ลงแรงกาย-แรงใจ-ใช้ปัญญาทำงานวิจัยได้ครอบครองสิทธิ ต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้ แม้ไช้ทุนวิจัย
  • 5 กันยายน 2018 at 08:31
  • 766
  • 0

มาตรการใหม่ทางกฎหมายกระต้นนักวิจัยด้านต่างๆ  ทั่วประเทศ คนทำวิจัย-ผู้รับทุนได้กรรมสิทธิ์ แทนกฎหมายเดิมคนออกเงินสนับสนุน ให้ทุนที่ได้สิทธิครอบครอง  แต่หากเป็นการจ้างทำ สิทธิครอบครองยังเป็นของผู้ว่าจ้าง

เมื่อวันที่ 4 กันยายน .2561 นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งถือเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยปลดล็อคให้ผู้ที่ทำการวิจัยและสร้างนวัตกรรมขึ้นมา สามารถมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัยของตัวเอง แทนที่สิทธิการเป็นเจ้าของจะตกกับผู้ที่ให้ทุนเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดปัญหางานวิจัยอยู่บนหิ้งนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ แต่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานวิจัย สามารถผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้

ในวันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวิทย์ เมษินทรีย์  รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงความคืบหน้าการจัดตั้งกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า เตรียมนำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยระเบียบการจัดตั้งกระทรวงจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ในวันที่ 11 กันยายน 2561 เมื่อ ครม. เห็นชอบแล้วนำเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)เพื่อพิจารณาต่อไป โดยกระบวนการหลังจากนี้ใช้เวลาไม่นานคล้ายกันการจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี)ที่มีช่วงพักระหว่างรอปฏิบัติหน้าที่

 

หลักการสำคัญทางกฎหมายส่งเสริมงานวิจัย

หลักการสำคัญดังกล่าวสามารถยึดสาระสำคัญจากเอกสารสรุปมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่  4 กันยายน  2561  เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….  คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติและรับทราบ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัยไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณา ก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

2. รับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรองที่ต้องออกตามร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ

3. ให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรับความเห็นของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีไปดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว แบ่งออกเป็น 5 หมวด และบทเฉพาะกาลรวมทั้งสิ้น 28 มาตรา สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. กำหนดนิยามคำว่า “ทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม” หมายความว่า เงินสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้แก่ผู้รับทุน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อให้ได้มาซึ่งผลงานวิจัยและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัตินี้ และให้หมายรวมถึงเงินกองทุนที่หน่วยงานของรัฐจัดสรรให้แก่ผู้รับทุนเพื่อวัตถุประสงค์เดียวกัน แต่ไม่รวมถึงเงินสนับสนุนที่ใช้เพื่อว่าจ้าง หรือร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ เทคโนโลยี ต้นแบบ หรือผลลัพธ์อื่นใดจากการนี้อันเป็นการดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน

2. กำหนดให้หน่วยงานให้ทุนของรัฐสามารถให้ทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมแก่หน่วยงานของรัฐ หน่วยงานภาคการศึกษา หน่วยงานภาคเอกชน หรือสถาบันวิจัยได้ และหน่วยงานผู้ให้ทุนสนับสนุนแก่หน่วยงานภาคเอกชนนั้น จะต้องพิจารณาว่าโครงการนั้นมีความเป็นไปได้สูงในการนำไปใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน หรือเป็นประโยชน์ต่อภาคการเกษตร สังคม ชุมชน และประชาชน

3. กำหนดให้หน่วยงานภาคเอกชนที่จะขอรับทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม จะต้องเป็นนิติบุคคลที่มีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละห้าสิบเอ็ดของทุนจดทะเบียน และมีสถานประกอบการตั้งอยู่ในประเทศไทย

4. กำหนดให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากสัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมตามพระราชบัญญัตินี้เป็นของผู้รับทุน โดยผู้รับทุนจะต้องรายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมให้ผู้ให้ทุนทราบก่อนดำเนินการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้ หากผู้รับทุนไม่ประสงค์ถือครองสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรม ให้ผู้รับทุนทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งความประสงค์ไม่ถือครองสิทธิไปยังผู้ให้ทุน และให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นของผู้ให้ทุน โดยการใช้ประโยชน์ในผลงานวิจัยและนวัตกรรมขึ้นอยู่กับการตกลงระหว่างผู้ให้ทุนและผู้รับทุนเป็นรายกรณี

5. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ เช่น กำหนดนโยบายหรือมาตรการที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมจากภาครัฐ และส่งเสริมและพัฒนาให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่เกิดจากการสนับสนุนทุนวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมจากหน่วยงานภาครัฐไปใช้ประโยชน์

6. กำหนดให้ผู้รับทุนซึ่งถือครองสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรม หรือผู้รับโอนสิทธิจากผู้รับทุน ไม่ว่าจะเป็นการโอนสิทธิมาแล้วกี่ทอดก็ตาม มิได้ดำเนินการใด ๆ หรือไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะมีการดำเนินการใด ๆ เพื่อนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในระยะเวลาสองปี นับแต่วันที่รายงานผลงานวิจัยและนวัตกรรมที่ค้นพบต่อผู้ให้ทุน ให้สิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมกลับไปเป็นของผู้ให้ทุน โดยผู้ให้ทุนอาจดำเนินการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรมต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผลงานวิจัยและนวัตกรรมกลับไปเป็นของผู้ให้ทุน

7. กำหนดให้ในภาวะสงครามหรือในภาวะฉุกเฉิน หรือมีความจำเป็นเพื่อการเยียวยาด้านสาธารณสุข หรือความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ หรือมีความจำเป็นเพื่อประโยชน์สาธารณะตามที่กฎหมายกำหนด รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการมีอำนาจออกคำสั่งใช้สิทธิในผลงานวิจัยใด ๆ ที่เกิดจากทุนสนับสนุนของรัฐก็ได้ โดยเสียค่าตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ผู้รับทุนซึ่งถือครองสิทธิในผลงานวิจัยและนวัตกรรม และต้องแจ้งให้ผู้รับทุนทราบเป็นหนังสือโดยไม่ชักช้า

8. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมภายใน 180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ในระหว่างที่ยังไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทำหน้าที่คณะกรรมการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมไป พลางก่อน

 

ขยายความ ในสภาพความเป็นจริงของประเทศไทย ฝ่ายต่างๆ  ที่เกี่ยวข้อง-ได้รับผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบจาก ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….   ฉบับนี้  ย่อมมีการเตรียมตัว  ประเด็นสำคัญคือ ความสมดุลระหว่างเทคนิคแห่งหลักการของกฎหมายกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย

พิจารณาด้านเทคนิคทางกฎหมาย ย่อมนำประเด็น “แต่ไม่รวมถึงเงินสนับสนุนที่ใช้เพื่อว่าจ้าง หรือร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ เทคโนโลยี ต้นแบบ หรือผลลัพธ์อื่นใดจากการนี้อันเป็นการดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน”  แต่ไม่รวมถึงเงินสนับสนุนที่ใช้เพื่อว่าจ้าง หรือร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนา หรือดำเนินการอื่นใดเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้ เทคโนโลยี ต้นแบบ หรือผลลัพธ์อื่นใดจากการนี้อันเป็นการดำเนินการตามภารกิจปกติของหน่วยงาน”   มาใช้ประโยชน์เพื่อให้ผู้ออกทุน-ออกเงิน สามารถพลิกแพลงเอกสารสัญญาต่างๆ  เพื่อให้สิทธิครอบครอง-กรรมสิทธ์-สิทธิบัตร-ลิขสิทธิ์ หรือใช้รูปแบบอื่น ๆ

หากพิจารณาด้านเจตนารมณ์ของกฎหมาย (แม้ยังไม่ได้เปิดเผยสิ่งทีเขียนไว้) ก็นำการแถลงข่าวมาใช้ได้นั่นคือ

 “ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยปลดล็อคให้ผู้ที่ทำการวิจัยและสร้างนวัตกรรมขึ้นมา สามารถมีสิทธิเป็นเจ้าของผลงานวิจัยของตัวเอง แทนที่สิทธิการเป็นเจ้าของจะตกกับผู้ที่ให้ทุนเหมือนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จนทำให้เกิดปัญหางานวิจัยอยู่บนหิ้งนำมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ไม่ได้ แต่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยส่งเสริมให้ผู้ที่ทำงานวิจัย สามารถผลิตงานวิจัยที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ได้”  (นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กันยายน .2561)

(ส่วนการตั้งกระทรวงกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม นั้น ก็รอและติดตามความคืบหน้า แต่คาดการณ์ว่า  ไม่น่ามีผลให้เกิดหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวงใหม่  และเมื่อติดตามการปรับปรุงกระบวนการศึกษาตั้งแต่อนุบาล ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา /ปริญญาตรี-ปริญญาโท ของหลายๆ ประเทศ  ย่อมเห็นความจำเป็นในการทำให้การบริหารจัดการ เรื่องการศึกษาในระบบภาครัฐควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเดียวกัน)

ในเรื่องกระตุ้นการวิจัยเอาสั้นๆ คือ หัวดีคิดเก่ง  ทำงานสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรม ประดิษฐ์สิ่งใหม่  แม้รับทุนสนับสนุนจากผู้อื่นก็สามารถรวยได้ มีสิทธิครอบครองส่งมอบได้ ขายต่อได้  แต่ก็ต้องดูว่า คสช.และครม.เอกจริงหรือไม่จากระยะเวลาที่ ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. ….   ฉบับนี้  ผ่านการพิจารณา 3 วาระจากสนช.และประกาศใช้เป็นกฎหมาย

นี่เป็นอีกหนึ่งมาตรการทางกฎหมายที่หวังผลให้ผลักดันไทยแลนด์ 4.0

#