทั้ง 2 ช่องจราจรมีความยาวประมาณ 25 เมตร

ส่วนสะพานมัฆวานรังสรรค์ กรุงเทพมหานครได้ประสานงานกับกรมศิลปากร เพื่อพิจารณารูปแบบการก่อสร้าง ที่จะไม่กระทบศิลปกรรมเดิม โดยพิจารณาไม่ขยายสะพานแต่ให้ก่อสร้างสะพาน คู่ขนานเพิ่มอีก 2 สะพาน มีความกว้างสะพานละ 15 เมตร ผิวจราจรกว้าง 10 เมตร และมีทางเท้า 2 ข้าง ข้างละ 2.50 เมตร มี 3  ช่องจราจร และยาว 22 เมตร ซึ่งมีความสูงน้อยกว่าสะพานมัฆวานรังสรรค์และมีรูปแบบศิลปกรรมที่ กลมกลืนกับสะพานเดิม ด้วยวิธีนี้ กรุงเทพมหานคร จึงสามารถพิทักษ์รักษาศิลปกรรมอัมทรงคุณค่าของสะพานทั้งสองไว้ได้อย่างสมบูรณ์

#