จับภาพงานก่อสร้างภาครัฐภาคใต้กระจายฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน
  • 23 สิงหาคม 2018 at 20:01
  • 2338
  • 0

ความแน่นอนและความคืบหน้าของโครงการก่อสร้างภาครัฐส่วนหนึ่งติดตามได้จากมติคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้มีข้อมูลที่แสดงถึงโอกาสของโครงการก่อสร้างต่างๆ ในกลุ่มจังหวัด ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา) และฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) ข้อมูลต่อไปนี้มาจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  21 สิงหาคม 2561 . เรื่อง  ผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน  ผู้บริหารท้องถิ่น  และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน

คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ  โดยมีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับงานก่อสร้างต่างๆ ดังนี้

ก่อสร้างเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์-ระบบถนน

โครงข่ายคมนาคมทางถนน โดยขอรับการสนับสนุน

(1) การพัฒนาโครงข่ายเส้นทางเพื่อเชื่อมต่อในเชิงพื้นที่ทั้งแนวตะวันตก – ตะวันออกและแนวเหนือ – ใต้ เพื่อการขับเคลื่อนที่ครอบคลุมทั้งพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพ จำนวน 4 สายทาง ได้แก่

(1.1) ศึกษาความเหมาะสมในการขยายทางหลวงชนบทสุราษฎร์ธานี หมายเลข สฎ 3012 – บรรจบทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 (ถนนเชื่อมถนนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 44 และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 401 และท่าเรือท่าทอง)

(1.2)  เร่งรัดก่อสร้างขยายทางหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ทางหลวงหมายเลข 415 ตอน บางคราม – พนม กม.21+381 – กม.48+161 ระยะทาง 26.780 กิโลเมตร

(1.3) เร่งรัดก่อสร้างขยาย 4 ช่องทางจราจร ทางหลวงหมายเลข 4009 ตอนนาสาร – เวียงสระ – บางสวรรค์ – อำเภอปลายพระยา จังหวัดกระบี่ ช่วง กม.18 – กม.110

และ (1.4) เร่งรัดดำเนินการออกแบบและก่อสร้างระบบโลจิสติกส์จากสถานีรถไฟจังหวัดชุมพรเพื่อเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกจังหวัดระนอง

(2) เร่งรัดการก่อสร้างและพัฒนาถนนเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (Thailand Rivera) ตามที่กรมทางหลวงได้ศึกษาวิจัย เพื่อพัฒนาเส้นทางเลียบชายฝั่งทะเลในกลุ่มจังหวัดไว้

(3.)การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งและระบบโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาศูนย์กระจายสินค้าภาคใต้ – ทุ่งสง จำนวน 3 สายทาง ได้แก่

(3.1) ทางหลวงหมายเลข 4019 ตอนทุ่งใหญ่ – ช้างกลาง ระหว่าง กม.1+000 – 15+150 เป็นช่วง ๆ ระยะทาง 13.650 กิโลเมตร

(3.2) ทางหลวงหมายเลข 4110 ตอนทุ่งใหญ่ – บางรูป ระหว่าง กม.50+933 – กม.71+254 เป็นช่วง ๆ ระยะทาง 4.500 กิโลเมตร และ

(3.3) ทางหลวงหมายเลข 4305 ตอนทุ่งสง – จำปา ระหว่าง กม.6+000 – กม.9+200 ระยะทาง 3.200 กิโลเมตร

(4) ขอให้เร่งรัดการศึกษาออกแบบการก่อสร้างเส้นทางมอเตอร์เวย์ ตั้งแต่จังหวัดชุมพร ถึงสุไหง โก-ลก จังหวัดนราธิวาส

และ (5) โครงข่ายคมนาคมทางถนนเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวและการเกษตรสองฝั่งสมุทร (อ่าวไทย – อันดามัน) จำนวน 9 สายทาง ได้แก่

(5.1) เร่งรัดการก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองกระบี่ ระยะทาง 29 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมโยงเส้นทางจังหวัดกระบี่ และจังหวัดตรัง

(5.2) การพัฒนาเส้นทางคมนาคม ได้แก่ ถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง (บ้านนาขา-บ้านควนปริง) (กม.1+691-กม.8+572) และถนนวงแหวนรอบเมืองตรัง (บ้านควนปริง – บ้านควน) (กม.8+572 – กม.14+432)

(5.3) เร่งรัดการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4 บ้านราชกรูด จังหวัดระนอง ถึงอำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา

(5.4) เร่งรัดการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 401 ตอนแยกโคกเคียน – เขาสก – พนม – ช่องชาลี ระหว่าง กม.0+000 – กม.94+642 ระยะทาง 94.642 กิโลเมตร

(5.5) เร่งรัดการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4006 จากราชกรูด – พะโต๊ะ – หลังสวน

(5.6) เร่งรัดการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 4156 เขาพนม-ทุ่งใหญ่ โดยปรับปรุงถนนจาก 2 ช่องจราจร กว้าง 9.00 เมตร เป็น 4 ช่องจราจร กว้าง 20.60 เมตร ผิวจราจรแอสฟัลต์ติก คอนกรีต ระยะทาง 40.475 กิโลเมตร มีระบบระบายน้ำสองข้างทางและติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง

(5.7) เร่งรัดการก่อสร้างขยาย 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 404 ตอนอำเภอย่านตาขาว – อำเภอละงู (รวมทางแนวใหม่เลี่ยงเมืองทุ่งหว้า) ระยะทางรวม 71.400 กิโลเมตร

(5.8) เร่งรัดการก่อสร้างทางหลวงแนวใหม่สายเมืองใหม่ – เกาะแก้ว จังหวัดภูเก็ต ทางหลวงหมายเลข 4026 ระยะทาง 22.40 กิโลเมตร

และ (5.9) ศึกษาทบทวนการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงจังหวัดสตูล – เปอร์ลิส เพื่อศึกษาประเมินความเป็นไปได้ และประเมินความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของถนนดังกล่าว

 

ก่อสร้างเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์-ระบบราง

โครงข่ายคมนาคมทางราง โดยขอรับการสนับสนุน

(1) โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทางคู่ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี  สุราษฎร์ธานี - หาดใหญ่ – สงขลา และหาดใหญ่ – ปาดังเบซาร์ โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดดำเนินการ ได้แก่

(1.1) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่เส้นทางสุราษฎร์ธานี –ท่านุ่น (พังงา)

(1.2) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ดอนสัก –สุราษฎร์ธานี

และ (1.3) การก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายใหม่ชุมพร – ท่าเรือน้ำลึกระนอง และ (2) ขอรับการสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้ระบบรางจากสถานีกันตัง – ท่าเรือนาเกลือ จังหวัดตรัง

ก่อสร้างเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ – ทางน้ำ

โครงข่ายคมนาคมทางน้ำ โดยขอรับการสนับสนุน

(1) การพัฒนาและสนับสนุนท่าเรือสำราญที่มีมาตรฐานในแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลที่มีศักยภาพตามที่ได้มีการศึกษาออกแบบไว้แล้ว

(2) เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลา แห่งที่ 2

(3) ศึกษาและออกแบบการก่อสร้างท่าเรืออเนกประสงค์เพื่อเชื่อมแลนด์บริดจ์ของท่าเรือชุมพร – ระนอง

(4) เร่งรัดการปรับปรุงท่าเทียบเรือเชื่อมโยงการท่องเที่ยวทางทะเลฝั่งอันดามัน เช่น ท่าเทียบเรืออ่าวปอ จังหวัดภูเก็ต ท่าเทียบเรือท่าเลน จังหวัดกระบี่ เป็นต้น

(5) ศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการปรับปรุงท่าเทียบแพขนานยนต์ข้ามฟากเกาะลันตาเชื่อมโยงท่องเที่ยวทางทะเลอันดามันฝั่งบ้านหัวหิน และฝั่งบ้านคลองหมาก

และ (6) ศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) ที่จังหวัดกระบี่ เพื่อสนับสนุนเส้นทางเดินเรือ (Cruise Line) และดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560

ก่อสร้างเพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์- ทางอากาศ

1.4 โครงข่ายคมนาคมทางอากาศ โดยขอให้พิจารณาเร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงท่าอากาศยานนานาชาติหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยปรับปรุงอาคารที่พักผู้โดยสาร เพิ่มลานจอดเครื่องบิน อาคารจอดรถยนต์และเส้นทางเข้า – ออก

ข้อสั่งการ: เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์

(1) รับทราบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่ภาคใต้ (กลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและกลุ่มจังหวัดฝั่งอันดามัน) และให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยจะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญตามกรอบและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ รวมทั้งคำนึงถึงสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเหมาะสม ทั้งนี้ แผนงานโครงการที่พิจารณาได้ชัดเจนแล้ว จะต้องกำหนดให้สอดคล้องตรงกันในแผนปฏิบัติการของกระทรวงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

(2) ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติและกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาและทบทวนในรายละเอียดการก่อสร้างถนนเชื่อมโยงจังหวัดสตูล-เปอร์ลิสในเรื่องต้นทุนและผลตอบแทนทางเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวของทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อกำหนดเป็นแนวนโยบายและข้อตกลงร่วมกันระหว่างไทยและมาเลเซียตามขั้นตอนต่อไป

การส่งเสริมด้านท่องเที่ยวและการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง

ขอรับการสนับสนุน โดย

(1) การพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลัก โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ประกอบด้วย การพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยเมืองท่องเที่ยวทางบกในพื้นที่จังหวัดชุมพร (แหล่งท่องเที่ยวและพื้นที่เสี่ยง) จังหวัดสุราษฎร์ธานี (แหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่เสี่ยง (20 สถานีตำรวจ) จังหวัดสงขลา (อำเภอหาดใหญ่) และจังหวัดพังงา (ตำพลพรุใน ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว, ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาวใหญ่, ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า, ตำบลทุ่งคาโงก ตำบลตากแดด อำเภอเมืองพังงา และตำบลถ้ำ อำเภอตะกั่วทุ่ง) และการพัฒนานวัตกรรมความปลอดภัยเมืองท่องเที่ยวทางน้ำในพื้นที่จังหวัดพังงา (ท่าเทียบเรือคลองเหีย หมู่ที่ 1 ตำบลเกาะยาวใหญ่ อำเภอเกาะยาว, ศูนย์การแพทย์เขาหลัก ตำบลคึกคัก อำเภอตะกั่วป่า, โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะยาวใหญ่ และโรงพยาบาลเกาะยาวชัยพัฒน์ ตำบลเกาะยาวน้อย อำเภอเกาะยาว) จังหวัดภูเก็ต (ท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง ตำบลฉลอง อำเภอเมืองภูเก็ต) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี (ท่าเรืออเนกประสงค์ดอนสัก (แหลมทวด) หมู่ที่ 5 ตำบลดอนสัก อำเภอดอนสัก)

(2) ขอรับการสนับสนุนโครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน (คลองท่อมเมืองสปา) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพ (น้ำพุร้อน สปา) ให้เป็นไปตามแผนแม่บทที่สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้จัดทำไว้

(3) การก่อสร้างศูนย์พัฒนากีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับประเทศเชื่อมโยงกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลระนอง โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กีฬาครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้

และ (4) การพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว (โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลาจังหวัดพัทลุง) รวม 5 สายทาง ได้แก่

(4.1) สาย พท.4007 แยกทางหลวงหมายเลข 4037 บ้านทะเลน้อย อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง (ระยะทาง 21.084 กิโลเมตร)

(4.2) สาย พท.4018 แยกทางหลวงหมายเลข 4050 บ้านลำปำ จังหวัดพัทลุง (ระยะทาง 4.862 กิโลเมตร)

(4.3) สาย พท.4003 แยกทางหลวงหมายเลข 4050 บ้านจงเก อำเภอเมือง, เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง (ระยะทาง 13.842 กิโลเมตร)

(4.4) สาย พท.4004 แยกทางหลวงหมายเลข 4081 บ้านฝาละมี อำเภอเขาชัยสน, บางแก้ว, ปาก พยูน, จังหวัดพัทลุง (ระยะทาง 26.558 กิโลเมตร)

และ (4.5) สาย พท.4026 แยกทางหลวงหมายเลข 4181 บ้านชะแล้ อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง (ระยะทาง 14.574 กิโลเมตร)

ข้อสั่งการ: เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว

(1) ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงคมนาคม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงกลาโหม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาการพัฒนาศักยภาพการรักษาความปลอดภัยในเมืองท่องเที่ยวหลักโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และประสานคณะกรรมการบริหารการบูรณาการแผนและระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิด (CCTV) รับไปพิจารณาตามขั้นตอน ทั้งนี้ หากพื้นที่ใดมีความจำเป็นเร่งด่วน ให้กระทรวงมหาดไทยประสานสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณไปดำเนินการให้สอดคล้องกับแผนงานตามที่คณะกรรมการฯ กำหนด

(2) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนพิจารณาให้การสนับสนุนโครงการยกระดับพัฒนาแหล่งสปาวารีบำบัดน้ำพุร้อน (คลองท่อมเมืองสปา) พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวสุขภาพ (น้ำพุร้อน สปา) ให้เป็นไปตามแผนแม่บทที่สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) ได้จัดทำไว้ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการตามแผนแม่บทดังกล่าว ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประสานสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

(3) ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงศึกษาธิการ พิจารณาการขอรับสนับสนุนการก่อสร้างศูนย์พัฒนากีฬาและวิทยาศาสตร์การกีฬาระดับจังหวัดเชื่อมโยงกับศูนย์ฟื้นฟูสภาพด้วยการแพทย์ทางเลือก โรงพยาบาลระนอง โดยมีเป้าหมายให้เป็นศูนย์กีฬาครบวงจรแห่งแรกของภาคใต้ โดยให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ความคุ้มค่าในการลงทุน และรูปแบบการบริหารจัดการที่ไม่เป็นภาระของรัฐบาลและยั่งยืนในระยะยาว

(4) ให้กระทรวงคมนาคมพิจารณาการพัฒนาเส้นทางเพื่อการท่องเที่ยว (โครงการพัฒนาทางหลวงชนบทริมทะเลสาบสงขลาจังหวัดพัทลุง) รวม 5 สายทางตามความจำเป็นเร่งด่วนตามขั้นตอนต่อไป

งานส่งเสริมการเกษตรและงานก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง

ด้านการยกระดับการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มและผลิตทางการเกษตร

ขอรับการสนับสนุน โดย

(1) การจัดตั้ง Oil Palm City (สุราษฎร์ธานี) ด้วยโครงการปาล์มโอลิโอเคมีแบบครบวงจร

(2) การทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ วนเกษตร ในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงแพะแปลงใหญ่ การส่งเสริมการปลูกผักและสมุนไพรท้องถิ่นและการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในร่องสวน

(3) การพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง (Precision Farming) รวมทั้งสร้าง Smart Farmer ต้นแบบ

(4) เมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Stewardship Council: FSCTM) และรองรับ Industry 4.0

(5) การส่งเสริมและการพัฒนางานวิจัย (R&D) ทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro-Bio-Economy

(6) การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจรเพื่อยกระดับเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตร (พลู หมาก ปลาน้ำกร่อย ทุเรียน เละสมุนไพร

(7) การส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมตามแนวประชารัฐ

(8) การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร

และ (9) การศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อเพิ่มศักยภาพสินค้าและบริการด้านเกษตรในพื้นภาคใต้

ข้อสั่งการ: เพื่อส่งเสริมการเกษต

(1) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องพิจารณาในรายละเอียดการจัดตั้ง Oil Palm City การพัฒนาฟาร์มต้นแบบที่มีความแม่นยำสูง (Precision Farming) รวมทั้งสร้าง Smart Farmer ต้นแบบ การพัฒนาเมืองนวัตกรรมและการออกแบบไม้ยางพาราและการจัดทำมาตรฐานการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Forest Stewardship Council: FSCTM) และรองรับ Industry 4.0 การจัดตั้งโรงงานต้นแบบสินค้าการเกษตร 4.0 แบบครบวงจร การจัดตั้งศูนย์ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนตามแนวประชารัฐและการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนทางการเกษตร และการจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล เพื่อยกระดับภาคใต้ให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษคลัสเตอร์เกษตร เกษตรอุตสาหกรรม และแปรรูปเกษตรครบวงจร โดยคำนึงถึงความซ้ำซ้อนของหน่วยงานที่มีอยู่ในพื้นที่ ความเหมาะสมความเป็นไปได้ และความยั่งยืนของการดำเนินงานในอนาคต ก่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

(2) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกระทรวงพลังงาน กระทรวงศึกษาธิการ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องพิจารณาสนับสนุนการทำเกษตรแบบผสมผสานหรือ “วนเกษตร” ในสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมัน ด้วยการส่งเสริมการเลี้ยงแพะแปลงใหญ่ การส่งเสริมการปลูกพืชเสริม (ปลูกผักและสมุนไพรท้องถิ่น) และการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำในร่องสวน ส่งเสริมการพัฒนางานวิจัย (R&D) ทางด้านยาง ปาล์ม พืชผักสมุนไพร ปศุสัตว์ และประมง เพื่อรองรับ Agro-Bio-Economy และการส่งเสริมการทำระบบแก๊สชีวภาพและชีวมวลจากกระบวนการผลิตปาล์มและยางพารา เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในระบบอุตสาหกรรมตามแนวประชารัฐ ทั้งนี้ การส่งเสริมและการพัฒนาให้คำนึงถึงศักยภาพในพื้นที่การพัฒนาพันธุ์ที่มีคุณภาพ มาตรการส่งเสริมการตลาด ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน โดยให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของโครงการเพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นที่มีศักยภาพอย่างเร่งด่วนต่อไป

(3) มอบหมายรองนายกรัฐมนตรี (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์) รับไปดำเนินการเร่งรัดให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการให้มี Big Data มาใช้ประกอบการวิเคราะห์สถานการณ์ ผลผลิต ปัญหา และประเด็นอื่น ๆ ในภาคเกษตร เพื่อให้เกิดผลิตที่ครบวงจร มีผลิตภาพสูง และมีความยั่งยืนในอนาคต ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 3 เดือน

งานด้านพัฒนาคุณภาพชีวิตและการก่อสร้างที่เกี่ยวข้อง

 ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิต

ขอรับการสนับสนุน โดย

(1) การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) ดังนี้

(1.1) เร่งรัดการก่อสร้างโรงพยาบาลระดับทุติยภูมิ จังหวัดสุราษฎร์ธานี

(1.2) เร่งรัดการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีระดับภาคใต้ตอนบน

และ  (1.3) เร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพด้านเครื่องมือการรักษาพยาบาลและคุณภาพด้านการบริการของโรงพยาบาลมหาราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

(2) ขอรับการสนับสนุนการดำเนินงาน OTOP Academy ดำเนินการโดยสถาบันส่งเสริมความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (OTOP Academy) โดยวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง

ข้อสั่งการ: เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

(1) ให้กระทรวงสาธารณสุขพิจารณาความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วน การส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) โดยให้คำนึงถึงความพร้อมของพื้นที่ดำเนินการ การพัฒนาบุคลากรที่มีคุณภาพ รวมทั้งมีรูปแบบการบริหารจัดการที่เหมาะสม และต้องไม่เป็นภาระของรัฐบาลในอนาคต ก่อนให้การสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

(2) ให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณาการขอรับการสนับสนุนการดำเนินงาน OTOP Academy โดยให้คำนึงความพร้อมของพื้นที่ ความพร้อมของบุคลากร รวมทั้งรูปแบบการบริหารจัดการโครงการที่ไม่เป็นภาระต่องบประมาณรัฐบาลในอนาคต ก่อนขอรับการสนับสนุนงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป

งานด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ขอรับการสนับสนุนแนวทางการพัฒนา ดังนี้

(1) การขุดลอกร่องน้ำชายฝั่งทะเลเพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำชายฝั่งทะเลที่ร่องน้ำบ้านดอน อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี

(2) การบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัย ได้แก่

(2.1) ขอรับการสนับสนุนศึกษาและออกแบบแนวทางการป้องกันปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งภาคใต้แบบครบวงจร

(2.2) การป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพรตามแนวพระราชดำริ (คลองผันน้ำคลองชุมพร) อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร

และ (2.3) การบริหารจัดการน้ำคาบสมุทรสทิงพระ บริเวณลุ่มแม่น้ำทะเลสาบสงขลา จังหวัดสงขลา ให้แล้วเสร็จภายในปี 2564 ตามแผนที่วางไว้

(3) การจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ได้แก่

(3.1) โครงการจัดหาแหล่งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตรในเขตพื้นที่จังหวัดพังงา จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการอ่างเก็บน้ำคลองลำรูใหญ่ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา และโครงการอ่างเก็บน้ำลำไตรมาศ อำเภอทับปุด จังหวัดพังงา

และ (3.2) ขอรับการสนับสนุนโครงการบริหารจัดการน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และป้องกันอุทกภัย ในพื้นที่จังหวัดระนอง โดยปรับปรุงอ่างเก็บน้ำคลองหาดส้มแป้น ก่อสร้างพนังกั้นน้ำคลองน้ำจืดความยาว 780 เมตร ศึกษาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองน้ำจืด และศึกษาโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำทุ่งตาพล

ข้อสั่งการ: ให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาเร่งรัดสนับสนุนตามความเหมาะสมและความจำเป็นเร่งด่วนตามที่เสนอ และให้เร่งรัดการพิจารณาการสนับสนุนการบริหารจัดการลุ่มน้ำตาปี-พุมดวง ลุ่มน้ำปากพนัง และลุ่มน้ำชุมพร ทั้งลุ่มน้ำหลักและคลองสาขาอย่างเป็นระบบ และขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติราชการให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และฉบับต่อไป เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้เกิดผลสัมฤทธิ์และประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมอย่างต่อเนื่อง

หน่วยงานที่สามารถติดตามความคืบหน้า

ความเป็นมาของโครงการต่างๆ  ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดนั้น มีที่มาจากการที่ คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มจังหวัด ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา) และฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) เมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561

2. เห็นชอบตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ รวมทั้งรายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่อไป

ความเป็นมานั้นตามที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้มีการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ณ จังหวัดชุมพร ในวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา) และฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล)

สศช. ได้เสนอผลการประชุมระหว่างนายกรัฐมนตรีกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนภาคเอกชน ผู้บริหารท้องถิ่น และผู้แทนเกษตรกร เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคใต้ฝั่งอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน เมื่อวันอังคารที่ 21 สิงหาคม 2561 เวลา 09.10-11.30 น. ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร

รายละเอียดสรุปนั้นเป็นข้อมูลข้างต้นทั้งหมด  ดังนั้นจึงสามารถย้อนทางไปติดตามความคืบหน้าได้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นต้นเรื่อง  และติดตามกับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการดำเนินงาน  กล่าวเฉพาะในส่วนของงานก่อสร้างเช่น กรมทางหลวง  กรมทางหลวงชนบท  กรมชลประทาน  หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ  เป็นต้น

บริษัทรับเหมาก่อสร้างในพื้นที่ กลุ่มจังหวัด ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา) และฝั่งอันดามัน (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พังงา ระนอง สตูล) มีโอกาสมากขึ้นเนื่องจากงานก่อสร้างภาครัฐและภาคเอกชนยังมี เหลือแต่ว่า หาช่องทางและงานที่เหมาะสมกับขนาดศักยภาพของแต่ละบริษัทนั่นเอง

#