ว่าด้วยคณะกรรมการกำกับราคากลาง ตามร่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

ร่างพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. .................สาระสำคัญแทบทั้งหมดเป็นการนำยกร่าง  ร่างพระราชกฤษฎีกา ว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ  พ.ศ. ..........................  มาเตรียมนำเสนอเป็นร่างพระราชบัญญัติแทน  ความเปลี่ยนแปลงอย่างหนึ่งที่เป็นที่สนใจของผู้รับเหมาก่อสร้างคือ คณะกรรมการกำกับราคากลาง  ที่เป็นหนึ่งในสามคณะกรรมการตามร่างพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้

คณะกรรมการสามชุด

ร่างพ.ร.บ.  จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับใหม่  กำหนดให้มีคณะกรรมการดังนี้

“คณะกรรมการนโยบาย” หมายความว่า คณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ

“คณะกรรมการวินิจฉัย” หมายความว่า คณะกรรมการวินิจฉัยปัญหาการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

“คณะกรรมการกำกับราคากลาง” หมายความว่า คณะกรรมการกำกับราคากลางและทะเบียนผู้รับเหมาสำหรับงานก่อสร้าง

ตรงไปที่คณะกรรมการกำกับราคากลาง กำหนดไว้ดังนี้

หมวด 2  คณะกรรมการ   ส่วนที่ 3

คณะกรรมการกำกับราคากลางและทะเบียนผู้รับเหมาสำหรับงานก่อสร้าง

มาตรา 37 ให้มีคณะกรรมการกำกับราคากลางและทะเบียนผู้รับเหมาสำหรับงานก่อสร้าง ประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง อธิบดีกรมชลประทาน อธิบดีกรมทางหลวง อธิบดีกรมทางหลวงชนบท ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนสภาวิศวกร ผู้แทนสภาสถาปนิก ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม สถาปัตยกรรมเศรษฐศาสตร์หรือการเงิน ด้านละหนึ่งคน เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีกรมบัญชีกลางเป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ข้าราชการของกรมบัญชีกลางซึ่งอธิบดีกรมบัญชีกลางมอบหมายจำนวนไม่เกินสองคนเป็นผู้ช่วยเลขานุการ

(ปกติงานในรูปคณะกรรมการนั้น บทบาทสำคัญอยู่ที่ประธานกรรมการท่านหนึ่ง  อีกท่านหนึ่งคือ กรรมการและเลขานุการ)

 

อำนาจและหน้าที่  ครอบคลุมการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมา

มาตรา 39 ให้คณะกรรมการกำกับราคากลางมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการ

(2) ให้คำปรึกษาแนะนำแก่ส่วนราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐเกี่ยวกับการคำนวณราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการ

(3) กำกับดูแลการกำหนดราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการ

(4) วินิจฉัยข้อหารือเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการ

(5) พิจารณาอนุมัติยกเว้นหรือผ่อนผันการไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และรายละเอียดการคำนวณราคากลางในกรณีที่ส่วนราชการไม่อาจดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและรายละเอียดการคำนวณราคากลางได้

(6) กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนและการเพิกถอนทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเป็นคู่สัญญากับทางราชการ

(7) ขึ้นและเพิกถอนทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเป็นคู่สัญญากับทางราชการ

(8) จัดทำรายงานเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคในการกำหนดราคากลางสำหรับงานก่อสร้างของส่วนราชการและการขึ้นทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีคุณสมบัติเป็นคู่สัญญากับทางราชการรวมทั้งการดำเนินการตาม (๕) เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายปีละหนึ่งครั้ง

(9) ดำเนินการอื่นที่คณะกรรมการนโยบาย รัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรีมอบหมาย

ผลการดำเนินการตาม (1) (4) (6) (7) และ (8) ให้ประกาศในระบบเครือข่ายสารสนเทศของกรมบัญชีกลาง

 

จุดหลักที่กระทบต่อผู้รับเหมาก่อสร้างคือ  เพิ่มหน่วยงานขึ้นและเพิกถอนทะเบียนผู้รับเหมาก่อสร้างขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยงาน  (ตามเนื้อหาสาระของ ร่าง พ.ร.บ. จัดซื้อจัดจ้างฯ  ฉบับนี้หน่วยงานดังกล่าวเป็นกรมบัญชีกลาง

สถานะของร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ผ่านการรับความคิดเห็น และปรึกษาหารือมาแล้ว 3 ครั้ง จากหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  การหารือและรับฟังความคิดเห็นจากเอกชนจะเป็นครั้งสุดท้ายก่อนที่สรุปร่างพ.ร.บ.อย่างละเอียดเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา กำหนดแผนไว้ในเดือนมีนาคมนี้  (อาจเลยไปถึงเดือนเมษายน)

ประเทศปกครองด้วยกฎหมาย  ร่าง พ.ร.บ.  จัดซื้อจัดจ้างฯ ฉบับนี้จึงต้องติดตาอย่างใกล้ชิดอีกเรื่องหนึ่ง

#

บัญชีสยาม