ติดตามอัตราค่าจ้างใหม่-ค่าจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง
  • 5 ธันวาคม 2018 at 20:58
  • 14064
  • 0

ค่าจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับการสร้างสถาปัตยกรรม สิ่งปลูกสร้างใหม่ๆ  สิ่งและ/หรือปลูกสร้างขนาดใหญ่ ที่มีโอกาสเป็นแลนด์มาร์ค-หมุดหมายหรือสัญลักษณ์ที่เป็นที่ยอมรับกันของเมือง  ทั้งเมืองเดิม  เมืองสร้างใหม่  และเมืองที่ยกระดับขนาดให้ใหญ่ขึ้น   กล่าวโดยรวมแล้ว “ผลตอบแทน”  ตรงนี้มีความสำคัญพอสมน้ำสมเนื้อกับ “เนื้องาน”  ที่งานออกแบบและการควบคุมงานก่อสร้างต้องรับผิดชอบ

ปัจจุบันค่าจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างใช้ตาม “กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560”  ซึ่งให้ไว้  ณ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

นับจากวันเวลาดังกล่าวมาถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  4 ธันวาคม  2561  เป็นเวลาปีกว่า  ที่ครม.มีมติอนุมัติร่างกฎกระทรวงใหม่ในเรื่องนี้

ค่าจ้างออกแบบควบคุมงานใหม่/ต้องดูรายละเอียด

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ 4 ธันวาคม  2561  มีมติเรื่อง  ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติ ดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับข้อสังเกตของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงการคลังรับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

กค. เสนอว่า

1. ได้มีกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560 ซึ่งเป็นการกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้างประเภทงานสถาปัตยกรรม โดยเป็นอัตราค่าจ้างแบบคงที่ (Fixed rate)

2. โดยที่พระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 มาตรา 90 วรรคสอง บัญญัติให้อัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่ง กค. พิจารณาแล้วเห็นสมควรปรับปรุงประเภทงานเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากงานสถาปัตยกรรม รวม 11 ประเภทงาน ได้แก่

งานขนส่งระบบราง

งานทางหลวง

งานสะพาน/ทางด่วน

งานเขื่อน

งานชลประทาน

งานประปา

ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย

การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม

งานสนามบิน

งานท่าเรือ

และงานระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน

รวมทั้งปรับปรุงอัตราค่าจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างของประเภทงานดังกล่าวข้างต้น จากอัตราค่าจ้างแบบคงที่ (Fixed rate) เป็นอัตราค่าจ้างไม่เกินร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีท้ายกฎกระทรวง

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

1. ให้ยกเลิกกฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบ หรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560

2. กำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง ประกอบด้วย

2.1 กำหนดประเภทงานก่อสร้าง จำนวน 12 ประเภทงาน ได้แก่ งานสถาปัตยกรรม งานขนส่งระบบราง งานทางหลวง งานสะพาน/ทางด่วน งานเขื่อน งานชลประทาน งานประปา ระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม งานสนามบิน งานท่าเรือ และงานระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน และกำหนดวิธีการคำนวณอัตราค่าจ้าง โดยนำหลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษามาใช้โดยอนุโลม และคิดย้อนกลับเป็นร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง ทั้งนี้ ต้องไม่เกินอัตราร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง

2.2 ประเภทงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างที่มิได้กำหนดวิธีการคำนวณราคากลางไว้ ให้นำหลักเกณฑ์ราคากลางการจ้างที่ปรึกษามาใช้โดยอนุโลมและคิดย้อนกลับเป็นร้อยละของวงเงินงบประมาณค่าก่อสร้าง

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

ปัจจุบันอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุงานก่อสร้างทำตาม กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560  โดยมีข้อความดังต่อไปนี้

 

กฎกระทรวงกำหนดอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง พ.ศ. 2560

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 90 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ออกกฎกระทรวงไว้ ดังต่อไปนี้

ค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้างให้เป็นไปตามอัตราในบัญชีท้าย  กฎกระทรวงนี้

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2560

อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

บัญชีอัตราค่าจ้างผู้ให้บริการงานจ้างออกแบบหรือควบคุมงานก่อสร้าง  (ในที่นี้ได้ปรับเปลี่ยนจากรูปแบบตารางมาเป็นการบรรยาย)

ประเภทงาน   งานสถาปัตยกรรม  คิดผลตอบแทนเป็นอัตราร้อยละของวงเงินงบประมาณก่อสร้างดังต่อไปนี้

งานออกแบบ

โครงการขนาดเล็กมูลค่าต่ำกว่า  50  ล้านบาท   ไม่ซับซ้อน 4.5  ซับซ้อน 6.5  ซับซ้อนมาก 8.5

โครงการขนาดกลาง มูลค่า 50  - น้อยกว่า  250  ล้านบาท   ไม่ซับซ้อน 4  ซับซ้อน 5.25  ซับซ้อนมาก 7

โครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 250 – น้อยกว่า 750  ล้านบาท  ไม่ซับซ้อน 3.5  ซับซ้อน 4  ซับซ้อนมาก 6

โครงการขนาดพิเศษระดับที่หนึ่ง มูลค่า 750 –น้อยกว่า 2,500  ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 3  ซับซ้อน 3.5  ซับซ้อนมาก 5

โครงการขนาดพิเศษระดับที่สอง มูลค่า 2,500 – น้อยกว่า 5,000  ล้านบาท  ไม่ซับซ้อน 2.5  ซับซ้อน 3  ซับซ้อนมาก 4

โครงการขนาดพิเศษระดับที่สาม มูลค่า  มากกว่า  5,000  ล้านบาทขึ้นไป ไม่ซับซ้อน 1.5  ซับซ้อน 2.5  ซับซ้อนมาก 3

ควบคุมงานก่อสร้าง

โครงการขนาดเล็กมูลค่าต่ำกว่า  50  ล้านบาท   ไม่ซับซ้อน 4.5  ซับซ้อน 6.5  ซับซ้อนมาก 8.5

โครงการขนาดกลาง มูลค่า 50  - น้อยกว่า  250  ล้านบาท   ไม่ซับซ้อน 4  ซับซ้อน 5.25  ซับซ้อนมาก 7

โครงการขนาดใหญ่ มูลค่า 250 – น้อยกว่า 750  ล้านบาท  ไม่ซับซ้อน 3.5  ซับซ้อน 4  ซับซ้อนมาก 6

โครงการขนาดพิเศษระดับที่หนึ่ง มูลค่า 750 –น้อยกว่า 2,500  ล้านบาท ไม่ซับซ้อน 3  ซับซ้อน 3.5  ซับซ้อนมาก 5

โครงการขนาดพิเศษระดับที่สอง มูลค่า 2,500 – น้อยกว่า 5,000  ล้านบาท  ไม่ซับซ้อน 2.5  ซับซ้อน 3  ซับซ้อนมาก 4

โครงการขนาดพิเศษระดับที่สาม มูลค่า  มากกว่า  5,000  ล้านบาทขึ้นไป ไม่ซับซ้อน 1.5  ซับซ้อน 2.5  ซับซ้อนมาก 3

หมายเหตุ

- ลักษณะความซับซ้อนของงานสถาปัตยกรรม ได้แก่

ซับซ้อนมาก หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรมที่มีแบบแผนวิจิตรต้องใช้ความประณีตชั้นสูง ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง ความชำนาญเฉพาะด้าน มีความสลับซับซ้อนหรือมีผู้ใช้สอยจำนวนมาก มีลักษณะพิเศษเชิดชูคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม ศิลปกรรม วัฒนธรรมหรือธรรมชาติ เช่น พิพิธภัณฑ์ อาคารทางศาสนา ศาลากลางจังหวัด โรงพยาบาล อาคารห้องปฏิบัติการอาคารที่มีความสลับซับซ้อน สนามบิน อนุสาวรีย์ รัฐสภา ศูนย์วัฒนธรรม อาคารอนุรักษ์ สถานทูต อาคารเก็บวัสดุที่เสี่ยงอันตรายหรือเสี่ยงต่อสุขภาพ งานสถาปัตยกรรมภายในของบ้านพักอาศัย ภูมิทัศน์ในพื้นที่อนุรักษ์ ภูมิทัศน์ในอาคาร สวนหลังคา สวนพฤกษศาสตร์ สวนสมุนไพร สวนสัตว์ สวนสาธารณะกลางเมืองหรืองานปรับปรุงอาคารหรือภูมิทัศน์ในบริเวณที่มีการใช้สอยหรือสิ่งปลูกสร้างอยู่เดิม

ซับซ้อน หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรม ที่ต้องใช้ความประณีต ความชำนาญ มีประโยชน์ใช้สอยที่ซับซ้อน มีลักษณะการก่อสร้างที่ซับซ้อน มีกฎเกณฑ์ควบคุมเฉพาะ หรือมีการใช้งานหลากหลาย เช่น อาคารมหาวิทยาลัย อาคารเรียนรวม หอสมุด หอประชุมอาคารพักอาศัยรวม สนามกีฬา สถานกักกัน หอพัก โรงเรียน ศาลาประชาคม อาคารสำนักงาน อาคารสูงอาคารขนาดใหญ่พิเศษ สถาบันระดับสูงของรัฐ สถาบันการเงิน โรงแรม โรงภาพยนตร์ โรงมหรสพ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการ สถานีขนส่งต่าง ๆ อาคารศูนย์การค้าสถานบริการและนันทนาการ สโมสร สวนสนุก สวนสาธารณะ ภูมิทัศน์ชุมชน ภูมิทัศน์บริเวณอาคารสาธารณะโครงการจัดสรรที่ดิน หรือนิคมอุตสาหกรรม

ไม่ซับซ้อน หมายถึง งานอาคาร งานสถาปัตยกรรมภายใน งานภูมิสถาปัตยกรรม มีลักษณะเรียบง่าย เป็นมาตรฐานทั่วไป เช่น โรงเก็บพัสดุ คลังสินค้า อาคารจอดรถยนต์ ตลาด ร้านค้า ศูนย์อาหารโชว์รูม อาคารประเภทบ้านที่อยู่อาศัยหรือสำนักงานขนาดเล็ก สวนสาธารณะชานเมือง งานภูมิทัศน์ถนนหรือเส้นทางคมนาคม สวนเกษตร สวนประดับ หรือสวนหย่อม

 

ขยายความ

เท่าที่ผ่านมาเรื่องอัตราค่าจ้างงานออกแบหรือควบคุมงานก่อสร้างมีประเด็นถกเถียงเรื่องความเหมาะสมของอัตราค่าจ้างมาตลอด ล่าสุดในเรื่องค่าจ้างที่แปรผันเป็นอัตราร้อยละต่อมูลค่างาน  ดูเหมือนเป็นความลงตัวที่เหมาะสมที่สุด  สอดคล้องกับการเปิดเสรีอาเซียนที่อาชีพด้านสถาปนิกและวิศวกรเป็นแขนงอาชีพที่เปิดเสรีให้ประเทศสมาชิก มาตั้งแต่พ.ศ. 2558

#