ผังเมือง: เพิ่มศักยภาพประเทศไทย สร้างสรรค์มหานครกรุงเทพฯ

กรุงเทพมหานคร อมรรัตนโกสินทร์ฯ ชื่อเต็มของกรุงเทพฯ ที่มีบทเพลงขับร้องไว้  นั่นเป็นการบรรยายความยิ่งใหญ่ของกรุงเทพมหานครฯในยุคก่อนลัทธิล่าอาณานิคมด้วยเรือปืนของประเทศซีกโลกตะวันตกเข้ามาถึงดินแดนสุวรรณภูมิ  ปัจจุบันคริสตวรรษที่ 21 ยุคโลกาภิวัฒน์/เทคโนโลยีอวกาศ-ดิจิทัล  เมืองหลวงของประเทศไทยกำลังพัฒนาเป็น “มหานครกรุงเทพ”   ขยับไปสู่สถานะทัดเทียมเมืองหลวง  เมืองใหญ่ของประเทศชั้นนำในโลก

แนวทางชี้นำจากผังเมืองกทม.

ผังเมืองกทม.ที่กำลังปรับปรุงกันอยู่เป็นครั้งที่ 4 หรือผังเมืองฉบับที่ 4 ก่อนกล่าวถึง “พลังชี้นำ” ของผังเมืองรวม ควรมองภาพรวมกว้างๆ ของกรุงเทพฯ ในด้านต่างๆ  อาทิ

ความเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ  จุดสำคัญคือมีสัดส่วนรายได้ร้อยละ 46.79 ของประเทศ มีประชากรอันดับที่ 19 ของมหานครทั่วโลก (กรุงเทพฯมีประชากรราว 9 ล้านคน)

ขณะเดียวกันชุมชนเมืองของกรุงเทพฯขยายตัวอย่างไร้ทิศทาง  ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งหมดในกรุงเทพ  และกระจายออกไปนอกพื้นที่วงแหวนรอบนอก (ถนนกาญจนาภิเษก) และตามเส้นทางคมนาคมสายหลัก  ถนน และรถไฟฟ้า  การขยายตัวเช่นนี้ครอบคลุมพื้นที่กว่า 2,000 ตารางกิโลเมตร

นอกจากนี้ต้องพิจารณาเรื่องเกี่ยวกับคนหรือประชากรในกรุงเทพฯ นั่นคือ

แนวโน้มใหญ่บางประการของกรุงเทพฯและปริมณฑล ประกอบด้วย

ประชากรจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วต่อเนื่องเป็นสองเท่าตัวหรือราว 16.7 ล้านคนในราว 14-15 ปีข้างหน้าหรือราวปีพ.ศ. 2575  และมีโอกาสแตะ 20 ล้านคนราวพ.ศ. 2580 และหากไม่มีแผนงานพิเศษอะไร ประชากรในเขตเมืองมีแนวโน้มลดลง ประชากรในปริมณฑลมีแนวโน้มสูงขึ้น

ประชากรแฝงในกรุงเทพฯ นนทบุรี สมุทรปราการจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  และนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อีกประเด็นที่ต้องใส่ใจคือสภาวะของสังคมที่ก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ  นั่นคือวัยสูงอายุเพิ่มขึ้น วัยแรงงานลดลงอย่างมีนัยะสำคัญ

จุดศูนย์รวมในเรื่องดังกล่าวคือ  กรุงเทพฯและปริมณฑลต้องสร้างความพร้อมเพื่อรองรับ รวมทั้งขยายศักยภาพของตนเองให้เหมาะสม

ผังเมืองรวมเป็นเครื่องมือและกลไกสำคัญในการบริหารจัดการพลังทางเศรษฐกิจและพลังด้านอื่นๆ รวมทั้งการผลักดันสถานะของกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครอย่างภาคภูมิ- เป็นจริง

ทั้งนี้บทบาทผังเมืองประกอบด้วย

ประการแรก การวางผังเมืองเป็นการวางแผนเชิงพื้นที่ จุดสำคัญคือกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดินและการตั้งถิ่นฐานอย่างเหมาะสม

ประการที่สอง  การวางผังเมืองต้องกำหนดแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเมือง อาทิ ระบบขนส่งมวลชน ถนนทางด่วน  การคมนาคมทางน้ำ ไฟฟ้าประปา การสื่อสาร  อินเตอร์เน็ต ระบบบายน้ำ ระบบบำบัดน้ำเสีย  การกำจัดขยะ การป้องกันน้ำท่วม เป็นต้น  โครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับเมืองต้องสอดคล้องกับจำนวนประชากรทั้งหมด รวมประชากรที่อยู่ประจำและประชากรแฝงทั้งในและนอกประเทศ

ประการที่สาม ผังเมืองมีบทบาทในการพัฒนาเมืองและชนบทให้สมดุล  ภาพของเมืองเป็นความสะดวกสบายสนุกสนานในการอยู่อาศัย  ภาพของชนบทคือแหล่งผลิตอาหารต้นทางทั้งด้านเกษตรกรรมและปศุสัตว์ รวมทั้งชนบทเป็นแหล่งผลิตพลังงาน ความสมดุลที่เกิดขึ้นคือ  เมืองต้องสามารถพึ่งตนเองด้านอาหาร(และพลังงาน)ได้ระดับหนึ่ง  ชนบทต้องมีความสะดวกสบายในชีวิตความเป็นอยู่  มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น  เป็นต้น

ประการที่สี่ ผังเมืองมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมดุล  รวมทั้งอนุรักษ์เชิงประยุกต์และพัฒนาแหล่งประวัติศาสตร์

ประการที่ห้า ผังเมืองต้องมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจ  รวมทั้งสนับสนุนการพัฒนาทางศิลปะวัฒนธรรมของชุมในพื้นที่ผังเมืองนั้นๆ

พลังขับเคลื่อนผังเมืองกทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4

สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร (กทม.) อยู่ระหว่างจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพฯ ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 กระบวนการทำงานนี้คาดว่ากำหนดประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ช่วงปลายปี 2562

ร่างผังเมืองฉบับใหม่นี้จัดทำโดย มีแนวคิดในการพัฒนาเมืองกรุงเทพมหานครให้เป็นเมืองกระชับ (Compact City) คือ กำหนดจุดศูนย์กลางเมืองให้อยู่ในเขตเมืองชั้นใน แล้วกระจายความเจริญไปรอบนอก เกาะตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ขณะเดียวกันก็พิจารณาควบคู่ว่าจะทำอย่างไรให้การพัฒนาเมืองไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะตามแนวถนน แต่ต้องมีการพัฒนาอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่

จุดหลักในการปรับปรุงผังเมืองกทม. ครั้งที่ 4 คือ การเปลี่ยนแปลงแผนผังการใช้ประโยชน์ที่ดินจากผังเมืองรวม  เพื่อรองรับความเป็นศูนย์ลางทางธุรกิจ ระบบขนส่ง  การพัฒนาพื้นที่พาณิชยกรรมริมน้ำ   การเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อรองรับการพัฒนารถไฟฟ้าเช่น การพัฒนาพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม (ก.1) และ (ก.2)  การต่อเชื่อมการใช้ประโยชน์ที่ดินกับจังหวัดนนทบุรี  การส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองและศูนย์พาณิชยกรรม เช่น  ตลาดสะพานใหม่  มีนบุรี  ลาดกระบัง  หนองจอก ตลิ่งชัน

จุดสำคัญที่เด่นชัดคือปรับระดับการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเมืองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น พื้นที่ที่มีการปรับเปลี่ยนมากที่สุด คือ พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย หรือพื้นที่สีเหลือง และพื้นที่เกษตรกรรม หรือพื้นที่สีเขียว แนวทางหลักคือปรับการใช้ประโยชน์ เพิ่มขึ้นเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง (สีส้ม) หรือพื้นที่หนาแน่นมาก (สีน้ำตาล) ตัวอย่างพื้นที่ดังกล่าวที่เด่นชัดคือ พื้นที่ย่านฝั่งธนบุรีที่ปรับจากพื้นที่เกษตร พื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก อาทิ บริเวณตลิ่งชัน ที่ผังเมืองปัจจุบันกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม หรือพื้นที่เขียวลายขาวเปลี่ยนเป็นพื้นที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย-ปานกลาง ต่อเชื่อมกับจังหวัดนนทบุรี และพื้นที่พาณิชยกรรม หรือพื้นที่สีแดง เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์ชุมชนชานเมืองฝั่งตะวันตก

นอกจากนี้ยังมีมาตรการสำคัญหนึ่งในการเพิ่มประโยชน์ใช้สอยที่ดินคือ การเพิ่มอัตราส่วนพื้นที่อาคารรวมต่อพื้นที่ดิน (Floor Area Ratio : FAR) แนวคิดของการเพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มากขึ้นก็เพื่อทำให้ราคาที่อยู่อาศัยถูกลง จากการที่สามารถพัฒนาพื้นที่อาคารได้มากขึ้นในพื้นที่ดินเท่าเดิม จุดนี้มุ่งหวังให้เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับคนชั้นกลางให้มีที่อยู่อาศัยที่อยู่ใกล้เมืองได้มากขึ้น นอกจากนั้นยังเพิ่ม FAR โบนัส โดยกำหนดเงื่อนไขใหม่ๆ เพื่อจะได้สิทธิในการพัฒนาเพิ่มมากขึ้น 

การปรับปรุงผังเมืองกทม.ครั้งที่ ยังมุ่งหวังรองรับการพัฒนาระบบรางที่ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองตามหลัก TOD  (แนวคิดการพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (Transit-Oriented Development หรือ TOD) การพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน มีความหนาแน่นสูง และส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชน แนวคิด TOD มุ่งสร้างกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน โดยมีที่พักอาศัย อาคารพาณิชย์ สำนักงาน และการใช้ประโยชน์ประเภทอื่น ๆ พร้อมกับออกแบบเพื่อรองรับผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนเป็นหลัก รวมทั้งสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเดินเท้าและใช้จักรยาน เพื่อให้มีทางเลือกในการเดินทางหลากหลาย ลดการพึ่งพาการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล)

ดู http://www.urbanwhy.com/2016/12/20/transit-oriented-development/

การพัฒนาเมืองตามหลัก TOD ของผังเมืองกทม. ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 4 มีรูปธรรมแห่งแนวคิดและทำเลดังนี้

หนึ่ง  กำหนดศูนย์กลางคมนาคมแห่งใหม่ที่บางซื่อ รวมทั้งการพัฒนาศูนย์พาณิชยกรรมและอาคารคอมเพล็กซ์-มิกว์ยูสขนาดใหญ่ที่บางซื่อ

สอง  พัฒนาที่ดินขนาดใหญ่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ให้เป็นศูนย์พาณิชยกรรม มักกะสัน และย่านวงเวียนใหญ่

สาม พัฒนาพื้นที่บริเวณสถานีร่วมที่ บางหว้า  ตลิ่งชัน  เตาปูน  รัชดา  ลาดพร้าว  (พื้นที่พัฒนาเป็นพื้นที่ของรฟท.-รฟม.)

สี่ พัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีเฉพาะจุดที่สำคัญ เช่น  สยาม บางหว้า  ตลิ่งชัน  ท่าพระ บางกะปิ  (พื้นที่โดยรอบเป็นพื้นที่ของเอกชนหรือหน่วยงานอื่นๆ)

ห้า พัฒนาสถานีที่อยู่ติดกับถนนสายหลักย่านชานเมือง เช่น รังสิต  บางใหญ่  ศาลายา สมุทรสาคร  บางขุนเทียน ลาดกระบัง และมีนบุรี

หก ส่งเสริมย่านแยกรัชดา-พระราม 9 เป็น New CBD

เจ็ด ส่งเสริมพื้นที่พาณิชยกรรมพิเศษด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ที่เจริญกรุง

แปด ส่งเสริมศูนย์ชุมชนชานเมืองที่ มีนบุรี  ลาดกระบัง  ศรีนครินทร์ บางขุนเทียน  บางมด ตลิ่งชัน สะพานใหม่

แนวทางของการปรับปรุงผังเมืองกทม. ฉบับที่ 4  เช่นนี้ย่อมทำให้เกิดทำเลใหม่ และสร้างโอกาสทางธุรกิจมากมายให้ภาคเอกชน รายละเอียดอ่านในตอนต่อไป

(ผังเมือง: มหานครกรุงเทพฯ  ศักยภาพทำเลใหม่  ประสานพลังภาคเอกชน  และจุดบอดข้อห้ามที่ต้องระวัง)

#