โลกนี้เป็นของผู้เข้มแข็ง รับเหมารายใหญ่ยิ่งมายิ่งโต
  • 8 กันยายน 2018 at 10:30
  • 1323
  • 0

ตั้งแต่กลางปี 2561 เป็นต้นไปอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยควรก้าวสู่ช่วงจังหวะเวลาขยายตัว  กิจการรับเหมาก่อสร้างขนาดใหญ่-กลางและเล็กย่อมมีโอกาสดีทางธุรกิจมากน้อยแตกต่างกันไป  อย่างไรก็ตามมีภาษิตจีนเตือนใจว่า “อย่ากัดคำใหญ่เกินที่จะเคี้ยวกลืน”

การขยายตัวปีละ 7-9 % / อย่างนี้ต้องว่าดี

ข้อมูลอ้างอิงจากหลายๆ ฝ่าย อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้าง,สถาบันก่อสร้าง รวมถึงฝ่ายวิจัยของธนาคารและธุรกิจหลักทรัพย์ (เช่นฝ่ายวิจัยกรุงศรี) ประเมินอนาคตอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในปี 2561- 2563 ไปในทิศทางเดียวกันคือ เป็นช่วงเวลาขยายตัว โดยประเมินว่าขยายตัวเฉลี่ยปีละ  7 -  9 %

ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐเริ่มเดินหน้า  มีผลการประมูลเกิดขึ้น  มีการล้อมรั้วเริ่มต้นโยกย้ายสาธารณูปโภคอันเป็นขั้นต้นแรกของงานก่อสร้าง  ไปจนถึงเริ่มต้นก่อสร้าง ภาพสะท้อนของถนนพระรามเก้าและรามคำแหง/  ศรีนครินทร์และลาดพร้าว/ รามอินทราและแจ้งวัฒนะ เป็น “เงามืด” จากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก รถไฟฟ้าโมโนเรลสายสีเหลือง และโมโนเรลสายสีชมพู

ผลพวงต่อเนื่องคือการก่อสร้างของภาคเอกชนมีโอกาสพื้นตัวทั้งงานก่อสร้างจากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเส้นทางรถไฟฟ้า และพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก EEC

ก่อสร้างภาครัฐเป็นเรือธง

อุตสาหกรรมก่อสร้างในไทยในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และราว 10 ปีในอนาคต “เรือธง” ของอุตสาหกรรมนี้อยู่ที่งานก่อสร้างของภาครัฐ โดยงานก่อสร้างภาคเอกชน “แล่นตาม” หรือก้าวตามร่มเงาของงานก่อสร้างภาครัฐ  ภาพรวมทั่วประเทศแล้วสัดส่วนการลงทุนการก่อสร้างภาครัฐกับภาคเอกชนเฉลี่ยราว 53:47

ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน “ชุบสร้าง”  ทางกายภาพของประเทศ งานก่อสร้างภาครัฐมีบทบาทสำคัญเพื่อเตรียมความพร้อมทางกายภาพให้พื้นที่ต่างๆ  ดังเห็นได้ว่า งานก่อสร้างของภาครัฐส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่มีสัดส่วนราว 80% ของมูลค่าก่อสร้างงานภาครัฐทั้งหมด ตรงนี้จัดกลุ่มเป็นงานโยธา (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงกลุ่มผู้รับเหมางานโยธาที่มีงานล้นมือ)  ส่วนที่เหลือเป็นโครงการก่อสร้างอาคารของรัฐ ที่พักข้าราชการ (จัดกลุ่มเป็นงานอาคารที่ผู้รับเหมากลุ่มนี้งานน้อย เสียงก็ดังน้อยลง)  นอกจากนี้เป็นงานโครงการอื่นๆ เช่น โครงการการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค

ทั้งจากกลไกการแข่งขัน “ปลาใหญ่ได้เปรียบ” และระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆ  อาทิ การจัดชั้นผู้รับเหมา จึงเป็นปกติธรรมดาที่ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่มีความได้เปรียบในการแข่งขันเมื่อประมูลงานก่อสร้างของภาครัฐ  ความได้เปรียบดังกล่าวประกอบด้วย ความชำนาญเฉพาะด้านที่เข้ากับเงื่อนไขการเข้าประมูล,  ความพร้อมแห่งศักยภาพทางการเงิน  ความพร้อมทางด้านเครื่องจักรกลก่อสร้างและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง

ผู้รับเหมารายใหญ่ย่อมมีเครือข่ายผู้รับเหมาช่วง(Sub -contractors) contractors) contractors) ของตนเอง  การทำงานก่อสร้างจริงที่เกิดขึ้นจึงมีกิจการรับเหมาก่อสร้างที่เข้าไปเกี่ยวข้องทำงานรูปธรรมมากกว่าบริษัทที่ประมูลงานได้ “กัดเนื้อได้คำใหญ่ ให้มาแบ่งกันกิน”

ภาพรวมของงานก่อสร้างภาคเอกชนกระจุกตัวที่อุตสาหกรรมพัฒนาที่อยู่อาศัยและโครงการมิกซ์ยูสซึ่งคิดเป็น 57 %  ของมูลค่างานก่อสร้างภาคเอกชนทั้งหมด ดาวเด่นของการพัฒนาที่อยู่อาศัยคือโครงการคอนโดมิเนียม และโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่   งานก่อสร้างของภาคเอกชนที่มีสัดส่วนน่าสนใจคือโรงงานอุตสาหกรรมเฉลี่ยราว 11 % -ของมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชน  ประเมินได้ว่า ภาคอุตสาหกรรมเริ่มมีการขยายตัว สัดส่วนมูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนส่วนที่เหลือคือ พาณิชยกรรม 10 %  และการก่อสร้างประเภทต่างๆ  เช่น โรงพยาบาล  โรงแรม รวม เป็น 22 %

ธรรมชาติของธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังแบ่งกลุ่มได้อีกว่า  ชำนาญงานก่อสร้างของภาครัฐ หรืองานก่อสร้างภาคเอกชน  แม้ว่ากิจการรับเหมาก่อสร้าง “ไม่เกี่ยงงาน” ก็ตาม

นอกจากนี้ยังมี “ติ่งงานก่อสร้าง”  ที่เห็นแนวโน้มสดใสนั่นคือ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน พม่า ลาว กัมพูชาและเวียดนาม ที่ขยายตัว ซึ่งแน่นอนว่าการก่อสร้างภาคเอกชนในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวย่อมขยายตัวตามมา  กิจการรับเหมาของไทยจำนวนหนึ่งได้เข้าไปทำงานในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว

ก่อสร้างดีก่อน เศรษฐกิจดีตาม

ในช่วงเวลา4-5 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนก่อสร้างในไทยมีสัดส่วนเฉลี่ย 8.4 % ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (Gross Domestic Product: GDP)  ถือว่าเพิ่มขึ้นจากช่วงตกต่ำก่อนหน้านั้นที่มีสัดส่วนราว 5 % ของ GDP.

นอกจากนี้อัตราผลทวีคูณทางเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) ของอุตสาหกรรมก่อสร้างได้รับการประเมินที่สูงอยู่ระหว่าง 7 -12 เท่าจากมูลค่าการก่อสร้าง  ตรงนี้ต้องเน้นว่ายังไม่รวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นหลังจากโครงการก่อสร้างต่างๆ ทั้งของภาครัฐและภาคเอกชนแล้วเสร็จ  การใช้ประโยชน์ใช้สอยของพื้นที่ต่างๆ เพิ่มขึ้น  ศักยภาพทางกายภาพของพื้นที่ในโครงการและแวดล้อมโครงการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมหาศาล

ผลทวีคูณทางเศรษฐกิจของมูลค่าก่อสร้างพิจารณาย้อนไปสู่โครงสร้างต้นทุนของธุรกิจก่อสร้าง นั่นคือต้นทุนส่วนใหญ่สัดส่วนประมาณ 60% -ของต้นทุนรวม มาจากค่าวัสดุก่อสร้าง เหล็ก  ปูนซิเมนต์ และวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ต้นทุนอันดับต่อมาคือ ค่าจ้างแรงงานราว 20 % ตามด้วยค่าใช้จ่ายอื่นๆ 20%

โครงการก่อสร้างมีการจ้างงานและใช้วัสดุก่อสร้างในประเทศเป็นสัดส่วนที่สูง แรงงานในพื้นที่ก่อสร้างทำให้เกิดชุมชนย่อมๆ ขึ้นระหว่างการก่อสร้าง มีการจับจ่ายใช้สอยประจำวันด้านอาหารการกิน และอื่นๆ  การซื้อวัสดุก่อสร้างทำให้โรงงานอุตสาหกรรมผลิตวัสดุก่อสร้างมียอดขายเพิ่มขึ้นตั้งแต่วัสดุก่อสร้างหลักอย่างปูนซิเมนต์ และเหล็กเส้นก่อสร้าง  จนถึงวัสดุก่อสร้างอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง  งานก่อสร้างเพิ่มความต้องการใช้เครื่องจักรกลก่อสร้าง  น้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องจักร  เป็นต้น

 

โลกนี้ (โลกหน้า) เป็นของผู้เข้มแข็ง

“เข้มแข็งกว่าย่อมได้เปรียบ”  ไมว่าปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมเป็น เร็วกว่า  มีข้อมูลมากกว่า  มีสายสัมพันธ์ดีกว่า  แต่ก็ไปรวมความรวมศูนย์ที่เข้มแข็งกว่า

ตรงนี้ความเป็นจริงของโลกนี้และโลกหน้า ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีประมาณ 900,000 กว่าราย   ในจำนวนนี้เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ราวๆ  300 ราย แต่มีครองคลาดก่อสร้างได้มากถึง 42 % -ของมูลค่าการก่อสร้างทั้งหมด บริษัทก่อสร้างขนาดใหญส่วนมากเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ

กล่าวเฉพาะข้อมูลของบริษัทรับเหมาก่อสร้างที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์  บริษัทขนาดใหญ่ก็ยึดครองตลาดนั่นคือ กิจการก่อสร้างรายใหญ่ 3  อันดับแรกได้แก่ บมจ.อิตาเลียนไทย ดิเวลอปเมนต์ บมจ.ช.การช่าง และบมจ.ชิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น มีส่วนแบ่งตลาด รวมกันกว่า 50% ของรายได้รวมในกลุ่มบริษัทก่อสร้างในตลาดหลักทรัพย์

นั่นหมายความว่า เมื่ออุตสาหกรรมก่อสร้างขยายตัว  รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ย่อมขยายตัวมากกว่า  เว้นเสียว่า รับเหมารายกลางและรายเล็ก มีประสิทธิภาพการบริหารจัดการมากกว่า  อัตราการขยายตัวจึงสูงกว่า  แต่เมื่อเทียบกับวเงินรวมของมูลค่างานก่อสร้างในมือแล้ว ก่อสร้างรายใหญ่ยังยืนอยู่ในสถานะเป็นผู้ชนะ

อนาคตสดใส-(หุ้นรับเหมาเข้าซื้อได้)

อยากเป็นเจ้าของกิจการที่ไม่ต้องปวดหัวในการบริหารจัดการนั้นไม่ยาก  เลือกลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯก็ถือว่าเป็น “เจ้าของกิจการ” ได้

โฟกัสที่อุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง  นักลงทุนในตลาดหุ้นจำนวนไม่น้อยกล่าวว่า  หุ้นรับเหมานั้นเล่นยาก เล่นกลุ่มอื่นดีกว่า  แต่นักลงทุนหุ้นจำนวนหนึ่งก็มีจังหวะทำกำไรจากหุ้นรับเหมาก่อสร้างอยู่เนื่องๆ

หลักการประเมินเริ่มจากวิเคราะห์เศรษฐกิจและวิเคราะห์อุตสาหกรรมเสมอ  เหตุผลหลักที่บรรดานักวิเคราะห์ประเมินว่าอุตสาหกรรมก่อสร้างในช่วงปี 2561 – 2563 นั้นดีวันดีคืนมาจากการเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐที่มีประมาณ 61 โครงการ วงเงินลงทุนรวม 3.2 ล้านล้านบาท ภายในปี 2569  รวมทั้งมีแรงหนุนส่งจากการลงทุนก่อสร้างภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น

รูปธรรมโครงการก่อสร้างภาครัฐต่อไปนี้ นอกจากชี้ให้เห็นภาพรวมของอุตสาหกรรมที่ดีแล้วยังนำไปเชื่อมโยงกับกิจการรับเหมาก่อสร้าง(รับเหมาช่วง)ที่เกี่ยวข้อง ธุรกิจจำหน่ายวัสดุก่อสร้าง กระทั่งการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่เชื่อมโยง

ตัวอย่างคือ งานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู (มีนบุรี-แคราย) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สาโรง)

รถไฟทางคู่ระยะแรกจานวน 5 เส้นทาง ที่มีความคืบหน้าในการก่อสร้างมากขึ้น

รถไฟทางคู่ที่เร่งประกวดราคา าในช่วงปี 2561-2562  เพราะรถไฟทางคู่ต้องเร่งสร้างให้ตลอดเส้นทางครบทุกสาย

การก่อสร้างถนน  เช่น ทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกฯ ด้านตะวันตก

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน (ดอนเมือง – สุวรรณภูมิ -.อู่ตะเภา)

งานพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3

ส่วนงานก่อสร้างภาคเอกชนนั้นเกาะติดไปกับการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐ (Crowding  in effects) ประเมินว่า มูลค่าก่อสร้างของภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไปในอัตรา 3-5 % ปีต่อปี มีมูลค่า 542  -553  พันล้านบาท ในปี 2561 มีการประเมินว่าในช่วงปี 2562 - 2563 จะขยายตัวต่อเนื่องในอัตรา 4 - 7 % ต่อปี

แล้วบริษัทรับเหมารายไหนดี จุดเน้นอยู่ที่ ผู้รับเหมาที่เน้นรับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐกลุ่มที่มีงานในมือ (Backlog) เพิ่มขึ้น  ให้ดูในช่วง 2561 -2563  ผู้รับเหมากลุ่มนี้ย่อมมีรายได้ดีขึ้น แม้ว่าต้องถ่วงดุลกับ “ความล่าช้า” ของโครงการภาครัฐ

เมื่อโลกนี้เป็นของผู้เข้มแข็ง  ก็ต้องทำให้ตนเองเข้มแข็ง  ตราบใดที่กติกาธรรมชาติเป็นเช่นนี้

#