เร่งจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว และทำประกันสุขภาพ

แรงงานต่างด้าวยังเป็นประเด็นที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างต้องเคร่งครัดในการบริหารจัดการอย่างละเอียด ประมาทไม่ได้ ทั้งเพื่อสร้างความมั่นคงมีเสถียรภาพด้านกำลังแรงงานเพื่อให้งานแล้วเสร็จตามสัญญา

ความพร้อมของหน่วยงานกระทรวงมหาดไทย

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติ เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2558 เห็นชอบแนวทางการจัดระบบแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยมีสาระสำคัญในการจัดระบบแรงงานต่างด้าว ดังนี้

1. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการจดทะเบียนฯ ที่ศูนย์ One Stop Service เมื่อปีที่ผ่านมา และผ่านการตรวจสัญชาติแล้ว ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558จะได้รับการตรวจ ลงตรา และได้รับอนุญาตทำงานจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2559

2. กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการจดทะเบียนฯ ที่ศูนย์ One Stop Service เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่ได้เข้ารับการตรวจสัญชาติ ภายในวันที่ 31 มีนาคม 2558 จะต้องมารายงานตัวเพื่อรับบัตรประจำตัวใหม่ และ

3.กลุ่มแรงงานต่างด้าวในกิจการประมงทะเล ซึ่งเป็นกลุ่มที่จะเปิดให้จดทะเบียนใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2558 และสิ้นสุดการดำเนินการได้ตามความเหมาะสม

การดำเนินการดังกล่าวต้องให้แล้วเสร็จไม่เกินวันที่ 30 มิถุนายน 2558 โดยคณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยจัดเตรียมสถานที่ในการจัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) และเป็นหน่วยงานหลักในการปฏิบัติงานร่วมกับกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยกำหนดเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service ในวันที่ 1 เมษายน 2558

เพื่อให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีมอบหมาย ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยได้เตรียมความพร้อมในทุกๆ ด้านอย่างเต็มที่ โดยได้มีการซักซ้อมถึงแนวทางการปฏิบัติงานร่วมกับทุกจังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านบุคลากร สถานที่ ระบบอุปกรณ์เพื่อรองรับการปฏิบัติงาน รวมทั้งให้จังหวัดชี้แจงทำความเข้าใจ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การปฏิบัติงานจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวในวันที่ 1 เมษายนนี้ เป็นไปอย่างประสิทธิภาพ


นับหนึ่งจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว

ทั้งนี้เริ่มตั้งแต่วันที่  1  เมษายน  2558 กำหนดเป็นวันแรกของการเปิดจดทะเบียนฯ  ตามแผนงานมีการเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ One Stop Service รวมจำนวน 81 แห่งทั่วประเทศ แต่ละจังหวัดจะกำหนดสถานที่ตามความเหมาะสมและจำนวนของแรงงานต่างด้าวที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ ซึ่งในบางจังหวัดอาจมีมากกว่า 1 แห่ง ในส่วนของจังหวัดที่มีแรงงานต่างด้าวอาศัยอยู่จำนวนมาก อาทิ

1.กรุงเทพมหานครมีศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแล้วจำนวน 2 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์กีฬารามอินทรา เขตบางเขน และศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติบางมด เขตทุ่งครุ  รวมทั้งเปิดเพิ่มที่ ศูนย์ป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอนเขตประเวศ

2. จังหวัดชลบุรี เปิดจดทะเบียนฯ 2 แห่ง ได้แก่ ศาลาประชาคมแหลมฉบัง และศาลาประชาคมอ่าวอุดม อำเภอศรีราชา

3. จังหวัดสมุทรสาคร เปิดจดทะเบียนฯ ณ ศูนย์บริการชุมชนโครงการบ้านเอื้ออาทรท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร

4. จังหวัดสมุทรปราการ เปิดจดทะเบียนฯ ณ ศูนย์เบญจบูรพาสุวรรณภูมิ อำเภอเมืองจังหวัดสมุทรปราการ และ

5. จังหวัดระยอง เปิดจดทะเบียนฯ ณ หอประชุมหลังศาลากลางจังหวัดระยอง อำเภอเมืองระยอง

ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า การเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา ซึ่งได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว เป็นมาตรการหนึ่งในการจัดระบบแรงงานต่างด้าวในประเทศไทย เพื่อป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์และปัญหาแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ลดช่องว่างที่อาจนำไปสู่การแสวงหาประโยชน์จากกลุ่มแรงงานต่างด้าวเหล่านี้ และเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งหมดนี้เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อการจ้างแรงงานต่างด้าวและ แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ตามนโยบายของรัฐบาล ในส่วนของกระทรวงมหาดไทยจะร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานอื่นๆ ดำเนินการให้เป็นไปตามที่รัฐบาลได้มอบหมายและจะดำเนินการทุกมาตรการเพื่อให้การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม


การเตรียมเอกสาร

นายบรรจง สุขดี รองปลัดกรุงเทพมหานครเป็นประธานการประชุมแนวดิ่งฝ่ายทะเบียน 50 สำนักงานเขต ซึ่งในครั้งนี้ได้มอบแนวทางในการเตรียมความพร้อมในการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว ตามมติของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้กรุงเทพมหานครเปิดศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ที่อาคารศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมหนองบอน ศูนย์กีฬาหนองบอนเขตประเวศ ติดสวนหลวง ร.9 เพื่อให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา มารายงานตัวระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2558 ตั้งแต่เวลา 08.00-19.00 น. (เปิดเฉพาะวันทำการปกติ) เพื่อขออนุญาตผ่อนผันอยู่ในประเทศไทยได้ชั่วคราวในระหว่างที่รอพิสูจน์สัญชาติต่อไปอีกจนถึง 31 มีนาคม 2559

หลักฐานที่ใช้ประกอบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว มีดังนี้

1.แบบกรอกข้อมูลลงทะเบียนประวัติของคน ซึ่งไม่ใช่สัญชาติไทย

2.สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนนายจ้าง

3.สำเนาทะเบียนบ้านนายจ้าง

4.สำเนาหนังสือจดทะเบียนนิติบุคคล (กรณีนายจ้างเป็นนิติบุคคล)

5.หนังสือมอบอำนาจกรณีนายจ้างไม่ได้ไปด้วยตนเอง พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้รับมอบอำนาจค่าธรรมเนียมกรณีผู้ขอใบอนุญาตทำงานชั่วคราว 1,305 บาท กรณีผู้ติดตามหรือบุตร 1,080 บาท สามารถดาวน์โหลดคำขอลงทะเบียนแรงงานต่างด้าวได้ทางเว็บไซต์ของกรมการจัดงาน กระทรวงแรงงาน www.doe.go.th

ควรเร่งดำเนินการ

เรื่องการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างชาติ ควรต้องรีบดำเนินการ หากมีปัญหาใด ๆ  เกิดขึ้นย่อมมีเวลาแก้ไขได้  ดีกว่าไปดำเนินการในช่วงใกล้หมดเวลาและฉุกละหุกหากเรื่องไม่เรียบร้อย ไม่ว่าด้วยเหตุปัจจัยใด

เมื่อขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าว ควรดำเนินการประกันสุขภาพแรงงานต่างด้าวให้เรียบร้อยในวาระโอกาสเดียวกันด้วย

ทั้งนี้สำนักงานปกครองและทะเบียน กทม. ได้จัดทำข้อมูลสถิติการรับจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อปี พ.ศ. 2557 โดยแยกเป็นการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,588,114 คน แยกเป็นแรงงาน 1,496,308 คน และผู้ติดตาม 91,806 คน โดยมีแรงงานต่างด้าวที่ผ่านการตรวจพิสูจน์สัญชาติแล้ว จำนวน 146,934 คน ในส่วนของกรุงเทพมหานครมีแรงงานต่างด้าวที่มาลงทะเบียน จำนวนทั้งสิ้น 318,912 คน แยกสัญชาติ ได้ดังนี้ สัญชาติเมียนมาร์ มีแรงงานจำนวน 101,134 คน ผู้ติดตามจำนวน 1,290 คน รวมทั้งสิ้น 102,424 คน สัญชาติลาว มีแรงงานจำนวน 67,920 คน ผู้ติดตามจำนวน 677 คน รวมทั้งสิ้น 68,597 คน และ สัญชาติกัมพูชา มีแรงงานจำนวน 142,125 คน ผู้ติดตามจำนวน 5,766 คน รวมทั้งสิ้น 147,891 คน

แรงงานต่างด้าวยังมีความจำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอุตสาหกรรมอื่น ๆ ของประเทศไทยไปอีกนาน ดังนั้นจึงต้องเอาใจใส่พัฒนากระบวนการจดทะเบียนฯ  และการดูแลด้านต่าง ๆ ให้ดี  ได้ผลลัพธ์ที่ดีทั้งประสิทธิภาพการทำงาน และการดูแลแรงงานเพื่อมิให้เปิดปัญหาต่าง ๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับการใช้ “แรงงานทาส-การค้ามนุษย์”  ที่เป็นเรื่องอ่อนไหว และมีผลกระทบอื่น ๆ ตามมา

#

บัญชีสยาม