ประมวลผลบวก งานก่อสร้างสาธารณูปโภคและงานอื่นๆ พื้นที่อีสานตอนบน 1
  • 14 ธันวาคม 2018 at 15:26
  • 1366
  • 0

ผลพวงที่สำคัญประการหนึ่งของ “การประชุมครม.สัญจร” คือการเร่งรัดโครงการต่างๆ  ที่มีอยู่แล้วให้มีจังหวะก้าวที่รวดเร็วยิ่งขึ้น  ทั้งผลลัพธ์จากมติคณะรัฐมนตรีโดยตรง หรือผลได้จากการที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธานที่ประชุม ทั้งนี้ในการจัดประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 9/2561 ที่จังหวัดหนองคาย  รวมทั้งการที่นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มสบายดี) ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี จังหวัดหนองคาย จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดเลยและจังหวัดบึงกาฬ ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ประธานสภาอุตสาหกรรมกลุ่มจังหวัดภาคอีสานบน 1 กรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดบึงกาฬ ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดเลย ประธานหอการค้าจังหวัดหนองคาย และนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดหนองบัวลำภู  มีเรื่องที่สำคัญ  5 ด้านหรือ 5 ประเด็นที่มีผลต่อเนื่องต่อการก่อสร้าง และเศรษฐกิจ-ธุรกิจในพื้นที่อีสอนตอนบน 1

การพัฒนาระบบโลจิสติกส์

ภายหลังการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มสบายดี)  นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  แถลงสาระสำคัญของการประชุมสำคัญ ได้แก่ การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย การยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต การท่องเที่ยว และการพัฒนาคุณภาพชีวิต  รวม 5 ด้านที่รวมอยู่ในแผนการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 ดังนี้

ด้านที่หนึ่ง การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ (Logistics) เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศเพื่อนบ้านในด้านการค้า การลงทุน การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว รวมถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยมีโครงการที่ศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม มีจำนวน 6 โครงการ ได้แก่

1)  การก่อสร้างถนนเลี่ยงเมืองเลย (BYPASS LOEI)

(2) ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน (BYPASS CHAING KHAN)

(3) การลงทุนระบบขนส่งแบบบูรณาการ (ระบบ รถ ราง เรือ และการสร้างท่าเรือชายฝั่งแม่น้ำโขง) เพื่อการท่องเที่ยวและการพัฒนาเศรษฐกิจในกลุ่มจังหวัด

(4) การพัฒนาโครงข่ายทางหลวงเชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี - จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 139 กิโลเมตร

(5)  การก่อสร้างสะพานคู่ขนานสะพานมิตรภาพน้ำเหืองไทย - ลาว ด่านพรมแดน บ้านนากระเซ็ง อำเภอท่าลี่ จังหวัดเลย 

และ 6 การก่อสร้างสะพานมิตรภาพ ไทย-ลาว จังหวัดเลย เพื่อรองรับการเติบโตในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัด

นอกจากนี้ โครงการขยายช่องทางจราจร จำนวน 5 โครงการ

และโครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวงโดยการขยายไหล่ทาง จำนวน 6 โครงการ รวมทั้งการปรับปรุงชั้นโครงสร้างทางและผิวทาง ทางเท้าและระบบระบายน้ำ

โครงการเหล่านี้จัดสรรอยู่ในงบประมาณตั้งแต่ปี 2562-2564  การบริหารจัดการนั้นหน่วยงานในพื้นที่ช่วยจัดลำดับความสำคัญเร่งด่วน โครงการเร่งด่วนและที่มีความจำเป็นก่อน เพื่อให้การใช้งบประมาณและการพัฒนาท้องถิ่นเกิดประโยชน์สูงสุด

การพัฒนาเครือข่ายคมนาคมก็ให้คำนึงถึงการเชื่อมโครงข่ายเมือง จากนอกเมือง-ในเมือง อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรในตัวจังหวัดที่คับคั่ง  รวมทั้งการรณรงค์สร้างวินัยการจราจร สวมหมวกนิรภัย

ระหว่างนี้ ยังได้เร่งดำเนินการการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขงเพื่อการเดินรถไฟและรถไฟความเร็วสูง ซึ่งจะเป็นความร่วมมือ 3 ประเทศ ทั้งจีน สปป.ลาว และไทย รวมทั้ง สนามบิน ลานจอดและอาคารที่พักผู้โดยสารรองรับผู้โดยสารที่จะขยายตัว นายกรัฐมนตรีย้ำว่า ทุกโครงการขอดูแลเรื่องงบประมาณ ดูตามแผนแม่บทและยุทธศาสตร์ชาติ และเร่งชี้แจงประชาชนทราบเป็นระยะเกี่ยวกับขั้นตอนต่าง ๆ ด้วย

การลงทุนเกี่ยวกับแหล่งน้ำ-อุทกภัย

ด้านที่สอง การพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรและการแก้ไขปัญหาอุทกภัย ประกอบด้วย 3 โครงการ ได้แก่

1) โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำเพื่อลงแม่น้ำโขง ห้วยบางบาด จังหวัดบึงกาฬ

2)โครงการศึกษาแหล่งน้ำในพื้นที่จังหวัดบึงกาฬ เพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัย

(3) โครงการปรับปรุงระบบระบายน้ำและปรับปรุงภูมิทัศน์ห้วยหมากแข้ง จังหวัดอุดรธานี

ยกระดับการผลิต-สร้างมูลค่าเพิ่ม

ด้านที่สาม  สำหรับการยกระดับการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิต ประกอบด้วย

(1) โครงการพัฒนาการเกษตรครบวงจร ส่งเสริมการผลิตพืชผักและสมุนไพร การเลี้ยงโคคุณภาพสูง

(2) โครงการพัฒนาและยกระดับตลาดผ้าบ้านนาข่าสู่การเป็น Smart Market รองรับการเป็นศูนย์กลางตลาดผ้าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

(3) โครงการศูนย์การเรียนรู้และออกแบบสร้างสรรค์ผ้าทอมือลุ่มน้ำโขง 

(4) โครงการส่งเสริมการผลิตผ้าไหมและผ้าพื้นเมือง การจัดสร้าง “วิชชาลัยผ้าทอเมืองลุ่มภู” การประชาสัมพันธ์และสร้างภาพลักษณ์ผ้าทอเมืองลุ่ม

นอกจากนี้ ยังมีการเสนอการขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 เพื่อพัฒนาต่อเนื่องจากการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี ประกอบด้วย 2 กิจกรรม

คือ ให้ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมได้รับสิทธิประโยชน์เท่ากับผู้ประกอบการในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน

และการสำรวจและศึกษาเพื่อก่อสร้างถนน Local Road เพื่อเพิ่มเส้นทางสัญจรและรองรับการเติบโตของชุมชนรอบนิคมฯ ในอนาคต

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลให้มีการจัดการให้ดี ปรับแผนงานให้เหมาะกับงบประมาณ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์สร้างภาพลักษณ์ และมอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลในพื้นที่นี้ เป็นผู้ติดตาม ช่วยเร่งรัดดำเนินโครงการด้วย

งานส่งเสริมการท่องเที่ยว

ด้านที่สี่ การท่องเที่ยว  ประกอบด้วย

(1) โครงการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกแหล่งท่องเที่ยวบ้านเชียง

(2) โครงการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอุทยานแห่งชาติภูเก้า-ภูพานคำ

(3) โครงการการก่อสร้าง Landmark ประติมากรรมพญานาคราชคู่ มิตรภาพแห่งลุ่มแม่น้ำโขง ณ วัดอาฮงศิลาวาส ตำบลไคสี อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ

การท่องเที่ยวเป็นอุตสาหกรรมที่ช่วยเสริมรายได้ให้ประเทศปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวทั้งจากอาเซียนและภูมิภาคอื่นของโลก มาท่องเที่ยวประเทศไทยและกลุ่มจังหวัดภาคอีสานเพิ่มมากขึ้น ในพื้นที่ยังส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำ ดังนั้น ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันเล่าเรื่อง (story) อะไรทำได้ขอให้ทำก่อน และอาหารอีสาน ก็เป็นที่นิยมของชาวต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น สามารถขึ้นลิสต์รายการอาหารของโลก เมื่อวานนี้ยังนำคณะรัฐมนตรีไปชิมปลาจุ่ม บ้านเดื่อ ด้วยตนเอง จึงให้นำของดีของทุกจังหวัด ทุกตำบล ทุกหมู่บ้าน ทั่วประเทศมาทำการตลาดด้วย

งานพัฒนาคุณภาพชีวิต

ด้านที่ห้า การพัฒนาคุณภาพชีวิต ประกอบด้วย การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการบริการประชาชน ได้แก่

(1) โครงการพัฒนาถนนรอบทะเลบัวแดง

(2) โครงการก่อสร้างสนามกีฬาภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน (สามพร้าว) ระยะ 2

(3) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Udonthani City)

(4) โครงการพัฒนาพื้นที่จอดรถส่วนบุคคลขาเข้า-ขาออก และจัดการจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับรถยนต์และผู้ใช้บริการเข้า-ออก ระหว่างประเทศ ณ ด่านพรมแดน สะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 1 อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย

ในเรื่องนี้มีการพัฒนาด้านสาธารณูปโภค ได้แก่ ปรับปรุงระบบประปาอุดรธานี - หนองคาย - หนองบัวลำภู  โครงการก่อสร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียชุมชนริมแม่น้ำโขง เทศบาลตำบลเชียงคาน อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย  การพัฒนาระบบสาธารณสุข อาทิ  โครงการศูนย์การแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสานประจักษ์ศิลปาคม  การเพิ่มศักยภาพการให้บริการผู้ป่วยห้องฉุกเฉิน โรงพยาบาลหนองบัวลำภู  โครงการยกระดับศักยภาพโรงพยาบาลบึงกาฬ  เป็นต้น

ที่ประชุมได้สนับสนุนข้อเสนอการพัฒนากลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือกลุ่มสบายดี ทั้ง 5 ด้าน  โดยนายกรัฐมนตรีได้กล่าวในตอนท้ายว่า ประเทศกำลังเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ต้องเป็นผู้ช่วยรัฐบาลรายงานความก้าวหน้าการทำงานของรัฐบาลในทุกด้าน ซึ่งตลอดระยะเวลาในการบริหาร ได้มีการริเริ่มโครงการต่าง ๆ มากมาย อาทิ การอำนวยความสะดวกกับประชาชนในการติดต่อราชการ  การเป็นรัฐบาลลดใช้กระดาษ (paperless government) ทุกอย่างได้กำหนดไว้แล้วในแผนแม่บทและยุทธศาสตร์แห่งชาติ และได้นำไปพูดในรายการศาสตร์พระราชา เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดช่วยติดตาม เพื่อไปทำความเข้าใจกับประชาชนแทนนายกรัฐมนตรี และขอบคุณทุกจังหวัดที่ให้การต้อนรับอย่างดี รวมทั้งประชาชนในทุกพื้นที่ ยิ้มแย้มแจ่มใส และขอให้เดินทางและท่องเที่ยวอย่างปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ด้วย

ข้อมูลเพิ่มเติม

เมื่อจัดแบ่งตามหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินโครงการต่างๆ  อันเป็นผลจากการประชุม ครม.สัญจรครั้งที่ 9/2561 ที่จังหวัดหนองคาย   และการประชุมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 (กลุ่มสบายดี) พอจัดกลุ่มได้ดังนี้

กรมทางหลวง รับผิดชอบแผนงานด้านการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ ที่สำคัญคือ โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง โดยขยายไหล่ทางเพิ่ม ประกอบด้วย

1.ทางหลวงหมายเลข 2020 ตอนท่าบ่อ – บ้านว่าน – บ้านผือ ระยะทาง 19.70 กิโลเมตร งบประมาณ 300 ล้านบาท (จังหวัดหนองคายและอุดรธานี)

2.ทางหลวงหมายเลข 2230 ตอน เหล่าอุดม – บ้านปัก – เฝ้าไร่ ระยะทาง 23.45 กิโลเมตร (จังหวัดหนองคาย และอุดรธานี)

3.ทางหลวงหมายเลข 2267 ตอนโพนพิสัย – โนนต้อง ระยะทาง 27 กิโลเมตร จังหวัดหนองคาย

4.โครงการก่อสร้างทางสายใหม่เชื่อมโยงจังหวัดอุดรธานี – จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 139 กิโลเมตร

นอกจากนี้ยังมีแผนงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งและระบบโลจิสติกส์ ได้แก่

1.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 211 ตอนหนองสองห้อง – ท่าบ่อ ระยะทาง 13.079 กิโลเมตร และตอนหนองสองห้อง – ศรีเชียงใหม่ ระยะทาง 0.367 กิโลเมตร

2.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 211 อ.ท่าบ่อ – อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย รวมระยะทาง 19.100 กิโลเมตร ระยะเวลาดำเนินโครงการ ปี 2562 – 2564

3.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 212 ตอนปากคาด – บึงกาฬ ระยะทาง 28.731 กิโลเมตร และทางเลี่ยงเมืองหนองคายด้านทิศตะวันออก และทางหลวงหมายเลข 212 บึงกาฬ – อ.บ้านแพง ตอน 1 ระยะทาง 30.380 กิโลเมตร และบึงกาฬ – อ.บ้านแพง ตอน 2 ระยะทาง 40 กิโลเมตร

4.โครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 222 อ.พังโคน – บึงกาฬ ตอน อ.ศรีวิไล – บึงกาฬ ระยะทาง 12 กิโลเมตร

รวมถึงโครงการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย – ลาว แห่งที่ 5 (บึงกาฬ – บอลิคำไซ) ลักษณะการก่อสร้าง ฝ่ายไทย ถนน 12.133 กิโลเมตร สะพาน 1.350 กิโลเมตร ฝั่ง สปป.ลาว ถนน 2.857 กิโลเมตร สะพาน 16.340 กิโลเมตร งบประมาณก่องสร้างทั้งโครงการ 3,930 ล้านบาท ฝ่ายไทย 2,630 ล้านบาท ฝ่าย สปป.ลาว 1,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินโครงการก่อสร้างเบื้องต้น 36 เดือน เริ่มดำเนินการก่อสร้างปี 2563

กรมทางหลวงชนบท รับผิดชอบงานโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น

1. การสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ประกอบด้วย การก่อสร้างถนนสาย ก ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย จำนวน 4 ช่องจราจร, ถนนสายแยก ทล.2 -ทล. 211 อ.เมือง จ.หนองคาย ส่วนในอนาคต ดำเนินการก่อสร้างถนนสายแยก ง3 ผังเมืองรวมเมืองหนองคาย

2. โครงการพัฒนาถนนผังเมืองและแก้ไขปัยหาจราจรในภูมิภาค ได้แก่ โครงการถนนสาย จ1 ผังเมืองรวมเมืองเลย จ.เลย ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และแผนงานในอนาคต ได้แก่ ถนนสาย จ และ ง8 ผังเมืองรวมเมืองอุดรธานี และโครงการทางเลี่ยงเมือง จ.บึงกาฬ

กรมท่าอากาศยาน รับผิดชอบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานเลย งบประมาณ 930 ล้านบาท และรายงานการศึกษาความเป็นไปได้เกี่ยวกับการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ

นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคม ได้เสนอคณะรัฐมนตรีในโครงการที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาโครงข่ายคมนาคมขนส่ง ได้แก่ การก่อสร้างทางเลี่ยงเมืองเลย, ทางเลี่ยงเมืองเชียงคาน, และการศึกษาการเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟ รถไฟความเร็วสูง, เส้นทางเชื่อมจากอุดรธานี – หนองบังลำภู, โครงการเพิ่มมาตรฐานทางหลวง ทล.2348 ตอนบ้านผือ – น้ำซึม – คีรีวงกต (อุดรธานี) ระยะทาง 39 กิโลเมตร, โครงการยกระดับมาตรฐานและเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวง ทล. 228 หนองบัวลำภู – ศรีบุญเรือง – ชุมแพ – ชัยภูมิ (จ.หนองบัวลำภู) และการคมนาคมขนส่งของกระทรวงคมนาคมในพื้นที่กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1

#