เพิ่มความพร้อมให้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพ

เมืองท่องเที่ยวสามารถเพิ่มศักยภาพของตนเองได้หลากหลายรูปแบบ  เพิ่มโอกาสจากความมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศและต่างประเทศ  กรณีเชียงใหม่ที่เป็นเมืองท่องเที่ยว “ระดับโลก” การขยายศักยภาพให้เป็นเมืองศูนย์กลางธุรกิจภาคเหนือ และศูนย์กลางธุรกิจที่เชื่อมต่อระหว่างไทย พม่า ลาวและไทย   รวมถึงการสร้างจุดเด่นเพิ่มจุดแข็งให้มากขึ้น  เช่นการพัฒนาเชียงใหม่ให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพ  ก็มีความเป็นไปได้

เพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัย

นอกจากความพร้อมของกิจการภาคเอกชนทางด้านโรงพยาบาลและสถานบริการเพื่อสุขภาพด้านต่างๆ แล้ว บทบาทของมหาวิทยาลัยก็มีส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสร้างความพร้อมให้การพัฒนาเชียงใหม่ในมิติศูนย์กลางธุรกิจบริหารสุขภาพ  ทั้งนี้มีโครงการที่เกี่ยวข้องและสร้างความพร้อมให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เห็นได้จากมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 15 มกราคม  2562 เรื่อง  ขออนุมัติผลการจัดซื้อจัดจ้างรายการก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ กรณีที่มีวงเงินรวมตั้งแต่ 1,000 ล้านบาทขึ้นไป รายการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ดำเนินการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของ มช. ในวงเงิน 1,209 ล้านบาท โดยให้ใช้จ่ายจากเงินงบประมาณ 358.60 ล้านบาท และใช้เงินนอกงบประมาณสมทบ 850.40 ล้านบาท โดยเงินงบประมาณให้ มช. จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามความจำเป็นและเหมาะสมตามขั้นตอนต่อไป และให้กระทรวงศึกษาธิการรับความเห็นของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า มช. ได้จัดทำรายละเอียดตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 27 ของโครงการก่อสร้างอาคารศูนย์บริการสุขภาพและบริการสาธารณสุข 1 หลัง พร้อมที่จอดรถ จังหวัดเชียงใหม่ ของ มช. เรียบร้อยแล้ว โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. วัตถุประสงค์ของโครงการ 

1.1 เพื่อพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ เป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ

1.2 เพื่อเป็นศูนย์กลางการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และนานาชาติ

1.3 เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ในการบริการสุขภาพทางเลือกใหม่

1.4 เพื่อเป็นศูนย์เครื่องมือกลางรักษาโรคเฉพาะทางในเขตภาคเหนือตอนบน 

1.5 เพื่อเป็นศูนย์กลางเรียนรู้ และพัฒนาทักษะของบุคลากรทางการแพทย์

2. ประมาณการรายจ่ายและแหล่งเงินที่ใช้ตลอดระยะเวลาดำเนินการ แบ่งเป็นรายจ่ายประเภทต่าง ๆ ตามวิธีการเสนอของบประมาณ โดยจัดทำเป็นรายปี พร้อมยอดรวมของทุกปี รวม 1,209 ล้านบาท

3. ประโยชน์ที่จะได้รับ

3.1 เพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยสามารถรับผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 400,000 ราย/ปี ผู้ป่วยในเพิ่มขึ้น 30,000 ราย/ปี และผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นฟูในระยะยาวเพิ่มขึ้น 2,000 ราย/ปี 

3.2 เกิดศูนย์กลางในการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนานาชาติ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ อาทิ ศูนย์โรคหัวใจ ศูนย์โรคมะเร็ง ศูนย์โรคทางสมอง ศูนย์โรคทางเดินอาหาร ศูนย์ดูแลผู้ป่วยสูงอายุ ศูนย์ดูแลสุขภาพสตรีและเด็ก 

3.3 ผลิตแพทย์เฉพาะทาง และนักวิทยาศาสตร์สุขภาพเพิ่มขึ้น จำนวน 500 คน/ปี

3.4 บุคลากรทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย 2,500 คน/ปี 

3.5 เกิดเครือข่ายการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลชุมชน และโรงพยาบาล 17 จังหวัดภาคเหนือ ที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพ

3.6 มีผลงานการศึกษาและวิจัยเพื่อรักษาสุขภาพ และส่งเสริมสุขภาพที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทางการรักษาพยาบาล อย่างน้อย 50 ผลงาน/ปี 

4. การดำเนินโครงการดังกล่าว จะก่อให้เกิดความคุ้มค่าดังนี้

4.1 เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบบริการสุขภาพของประเทศไทย เพื่อรองรับการเป็นประชาคมอาเซียน ให้สามารถแข่งขันในธุรกิจบริการสุขภาพกับนานาชาติ 

4.2 เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับบริการสุขภาพที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ 

4.3 ส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ ในการบริการสุขภาพทางเลือก การท่องเที่ยวแบบพักอาศัยระยะยาว การให้บริการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ที่มีความต้องการได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ

4.4 สร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศ 

4.5 เกิดศูนย์กลางในการรักษาโรคเฉพาะทางในเขต 17 จังหวัดภาคเหนือ อนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง และนานาชาติ ที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ

4.6 รองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของโลกที่เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ที่จะต้องอาศัยการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น

4.7 ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์ และแพทย์เฉพาะทาง และได้บุคลากรทางการแพทย์ที่มีทักษะความรู้ความสามารถ

 

ข้อมูลเพิ่มเติม

จังหวัดเชียงใหม่มีโรงพยาบาลรัฐจำนวนไม่น้อยที่เดียว แยกเป็นโรงพยาบาลที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขประกอบด้วย  โรงพยาบาลนครพิงค์  โรงพยาบาลจอมทอง   โรงพยาบาลหางดง  โรงพยาบาลแม่แจ่ม โรงพยาบาลฮอด โรงพยาบาลเชียงดาว  โรงพยาบาลดอยเต่า  โรงพยาบาลดอยสะเก็ด โรงพยาบาลอมก๋อย  โรงพยาบาลแม่แตง โรงพยาบาลสารภี โรงพยาบาลสะเมิง                โรงพยาบาลเวียงแหง  โรงพยาบาลฝาง   โรงพยาบาลไชยปราการ  โรงพยาบาลแม่อาย โรงพยาบาลแม่วาง  โรงพยาบาลพร้าว  โรงพยาบาลแม่ออน  โรงพยาบาลสันป่าตอง  โรงพยาบาลดอยหล่อ  และโรงพยาบาลสันกำแพง

โรงพยาบาลรัฐนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข   เช่น   โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่  (โรงพยาบาลสวนดอก) โรงพยาบาลกองบิน41  โรงพยาบาลค่ายกาวิละ เชียงใหม่  ศูนย์บริการสาธารณสุขเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นต้น

ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจังหวัดเชียงใหม่มีราว 30 โรงพยาบาล  เตียงรวมกันกว่า 2,000 เตียง ยกตัวอย่างโรงพยาบาลที่มีจำนวนเตียง 100 เตียงขึ้นไป เช่น โรงพยาบาลแมคคอร์มิค 400  เตียง  โรงพยาบาลเชียงใหม่ราม 200 เตียง โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ 180  เตียง โรงพยาบาลลานนา 180  เตียง  โรงพยาบาลราชเวชเชียงใหม่  150 เตียง  โรงพยาบาลเซ็นทรัลเชียงใหม่เมมโมเรียล 120  เตียง โรงพยาบาลเชียงใหม่ใกล้หมอ  119 เตียง  โรงพยาบาลเทพปัญญา  109 เตียง และโรงพยาบาลเชียงใหม่เมดิคอลเซ็นเตอร์ 100  เตียง เป็นต้น

การสร้างให้เชียงใหม่มีจุดแข็งเพิ่มในด้านศูนย์กลางธุรกิจบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพสูง ย่อมเป็นเรื่องดีงาม เพิ่มความพร้อมให้เกิดประโยชน์ด้านต่างๆ มากขึ้น

#