กรมชลประทานสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง การขยายเหมืองแร่ งานขยายทางเข้าอู่ตะเภา-ท่าเรือจุกเสม็ด
  • 9 สิงหาคม 2018 at 00:05
  • 905
  • 0

งานก่อสร้างด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาทางกายภาพ พัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นที่สำคัญประการหนึ่งของการติดตามข้อมูลข่าวสารความคืบหน้าของโครงการต่างๆ คือข่าวสารจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี จากนั้นก็เกาะติดความคืบหน้าของโครงการนั้นๆ ไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง

 

สร้างโครงการอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง

การบริหารจัดการน้ำให้มีพอใช้ทั้งพื้นที่เกษตรกรรม  โรงงานอุตสาหกรรม  พาณิชยกรรมและบริการรวมถึงการอุปโภคบริโภคของครัวเรือน กับการบริหารจัดการน้ำไม่ให้ท่วม เป็นสองด้านที่ต้องสมดุลสอดคล้องกัน บริหารจัดการไม่ให้น้ำท่วมในระยะเวลาที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม  บริหารจัดการไม่ให้ขาดแคลนน้ำในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงเพราะน้ำน้อย  เรื่องนี้เป็นพื้นฐานที่รับรู้กันแต่การทำให้ได้ผลตรงตามต้องการเต็มร้อยและต่อเนื่องยืนยาวนั้น  ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ ตั้งแต่เรื่องการสร้างเขื่อนอ่างกักเก็บน้ำ  การจัดสรรพื้นทีประโยชน์ใช้สอยอย่างเหมาะสมระหว่างพื้นที่เกษตรกรรม  อุตสาหกรรม พื้นที่เขตเมืองพาณิชยกรรมและบริการ หมายถึงการวางผังภาค ผังเมืองรวม และผังชุมชน

งานสำคัญอย่างหนึ่งคือการสำรองน้ำต้นทุน หมายถึงการสร้างเขื่อนอ่างเก็บน้ำ ทั้งนี้ล่าสุดเมื่อวันที่ 7  สิงหาคม 2561 มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่อง ขอความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน)  รวม 4 โครงการ

คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เพื่อก่อสร้างโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) รวม 4 โครงการตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ  ดังนี้

1. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว  บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 85 – 2 – 06.4 ไร่  เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี

2. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 49 ไร่ เพื่อก่อสร้าง      โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติศรีลานนา  บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 229 ไร่  เพื่อก่อสร้าง     โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่

4. เพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยภูนาง บางส่วน เนื้อที่ประมาณ 1,380 ไร่ เพื่อก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา

โดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง และความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัดต่อไป ทั้งนี้ ให้เร่งการดำเนินโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ด้วย

ทั้งนี้  โครงการอ่างเก็บน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กรมชลประทาน) ทั้ง 4 โครงการ เป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีเคยมีมติอนุมัติหลักการโครงการแล้ว และสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ (ปี พ.ศ. 2558 – 2569) ในยุทธศาสตร์ที่ 2  การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตรและอุตสาหกรรม)  และยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย  โดยจะสามารถเพิ่มการกักเก็บน้ำได้จำนวน 105.17 ล้านลูกบาศก์เมตร และสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้ ประมาณปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

อย่างไรก็ตาม พื้นที่ดำเนินโครงการบางส่วนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเพื่อก่อสร้างโครงการทั้ง 4 โครงการ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2532 โดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช  ได้เห็นชอบด้วยแล้ว

สรุปความก็คือ มติครม.ดังกล่าว ส่งผลให้โครงการอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งสามารถดำเนินงานได้ต่อเนื่อง นั่นคือโครงการอ่างเก็บน้ำคลองขลุง จังหวัดจันทบุรี      โครงการอ่างเก็บน้ำบ้านป่าละอู  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ  จังหวัดประจวบคีรีขันธ์     โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ และโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้  อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดพะเยา

 

เหมืองแร่อุตสาหกรรมต้นน้ำปูนซิเมนต์

ปูนซิเมนต์เป็นวัดสุก่อสร้างสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในงานโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กซึ่งเป็นงานโครงสร้างหลักที่ใช้กันเป็นส่วนมากแทบจะร้อยเปอร์เซนต์ในงานก่อสร้างต่างๆ  ของประเทศไทย  อุตสาหกรรมปูนซิเมนต์เป็นต้นทางของอุตสาหกรรมก่อสร้าง  ส่วนอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่ผลิตวัสดุดิบในการผลิตปูนซิเมนต์เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำของอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์  เรื่องทั้งสามส่วนนั้นมีความสอดคล้องเกี่ยวข้องกัน  ดังนั้นข่าวข้อมูลเกี่ยวกับเหมืองแร่จึงควรสนใจทั้งนี้เมื่อวันที่  7 สิงหาคม  2561  มีมติครม.เรื่อง ขอผ่อนผันการใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เพื่อทำเหมืองแร่ ของบริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด และบริษัท น่ำเฮงศิลา จำกัด ที่จังหวัดสระบุรี

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอดังนี้

1.        อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอ และ 1 เอเอ็ม เพื่อทำเหมืองแร่ ตามคำขอประทานบัตรที่ 23-27/2553 เพื่อจัดตั้งสถานที่  เพื่อการเก็บขังน้ำขุ่นข้นหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ตามคำขอที่ 1/2553 และเพื่อปลูกสร้างอาคารเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่หรือจัดตั้งสถานที่เพื่อการแต่งแร่นอกเขตเหมืองแร่ ตามคำขอที่ 2/2554 จำนวน 5 แปลง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2533 วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544

2.        อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 เอเอ็ม เพื่อ ทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน (เพื่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์) ตามคำขอประทานบัตรที่ 20-24/2554 จำนวน 5 แปลง  ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538 และวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2544

3.        อนุมัติผ่อนผันให้บริษัท น่ำเฮงศิลา  จำกัด ใช้ประโยชน์พื้นที่ลุ่มน้ำชั้นที่ 1 บี เพื่อต่ออายุประทานบัตรทำเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมชนิดหินปูน  (เพื่ออุตสาหกรรมก่อสร้าง) ตามคำขอประทานบัตรที่ 1/2550 4/2550 และที่ 5/2550 จำนวน 3 แปลง  ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2538

ทั้งนี้  ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของกระทรวงคมนาคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป และ ให้กระทรวงอุตสาหกรรม (กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่)  กำกับให้บริษัท ปูนซีเมนต์เอเชีย จำกัด (มหาชน) บริษัท ภูมิใจไทยซีเมนต์ จำกัด และบริษัท น่ำเฮงศิลา จำกัด ดำเนินการให้เป็นไปอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ตามขั้นตอนของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย

ขยายความอย่างเล็งประโยชน์ส่วนรวม อาจมุ่งหวังได้ว่า การอนุมัติผ่อนผันดังกล่าว พอมีส่วนช่วยให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมปูนซิเมนต์เพิ่มมากขึ้น ระดับราคาปูนซิเมนต์พอยืนราคาไม่ขึ้นราคารวดเร็วเกินไปนัก

 

เร่งงานพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา

ไม่ว่าในอนาคตสถานการณ์การเมืองจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เป็นที่แน่นอนหรือค่อนข้างแน่นอนว่า โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภานั้นเดินหน้าต่อเนื่องจนสัมฤทธิ์ผล  ล่าลุดมีความคืบหน้าจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  7  สิงหาคม 2561 5. เรื่อง ขออนุมัติวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนแปลงรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา – ท่าเรือจุกเสม็ดจังหวัดชลบุรี รวมทั้งยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 เรื่องการปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ข้อ 1.6 ของกรมทางหลวง

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ ดังนี้

1. อนุมัติเพิ่มวงเงินงบประมาณและเปลี่ยนรายการภายใต้แผนงานบูรณาการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก งบลงทุน ค่าที่ดินและสิ่งก่อสร้าง จากรายการสายทางเข้าท่าอากาศยานอู่ตะเภา – ท่าเรือจุกเสม็ด จังหวัดชลบุรี ระยะทาง 7.763 กิโลเมตร วงเงิน 632 ล้านบาท มาดำเนินรายการค่าก่อสร้างและค่ารื้อย้ายสาธารณูปโภค รวมวงเงิน 811.95  ล้านบาท (เพิ่มขึ้นจากวงเงินเดิมที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว จำนวน 179.95 ล้านบาท)

2. อนุมัติยกเว้นการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552    เรื่อง การปรับปรุงแก้ไขมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ ข้อ 1.6 ที่กำหนดให้รายจ่ายลงทุนที่จะขออนุมัติผูกพันข้ามปีงบประมาณทุกรายการต้องได้รับการจัดสรรงบประมาณแผ่นดินในปีแรก เป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของวงเงินรายจ่ายส่วนที่เป็นเงินงบประมาณทั้งสิ้นของรายจ่ายลงทุนนั้น ๆ  โดยไม่รวมวงเงินเผื่อเหลือเผื่อขาด

โดยให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไปด้วย ทั้งนี้ ในการริเริ่มแผนงาน/โครงการต่าง ๆ ในอนาคต ขอให้    กระทรวงคมนาคมดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 (เรื่อง การพิจารณาและตรวจสอบความพร้อมในการดำเนินการตามแผนงาน/โครงการของส่วนราชการและการตรวจสอบข้อมูลผู้ละทิ้งงานราชการ) อย่างเคร่งครัดต่อไปด้วย

ภาพรวมเฉพาะหน้า โครงการประหนึ่งเป็นการนำร่องให้โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) คือ โครงการพัฒนาทางหลวงรองรับระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก  และโครงการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา   การขยายทางเข้าสนามบินอู่ตะเภาและท่าเรือจุกเสม็ด  เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนำร่องเบิกทางให้ EEC.  เหลือแต่ว่า  อุตสาหกรรมใดประสบความสำเร็จในการเป็นอุตสาหกรรมเรือธงของโครงการอีอีซี.   เหมือนกับที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีประสบความสำเร็จในฐานะเป็นอุตสาหกรรมเรือธงของโครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออก Eastern Seaboard จนมีพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่องขยับเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง มีรายได้จากภาคพาณิชยกรรมและบริการ  ภาคอุตสาหกรรมเป็นรายได้หลัก  รายได้จากภาคเกษตรกรรมลดถอยไปอยู่อันดับสาม  แม้ว่าสัดส่วนประชากรในแต่ละภาคเศรษฐกิจจริงดังกล่าว  สัดส่วนแรงงานในภาคเศรษฐกิจจริงทั้งสามส่วนยังไม่สมดุลกับสัดส่วนรายได้ของจีดีพี.เท่าใดนัก

รวมทั้งยังทิ้งปัญหาการกระจายรายได้  ปัญหาการสร้างโอกาสให้เกิดธุรกิจรายย่อยเกิดธุรกิจ “สตาร์ทอัพ” ธุรกิจสร้างสรรค์ต่างๆ

ปัญหามีไว้แก้ไข

#