2562 ส่องกล้อง มองความเสี่ยง
  • 28 ธันวาคม 2018 at 21:59
  • 1077
  • 0

การมองความเสี่ยงล่วงหน้าด้วยเครื่องมือต่างๆ ช่วยให้มีการตระเตรียมรับมือที่ดี  ป้องกันมิให้เกิดความเสียหายจนมากเกินควรอันเป็นลักษณะเตรียมการเชิงรับ  ขณะเดียวกันมีส่วนให้การเตรียมการเชิงรุกยังสามารถดำเนินการได้อยู่

ทิศทางใหญ่เศรษฐกิจไทย

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังคาดว่ายังทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2562 สามารถเติบโตได้ในระดับร้อยละ 4 อย่างต่อเนื่องอีกปีหนึ่ง  อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญยังดำรงอยู่  เช่น

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (ที่ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตาม  เฉพาะประเทศไทย คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประชุมเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 มีมติ5 ต่อ 2 เสียงให้ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปีจาก ร้อยละ 1.50 เป็นร้อยละ 1.75 ต่อปีโดยให้มีผลทันที ขณะที่ 2 เสียงเห็นควรให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 1.50 ต่อปี  การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าว ส่งผลให้มีการประเมินกันว่า  อัตราดอกเบี้ยของประเทศไทยมีแนวโน้มปรับสู่ขาขึ้น

สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน  ที่ประเมินว่าส่งผลกระทบไปทั่วโลก ในกรณีประเทศไทยมีผลกระทบทั้งการส่งออกไปสหรัฐฯโดยตรง  และทางอ้อมในกรณีส่งสินค้าที่เป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่ซัพพลายในการผลิตที่จีน และส่งไปขายสหรัฐฯ  อีกด้านหนึ่งผลกระทบจากการที่สินค้าจากจีนต้องหาตลาดอื่น มาทดแทนตลาดสหรัฐฯ จึงประเมินว่าจะส่งเข้าแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตในประเทศไทย  เช่น  เหล็ก  เป็นต้น

ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้น  รวมทั้งหนี้สาธารณะที่มีสัดส่วนต่อจีดีพีมากขึ้น อันทำให้เกิดความกังวลถ้าหากเกิดหนี้เสียจำนวนมาก  มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้  ซึ่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งรายได้จากธนาคารพาณิชย์ที่ปล่อยกู้ลดลง(ลูกหนี้ไม่จ่ายดอกเบี้ย  + เงินต้น)  และต้นทุนเพิ่มขึ้น เพราะต้องเพิ่มเงินทุนสำรองต่อหนี้สูญ-ต่อสินทรัพย์เสี่ยง (อันเพิ่มขึ้นจากหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้)

ทิศทางเศรษฐกิจไทยเชื่อกันว่าดี  แต่ก็เหมือนกับการขับรถบนถนนที่เห็นว่า ดี แต่ก็ต้องระมัดระวังว่า อาจเกิดอุบัติเหตุขึ้นได้

การเตรียมตัวของธนาคารพาณิชย์

ในปัจจุบันแม้ว่า แหล่งเงินทุนทั้ง 3 ส่วนของประเทศไทย สามารถดำเนินการไปได้อย่างปกติ  กล่าวคือตลาดเงิน(บริการของกิจการธนาคาร) ตลาดทุน (ตลาดหลักทรัพย์ฯที่เปิดกว้างให้มีการระดมทุนและการซื้อขายลงทุน กับการซื้อขายเก็งกำไร)  และตลาดตราสารหนี้ (ที่เจ้าของกิจการออกตราสารหนี้ต่างๆ ระดมเงินทุนจากผู้ลงทุนโดยตรง ทั้งจากสถาบัน และจากประชาชนทั่วไป)  แต่บทบาทของธนาคารพาณิชย์ในฐานะเป็น “ตัวกลาง”  ในการระดมเงินทุน และให้บริการเงินทุน ก็ยังมีความสำคัญอย่างมาก

สำหรับประเทศไทยแล้วระบบธนาคารพาณิชย์ยังเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนในประเทศและระหว่างประเทศ นั่นหมายความว่าธนาคารแห่ง ประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้ดูแลความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ รวมถึงความเสี่ยงระบบ ธนาคารพาณิชย์ก็มีบทบาทสำคัญมากด้วยเช่นกัน

บทบาทอย่างหนึ่งคือ ดูแลว่าระบบธนาคารพาณิชย์มีภูมิคุ้มกันรองรับความท้าทายทาง เศรษฐกิจในปี 2562 มากน้อยเพียงใด   ธนาคารพาณิชย์มีส่วนช่วยให้ประเทศไทยขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนถนนแห่งกาลเวลาปี 2562  ได้ปลอดภัย  ไม่ประสบอุบัติเหตุได้มากน้อยเพียงใด  ในกรณีนี้ พิจารณาจากการรับมือกับความเสี่ยงที่มองเห็นได้ล่วงหน้า

การับมือกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม  2561 ธนาคารกลางสหรัฐฯ Fed (Federal Reserve Bank) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งที่ 4 ในปี 2561 ตามแผนการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดที่กำหนดไว้ 4 ครั้ง โดยปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% ทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขยับขึ้นไปอยู่ในช่วง 2.25-2.5% นับเป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 4 ของปีนี้  การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งล่าสุดนี้ทำให้ ทำให้อัตราดอกเบี้ยระหว่างธนาคารขยับมาเป็น 2.50 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2551

นอกจากนี้แถลงการณ์หลังการประ ชุมด้านนโยบาย เฟดบอกว่า การปรับดอกเบี้ยขึ้นยังอาจจะมีอยู่ต่อไป แต่จากการประ เมินล่าสุด คิดว่าในปีหน้าอาจจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกแค่ 2 ครั้ง   จากที่เคยประเมินเมื่อเดือนกันยายน 2561 ว่าอาจจะมี 3 ครั้ง  ทั้งนี้ในช่วงหลายปีมานี้ เฟดประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นประจำ  โดยเมื่อวาน เป็นการประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งที่ 9 นับตั้งแต่ที่ค่อย ๆ เริ่มเข้ามาควบคุมระบบเครดิต และยกเลิกมาตรการ QE

(มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ Quantitative Easing  ใช้ระหว่างปี 2551-2555 โดยการดำเนินมาตรการ QE ของสหรัฐอเมริกาที่อัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 3 ครั้ง คือ QE1, QE2 และ QE3 ในระยะเวลา 2-4 ปี เป็นวงเงินราว 85,000 ล้านเหรียญดอลลาร์ สรอ. หลังจากนี้นเคณะกรรมการกำหนดนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (Federal Open Market Committee : FOMC) ทีมีมติเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม ค.ศ. 2014 ให้ยุติการใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ)

ผลกระทบที่ประเมินได้จากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่องประเมินกันว่า อาจทำให้เกิดสถานการณ์เงินทุนไหลออกจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ ส่งผลให้ค่าเงินผันผวนและสภาพคล่องในตลาดเงินหลายสกุลตึงตัว ผลข้างเคียงคือทำให้ระดมทุนเป็นสกุลต่างประเทศทาได้ยากขึ้น ดังเห็นได้จากการไหลออกของเงินทุนในประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ กลุ่มที่เศรษฐกิจมีความเปราะบางหลายประเทศ เช่น ตุรกี อาร์เจนตินา และเวเนซุเอลา ในประเด็นความเสี่ยงนี้

สำหรับประเทศไทย สุขภาพทางเศรษฐกิจยิงแข็งแรงอยู่ ข้อแรกเศรษฐกิจไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลและ มีทุนสารองระหว่างประเทศสูง ข้อที่สองสองภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีการกู้ยืมจากต่างประเทศ อยู่ในสัดส่วนค่อนข้างต่ำ  และข้อที่สาม ธนาคารพาณิชย์ไทยมีการปิดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเกือบหมด currency mismatch อยู่ในระดับต่ำ แต่เรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คือ สภาพคล่องและต้นทุนการระดมทุนสกุลเงินตราต่างประเทศย่อมสูงขึ้น ต้นทุนรวมในการหาเงินทุนจากนอกประเทศย่อมสูงขึ้น  (การต่อรองกับแหล่งเงินทุน ทั้งตลาดเงินและตลาดตราสารหนี้ในประเทศย่อมลดลง)

หนี้ครัวเรือนสูง  การเฝ้าระวังหนี้เสีย

หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยที่ต้องเฝ้าระวังคือการเกิดหนี้เสียในกลุ่มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง  มาตรกากรป้องกันขั้นต้นทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อ เพื่อที่อยู่อาศัย (LTV) เพื่อดูแลหนี้ภาคครัวเรือนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และยกระดับมาตรฐานการพิจารณาสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (credit underwriting) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทย

เรื่องที่ธนาคารพาณิชย์ต้องระมัดระวัง คือ ต้องไม่ปล่อยให้แรงกดดันจากการแข่งขันมาทำให้ลดหย่อนมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อ และหากการตรวจสอบ การกำกับดูแลเห็นประเด็นความเสี่ยงต้องออกมาเตือนก่อนเกิดปัญหา

ขณะเดียวกันหนี้ธุรกิจขนาดกลางถึงเล็กก็เกิดหนี้เสียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน อันเนื่องจากปัจจัยเชิงโครงสร้างด้านความสามารถในการแข่งขัน  แม้ว่าธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อแล้วก็ตาม ก็ต้องมีการจัดชั้นที่เหมาะสมกับความเสี่ยงและเกิดภาระในการตั้งเงินสำรองหนี้สูญรองรับ

เมื่อธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังมากขึ้น ผลที่เกิดขึ้นอย่างเลี่ยงไม่ได้คือ  การขอสินเชื่อทั้งของประชาชนทั่วไป  -สินเชื่อครัวเรือนเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหรืออื่นๆ  ไปจนถึงสินเชื่อเพื่อประกอบธุรกิจของกิจการรายย่อย รายเล็ก รายกลาง SMEs  ย่อมยากลำบากไปโดยปริยาย

สำหรับภาครัวเรือน และธุรกิจเอสเอ็มอีนั้นการพยายามรักษาเครดิตทางการเงินที่ดีจึงเป็นเรื่องต้องเข้มงวด  ความเสี่ยงในปี  2562  ตกลงสู่กลุ่มนี้  ความเสี่ยงในการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยของตนเอง  และความเสี่ยงในการบริหารจัดการกิจการจิ๋ว-เล็ก-กลางให้อยู่รอด

ความเสี่ยงชองแบงก์ลดลง อันเนื่องจากการระมัดระวังตนเอง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ยังมีประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจและการทำกำไรที่ดีต่อไป

เมื่อมองภาพให้กว้างไกลมากขึ้น  เรื่องนี้เป็นความเสี่ยงของประเทศ

#