เพิ่มศักยภาพการคมนาคมขนส่งให้อีอีซี. ยังมีงานขนาดเหมาะสมกับบริษัทรับเหมาขนาดกลาง
  • 20 กรกฎาคม 2018 at 10:56
  • 1183
  • 0

พลังของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่เริ่มต้นเมื่อ พ.ศ. 2524 หลังจากโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นธงนำ อันมีพื้นฐานจากโรงงานแยกก๊าซธรรมชาติ จากนั้นเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นกลางน้ำและปลายน้ำอีกมากมาย ทั้งอุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมผลิตเครื่องมือแพทย์ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ จนถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น พลังจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง  ผลักดันให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมของภาคเอกชนตามมาอีกจำนวนหนึ่ง

สร้างขุมพลังทางเศรษฐกิจก้าวสู่ประเทศมีรายได้ระดับสูง

พลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจยังดำรงอยู่ถึง พ.ศ. 2561  แต่ไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้ยกระดับไปอีกขั้นหนึ่ง  ในระดับที่ก้าวพ้นจากประเทศมีระดับรายได้ปานกลาง Middle Income  ที่วัดจากรายได้ประชาชาติต่อจำนวนประชากร เป็นรายได้ต่อคนต่อปี

แม้ว่าประเทศไทยเริ่มเข้าสู่เกณฑ์ประเทศที่มีรายได้ปานกลางตั้งแต่ปี 2519(หลังจากปลดล็อดทางการเมืองและเศรษฐกิจจากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516) และเริ่มก้าวสู่ประเทศมีรายปานกลางระดับสูงหลังจากประสบความสำเร็จในโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก ข้อมูลปี 2559 ประเทศไทยมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 5,640 ดอลลาร์ สรอ. ต่อปี ขณะที่เกณฑ์กลุ่มประเทศรายได้สูงต้องมีรายได้ต่อหัวสูงกว่า 12,235 ดอลลาร์ สรอ.ต่อปี

หากไม่มีโครงการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศไทยมีโอกาสติดอยู่ในประเทศมีระดับรายได้ปานกลางไปอีกนาน แม้อยู๋ในระดับนี้มาแล้วกว่า 40 ปีก็ตาม  การเพิ่มระดับรายได้ต่อหัวต่อปีขึ้นมากกว่าเท่าตัวจาก 5,640 ดอลลาร์ สรอ. เป็น 12,235  ดอลลาร์ สรอ. นั้น มิใช่เรื่องได้มาหากพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างค่อยเป็นค่อยไป  หากจำเป็นต้องก้าวกระโดดครั้งใหญ่อีกครั้ง

ความสำเร็จจากโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก เป็นทั้งแบบอย่าง และจุดเชื่อมต่อขยายผลเชิงพื้นที่  ดังนั้นจึงเกิดมีโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อังกฤษ: Eastern Economic Corridor) หรือ EEC เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมติคณะรัฐมนตรีในพ.ศ. 2558  และเป็นโครงการสำคัญตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 จุดหลักคือการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเป็นพื้นที่รวมสามจังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา  ชลบุรี และระยอง

เพิ่มความพร้อมให้ความพร้อม

ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ใช้จุดแข็งให้เป็นประโยชน์เป็นแนวทางสำคัญอย่างหนึ่งในการก้าวไปสู่ความสำเร็จไม่ว่าใหญ่ระดับประเทศ ย่อมลงมาระดับกระทรวง ใหญ่ระดับบรรษัทข้ามชาติ  เล็กลงมาระดับธุรกิจในประเทศ หรือยิบย่อยเพียงหน่วยงานเล็กๆ  หน่วยหนึ่ง

การเลือกพัฒนาเชิงพื้นที่ อีอีซี.ที่ขยายผลเชิงพื้นที่ครอบคลุม 3 จังหวัดดังกล่าว เป็นการใช้จุดแข็งให้เกิดประโยชน์  แต่เมื่อต้องการพลังทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น ก็ต้องมีเส้นทางเชื่อมโยงทั้งทางกายภาพ ทางกฎหมาย ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่างๆ ที่กว้างขวางมากกว่าเดิม

เส้นทางที่กว้างขวางเหล่านี้บุกเบิกเปิดทางไว้ด้วยกระบวนทางกฎหมายโดยการมีกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ

นั่นคือ พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ.2561 ที่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 34 ก ราชกิจจานุเบกษา วันที่ 14 พฤษภาคม 2561  โดยให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มีบทบัญญัติทั้งสิ้น 73 มาตรา

เจตนารมณ์และวัตถุประสงค์ของพระราชบัญญัติฉบับนี้ดูได้จากเหตุที่ระบุไว้ดังนี้

เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ โดยที่ภาคตะวันออกเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ ทางเศรษฐกิจสูง หากมีการพัฒนาพื้นที่อย่างต่อเนื่อง เป็นระบบและโดยสอดคล้องกับหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว จะทําให้การใช้ที่ดินในภาคตะวันออกเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ได้อย่างแท้จริง ทั้งยังจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การส่งเสริมให้มีการประกอบพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ทันสมัย สร้างนวัตกรรม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการเกษตรกรรมดั้งเดิม ตลอดจนวิถีชีวิตของชุมชนในพื้นที่ดังกล่าว

แต่กฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบันไม่เอื้อต่อการพัฒนาพื้นที่ตามแนวทางดังกล่าว ไม่มีการวางแผน การบริหารพื้นที่แบบองค์รวม การพัฒนาด้านต่าง ๆ จึงเป็นไปอย่างแยกส่วนและกระจัดกระจาย ผลของการขาดการบูรณาการดังกล่าว ทําให้ไม่สามารถพัฒนาพื้นที่ภาคตะวันออกได้อย่างเต็มศักยภาพ

ทั้งการจัดทําระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของหน่วยงานของรัฐต่าง ๆ ยังขาดความต่อเนื่องและ เชื่อมโยงกัน กรณีจึงสมควรกําหนดให้ภาคตะวันออกเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีการวางแผน การใช้ประโยชน์ที่ดินในพื้นที่ชัดเจนแน่นอนโดยเหมาะสมกับสภาพและศักยภาพของพื้นที่ สอดคล้องกับ หลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีการบูรณาการการจัดทําโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคให้ต่อเนื่องและ เชื่อมโยงกันทั้งในและนอกเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พัฒนาเมืองให้มีความทันสมัยระดับนานาชาติ ที่เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและการประกอบกิจการ มีการให้บริการภาครัฐแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร รวมทั้ง ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษเป็นการเฉพาะ จึงจําเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้

รายละเอียด ดูที่ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/034/1.PDF

ภาพรวมศักยภาพการคมนาคมขนส่ง

ปัจจุบัน การคมนาคมขนส่งทางบก ระบบโครงข่ายถนน ถนนสายหลักในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกมีประมาณ 12 สายทาง จัดแบ่งเป็น

กลุ่มที่หนึ่ง เส้นทางเชื่อมโยงสู่กรุงเทพ ฯ  ประกอบด้วย ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 หรือถนนสุขุมวิทเลียบชายฝั่งทะเลหรือชลบุรีสายเก่า เป็นทางหลวงแผ่นดินชนิด 2-4 ช่องจราจร เป็นสายหลักเชื่อมโยงภาคกลางกับภาคตะวันออก เริ่มจากบางนา ผ่านจังหวัดสมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี (สัตหีบ) ระยอง(แกลง) จันทบุรี ตราด ระยะทางประมาณ 385 กิโลเมตร

ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข ๗ เป็นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายแรกของประเทศไทย มีระยะทางยาวประมาณ 126 กิโลเมตร เริ่มต้นจากกรุงเทพมหานครที่ถนนศรีนครินทร์ไปทางทิศตะวันออกไปบรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 (เมืองพัทยา-ระยอง) ที่จังหวัดชลบุรี มีเส้นทางเข้าสู่สนามบินสุวรรณภูมิ ปัจจุบันก่อสร้างเพิ่มเติมไปจนถึงพัทยา  จนเป็นมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-พัทยา

ทางพิเศษบูรพาวิถี เป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจร มีแนวสายทางเริ่มที่ปลายทางพิเศษเฉลิมมหานคร เส้นทางมุ่งไปทางทิศตะวันออก ผ่านอำเภอบางปะกง แล้วไปสิ้นสุดที่อำเภอเมืองชลบุรี ระยะทางรวม 55 กิโลเมตร ทางพิเศษสายนี้มีทางแยกไปสู่ท่าอากาศสุวรรณภูมิได้

กลุ่มที่สอง เส้นทางการเชื่อมโยงระหว่างกลุ่มจังหวัด เส้นทางที่สำคัญคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 344 เป็นทางหลวงแผ่นดินชนิด 4 ช่องจราจรตลอดสายเชื่อมต่อเส้นทางสายหลักหมายเลข 3 และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 ที่จังหวัดชลบุรี ย่นระยะทางจากจังหวัดชลบุรีไปสู่จังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราดโดยไม่ผ่านตัวเมืองระยอง เริ่มต้นแยกจากทางหลวงหมายเลข 3 บริเวณอำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี และจุดเชื่อมต่อกับทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 ที่แยกภิบาลพัฒนา หรือแยกแกลง อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ระยะทางรวม 126 กิโลเมตร ปัจจุบันทางหลวงเส้นนี้เป็นถนนสายหลักสายหนึ่งที่ใช้เพื่อขนส่งผลผลิตทางการเกษตรทางภาคตะวันออก เนื่องจากอยู่นอกเขตนิคมอุตสาหกรรม

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 เป็นทางหลวงแผ่นดินชนิด 2-4 ช่องจราจร   เริ่มจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 (ฉะเชิงเทรา-กบินทร์บุรี) ที่อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ผ่านอำเภอแปลงยาว เข้าสู่จังหวัดชลบุรี ตั้งแต่อำเภอพนัสนิคม อำเภอบ่อทอง อำเภอ    บ้านบึง แยกเข้านิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง อำเภอศรีราชา และผ่านอำเภอบางละมุง ตัดกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 (แยกกระทิงลาย-ระยอง) สิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท)    ที่ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี รวมระยะทาง 134 กิโลเมตร

กลุ่มที่สาม เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือ และแหล่งอุตสาหกรรม เส้นทางที่สำคัญคือ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3241 เส้นทางสู่ท่าเรือศรีราชาฮาร์เบอร์ และท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือแหลมฉบังเชื่อมต่อทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 ผ่านอำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยองและเชื่อมต่อท่าเรือมาบตาพุดโดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3138 ท่าเรือมาบตาพุดผ่านอำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

กลุ่มที่สี่ เส้นทางการเชื่อมโยงชายแดนภาคตะวันออก ไปยังประเทศกัมพูชาและเวียดนาม และเชื่อมต่อไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนใต้  เช่น  ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 317 เชื่อมทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3 ที่สามแยกปากแซง อำเภอเมืองจันทบุรี ผ่านอำเภอมะขาม อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว ไปบรรจบทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 33 ที่อำเภอสระแก้ว ไปจุดผ่านแดนบ้านคลองลึก อำเภอ อรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว และเข้าสู่จังหวัดบันเตียเมียนเจย ประเทศกัมพูชา เส้นทางหมายเลข 5 และเชื่อมต่ออิสานใต้โดยทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 348 และทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 24 ในเส้นทางดังกล่าวช่วงจังหวัดจันทบุรี มีทางหลวงชนบทเชื่อมต่อจังหวัดพะตะบอง ประเทศกัมพูชา ทางจุดผ่านแดนบ้านผักกาด จุดผ่านแดนบ้านแหลม อำเภอโป่งน้ำร้อน จังหวัดจันทบุรี

ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318เชื่อมทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 3 ที่อำเภอเมืองตราด ไปจุดผ่านแดนบ้านหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด เข้าสู่จังหวัดเกาะกง ประเทศกัมพูชา เส้นทางหมายเลข R10 ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 318 เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางหมายเลข R10 หรือเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจชายฝั่งทะเลตอนใต้ (Southern Coastal Economic Corridor) เป็นเส้นทางคมนาคมที่สร้างขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ การค้าและการท่องเที่ยวตามแนวเส้นทางพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ภายใต้โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) อันเป็นความร่วมมือระหว่าง 6 ประเทศ คือ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนนาน) โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank : ADB) เป็นผู้ให้การสนับสนุนหลักด้านเงินทุน

กลุ่มที่ห้า เส้นทางเชื่อมโยงชายแดนฝั่งตะวันตก (เมียนม่าร์) เช่น ทางหลวงเอเชียสาย 123 (AH123) ถนนเครือข่ายทางหลวงสายเอเชีย ประเภทสายรอง เริ่มต้นจากพรมแดนพม่าที่ช่องทางผ่านแดน จังหวัดกาญจนบุรี ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3521 3445 3229 และ 323 (ถนนแสงชูโต) ถึงสามแยกกระจับ จังหวัดราชบุรี แยกซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ผ่านจังหวัดนครปฐม ถึงทางแยกต่างระดับนครชัยศรี แยกซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 338 (ถนนบรมราชชนนี) ถึงกรุงเทพมหานคร จากนั้นเริ่มต้นที่ทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 (ถนนกรุงเทพฯ ชลบุรี หรือมอเตอร์เวย์) ถึงทางแยกต่างระดับโป่ง ตำบลโป่ง อำเภอ  บางละมุง จังหวัดชลบุรี แยกซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 36 ถึงแยกปลวกเกตุ ตำบลเชิงเนิน อำเภอเมืองระยอง จังหวัดระยอง แยกซ้ายไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 3 (ถนนสุขุมวิท) ผ่านจังหวัดจันทบุรี และจังหวัดตราด สิ้นสุดที่พรมแดนกัมพูชา ด่านพรมแดนบ้านหาดเล็ก ตำบลหาดเล็ก อำเภอคลองใหญ่ จังหวัดตราด ระยะทาง 643 กิโลเมตร

กลุ่มที่หก เส้นทางเชื่อมโยงท่าเรือสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น ทางหลวงเอเชียสาย 19 (AH19) ถนนเครือข่ายทางหลวงสายเอเชีย ประเภทสายรอง เริ่มต้นจากทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 2 (ถนนมิตรภาพ) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงเอเชียสาย 12 (AH12) บริเวณทางแยกต่างระดับนครราชสีมา (สามแยกปักธงชัย) ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 304 ถึงอำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี จากนั้นตรงไปถึงแยกพนมสารคาม อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 331 แยกขวาที่ทางแยกต่างระดับ   มาบเอียง ถึงทางแยกต่างระดับแหลมฉบังของทางหลวงพิเศษหมายเลข 7 ตอนชลบุรี-พัทยา อำเภอ   ศรีราชา จังหวัดชลบุรี ถึงทางแยกต่างระดับบางพระ เข้าสู่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 361 ตอนเลี่ยงเมืองชลบุรีถึงทางแยกต่างระดับหนองไม้แดง ตำบลหนองไม้แดง อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี      แยกขวาไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 34 (ถนนบางนา-บางปะกง) ถึงกรุงเทพมหานครที่แยกบางนาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของถนนบางนา-บางปะกง ระยะทาง 458 กิโลเมตร

ระบบโครงข่ายรถไฟ พื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกมี เส้นทางรถไฟสายตะวันออก   เริ่มจากกรุงเทพฯ- จังหวัดฉะเชิงเทรา –จังหวัดชลบุรี นิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ไปสิ้นสุดที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ทั้งนี้ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกสัตหีบ ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง  และขนส่งสินค้าจากท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรม  มาบตาพุด โดยมีโครงการสร้างทางรถไฟเชื่อมต่อ 2 สาย คือ

ทางรถไฟสายศรีราชา – แหลมฉบัง เป็นเส้นทางรถไฟที่แยกจากรถไฟสายฉะเชิงเทรา – สัตหีบ ที่บริเวณอำเภอศรีราชา มุ่งเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกและนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง มีระยะทางยาวทั้งหมด 9.7 กิโลเมตร

ทางรถไฟสายสัตหีบ – มาบตาพุด เป็นเส้นทางรถไฟที่แยกจากสายฉะเชิงเทรา – สัตหีบ ที่สถานีเขาชีจรรย์ (ก่อนถึงสถานีรถไฟพลูตาหลวง 4กิโลเมตร) ผ่านนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และแยกเข้าสู่ท่าเรือน้ำลึกมาบตาพุด คิดเป็นระยะทางยาวทั้งหมด 24.07กิโลเมตร

ศักยภาพการขนส่งด้านอื่น

โรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซและของเหลวเป็นวัตถุดิบและพลังงาน (รวมถึงโรงงานผู้ผลิต) มีการขนส่งทางท่อรองรับ เช่น การขนส่งทางท่อ ซึ่งการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้ร่วมลงทุนกับโรงกลั่น และบริษัทขายปลีกน้ำมันสำหรับรถยนต์ สร้างระบบขนส่งทางท่อขึ้น 2 โครงการ ได้แก่ - โครงการขนส่งทางท่อจาก อำเภอศรีราชาไปที่ช่องนนทรี กรุงเทพฯ โดยวางท่อตามทางรถไฟ และโครงการขนส่งน้ำมันทางท่อจาก ศรีราชาผ่านลำลูกกาและสิ้นสุดที่สระบุรี  การขนส่งทางท่อจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยจากการขนส่ง นอกจากนี้ยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งทางบกและลดปัญหาการจราจรภายในจังหวัดชลบุรี และจังหวัดใกล้เคียง

การคมนาคมขนส่งทางน้ำในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก ส่วนมากเกี่ยวกับการขนส่งสินค้า การประมง การเดินเรือ และการท่องเที่ยวทางทะเล ประเภทของท่าเรือ ได้แก่ ท่าเทียบเรือ เส้นทางเดินเรือ จำนวนเรือ เรือประมง เรือท่องเที่ยว เที่ยวเรือ และจำนวนผู้โดยสาร

การคมนาคมขนส่งทางอากาศ สนามบินภายในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก มี 2 แห่ง ได้แก่ สนามบินอู่ตะเภา และสนามบินตราด

สนามบินอู่ตะเภา เป็นสนามบินนานาชาติ ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง ห่างจากจังหวัดระยองประมาณ 30 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 190 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของกองการบินทหารเรือ กองเรือยุทธการ และกองการท่าอากาศยานอู่ตะเภา โดยมีสายการบินให้บริการทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นสนามบินเชิงพาณิชย์

สนามบินตราด เป็นสนามบินเอกชนของบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด  ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลท่าโสม อำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด และเปิดใช้ให้บริการเส้นทางการบินเส้นทางกรุงเทพฯ-ตราด

สำหรับจังหวัดจันทบุรี มีสนามบินที่ตำบลเขาวัว อำเภอท่าใหม่ ใช้ในราชการทหารและสำหรับหน่วยทำฝนเทียม

การขยายผลเส้นทางคมนาคมขนส่ง

การขยายผลเส้นทางคมนาคมขนส่งที่กล่าวถึงในครั้งนี้ไม่รวม การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา การพัฒนาท่าเทียบเรือ โครงการรถไฟทางคู่ และรถไฟความเร็วสูง ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ที่มีบทความในเว็บไซต์นี้กล่าวถึงกล่าว การรวบรวมข้อมูลครั้งนี้ เน้นที่งานถนนในส่วนของกรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท

การเพิ่มประสิทธิภาพด้านคมนาคมขนส่งให้ อีอีซี มีหลายโครงการ  ตัวอย่างเช่น การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อเชื่อมโยงการเดินทางในโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี)  มอเตอร์เวย์เส้นทางพัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 32 กิโลเมตร งบลงทุน 2.02 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันกำลังก่อสร้าง โดยมีความคืบหน้าไปแล้วกว่า 75% เตรียมของบประมาณสร้างมอเตอร์เวย์ในอีอีซีเพิ่มอีก 3 สาย กว่า 8.6 หมื่นล้านบาท ขณะที่กรมทางหลวงชนบทเตรียมขยายช่องจราจรเพิ่ม 3 เส้นทาง

กรมทางหลวงสรุปผลการศึกษาออกแบบมอเตอร์เวย์ เส้นทางท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ที่จัดอยู่ภายใต้โครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-หนองคาย ตามแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย พร้อมทั้งดำเนินการเปิดรับฟังความเห็นจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรธุรกิจเอกชน สถาบันการศึกษา ตลอดจนตัวแทนภาคประชาชนในพื้นที่จ.ฉะเชิงเทรา และปราจีนบุรี โดยคาดว่าจะเสร็จในปี 2561

นอกจากนี้ ยังมีเส้นทาง ท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี เส้นทางสำคัญที่ใช้เชื่อมการเดินทางตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการสนับสนุนการขนส่งสินค้าจากพื้นที่อีอีซี สู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รูปแบบการลงทุน เบื้องต้นจะเปิดให้เอกชน ร่วมลงทุนในรูปแบบพีพีพี ประมาณการณ์งบลงทุนราว 2.8 หมื่นล้านบาท

รายละเอียดพื้นฐานของแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์แหลมฉบัง-ปราจีนบุรีคือ มีจุดเริ่มต้นบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 ในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ โดยแผนการก่อสร้าง แบ่งเป็น 2 ตอน คือ ตอน 1 ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ทางหลวงหมายเลข 3340 ระยะทางประมาณ 63.4 กิโลเมตร ตอน 2 ทางหลวงหมายเลข 3340-ปราจีนบุรี (ทล.359) ระยะทางประมาณ 60.6 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีอีก 3 โครงการ ประกอบไปด้วย เส้นทางปราจีนบุรี-นครราชสีมา ซึ่งเป็นอีกส่วนของโครงการพัฒนามอเตอร์เวย์ สายชลบุรี-หนองคายเช่นเดียวกัน มีระยะทาง 171 กิโลเมตร งบประมาณลงทุนเบื้องต้นคาดอยู่ที่ราว 3.7 หมื่นล้าน รวมทั้งยังมีเส้นทางชลบุรี-แกลง ระยะทาง 94 กิโลเมตร งบลงทุน 2.2 หมื่นล้านบาท และเส้นทางแกลง-ตราด ระยะทาง 116 กิโลเมตร งบลงทุน 2.74 หมื่นล้านบาท โดยทั้ง 3 โครงการที่เหลือกำหนดดำเนินการของบประมาณปี 2563

กรมทางหลวงชนบทกับสามโครงการ

กรมทางหลวงชนบทมีโครงการสนับสนุนอีอีซี.ที่กำลังดำเนินงาน 3 โครงการ ลงทุน 5.5 พันล้านบาท คือ

1.ทางหลวงชนบท สาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 ถึงบ้านห้วยโป่ง อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ระยะทาง 10.198 กิโลเมตร วงเงิน 197.5 ล้านบาท

2.ทางหลวงชนบทสายแยกทางหลวงหมายเลข 7 ไปท่าเรือแหลมฉบัง ระยะทาง 10.5 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 1,499 ล้านบาท กำหนดแล้วเสร็จในปี 2562 เพื่อพัฒนาเป็นเส้นทางเชื่อมระบบขนส่งท่าเรือสนับสนุนอุตสาหกรรมโลจิสติกส์

3.ถนนทางหลวงสาย ฉช.3001 แยกทางหลวงหมายเลข 314 ไปลาดกระบัง ระยะทาง 20.328 กิโลเมตร วงเงิน 3,801 ล้านบาท ปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 35% โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2562

กรมทางหลวงชนบทได้เร่งดำเนินการทั้ง 3 โครงการ โดยเส้นทาง สาย รย.5050 แยกสายนิคมสร้างตนเองสาย 15 ถึงบ้านห้วยโป่ง อ.นิคมพัฒนา จ.ระยอง ขณะนี้แล้วเสร็จ 100% โดยได้ขยายถนนปรับปรุงถนนเดิม 2 ช่อง เป็น 4 ช่องจราจร ก่อสร้างเป็นถนนแอสฟัลท์ติกคอนกรีต พร้อมไหล่ทาง ก่อสร้างสะพาน ศาลาที่พักผู้โดยสาร รางระบายน้ำ ท่อระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง และสิ่งอำนวยความปลอดภัยผู้ใช้ทาง

อีก 2 โครงการที่เหลือกำลังก่อสร้างและจะเปิดในปี 2562 โดยได้ก่อสร้างถนนผิวจราจรแบบแอสฟัลท์คอนกรีต ขนาด 4-6 ช่องจราจร สร้างสะพานคอนกรีต พร้อมระบบระบายน้ำ ไฟฟ้าแสงสว่าง สิ่งอำนวยความสะดวก ความปลอดภัยของผู้ใช้ทาง โดยคาดว่าการพัฒนาเส้นทางนี้จะส่งผลบวกต่อระบบขนส่งท่าเรือ สนับสนุนอุตสาหกรรม โลจิสติกส์และอำนวยความสะดวกการเดินทางบริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เชื่อมต่อการขนส่งในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและอีอีซี.

ในอนาคตปี  2562 จะพัฒนาช่องจราจรเพิ่มเติม อีก 3 เส้นทาง คือ

1.ก่อสร้างทางหลวงชนบท รย.4058 แยกทางหลวง 3138 ไปทางหลวง 344 อ.บ้านค่าย จ.ระยอง โดยขยายช่องจราจรและปรับปรุงผิวถนนระยะทาง 32.8 กิโลเมตร วงเงิน 209 ล้านบาท รองรับเส้นทางขนส่งผ่านไปยังนิคมอุตสาหกรรมไออาร์พีซี

2.ทางหลวงชนบท รย.3013 แยกทางหลวง 331 ถึงทางหลวง 3191 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ระยะทาง 17.3 กิโลเมตร วงเงิน 855 ล้านบาท ขยายเป็น 4 ช่องจราจรพร้อมงาน ระบบ และ

3.ทางหลวงชนบท รย.2015 แยกทางหลวง 36 ถึงทางหลวง 331 อ.ปลวกแดง จ.ระยอง เบื้องต้นตั้งงบค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินไว้ 150 ล้านบาท

การสร้างความพร้อมทางด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆให้โครงการอีอีซี. โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงการพัฒนาโครงการด้านคมนาคมขนส่ง  มิใช่มีเพียงโครงการขนาดใหญ่ ถึงใหญ่มาก  แต่ยังมีโครงการขนาดไม่ใหญ่ ที่เปิดโอกาสให้กิจการรับเหมาก่อสร้างขนาดกลางสามารถเข้าร่วมการประมูลงานได้

โอกาสทางธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่เกี่ยวข้องกับ อีอีซี.ยังมีอยู่  แม้ว่าไม่ได้อยู่ใน 10 อุตสาหกรรมตามแผนหลักของไทยแลนด์ 4.0 ก็ตาม

#