เปิดมิติใหม่การสร้างเมืองใหญ่ทุกภูมิภาคทั่วไป
  • 12 กันยายน 2018 at 09:29
  • 891
  • 0

การบริหารจัดการเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดิน  การบริหารจัดการเรื่องการคมนาคมขนส่ง รวมไปถึงการบริหารจัดการเรื่องผังเมือง เพื่อสร้างสมดุลระหว่างศักยภาพของเมืองที่ควรเพิ่มขึ้นอย่างสอดคล้องกับการเติบโตขยายตัวของพื้นที่เมือง  ภาพแห่งปัญหาที่เห็นจากเมืองใหญ่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่ศักยภาพของเมือง ศักยภาพการทำงานของประชากรเมืองลดลง  คุณภาพชีวิตคนเมืองลดลง  อันเนื่องการปัญหาการจราจรคิดขัดไม่คล่องตัว  เป็นปัญหาใหญ่ทีการบริหารจัดการเมืองใหญ่เกิดใหม่ในทุกภาคของประเทศต้องเร่งแก้ไข

ในเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในพื้นที่เมืองใหญ่

ผ่านด่านสำคัญมติคณะรัฐมนตรี

กลุ่มบุคคลที่มีอำนาจสูงสุดในการบริหารจัดการประเทศคือ คณะรัฐมนตรีไม่ว่ามาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยหรือการรัฐประหารยึดอำนาจ  ระบบราชการไทยใช้การบริหารจัดการผ่านคณะรัฐมนตรีเพื่อสู่กระทรวงและหน่วยงานต่างๆ ในการบริหารจัดการ กำกับดูแลโดยรัฐมนตรีว่าการและรัฐมนตรีช่วยว่าการแต่ละกระทรวง (ในกรณีไม่มีคณะรัฐมนตรี*/หลังรัฐประหารช่วงสั้นๆ คณะรัฐประหารในชื่อต่างๆ บริหารจัดการผ่านปลัดกระทรวงและผู้บริหารสูงสุดของหน่วยงานอิสระไม่สังกัดกระทรวง และหน่วยงานราชการอื่นๆ)

ความคืบหน้าสำคัญของรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในหัวเมืองใหญ่ต่างๆ คือมติคณะรัฐมนตรีว่าที่  11 กันยายน 2561  เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. ....   ในเรื่องนี้คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วดำเนินการต่อไปได้ และให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา คือกำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.)ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดพังงา และจังหวัดภูเก็ต เพิ่มเติมจากปัจจุบันที่สามารถดำเนินกิจการได้เพียงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเท่านั้น อันเป็นการเพิ่มรูปแบบการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะในเขตเมือง และขยายขีดความสามารถในการรองรับปริมาณผู้โดยสารของท่าอากาศยานในภูมิภาค

(ขยายความตรงนี้ ข้อแรกเป็นการขยายบทบาท เพิ่มอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบของรฟม. ให้มากกว่าพื้นที่กทม.และปริมณฑล  อีกข้อหนึ่งการอนุมัติของครม.ดังกล่าวจัดเป็น 2 โครงการ หนึ่งโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่  สองโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนพังงา-ภูเก็ต   ส่วนการลงทุนสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่จังหวัดขอนแก่นนั้น  เนื่องจากภาคเอกชนได้ตกลงใจร่วมทันกันดำเนินการจึงไม่เกี่ยวข้องกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดยตรง)

 

โฟกัสรถไฟฟ้าจังหวัดเชียงใหม่สายสีแดง

เชียงใหม่เป็นหัวเมืองใหญ่สำคัญของประเทศไทย และของประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงมณฑลยูนนานสาธารณรัฐประชาชนจีน  ประเทศไทยเคยมีความหวังว่าเชียงใหม่สามารถเพิ่มบทบาทของตนเองเป็น “เมืองหลวง ของ 5 เชียง”  นั่นคือ เชียงราย เชียงใหม่ ในประเทศไทย เชียงตุง รัฐฉาน เมียนมา เชียงรุ้งหรือจิ่งหง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน จีน และเชียงทอง หรือหลวงพระบาง แขวงหลวงพระบางสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ฝันดังกล่าวมีโอกาสเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ก็ขึ้นอยู่กับศักยภาพของเชียงใหม่ว่าสูงกว่าอีก 4 เชียงที่เหลือ และเมืองหรือจังหวัดอื่นๆ  ที่มีโอกาสในการเข้าร่วมแข่งขันด้วย

รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ  ความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่  ว่า แผนหลักของโครงการก่อสร้าง 3 เส้นทางวงเงินรวม  1 แสนล้านบาท แต่ในขั้นต้นยังมีข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ จึงเตรียมก่อสร้างเส้นทางแรก หรือสายสีแดงก่อน แนวทิศเหนือ-ใต้ ผ่านรพ.นครพิงค์ ศูนย์ราชการเชียงใหม่ สนามกีฬา 700 ปี เชื่อมเข้าสนามบิน สิ้นสุดห้างบิ๊กซีหางดง ระยะทางประมาณ 12 กม. ลงทุน 2.4 หมื่นล้านบาท คาดครม.อนุมัติ เปิดประมูลปลายปี 2563 เริ่มก่อสร้างปี 2564 เปิดให้บริการปี 2570 นับจากตั้งแต่นี้เป็นต้นไป สนข. จะเริ่มสร้างการรับรู้เรื่องรถไฟฟ้ารางเบาระดับพื้นดิน ให้ประชาชนในท้องถิ่น จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกมีส่วนร่วม

ขณะเดียวกันเตรียมแผนงานดึงกลุ่มรถสองแถวแดง จ.เชียงใหม่ เข้ามามีส่วนร่วม และเตรียมปรับปรุงเส้นทางเพื่อให้รถแดงกลายเป็นระบบขนส่งผู้โดยสารไปยังรถไฟฟ้า (Feeder)  เบื้องต้นกลุ่มรถแดงเห็นด้วยแล้ว และพร้อมเปลี่ยนเส้นทางตามนโยบายดังกล่าวซึ่ง สนข. เตรียมให้รถสองแถวแดงเข้าร่วมระบบบัตรแมงมุมด้วยเพื่อให้ประชาชนเปลี่ยนโหมดการเดินทางแบบไร้รอยต่อ

 

โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่สามสาย

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่   16 กรกฎาคม 2561 นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้ารางเบา จังหวัดเชียงใหม่ว่า มีข้อสรุปแนวทางก่อสร้างตามที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เสนอมาเรียบร้อยแล้ว คือ รูปแบบ A วิ่งบนดินและใต้ดินร่วมกัน ระยะทาง 35 กิโลเมตร งบลงทุนรวม 8.6 หมื่นล้านบาท เพราะมองว่ามีความเหมาะสมกว่ารูปแบบ B ที่เป็นการติดตั้งรางแทรมบนถนน (LRT) จากสภาพถนนในเชียงใหม่ที่แคบ อาจทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น แม้ใช้เวลาก่อสร้างและวงเงินลงทุนสูงกว่าก็ตาม

การเลือกใช้เส้นทางใต้ดินและบนดินร่วมกันสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนจังหวัดเชียงใหม่ที่ต้องการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมรอบคูเมืองและเอกลักษณ์ของเมืองเชียงใหม่ไว้ดังเดิม รวมถึงไม่ต้องเวนคืนพื้นที่จำนวนมาก เพราะใช้แค่ก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีใต้ดินเท่านั้น

โครงการรถไฟฟ้ารางเบาเชียงใหม่มีทั้งหมด 3 สาย ระยะทางรวม 34.93 กิโลเมตร เป็นเส้นทางใต้ดิน 24 กิโลเมตร โครงนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public Private Partnership : PPP)  และน่าจะเปิดประมูลได้ภายในปี 2563 กำหนดแผนเปิดประมูลปี 2563  โดยประเมินว่าแต่ละสายใช้เวลาก่อสร้าง 2-3  ปี

โครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดเชียงใหม่  3  สายประกอบด้วย

1.สายสีแดง (ศูนย์ราชการฯ-สนามบิน-แม่เหียะ) ระยะทาง 12.54  กิโลเมตร (บนดิน 5.17 กิโลเมตร ใต้ดิน 7.37 กิโลเมตร มี 12 สถานี) เริ่มต้นจากโรงพยาบาลนครพิงค์-ศูนย์ราชการและสนามกีฬา 700 ปี-ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเชียงใหม่-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่-แยกแม่เหียะสมานสามัคคี (แยกบิ๊กซี หางดง)

2. สายสีน้ำเงิน (สวนสัตว์เชียงใหม่-ท่าแพ-ดอนจั่น) ระยะทาง 11.92  กิโลเมตร ((บนดิน 3.15 กิโลเมตร ใต้ดิน 8.77 กิโลเมตร มี 13 สถานี)  เริ่มต้นจากสวนสัตว์เชียงใหม่-มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนา-มหาวิทยาลัยเชียงใหม่-ถนนเส้นคันคลองชลประทาน-แยกตลาดต้นพยอม-โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่-เชียงใหม่บาซาร์-แยกหนองประทีป-แยกศรีบัวเงินพัฒนา (แยกพรอมเมนาดา)

3. สายสีเขียว (แม่โจ้-กาดหลวง-สนามบิน)  ระยะทางประมาณ 10.47  กิโลเมตร  (บนดิน 2.55 กิโลเมตร ใต้ดิน 7.92 กิโลเมตร มี 10 สถานี)เริ่มต้นจากแยกรวมโชค-จุดแยกแม่โจ้ (แยกโรงพยาบาลเทพปัญญา)-ตลาดวโรรส-เชียงใหม่ไนท์บาซาร์-ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา เชียงใหม่ แอร์พอร์ต-ท่าอากาศยานนานาชาติจังหวัดเชียงใหม่

ย้ำกันอีกครั้งตามแผนงานกำหนดเริ่มสร้างสายสีแดงก่อนตามด้วยสายสีเขียวและสีน้ำเงิน ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างการศึกษารูปแบบการลงทุน คาดว่าจะได้ข้อสรุปในปี 2562  เพื่อเปิดประมูลในปี.2563  และเริ่มก่อสร้างในปี 2564

อย่างไรก็ตามในกรณีเปิดให้ภาคเอกชนร่วมทุนพีพีพี. นั้น อาจสามารถก่อสร้างทั้ง 3 สายได้เร็วกว่าการประเมินเบื้องต้น  กระนั้นหากสร้างพร้อมกัน ควรนำบทเรียนการบริหารจัดการเรื่องการจราจรขนส่งในกรุงเทพฯปริมณฑลที่เกิดจากการสร้างรถไฟฟ้าพร้อมๆ กันหลายสายในเวลานี้  และนำมาถ่วงดุลกันกับประโยชน์ต่างๆ นานาที่จะเกิดขึ้นเมื่อรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนสามารถเปิดบริการครบทุกสายตามแผนแม่บท  หรือเปิดบริการให้มากสายเร็วที่สุด

ข้อสรุปในประเด็นนี้ควรเร็ว และสามารถนำไปปรับใช้การการก่อสร้างรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในจังหวัดใหญ่อื่น เช่น โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนพังงา-ภูเก็ต  รถไฟฟ้าขนส่งมวลชนขอนแก่น  หรือที่นครราชสีมา  เป็นต้น

#