ใครได้ใครเสีย “ภาษีลาภลอย” -ผู้ซื้อจ่ายเสมอ
  • 13 กรกฎาคม 2018 at 08:10
  • 1095
  • 0

ความเหมาะสมจากการ “ได้และเสีย” จากความเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิและประโยชน์พื้นฐานที่เกิดขึ้นจากการถือครองอสังหาริมทรัพย์-ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง  อาจมีความเปลี่ยนแปลงอย่างสำคัญเกิดขึ้น  ทั้งนี้มาจากการ “ตั้งครรภ์” ของ “กฎหมายภาษีลาภลอย”  (นอกเหนือจากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ “ตั้งครรภ์และแท้ง” มาหลายครั้ง และครั้งล่าสุดอยู่ระหว่างกระบวนการออกกฎหมาย)

จุดเริ่มเก็บ “ภาษีลาภลอย” มูลค่าที่ดินห้องชุดเกิน 50 ล้านบาท

สัปดาห์ที่สองของเดือนกรกฎาคม 2561 เรื่อง “ภาษีลาภลอย” ได้รับความสนใจอย่างมากอีกครั้ง กระแสข่าวมาแรงจนทำให้คนจำนวนหนึ่งเข้าใจไปว่า กฎหมายภาษีลาภลอยมีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งๆ ที่ตามขั้นตอนของกระบวนการออกกฎหมายนั้น กล่าวได้ว่าเริ่มต้นนับ 1  หรือ “ตั้งครรภ์” แล้ว โดยถือเอาวันที่ผ่านมติคณะรัฐมนตรีเป็นปฐมฤกษ์จากยังมีระยะเวลาเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา  อาจมีการส่งกลับมาแก้ไขหรือไม่มี สุดท้ายก่อนเป็นพระราชบัญญัติต้องผ่านการพิจารณาเห็นชอบทั้งสามวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ  “คลอดกฎหมาย” ตามสำนวนไทยที่เข้าใจกันได้ทั่วไป

อย่างไรก็ตามสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้จึงน่าสนใจ เพราะ “ลาภลอย”  อาจเป็น “ทุกขลาภ”  ได้ ถ้าไม่เตรียมตัวให้พร้อม

เนื้อหาของ “กฎหมายลาภลอย” เริ่มคลำทางเอาจาก มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  10 กรกฎาคม  2561 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค  ขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลาและกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

3. ให้กระทรวงการคลังรับไปพิจารณาความเหมาะสมเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง แล้วแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาทราบต่อไป

4. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

เป็นการกำหนดให้มีกฎหมายว่าด้วยภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ โดยกำหนดให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของที่ดิน หรือครอบครองที่ดินอันเป็นทรัพย์สินของรัฐหรือเป็นเจ้าของห้องชุดมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ และผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นเจ้าของโครงการอาคารชุดที่ยังไม่ได้จำหน่ายซึ่งอยู่รอบพื้นที่ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ เป็นผู้เสียภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของที่ดินหรือห้องชุด

ตรงนี้เป็นส่วนของเอกสารสรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 10 กรกฎาคม 2561 ดูเพิ่มเติม

http://www.thaigov.go.th/news/contents/details/13737

เก็บภาษีร้อยละ 5  จากส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น

รายละเอียดเพิ่มเติมของ “ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ.”   มีดังนี้

จากการแถลงข่าว ในวันเดียวกัน(10 กรกฎาคม 2561)   นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ โฆษกประจำตัวรองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบหลักการร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ… (ภาษีลาภลอย) ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เนื่องจากที่ผ่านมามีการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ส่งผลให้ราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีราคาสูง ทั้งที่เจ้าของไม่ได้ดำเนินการอะไรเพื่อทำให้ราคาสูงขึ้น ผู้ที่มีที่ดินที่โครงการรถไฟฟ้าผ่าน ได้รับประโยชน์จากการไม่ลงทุน แต่รัฐไม่ได้รับประโยชน์อะไรจากการเพิ่มขึ้นของราคาที่ดิน

กฎหมายฉบับนี้กำหนดเพดานการจัดเก็บไม่เกิน 5% ของฐานภาษี โดยคิดจากส่วนต่างของราคาประเมินที่ดินของกรมธนารักษ์ นับจากวันที่รัฐเริ่มก่อสร้าง หรือวันที่พ.ร.บ. มีผลบังคับใช้ ส่วนขั้นตอนของกฎหมายหลังครม. ให้ความเห็นชอบจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจรายละเอียด และส่งเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป โดยยังไม่สามารถระบุได้ว่ากฎหมายจะออกมาบังคับใช้ได้เมื่อใด

“ร่างพ.ร.บ.นี้ ต้องการสร้างความเป็นธรรมระหว่างผู้ได้รับประโยชน์กับรัฐที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และรายได้จากภาษี  ตรงนี้ทำให้รัฐสามารถนำไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มเติมได้ ภาษีที่จะดำเนินการเก็บจากลาภลอยที่เกิดขึ้นนี้จำนวนไม่มาก เชื่อว่าไม่เป็นภาระกับผู้ที่ต้องเสียภาษีแต่อย่างใด โดยจะเก็บภาษีจาก ที่ดิน ห้องชุด อาคารพาณิชย์ มูลค่าเกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ที่ดำเนินการเชิงพาณิชย์ ยกเว้นทำการเกษตรและอยู่อาศัย ไม่ต้องเสียภาษีนี้”

นายณัฐพร กล่าวว่า สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ. โครงการที่อยู่ในข่ายจัดเก็บภาษี อาทิ รถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รถไฟทางคู่ สนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน และโครงการที่กำหนดในกฎกระทรวง  ผู้ที่ต้องเสียภาษีลาภลอยเป็นนิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดาที่ครอบครองที่ดิน โครงการที่ต้องจ่ายภาษีต้องมีทำเลที่ระยะทางไม่เกิน 5 กิโลเมตร จากโครงการตามพ.ร.บ.ที่กำหนด หากเป็นช่วงที่โครงการยังไม่เสร็จ กรมที่ดินเป็นผู้เก็บภาษี เมื่อโครงการเสร็จแล้วองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เป็นผู้ทำหน้าที่เก็บแล้วส่งรายได้ให้กับแผ่นดิน

ข้อมูลเพิ่มเติมจากกระทรวงการคลังคือ นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลัง (สศค.) และรองโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คาดว่าพ.ร.บ.ภาษีลาภลอย จะมีผลบังคับใช้ปี 2562

“ยืนยันว่าการทำกฎหมายฉบับนี้จะไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ เพราะระหว่างที่มีโครงสร้างพื้นฐานตัดผ่าน หากไม่มีการขายเปลี่ยนมือก็ไม่เสียภาษีส่วนนี้ ขณะเดียวกันเมื่อโครงการสร้างเสร็จแล้ว ผู้เสียภาษีต้องเป็นผู้ที่มีที่ดิน หรือคอนโดฯ เชิงพาณิชย์เกิน 50 ล้านบาทเท่านั้น หากมูลค่าไม่ถึง หรือมีมูลค่าไม่เพิ่มขึ้นก็ไม่เสียภาษี”

สำหรับการคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ ในกรณีห้องชุดไม่สามารถคำนวณส่วนต่างของมูลค่าห้องชุดได้ เนื่องจากไม่มีราคาประเมินห้องชุดให้คำนวณส่วนต่างดังกล่าวเท่ากับ 20% ของมูลค่าห้องชุด

 

ผู้เสีย “ภาษีลาภลอย” แบ่งเป็น 4 กลุ่ม

จากข้อมูลผ่านการแถลงข่าว การสัมภาษณ์ และการทำงานสืบเสาะของสื่อมวลชน ประมวลสาระสำคัญของ กฎหมายภาษีลาภลอยได้ดังนี้  (เมื่อมีขั้นตอนการรับฟังประชาพิจารณ์ ร่าง “ร่างพระราชบัญญัติภาษีการได้รับประโยชน์จากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ พ.ศ.”    ฉบับเต็มควรเผยแพร่สู่สาธารณชนทั่วไปให้เข้าถึงง่าย)  ในช่วงเวลานี้ข้อมูลต่างๆ  ที่ออกมาเป็นการ “อุ่นเครื่อง-เตรียมตัวล่วงหน้า”  ทำความเข้าใจได้ง่ายขึ้น

สาระสำคัญในร่างพระราชบัญญัติ ฯ ฉบับนี้ กำหนดให้ผู้เสียภาษีมีหน้าที่ต้องเสียภาษีจากมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของที่ดินหรือห้องชุด ตามที่กำหนดในพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีดังต่อไปนี้

ประการแรกหนึ่ง.เมื่อมีการซื้อขายที่ดินและห้องชุดในระหว่างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐถึงวันที่โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ “ให้ผู้ขายที่ดินหรือห้องชุดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี” ทั้งนี้ ให้กรมที่ดินมีอำนาจจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ประการที่สอง.เมื่อโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ภายใน 30 วัน นับจากวันที่โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ

กรณีที่ดินหรือห้องชุดที่มีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท และใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดินหรือเจ้าของห้องชุดดังกล่าวเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี

กรณีห้องชุดที่เจ้าของโครงการอาคารชุดยังไม่ได้จำหน่ายให้เจ้าของโครงการอาคารชุดที่เป็นเจ้าของห้องชุดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ทั้งนี้ ให้อปท. ที่มีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐตั้งอยู่มีอำนาจจัดเก็บภาษีดังกล่าว

ประการที่สาม ร่างพ.ร.บ.ฯ ฉบับนี้กำหนดให้ฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี แบ่งเป็น 4 กลุ่มดังนี้

ก่อนภาษีลาภลอยบังคับใช้

กรณีซื้อ-ขายก่อนโครงการด้านคมนาคมแล้วเสร็จ

กลุ่มที่ 1 กรณีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐเริ่มดำเนินการก่อนร่างพระราชบัญญัตินี้มีผลบังคับใช้ แต่มีการซื้อขายก่อนโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐแล้วเสร็จ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุด ดังนี้

1.การซื้อขายที่ดินหรือห้องชุดที่ผู้ขายได้มาก่อนร่างพระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในร่างพระราชบัญญัติฯ มีผลบังคับใช้กับมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่ทำการซื้อขาย

2.การซื้อขายที่ดินหรือห้องชุดที่ผู้ขายได้มาหลังจากพระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุด ณ วันที่ได้มากับวันที่ทำการซื้อขาย

ก่อนภาษีลาภลอยบังคับใช้

กรณีไม่มีการซื้อ-ขายหลังโครงการด้านคมนาคมแล้วเสร็จ-

กลุ่มที่ 2 กรณีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐเริ่มดำเนินการก่อนพระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ แต่มีหรือไม่มีการซื้อขายหลังโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐแล้วเสร็จ

ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดโดยให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่พระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ หรือ วันที่เจ้าของได้มา กับมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ

หลัง “ภาษีลาภลอย” บังคับใช้

กรณีซื้อ-ขายก่อนโครงการด้านคมนาคมแล้วเสร็จ

กลุ่มที่ 3 กรณีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ เริ่มดำเนินการหลังพระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ แต่มีการซื้อขายที่ดินหรือห้องชุดก่อนโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐแล้วเสร็จ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินและห้องชุด ดังนี้

1.การซื้อขายที่ดินหรือห้องชุดที่ผู้ขายได้มาก่อนวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ กับมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่ทำการซื้อขาย

2.การซื้อขายที่ดินหรือห้องชุดที่ผู้ขายได้มาระหว่างวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุด ณ วันที่ได้มากับวันที่ทำการซื้อขาย

หลัง “ภาษีลาภลอย” บังคับใช้

กรณีไม่มีการซื้อ-ขายหลังโครงการด้านคมนาคมแล้วเสร็จ

กลุ่มที่ 4 กรณีโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐเริ่มดำเนินการหลังพระราชบัญญัติ ฯ มีผลบังคับใช้ แต่มีหรือไม่มีการซื้อขายหลังโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐแล้วเสร็จ ให้คำนวณส่วนต่างของมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่รัฐเริ่มดำเนินโครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐ หรือ วันที่เจ้าของได้มา กับมูลค่าที่ดินหรือห้องชุดในวันที่โครงการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของรัฐดำเนินการแล้วเสร็จ

ทั้งนี้ การคำนวณมูลค่าที่ดินและห้องชุด ให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินและราคาประเมินทุนทรัพย์ห้องชุดเพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์กำหนดเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ

กำหนดเพดานไม่เกินร้อยละ 5 ของส่วนต่างราคาที่เพิ่มขึ้น

ประการที่ 4 การคำนวณภาษีให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือห้องชุดที่คำนวณได้คูณด้วยอัตราภาษี

ประการที่ 5 กำหนดให้ในการจัดเก็บภาษีต้องไม่เกินร้อยละ 5 และพื้นที่ที่ให้มีการจัดเก็บภาษี ให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการพิจารณากำหนดพื้นที่จัดเก็บภาษีประกาศกำหนด

ประการที่ 6 กำหนดให้การจัดเก็บภาษีในอัตราไม่เกินร้อยละ 5 ทั้งนี้ อัตราภาษีที่อปท. หรือ กรมที่ดินใช้จัดเก็บให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา

ประการที่ 7 กำหนดให้เงินภาษีที่จัดเก็บตามร่างพระราชบัญญัตินี้ ให้นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ประการที่ 8 กำหนดให้กรณีผู้เสียภาษีมิได้ชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือน เมื่อพ้น 90 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าวแล้ว

ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายอันเนื่องมาจากการยึด อายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้นได้

แต่ห้ามมิให้ยึดหรืออายัดทรัพย์สินของผู้เสียภาษีเกินกว่าความจำเป็นที่พอจะชำระภาษีค้างชำระ เบี้ยปรับ เงินเพิ่มและค่าใช้จ่ายดังกล่าว

ประการที่ 9 กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยรักษาการตามกฎหมายนี้

ระยะทางคือความสะดวกและ “ภาษีลาภลอย”

นอกจากระยะเวลาที่จับคู่กันระหว่างก่อนหลังกฎหมายบังคับใช้ และก่อนหลังโครงการคมนาคมของรัฐสร้างแล้วเสร็จแล้ว  “ระยะทาง” ของที่ตั้งอสังหาริมทรัพย์กับประเภทโครงการพัฒนาของรัฐที่อยู่ในข่ายต้องจัดเก็บภาษีมีความสำคัญ ดังนี้

1.โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง รถไฟรางคู่ และรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบสถานี

2.โครงการท่าเรือ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตที่ดินของท่าเรือ

3.ทางด่วนพิเศษ พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 2.5 กิโลเมตร รอบทางขึ้น-ลง

4.สนามบิน พื้นที่จัดเก็บภาษีในรัศมี 5 กิโลเมตร จากแนวเขตห้ามก่อสร้างของสนามบิน

ตรงนี้มีรายละเอียดที่ต้องติดตามสภาพรูปธรรมของโครงการพัฒนาทั้ง 4 ประเภทดังกล่าว

ทั้งหมดดังกล่าว แม้ยังไม่ได้เป็น “ทางการ”  แต่ถือได้ว่าเป็นข้อมูลที่ควรใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด

 

ภาษีและต้นทุน-ตกบนบ่าของผู้ซื้อเสมอ

หลักธรรมชาติของภาษีและต้นทุน ไม่ว่าเป็นประเภทไหน จัดเก็บอย่างไร  ในที่สุดแล้ว “ผู้ซื้อคนสุดท้าย” หรือ เจ้าของคนสุดท้าย ย่อมเป็นผู้จ่ายเสมอ  ดังนั้นต่อไปเวลาผู้ต้องการอสังหาริมทรัพย์ที่ระบุระห่างจากโครงการสาธารณูปโภคต่างๆ  ของรัฐ ต้องคำนึงว่า  ขณะที่ได้รับความสะดวก อาจต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น  (แม้ว่าเป็นการเสียภาษีส่วนที่เพิ่มขึ้นแค่ครั้งเดียว)

ส่วนแง่มุมของนักกฎหมายภาษีที่มีข้อสังเกตว่า การจัดเก็บภาษีลาภลอยอาจมีความซ้ำซ้อนกับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่มีกำหนดเริ่มใช้ในปี 2562 นั้น ไม่ว่าซ้ำซ้อนหรือไม่ซ้ำซ้อน กฎธรรมชาติของเรื่องภาษีและต้นทุนก็ทำงานเป็นปกติคือ ผู้ซื้อและเจ้าของคนสุดท้ายต้องจ่ายเสมอ แต่จะสรุปว่า “แพงขึ้น”  หรือคุ้มค่า ก็แล้วแต่ปัจจัยสนับสนุนต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากซื้อขายครอบครองเป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์แล้ว

#