อาคารเขียว การก่อสร้างสีเขียว แง่มุมการลดใช้รถยนต์ส่วนตัว พื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ

การก่อสร้างสีเขียว  กับอาคารเขียวเติบโตก้าวหน้าควบคู่กันเสมอ  ไม่มีเจ้าของโครงการ นักลงทุนที่ต้องการสร้างอาคารเขียว ย่อมยากที่จะมีการก่อสร้างสีเขียว  เช่นเดียวกันหากไม่มีการก่อสร้างสีเขียวรองรับ  อาคารเขียวก็เกิดขึ้นไม่ได้   อย่างไรก็ตามมีประเด็นสำคัญอีกหลายเรื่องที่ไม่ได้เกี่ยวกับการก่อสร้างสีเขียวโดยตรง  แต่เป็นข้อบังคับที่ “อาคารเขียว”  ต้องคุณสมบัติครบถ้วน


มุ่งมั่นลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว

วัตถุประสงค์สำคัญของการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวคือ เพื่อลดมลภาวะและผลกระทบจากการพัฒนาที่ดิน อันเนื่องมาจากการใช้รถยนต์และจักรยานยนต์ส่วนตัว

เรื่องนี้ย้อนแย้งกันนั่นคือ  การพัฒนาที่ดินมีความจำเป็นยิ่งสำหรับการพัฒนาเมือง  เพื่อเพิ่มประโยชน์ใช้สอยที่ดิน และอำนวยความสะดวกให้การอยู่อาศัยในเมือง   แต่ขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงการลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว  อันหมายถึงการสร้างเงื่อนไขโอกาสที่ดี มีปัจจัยที่เหมาะสมในการใช้บริการขนส่งสาธารณะ

สิ่งที่ต้องดำเนินการเพื่อเข้าหลักเกณฑ์อาคารเขียว พิจารณาในประเด็นการเลือกที่ตั้งโครงการและ/หรือ จัดที่จอดรถภายในโครงการที่มีลักษณะดังนี้

ข้อแรก เดินสู่บริการขนส่งมวลชนระบบรางได้   ประเด็นนี้พิจารณาได้จากการเลือกที่ตั้งอาคารภายในระยะ 500 เมตร (วัดระหว่างประตูทางเข้าอาคารหลักกับบันไดเข้าสู่การขนส่งมวลชนระบบรางอย่างน้อยหนึ่งสถานี  หรือเจ้าของอาคารมีบริการรถรับส่งไปยังสถานีโดยต้องมีบริการรับส่งได้ร้อยละ 25 ของผู้ใช้อาคารต่อวัน  รถรับส่งต้องเป็นรถประเภท eco car CNG Hybrid E20+ ไฟฟ้า หรือรถประเภทอื่น ๆ ที่ลดการใช้น้ามันและก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสาคัญ

ข้อที่สอง เดินสู่ป้ายรถประจำทางได้ เช่นกันประเด็นนี้วัดหน่วยระยะทางได้คือ การใช้ระบบขนส่งมวลชนทางถนนนั้นต้องเลือกที่ตั้งอาคารภายในระยะ 500 เมตร จากป้ายรถประจำทางหรือสถานีบริการรถโดยสารประจำทางหรือรถโดยสารประเภทอื่น ๆ ที่มีอย่างน้อย 2 สายบริการ ผู้ใช้อาคารสามารถเข้าถึงได้โดยสะดวกหรือมีบริการรถรับส่งไปยังสถานีและต้องมีบริการรับส่งได้ร้อยละ 25 ของผู้ใช้อาคารต่อวัน รถรับส่งต้องเป็นรถประเภท Eco car CNG Hybrid E20+ ไฟฟ้า หรือรถประเภทอื่น ๆ ที่ลดการใช้น้ามันและก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสาคัญ

ข้อที่สาม ส่งเสริมการใช้รถจักรยาน  พิจารณาจากที่จอดรถจักรยานและสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ กล่าวคือ ต้องมีระบบที่จอดจักรยานอย่างดีพอ เช่น จัดที่จอดรถจักรยานเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 ของผู้ใช้อาคารประจำและผู้ใช้อาคารชั่วคราวสูงสุดของวัน เช่น แขก หรือ ลูกค้า เป็นต้น สิ่งอำนวยความสะดวกประกอบต้องจัดให้มีห้องอาบน้ำไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.5 ของจำนวนพนักงานประจำในระยะห่างไม่เกิน 80 เมตร จากบริเวณทางเข้าอาคาร กรณีอาคารพักอาศัย ไม่ต้องมีห้องอาบน้ำ แต่ให้เพิ่มพื้นที่จอดรถจักรยานเป็นไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของผู้พักอาศัย  โดยคิดจำนวนจักรยานหนึ่งคันต่อหนึ่งคน

ข้อที่สี่ สร้างระบบที่จอดรถประสิทธิภาพสูง กำหนดที่จอดรถของอาคารให้เป็นที่จอดรถ Eco car CNG Hybrid E20+ ไฟฟ้า หรือรถประเภทอื่น ๆ ที่ลดการใช้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญ หรือที่จอดรถส่วนบุคคลที่ใช้ร่วมกัน (carpool) ในพื้นที่ที่ใกล้ทางเข้าอาคารที่สุด อย่างน้อยร้อยละ 5 ของจำนวนที่จอดรถทั้งหมดของอาคาร

ข้อที่ห้า สะดวกในการใช้ระบบขนส่งมวลชนประเภทอื่น ๆ เช่น ทางน้ำ หรือ ระบบที่เป็นระบบขนส่งมวลชนที่ยั่งยืน เรื่องนี้ใช้หลักเกณฑ์ระยะห่างระหว่างประตูใหญ่อาคารหรือโครงการกับการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชน 500  เมตรเช่นกัน

ข้อเท็จจริงที่ต้องมีพร้อมกันคือ  ทางภาครัฐทั้งส่วนกลางและองค์การปกครองท้องถิ่นต้องสร้างระบบขนส่งมวลชนที่มีมากพอรองรับด้วย   ในกรณีสำหรับกรุงเทพฯปริมณฑลแล้วต้องกล่าวย่างตรงไปตรงมา อย่างไม่มีมากพอ


พื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ

หลักเกณฑ์คือ อาคารเขียวต้องมีพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของพื้นที่ฐานอาคารหรือ 20% ของพื้นที่โครงการ   วัตถุประสงค์คือออกแบบให้มีสัดส่วนพื้นที่เปิดโล่งมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสการมีพื้นที่สีเขียว เพิ่มแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ ลดปัญหาน้ำท่วม ลดปัญหาปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) และเพิ่มพื้นที่กิจกรรมสาธารณะภายนอกอาคาร

สิ่งที่ต้องดำเนินการคือ ต้องออกแบบให้มีพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ (Ecological Open Space) ให้มีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 25% ของพื้นที่ฐานอาคาร (Building Footprint) พื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศต้องมีพื้นที่สีเขียวอย่างน้อยร้อยละ 40 ของพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ (นับรวมพื้นที่บ่อน้ำลักษณะธรรมชาติที่มีการจัดพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจโดยรอบ) และต้องไม่ใช้พื้นที่สาหรับรถยนต์หรือที่จอดรถยนต์ พื้นที่ดาดแข็งสามารถนับเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศได้ หากกิจกรรมบนพื้นที่ดาดแข็งเป็นไปเพื่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ใช้งาน อาทิเช่น ทางเดินเท้า ลานกิจกรรม เป็นต้น

การดำเนินงานสำคัญเริ่มตั้งแต่  สำรวจที่ดินเพื่อบ่งชี้องค์ประกอบต่าง ๆ ที่สามารถนำมาวางแผนการใช้ที่ดินอย่างเหมาะสม ควรวางตำแหน่งตัวอาคารลงบนที่ดินอย่างเหมาะสม หรือออกแบบอาคารให้มีพื้นที่คลุมดินน้อยที่สุด หลีกเลี่ยงการแผ่อาคารจนเต็มพื้นที่ดิน หลีกเลี่ยงการมีที่จอดรถบนดินที่แผ่เต็มพื้นที่ดิน แต่ควรซ้อนชั้นจอดรถหรือทำที่จอดรถใต้ดิน พิจารณาการจัดวางพื้นที่สีเขียวภายในพื้นที่เปิดโล่งให้ได้ประสิทธิภาพ  ไปจนถึงการใช้พื้นที่หลังคาเป็นพื้นที่เปิดโล่งเชิงนิเวศ


เรื่องของต้นไม้

อาคารเขียวต้องมีต้นไม่เป็นตัวช่วยทำสคัญ  หลักการคือต้องมีต้นไม้ยืนต้น 1 ต้นต่อพื้นที่เปิดโล่ง 100 ตารางเมตร  และต้องไม่ย้ายไม้ยืนต้นมาจากที่อื่น  (ยกเว้นไม้ยืนต้นปลูกขาย)

วัตถุประสงค์สำคัญคือ ปรับปรุงสภาพอากาศจุลภาค (Microclimate) ให้เหมาะสม เพื่อให้อาคารมีสภาพแวดล้อมที่ดี ประหยัดพลังงาน ลดปรากฏการณ์เกาะความร้อน (Urban Heat Island) และส่งเสริมการอยู่อาศัยที่เป็นมิตรระหว่างมนุษย์และสัตว์ตลอดจนสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ

สิ่งที่ต้องดำเนินการอย่างเข้มงวดคือ ต้องมีพื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นไม่น้อยกว่า 1 ต้น ต่อพื้นที่เปิดโล่ง 100 ตารางเมตร   ประสิทธิภาพการปลูกต้องทำให้มีร่มเงาปกคลุมอย่างคงทนถาวรภายใน 5 ปีแรก

กรณีมีต้นไม้อยู่แล้ว  ต้องรักษาต้นไม้เดิม และ/หรือ ปลูกไม้ยืนต้นเพิ่มเติม ต้นไม้นั้นต้องมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของทรงพุ่มเมื่อโตเต็มที่ไม่น้อยกว่า 4.5 เมตร หรือสูงเกินกว่า 6 เมตร และต้องไม่ใช่ต้นไม้ที่ย้ายโดยการขุดล้อมมาจากพื้นที่อื่นเพื่อนำมาปลูกในโครงการ ยกเว้นต้นไม้ที่มีการจำหน่ายอย่างถูกกฎหมายหรือที่เพาะขึ้นจากเรือนเพาะชำเท่านั้น

แนวทางการดำเนินการ  ต้องทำให้ร่มเงาพื้นที่ดาดแข็งภายนอกอาคารด้วยพืชพรรณธรรมชาติขนาดกลาง/ใหญ่ เพื่อก่อให้เกิดสภาพอากาศจุลภาคที่ดี เอื้อต่อการประหยัดพลังงาน การบรรเทาปรากฏการณ์เกาะความร้อนในเมืองจากการพัฒนาโครงการที่มีการใช้ไม้ยืนต้นในการบังเงาพื้นที่ดาดแข็งร่วมกับการใช้วัสดุปูพื้นดาดแข็งกลางแจ้งที่มีค่าการสะท้อนรังสีดวงอาทิตย์สูง เพื่อลดการดูดซับความร้อนจากรังสีดวงอาทิตย์

คำตามก็คือ  สำนักงานของกิจการรับเหมาก่อสร้าง  สำนักงานของธุรกิจต่าง ๆ ที่แสดงตนรับผิดชอบต่อสังคมผ่านกิจกรรมต่าง ๆ  ได้ “สร้างบ้าน”  ของตนเอง  สร้างอาคารสำนักงานของตนเองให้มีคุณสมบัติอาคารเขียวมากน้อยเพียงใด

#

อเนก  ทรรศนาการ