ภาระหน้าที่ใหม่กรมบัญชีกลาง

 เมื่อ “ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .......”  มีผลบังคับใช้  กรมบัญชีกลางมีภาระหน้าที่สำคัญ เป็นแกนกลางที่ดูแลเรื่องการประมูลงานจัดซื้อจัดจ้าง  เรื่องนี้ดูจากตัวบทในร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวที่ระบุไว้ชัดเจน


ข้อกำหนดเรื่องราคากลาง

“ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .......” ในหมวด 3  ราคากลางสำหรับงานก่อสร้างและคุณสมบัติของผู้รับเหมาก่อสร้างที่จะเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้าง กำหนดไว้ดังนี้

“มาตรา 43 ในการคำนวณราคากลางสำหรับงานก่อสร้าง ให้หัวหน้าส่วนราชการแต่งตั้งข้าราชการของส่วนราชการนั้นเป็นคณะกรรมการคำนวณราคากลาง ประกอบด้วย ประธานกรรมการหนึ่งคน และกรรมการอื่นอีกไม่น้อยกว่าสองคน ในกรณีที่เห็นสมควร จะแต่งตั้งบุคคลอื่นซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับพัสดุที่จะจัดซื้อจัดจ้างร่วมเป็นกรรมการด้วยก็ได้

“ให้คณะกรรมการตามวรรคหนึ่งคำนวณมูลค่าของงานก่อสร้างที่จะจัดซื้อจัดจ้างตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนด และเสนอผลการดำเนินการต่อหัวหน้าส่วนราชการเพื่อให้ความเห็นชอบ เมื่อหัวหน้าส่วนราชการให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ส่วนราชการประกาศมูลค่าของงานก่อสร้างที่ได้จากการคำนวณในประกาศเชิญชวนผู้รับเหมาก่อสร้างให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างด้วย

“ในกรณีที่ส่วนราชการไม่อาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางได้ ให้ขอยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางโดยให้ชี้แจงเหตุผลความจำเป็นโดยละเอียด”

 

กรมบัญชีกลางบทบาทนายทะเบียน

บทบาทหน้าที่ของกรมบัญชีกลางที่ต้องเป็นนายทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างกำหนดไว้ดังนี้

“มาตรา 44 ผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างของส่วนราชการต้องเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลางตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนด โดยจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทุกรายมีสิทธิขอขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลา

“ให้ส่วนราชการประกาศเงื่อนไขตามวรรคหนึ่งในประกาศเชิญชวนผู้รับเหมาก่อสร้างให้เข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างด้วย

“ให้กรมบัญชีกลางประกาศรายชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง และให้ปรับปรุงความถูกต้องของข้อมูลทุกทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงข้อมูล

 

การร่วมทุน – ร่วมค้า  ผู้รับเหมาหลักต้องขึ้นทะเบียนก่อน

งานรับเหมาที่เป็นโครงการขนาดใหญ่มาก  หรือเมกะโปรเจค  ผู้รับเหมามักมีหลายรายร่วมกัน ในเรื่องเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนมีการกำหนดไว้ดังนี้

“มาตรา 45  ในกรณีผู้รับเหมารวมกลุ่มกันเพื่อเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างของส่วนราชการในรูปแบบกิจการร่วมลงทุน (Consortium) กิจการร่วมค้า (Joint venture) หรือรูปแบบอื่นที่คณะกรรมการนโยบายประกาศกำหนด หากผู้รับเหมาร่วมกันรายหนึ่งหรือหลายรายที่เป็นผู้รับผิดชอบหลัก (Lead firm) ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมบัญชีกลางตาม

หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างที่คณะกรรมการกำกับราคากลางกำหนดแล้ว ให้ถือว่ากลุ่มผู้รับเหมานั้นเป็นผู้มีคุณสมบัติเข้าร่วมการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างของส่วนราชการแล้ว”

ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างเช่นนี้ เป็นที่คาดหวังกันว่า  เมื่อหน่วยงานเจ้าของโครงการ กับหน่วยงานดูและการประมูล  และหน่วยงานตรวจสอบรับงาน แยกออกจากกัน ไม่ขึ้นต่อกัน  ย่อมมีผลดรีในการควบคุมป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

ดังนั้นต้องติดตามว่าเดือนเมษายนนี้   “ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .......”    จะได้รับการบรรจุเป็นระเบียบวาระของสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือไม่  และผ่านออกเป็นกฎหมายบังคับใช้รองรับงานประมูลอีกจำนวนมาก  ทั้งงานใหญ่ –เมกะโปรเจค  เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย  และงานประจำในลักษณะการซ่อมบำรุงถนนหนทาง สะพาน อุโมงค์  ท่าเรือ สนามบิน  รวมทั้งสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ที่หน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของหรือรับผิดชอบดูแล

#

บัญชีสยาม

4  เมษายน  2558