ช่วงเวลา “ขาขึ้น” อุตสาหกรรมเหล็ก (จบ)/ เหล็กกลุ่มไหนอนาคตดี
  • 25 กันยายน 2018 at 15:50
  • 4478
  • 0

ฝนตกไม่ทั่วฟ้านั้นเป็นเรื่องธรรมชาติเป็นความปกติ  หากเกิดฝนตกมากมายคล้ายฝนตกทั่วฟ้าต่างหากล่ะ  เป็นความผิดปกติ อาจมาจากพายุร้ายระดับความแรงต่างๆ  หรือมาจากการแช่นิ่งของร่องความกดอากาศต่ำเป็นเวลายาวนาน  เกิดความเสียหายจำน้ำท่วม น้ำขัง  น้ำรอการระบายอีก

โลกนี้ทรัพยากรและโอกาสล้วนมีจำกัด ในช่วงเวลา “ขาขึ้น” อุตสาหกรรมเหล็ก ก็ใช่ว่าทุกโรงงานเหล็กมีโอกาสเท่าเทียมกัน

แนวโน้มอุตสาหกรรม /  สินค้าโภคภัณฑ์แข่งขันกันทั่วโลก

“ช้างสารชนกัน หญ้าแพรกแหลกลาญ”

สุภาษิตนี้ใช้กับสถานการณ์สงครามการค้าอเมริกัน-จีนได้ เมื่อสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีศุลกากรกับเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นในอัตรา 25 %  ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561  จุดประสงค์ที่ประกาศคือ ต้องการคุ้มครองอุตสาหกรรมเหล็กภายในสหรัฐฯ

“หญ้าแพรก”ประเทศต่างๆ  รวมทั้งไทยที่ส่งออกเหล็กไปยังสหรัฐฯ ต้องเร่งเจรจา  สหรัฐฯยังโอกาสนี้มาแสดงให้เห็นผลลัพธ์ระหว่างประเทศพันธมิตร “ใกล้ชิด” กับเพื่อนที่ห่างไกล  นั่นคือ เดือนพฤษภาคม 2561 สหรัฐฯประกาศยกเว้นการใช้มาตรการขึ้นภาษี 25 %  กับเหล็กนำเข้าอย่างถาวรให้กับ อาร์เจนตินำ ออสเตรเลีย บราซิล และเกาหลีใต้ในฐานะเป็นพันธมิตรทางการค้า

ประเทศไทยได้รับการผ่อนปรนมาตรการภาษีดังกล่าวเฉพาะผลิตภัณฑ์ท่อเหล็กเป็นครั้ง ๆ ไป ผู้ส่งออกต้องยื่นเรื่องไปที่กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ทุกครั้งที่ส่งออกท่อเหล็กไปอเมริกา ไทยได้พยายามเจรจาเพื่อขอปลดล็อคทุกราย  อย่างไรก็ตามผลกระทบที่ไทยได้รับไม่มาก เนื่องจากมูลค่าการส่งออกเหล็กของไทยไปยังสหรัฐฯในช่วงปี 2555 -2560 มีสัดส่วนน้อย คิดเป็น 0.2 % ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทย

ถัดมาวันที่ 1 มิถุนายน 2561 สหรัฐฯ เรียกภาษีนำเข้าเหล็ก 25 % จากผู้ส่งออกประเทศ แคนาดา เม็กซิโก และสหภาพยุโรป

ขณะที่สหรัฐฯใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้าปั่นป่วนอุตสาหกรรมเหล็กทั่วโลก  ด้านความต้องการเหล็กในตลาดโลกช่วงปี  2561 – 2563 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น  ปัจจัยสนับสนุนสำคัญมาจากหลายประเทศทั่วโลก (รวมทั้งไทย) เร่งงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน  ผนวกกับการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิตในหลายประเทศ  การขยายตัวของความต้องการเหล็กทั่วโลกครั้งนี้ “วิจัยกรุงศรี”  ประเมินว่าในช่วงปี 2561 -2563 จะมีปริมาณราว 1.6 พันล้านตันต่อปี หรือคิดเป็นอัตราขยายตัว  1.0 %

แม้ว่าแนวโน้มด้านดีมานด์ขยายตัว (แต่ก็น้อยมากเพียง 1 %)  แต่ในช่วงเวลา 3 ปีเช่นเดียวกัน ทางด้านซัพพลายเหล็กส่วนเกินของโลกยังไม่ได้คลี่คลายมากนัก แม้สถานการณ์ดูเหมือนดีขึ้นเพราะจีนนมีแผนลดกำลังการผลิตเหล็กให้ได้ 100-150 ล้านตันภายในปี 2563  แต่ผลพวงจากที่ในปี 2560 จีนยังมีสต๊อกเหล็กราว 8.2 ล้านตัน อีกทั้งผู้ประกอบการจีนหลายรายย้ายโรงงานไปยังประเทศอื่น เช่น  ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในทางตรงกันข้ามผู้ผลิตเหล็กโลกรายใหญ่อันดับ อินเดีย (รองจากจีนและญี่ปุ่น) มีแผนเพิ่มกำลังการผลิตเหล็กในอีก 5 ปีข้างหน้าให้ได้ระดับ 300  ล้านตันต่อปี  จากปัจจุบันมีปริมาณการผลิตเฉลี่ย 100 ล้านตันต่อปี จุดประสงค์หลักของอินเดียคือตอบสนองความต้องการใช้เหล็กภายในประเทศทั้งการเร่งก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อยกระดับความพร้อมทางกายภาพในขอบเขตทั่วประเทศ และตอบสนองความต้องการใช้ของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในประเทศ  และท้ายสุดลดการพึงพิงเหล็กนำเข้าจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีน

รวมความเคลื่อนไหวสำคัญๆ ดังกล่าวแล้ว  “วิจัยกรุงศรี” คาดว่าปริมาณการผลิตเหล็กของโลกในระยะ 3 ปียังขยายตัว แต่อยู่ในลักษณะชะลอตัวลงอยู่ที่ 0.6%ต่อปี มีปริมาณราว  1.7 พันล้านตันต่อปี

ตลาดเหล็กในไทยขยายตัว

ความเห็นของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย ฝ่ายวิจัยของธนาคารพาณิชย์ และบริษัทหลักทรัพย์มีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ความต้องการใช้เหล็กจะมีปริมาณ 17.0-17.4 ล้านตัน ในปี 2561 หรือขยายตัว 2-5%  เมื่อเทียบกับปี 2560  ในปี 2562 และ 2563 จะเติบโต 5-8% และ 6-9%  เปรียบเทียบปีต่อตามลำดับ  ปัจจัยสนับสนุนมาจาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor:  EEC) โครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในกรุงเทพฯปริมณฑล และหัวเมืองใหญ่ อีกทั้งงานก่อสร้างภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัว

ตลาดเหล็กในประเทศอีก 3 ปีข้างหน้าขยายตัวอย่างไร  ฝนตกทั่วฟ้ามากน้อยเพียงใด จับภาพรวมได้ประเภทผลิตภัณฑ์เหล็กได้ดังนี้

เหล็กทรงยาว ตลาดมีความต้องการใช้เหล็กทรงยาวในปี 2561 มากกว่าปี 2560 ที่ผ่านมา 5- 7 % คิดเป็นปริมาณรวม 5.9-6.1 ล้านตัน และขยายตัวเร่งขึ้นเป็น 10-12 % และ 11 -14 % ปีต่อปี ในปี 2562 และ 2563 ตามลำดับ เหตุปัจจัยสำคัญยังมีจาก การขยายการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ  เช่น รถไฟทางคู่และรถไฟฟ้า ทั้งนี้ระหว่าง 2562-2563 เป็นจังหวะงานก่อสร้างที่หลายโครงการทำพร้อมกันหลังจากงานโยกย้ายสาธารณูปโภคต่างๆ ผ่านไปแล้ว ความต้องการใช้เหล็กทรงยาวในการก่อสร้างจึงเพิ่มขึ้น เช่น งานสร้างทางรถไฟ โครงสร้างทางยกระดับ และหมอนคอนกรีตเสริมเหล็ก เป็นต้น ขณะเดียวกันการผลิตเหล็กทรงยาว ในระยะ 3ปีข้างหน้ามีทิศทางเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัว โดยคาดว่าจะมีปริมาณเฉลี่ย 4 - 5 ล้านตันต่อปี

ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มเหล็กทรงยาวคือเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ คาดว่าจะขยายตัว 3-5 % เปรียบเทียบปีต่อปี ในปี 2561คิดเป็นปริมาณ 3.4-3.5 ล้านตัน และในปี 2562 และ 2563 อัตราเพิ่มสูงขึ้น 7-10 % และ 10-12 % ปีต่อปีตามลำดั

ความต้องการที่มีอัตราการเพิ่มดังกล่าวทำให้ราคาเหล็กเส้นในช่วงปี 2561-2563 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3-5%ต่อปี อยู่ที่20,000-21,000 บาทต่อตัน  แต่ทางด้านโรงงานผู้ผลิตเหล็กมองว่าไม่สามารถขึ้นราคาได้มาก เพราะมีเส้นนำเข้าจากจีนที่ราคาย่อมเยากว่า  รวมทั้งต้นทุนเศษเหล็กเพิ่มขึ้น ดังนั้นส่วนต่างหรือ Spread จึงยังไม่สูงมากนัก

เหล็กทรงแบน:ตลาดมีความต้องการเพิ่มขึ้น 1 -3 % ในปี 2561 เมื่อเทียบกับปี 2560 คิดเป็น มีปริมาณ 11.1-11.3 ล้านตัน และคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้น 2 – 5 % และ 3 – 6 % ปีต่อปีในปี 2562 และ 2563 ปัจจัยสนับสนุนมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องเกี่ยวข้องขยายตัว เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องจักร อุตสาหกรรมผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า  รวมสถึงผลดีจากการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ อีอีซี.

เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นผลิตภัณฑ์หลักของเหล็กทรงแบนในปี 2561 คาดว่ามีแนวโน้มขยายตัว  4 - 6 % เปรียบเทียบปีต่อปี จนมีปริมาณ 7.3-7.5 ล้านตัน และในปี 2562 และ 2563 จะเติบโตต่อเนื่องที่ 5 - 8 %และ 6 – 9 % ปีต่อผี อันเป็นผลดีจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ปรับตัวดีขึ้น ทั้งนี้เหล็กแผ่นรีดร้อนเป็นวัตถุดิบที่สำคัญของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ เครื่องจักร และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยมักนำไปแปรรูปเป็นเหล็กแผ่นรีดเย็นก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมดังกล่าว ทิศทางราคาเหล็กแผ่นรีดร้อนในช่วงปี 2561-2563 คาดว่าจะขยับขึ้นเฉลี่ย 4  -6 %ต่อปี อยู่ที่ประมาณ 23,000 -24,000 บาทต่อตัน แต่ก็มีข้อจำกัดจากแรงกดดันของเหล็กนำเข้าราคาต่ำกว่าจากจีนเช่นกัน

ตลาดเหล็กขาขึ้น  จุดแข็งในการช่วงชิงโอกาส

ผู้คนและธุรกิจต้องเน้นการใช้จุดแข็งของตนเองให้เกิดประโยชน์  ขยายพัฒนา ต่อยอด ยกระดับจุดแข็งของตนเอง  ให้เกิดประโยชน์ไปช่วงชิงโอกาสตามสถานการณ์จริง

ในกรณีของตลาดเหล็ก และอุตสาหกรรมเหล็กปี 2561- 2563 ที่กล่าวว่า กลุ่มผู้ผลิตเหล็กที่มี่โอกาสดีจากตลาดเหล็กขาขึ้นนั้นเป็นบางกลุ่ม

อันดับแรก กลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ (ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มเหล็กทรงยาว) ผู้ผลิตเหล็กกลุ่มนี้มีโอกาสเพิ่มรายได้จากคำสั่งซื้อเพื่อใช้ในงานก่อสร้างตามการขยายตัวของงานก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่ภาครัฐเร่งขับเคลื่อนทั้งที่ประมูลงานแล้ว และเร่งรัดการประมูล รวมทั้งนโยบายและพันธสัญญาการสร้างวัสดุก่อสร้างภายในประเทศ  แต่เนื่องจากโรงงานผลิตเหล็กจากจีนยังย้ายมาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง(ต้นทุนเครื่องจักรต่างๆ ต่ำ เพราะส่วนใหญ่เป็นเตาหลอม IF ที่จีนสั่งปิดโรงงานผลิตเหล็กด้วยเตาหลอม IF ด้วยเหตุผลมีมลภาวะในกระบวนการผลิตมาก ดังนั้นการแข่งขันด้านราคามีโอกาสรุนแรงมากขึ้น

อันดับที่สอง กลุ่มผู้ผลิตเหล็กแผ่นรีดร้อน/รีดเย็น (ผลิตภัณฑ์หลักในกลุ่มเหล็กทรงแบน)  ประเมินว่ว่ารายได้ขผงผู้ผลิตเหล็กกลุ่มนี้ฟื้นตัวช้ากว่ากลุ่มผู้ผลิตเหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ ประเด็นสำคัญคือเผชิญกับการแข่งขันที่สูงขึ้นกับผลิตภัณฑ์ที่นำเจ้าจากต่างประเทศ

อันดับที่สาม กลุ่มผู้ค้า/น้าเข้าเหล็ก:รายได้ของกลุ่มนี้แนวโน้มดีขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้า/นำเข้าเหล็กบางประเภทที่ใช้ในงานก่อสร้างที่ไม่มีการผลิตในไทย เช่น เหล็กราง  อันเป็นผลดีต่อเนื่องจาก การขยายการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องการใช้เหล็กจำนวนมาก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง รถไฟฟ้า และรถไฟทางคู่  ขณะที่กลุ่มผู้ค้า/นำเข้าเหล็กประเภทอื่น ควรรักษาระดับรายได้ตามปกติ เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังขยายตัวดี

เรื่องที่ต้องย้อนทวนคิดแบบไม่ลืมก็คือ ผู้คนดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยอาหารและพลังงาน แม้อุตสาหกรรมไฮเทคพัฒนาไปไกลขนาดไหน ผู้คนก็ยังต้องกินข้าวปลาอาหาร   หุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ต่างAI ยังต้องบริหารจัดการให้เข้ามามีบทบาทเพิ่มประสิทธิภาพ ประสิทธิผลในการผลิตอาหาร

พลังงานเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีความมั่นคง  ไม่ว่ารูปแบบและที่มาของพลังงานและการใช้พลังงานเป็นอย่างไร

อุตสาหกรรมเหล็กสมควรทบทวนใหม่อีกครั้งไหมว่า  สถานะของอุตสาหกรรมนี้ควรจัดเป็นอุตสาหกรรมเพื่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางการทหารของประเทศมากน้อยเพียงใด  ควรเป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์หรือไม่

#