เวนคืนที่ดิน 850 ไร่เพื่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมอู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง

ค่อนข้างแน่นอนว่า กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด ประกอบด้วย บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ประเทศไทย) , บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) , China Railway Construction Corporation Limited (สาธารณรัฐประชาชนจีน) , บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  มีโอกาสชนะการแข่งขันในการสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อู่ตะเภา-สุวรรณภูมิ –ดอนเมือง แต่ก็ต้องรอว่าได้เซ็นสัญญากันหรือไม่ ขณะเดียวกันทางภาครัฐก็เร่งงานด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างความพร้อมให้มากที่สุดในการดำเนินโครงการนี้

กลุ่มซีพี. รอเซ็นสัญญาปลายเดือนมกราคม 2562

จากวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ที่นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ระยะทาง 220 กิโลเมตร วงเงินลงทุน 224,544 ล้านบาท ได้มีการพิจารณารายละเอียดในซองที่ 3 เกี่ยวกับด้านการเงิน ข้อเสนอด้านการลงทุน และผลตอบแทนของผู้เข้าร่วมประมูลเสร็จสิ้นแล้ว พร้อมทั้งเชิญผู้เข้าร่วมประมูลทั้ง 2 ราย คือ กิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด และกิจการร่วมค้า บีเอสอาร์ (BSR Joint Venture) ซึ่งผ่านเกณฑ์พิจารณาเข้ามาชี้แจงตัวเลขข้อมูลการเสนอราคา

ผลการยื่นซองที่ 3 ด้านการเงินพบว่า กิจการร่วมค้าบริษัทเจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด โดยมีการเสนอขอรับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลต่ำสุดในราคา 117,227 ล้านบาท ต่ำกว่ากลุ่มบีเอสอาร์  ประกอบด้วย บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย) , บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (ประเทศไทย)  ที่เสนอขอรับอุดหนุนจากรัฐบาล 169,934 ล้านบาท ถึง 52,707 ล้านบาท

ขั้นตอนหลังจากนี้ในวันที่ 24 ธันวาคม 2561 เป็นการพิจารณาซองที่ 4 ซึ่งเป็นข้อเสนอพิเศษของกิจการร่วมค้า บริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด กำหนดเรียกมาเจรจาอีกครั้งในวันที่ 3 มกราคม 2562 ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าสำเร็จลุล่วงก็สามารถดำเนินการตามขั้นตอนลงนามสัญญาต่อไปได้ แต่กรณีหากการเจราจรแล้วพบว่ารัฐไม่ได้ประโยชน์ ทางคณะกรรมการคัดเลือกฯมีสิทธิเรียกกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์มาเปิดซอง 4 และเจรจาเป็นลำดับต่อไป

เมื่อได้ผลสรุป คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา ต้องนำสัญญาเสนอให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาในรายละเอียด จากนั้นจึงนำเสนอชื่อผู้ชนะการประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ฯ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบในช่วงกลางเดือนมกราคม 2562 เพื่อลงนามสัญญาให้ได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2562

ดังนั้นความแน่นอนที่มากขึ้นต้องรอหลังวันที่  31  มกราคม  2562  อย่างไรก็ตามงานด้านอื่นๆ  ก็ต้องเดินหน้าต่อไป  เพราะโครงการนี้ต้องบริหารจัดการให้เป็นไปตามกำหนดการ

ขั้นตอนการเวนคืนที่ดิน

การเวนคืนที่ดินในโครงการนี้มีความคืบหน้าล่าสุดจากมติคณะรัฐมนตรีวันที่  2 มกราคม  2562 เรื่อง  ร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติดังนี้

1. อนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน เพื่อดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา โดยให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้

2. ให้กระทรวงคมนาคมรับความเห็นของกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

กระทรวงคมนาคมเสนอว่า

1. เนื่องจากมีความจำเป็นต้องก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติ (27 มีนาคม 2561) อนุมัติโครงการฯ แล้ว อันจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งทางรถไฟ ลดระยะเวลาการเดินทาง และประหยัดพลังงานเชื้อเพลิงที่ใช้ในภาคการขนส่งของประเทศ ลดปัญหามลพิษที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้บริการระบบขนส่งทางรางรถไฟให้มากยิ่งขึ้น และเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 และโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor (EEC)) ซึ่งรัฐบาลได้ให้ความสำคัญและกำหนดให้โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน อยู่ในกรอบการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ (EEC Project List)

2. โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ประกอบด้วย

(1) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์เดิม คือช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

(2) โครงการแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ส่วนต่อขยาย ช่วงพญาไทถึงท่าอากาศยานดอนเมือง

และ (3) โครงการรถไฟความเร็วสูง ช่วงกรุงเทพฯ (บริเวณสถานีรถไฟแอร์พอร์ต เรล ลิงค์ลาดกระบัง) ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา รวมระยะทางประมาณ 220 กิโลเมตร

3. การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทำการศึกษาความเหมาะสม ออกแบบรายละเอียด และจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการ โดยได้ดำเนินการจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียกับโครงการดังกล่าว ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เรียบร้อยแล้ว

ผลการศึกษาดังกล่าวเห็นว่า มีความจำเป็นต้องก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง รฟท. ในท้องที่ดังกล่าว โดยมีที่ดินที่จะต้องเวนคืนประมาณ 850 – 0 – 04.82 ไร่   (850 ไร่ 4.82 ตารางวา) และสิ่งปลูกสร้างประมาณ 245 หลัง จึงมีความจำเป็นต้องได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน เพื่อให้โครงการดังกล่าวเป็นไปตามแผนการที่กำหนดไว้ รวมทั้งเพื่ออำนวยความสะดวกและความรวดเร็วแก่การจราจรและการขนส่งอันเป็นกิจการสาธารณูปโภค ทั้งนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่หรือผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากเจ้าหน้าที่มีสิทธิเข้าไปทำการสำรวจเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ที่จะต้องเวนคืนที่แน่นอน โดยมีกรอบระยะเวลาในการดำเนินการภายในระยะเวลา 4 ปี ตามที่พระราชกฤษฎีกามีผลใช้บังคับ

4. กระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 โดยจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ตามแบบฟอร์มที่กระทรวงการคลังกำหนดเพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย รายละเอียดโครงการ แผนบริหารจัดการโครงการเพื่อจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และส่งมอบพื้นที่ให้ทันตามแผนงานก่อสร้างโครงการฯ ประมาณการรายจ่ายตามกรอบวงเงินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี แหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ และประโยชน์ที่จะได้รับ

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

กำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่แขวงคลองสามประเวศ แขวงลาดกระบัง เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร

ตำบลหนองปรือ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ

ตำบลบางเตย ตำบลวังตะเคียน ตำบลท่าไข่ ตำบลบางขวัญ ตำบลบ้านใหม่ ตำบลบางไผ่ อำเภอเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดฉะเชิงเทรา

ตำบลบ้านสวน ตำบลหนองข้างคอก ตำบลห้วยกะปิ อำเภอเมืองชลบุรี ตำบลบางพระ ตำบลสุรศักดิ์ อำเภอศรีราชา ตำบลนาเกลือ ตำบลหนองปรือ ตำบลห้วยใหญ่ อำเภอบางละมุง ตำบลนาจอมเทียน ตำบลบางเสร่ ตำบลพลูตาหลวง อำเภอสัตหีบ จังหวัดชลบุรี

และตำบลสำนักท้อน ตำบลพลา อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

เพื่อก่อสร้างย่านสถานี ทางเข้าออกสถานี ทางรถไฟ และดำเนินกิจการที่เป็นประโยชน์แก่กิจการรถไฟ ตามโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน หรืออยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย

#